“….นโยบายที่เป็นเรือธงของเขา คือ นโยบายเศรษฐกิจ ส่วนเรื่องสวัสดิการเป็นตัวตาม ดังนั้น นโยบายสวัสดิการจะไปในทางไหน จะขึ้นอยู่กับว่าเขามองว่า ผลของกระตุ้นเศรษฐกิจจะไปทางไหนก่อน ถ้าไปได้ดี เขาก็ลดดีกรีตรงนี้ลง (สวัสดิการ) แต่ถ้าเศรษฐกิจไปได้ไม่ดี แล้วมีความเสี่ยงว่า ฐานเสียงจะหายไป เขาน่าจะเทน้ำหนักมาในเรื่องสวัสดิการมากขึ้น…”
......................................
เมื่อวันที่ 12 ต.ค. สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) จัดเวทีสาธารณะ ‘การบ้านรัฐสวัสดิการ ในรัฐบาลเศรษฐา’ โดยนักวิชาการ และตัวแทนจากเครือข่ายภายประชาชน ได้สะท้อนถึงมุมมองและแนวทางในการจัดทำ ‘รัฐสวัสดิการ’ ที่รัฐบาล ‘เศรษฐา’ ควรจะดำเนินการในระยะต่อไป มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@ประเมินทิศทาง‘รบ.เพื่อไทย’บริหาร‘ศก.-การเมือง-สังคม’
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในหัวข้อ “นโยบายเศรษฐากับการจัดการรัฐสวัสดิการ’ ตอนหนึ่งว่า ก่อนจะพูดเรื่องรัฐสวัสดิการ ขอย้อนไปพูดถึงแนวทางการบริหารประเทศของพรรคเพื่อไทยย้อนไปถึงพรรคไทยรักไทยก่อน ซึ่งแบ่งย่อยได้เป็น 3 เรื่อง คือ 1.การบริหารเศรษฐกิจ 2.การบริหารการเมือง และ 3.การบริหารทางด้านสังคม
โดยเรื่องการบริหารเศรษฐกิจนั้น ค่อนข้างชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และถ้าดูย้อนหลังกลับไป ก็เป็นอย่างนี้มาตลอด แต่อาจมีความแตกต่างกันบ้าง เช่น ยุคพรรคไทยรักไทย ใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบ ‘Dual Track’ คือ ส่งเสริมการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งจากนอกประเทศและในประเทศ คือ ส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา ส่วนในประเทศ ก็กระตุ้นการบริโภคในประเทศด้วยชุดนโยบาย ‘ประชานิยม’
เมื่อมาถึงปัจจุบัน แนวทางนี้ก็ยังทำอยู่ อย่างในเรื่องต่างประเทศนั้น ตนเชียร์ด้วยซ้ำ เพราะเป็นสิ่งที่น่าจะหายไปในช่วง 8-9 ปีผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ค่อยสนใจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ค่อยดีด้วย จึงคิดว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะทำได้ดีกว่า น่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้จริงอย่างที่คาดหวัง และส่งผลเรื่องสวัสดิการในภายหลัง เพราะถ้าเศรษฐกิจโต เงินจะมีมากขึ้น เมื่อเงินมากขึ้น รัฐบาลก็จัดสวัสดิการได้ดีขึ้น แต่ต้องดูด้วยว่าเศรษฐกิจจะโตได้แค่ไหน
ส่วนในประเทศ เขาก็ทำอยู่ เช่นเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท พรรคเพื่อไทยเชื่อว่า จะทำให้เศรษฐกิจในประเทศเฟื้องฟูขึ้นได้ แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์กว่า 90% จะไม่เชื่อ และเมื่อพูดเรื่องเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทยจะให้ความสำคัญกับกลุ่มทุนค่อนข้างมาก คือ ให้กลุ่มทุนเป็นตัวนำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งหมายความว่า เขาจะไม่แตะกลุ่มทุนมากเช่นกัน เพราะเป็นพันธมิตรกัน ซึ่งตรงนี้ไม่ได้บอกว่า ดีหรือไม่ดี เพราะกลุ่มทุนก็สามารถผลักดันเศรษฐกิจได้จริง
อีกทั้งเมื่อดูเอกลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยและไทยรักไทยแล้ว จะเห็นว่ามักจะคิดอะไรใหม่ คิดอะไรที่นอกกรอบ ไม่ตามตำรา และถ้ามีคนไปคัดค้านเรื่องเงินดิจิทัล เขาก็บอกว่า เป็นเพราะไปดูตำรามากไป สิ่งที่เขาทำนั้น นอกกรอบ นอกตำรา และอย่าคิดว่าไม่ได้ผล นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า เขากล้าทำอะไรใหม่ และอาจโยงไปถึงเรื่องสวัสดิการด้วยก็ได้
สำหรับเรื่องการบริหารการเมืองนั้น การบริหารการเมืองของพรรคเพื่อไทย จะอยู่ในลักษณะประนีประนอมกับทุกฝ่าย ถ้าอีกฝ่ายคุยด้วยก็คุยแน่นอน ซึ่งก็เห็นมาแล้วในปรากฏการณ์สลายขั้ว-ข้ามขั้ว ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะทำให้มีทางออกและเดินหน้าไปได้ แต่ก็มีต้นทุนของการประนีประนอมด้วย บางคนเรียกว่า ‘เกี้ยเซียะ’ รวมทั้งทำให้มีคำถามตามมาว่า อุดมการณ์ทางความคิดของพรรคเพื่อไทยคืออะไร ซึ่งคิดว่าตอนนี้ ก็เริ่มตอบกันไม่ได้แล้ว
“สมัยก่อน ตอบได้ค่อนข้างชัดว่า เป็นเรื่องประชาธิปไตย ส่งเสริมการเลือกตั้ง แต่ตอนนี้ภาพมันเบลอไปมาก ผมจึงคิดว่ายุทธศาสตร์เขา คือ อะไรที่ทำให้ชนะการเลือกตั้ง อะไรที่ทำให้ตัวเองอยู่ในอำนาจ คิดว่าเขาน่าจะไปได้หมด ส่วนเรื่องอุดมการณ์ ไม่น่าจะใช้เป็นจุดขายต่อไป” ดร.สมชัย กล่าว
สุดท้ายในด้านการบริหารสังคมนั้น พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับฐานเสียงมาก และเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยประสบความสำเร็จทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เพราะมี sense ดีมาก ในการรับรู้ว่าฐานเสียงคิดอะไรอยู่ ตัวเองจะต้องทำอะไร จะต้องพูดอะไร เพื่อทำให้ฐานเสียงชอบและเลือกตัวเอง และในขณะที่พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับฐานเสียงที่เป็นคนจนหรือรากหญ้า แต่ก็ไม่ทิ้งกลุ่มทุนเช่นกัน
“สิ่งที่พรรคเพื่อไทย พยายามทำมาตลอดในช่วง 20 ปี คือ พยายามการหาสมดุลระหว่าง อยู่กับกลุ่มทุนก็ได้ คะแนนเสียงก็ได้ และเขาก็ทำสำเร็จพอสมควร แต่ด้วยคะแนนเสียงของเขาที่หายไปจากการสลายขั้ว ผมจึงเดาใจเขาว่า เขาพร้อมทำทุกอย่าง เพื่อดึงฐานเสียงที่หายไปกลับมา แล้วจะโยงไปในเรื่องสวัสดิการในภายหลัง อย่างเรื่องเงินดิจิทัล ผมมองว่านี่ไม่ใช่นโยบายเศรษฐกิจ แต่เป็นนโยบายเรื่องการเมือง
โดย 90% เป็นเรื่องการเมือง อีก 10% เป็นเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเขาเชื่อจริงๆหรือไม่ว่า มันกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง แต่เขาเชื่อ 100% ว่า จะได้คะแนนเสียง แล้วถ้าพูดถึงการคิดนอกกรอบ ผมมองว่าการคิดนอกกรอบรอบนี้กับรอบที่เป็นพรรคไทยรักไทย ครั้งนี้ลุ่มลึกน้อยกว่า ไม่ค่อยมีฐานรองรับความคิด เท่ากับสมัยนั้นที่มีงานวิชาการรองรับ มีความคิดที่ตกผลึก ครั้งนี้ฉาบฉวยกว่าเยอะ นอกกรอบเกินไปนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อพวกเรา ต่อเศรษฐกิจ ต่องบประมาณ” ดร.สมชัยระบุ
@มองรัฐบาลเน้น‘เศรษฐกิจ’โตมากกว่า‘เรื่องสวัสดิการ’
ดร.สมชัย กล่าวว่า จากภาพใหญ่ที่พูดมาทั้งหมด จึงคิดว่านโยบายเรื่องสวัสดิการ คงไม่ใช่เรือธงของพรรคเพื่อไทย และในการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีการหาเสียงเรื่องสวัสดิการกันมาก แต่พรรคเพื่อไทยมีดีกรีน้อยกว่าพรรคอื่น และเทียบไม่ได้เลยกับพรรคก้าวไกล เพราะพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญในด้านเศรษฐกิจ เขามีความคิดว่าถ้าเศรษฐกิจดี คนก็ดูแลตัวเองได้ คล้ายกับธนาคารโลกที่มองว่า ถ้าเศรษฐกิจดี ความจำเป็นที่ต้องให้เงินให้ทอง สวัสดิการก็ลดลง เพราะคนมีเงินมีทอง
“ผมคิดว่าสำหรับเพื่อไทย นโยบายที่เป็นเรือธงของเขา คือ นโยบายเศรษฐกิจ ส่วนเรื่องสวัสดิการเป็นตัวตาม ดังนั้น นโยบายสวัสดิการจะไปในทางไหน จะขึ้นอยู่กับว่าเขามองว่าผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจจะไปทางไหนก่อน ถ้าไปได้ดี เขาก็ลดดีกรีตรงนี้ลง (สวัสดิการ) แต่ถ้าเศรษฐกิจไปได้ไม่ดี แล้วมีความเสี่ยงว่าฐานเสียงจะหายไป เขาน่าจะเทน้ำหนักมาในเรื่องสวัสดิการมากขึ้น แต่จะยังไม่เห็นตอนนี้ ต้องรออีกซักปีหนึ่ง” ดร.สมชัย กล่าว
ดร.สมชัย กล่าวต่อว่า ถ้าพูดถึงเรื่องสวัสดิการจะมี 2 มิติ คือ สวัสดิการควรจะเป็นแบบถ้วนหน้า หรือเป็นสวัสดิการเฉพาะคนจน ซึ่งเมื่อไปดูมุมมองของพรรคเพื่อไทย บางคนอาจติดว่าพรรคเพื่อไทยเป็นคนที่โปรยถ้วนหน้า เพราะมีเรื่องบัตรทอง แต่ถ้าไปดูสวัสดิการที่เป็นแบบถ้วนหน้า มีเฉพาะบัตรทองเรื่องเดียวเท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นยังไม่เห็น ดังนั้น จึงมองว่าจุดยืนของพรรคเพื่อไทยในเรื่องสวัสดิการแบบถ้วนหน้า และแบบให้เฉพาะคนจนนั้น จะขึ้นอยู่กับผลตอบแทนทางการเมือง
“ผมคิดว่าเขาน่าจะดูจังหวะว่า เมื่อไหร่ควรเป็นถ้วนหน้า และเมื่อไหร่ควรเจาะจง ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า ผลตอบแทนทางการเมือง อะไรได้ผลประโยชน์สูงสุดสำหรับเขา แม้แต่เรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เขาก็ไม่ได้บอกว่าจะไปแบบไหน มีการระบุตัวเลขงบประมาณที่จัดไว้ แต่ถ้าไปคำนวณดู (เบี้ยยังชีพ) น้อยกว่า 3,000 บาท วันนี้เมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว ก็ไม่พูดแล้ว และไม่น่าจะพูดอย่างน้อยอีก 1-2 ปีนี้ เพราะไม่มีเงิน” ดร.สมชัย กล่าว
ดร.สมชัย กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปภาษีเพื่อทำให้รัฐบาลมีรายได้มากขึ้น แล้วนำรายได้เหล่านั้นมาทำเรื่องสวัสดิการ โดยเฉพาะเมื่อเราเป็นสังคมผู้สูงอายุนั้น เป็นเรื่องที่ต้องคิดอย่างจริงจังได้แล้ว แต่เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ทำ เพราะจะไปกระทบกับกลุ่มทุน เขาจึงไปคิดนอกกรอบว่า ภาษีไม่ต้องขึ้น แล้วหาเงินโดยไม่ต้องเพิ่มภาษี นั่นก็คือการทำให้เศรษฐกิจเติบโต และน่าจะแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่โตอย่างที่คิด ก็คิดว่าพรรคเพื่อไทยคงไม่กล้าขึ้นภาษีอยู่ดี
“เมื่อไม่มีการปฏิรูปภาษี ถ้าเทียบกันระหว่างเรื่องสวัสดิการแบบถ้วนหน้าและแบบเจาะจง ผมเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะไปทาง 'เจาะจง' ส่วนของเก่าอะไรที่ให้ถ้วนหน้าไปแล้ว อย่างเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ผมไม่คิดว่า เขาจะทำตามรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (พิสูจน์ความจน) ผมคิดว่าเขายกเลิกอันนั้นแน่ เพราะเสียฐานเสียง เสียคะแนนเสียงเยอะมาก แล้วที่เขาสัญญาว่าจะเพิ่มเงินให้ ผมคิดว่า เขาอาจจะไม่ทำหรือไม่ทำก็ได้ เพราะขึ้นอยู่กับฐานเสียงเขาคิดอย่างไร
แต่ถ้าเพิ่มก็คงไม่เพิ่มถึง 3,000 บาท เช่น อาจจะเพิ่มเป็น 2,000 บาท ซึ่งถ้าทำแล้วได้คะแนนเสียงเยอะ เขาอาจจะทำก็ได้ และอย่างที่บอก เขา (พรรคเพื่อไทย) เป็นพรรคที่ประเมินเรื่องฐานเสียง แล้วคนแก่ก็เป็นฐานเสียงที่มีเสียงเป็นกอบเป็นกำมากที่สุด ดังนั้น ถ้าดูตามกลุ่มเป้าหมายแล้ว ผมคิดว่าในเรื่องสวัสดิการ ถ้าจะเป็นต้องเพิ่ม คนแก่น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้ก่อนกลุ่มอื่น ส่วนเรื่องเด็กเล็กที่ผมพยายามผลักดัน น่าจะเป็นกลุ่มท้ายๆ” ดร.สมชัย กล่าว
@ชี้‘เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ-อุดหนุนเด็กเล็ก’ดีกว่าแจกเงินดิจิทัล
ด้าน รศ.ดร.ชัยรัตน์ เอี่ยมกุลวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ก่อนรัฐบาลเศรษฐา จะเข้ามาบริหารประเทศและเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะติดๆดับๆ เศรษฐกิจในภาพรวมไม่ดี สู้ประเทศอื่นไม่ได้ ขณะที่ในช่วง 10 ปี และ 20 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนที่มีเศรษฐกิจคล้ายไทย ดังนั้น รัฐบาลจะต้องทำนโยบายที่แปลกใหม่ เพื่อทำให้เศรษฐกิจติดเครื่องขึ้นมาให้ได้
“รัฐบาลต้องทำอะไรที่ใหม่ แปลก อย่างเรื่องการแจกคนละ 1 หมื่น ผมว่า ลองดู ผมยอมนะ ขอให้ทำอะไรก็ได้ ที่ทำให้รถสตาร์ทขึ้นมา แล้วให้มันวิ่ง ส่วนผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ก็มาลองดูกัน และถ้าเรากระตุ้น โดยให้คนที่อายุมากกว่า 16 ปี คนละ 1 หมื่นบาท ก็เป็นแนวคิดที่ต้องทำ ซึ่งแนวคิดนี้อาจไม่ตรงกับท่านอื่น” รศ.ดร.ชัยรัตน์ กล่าว
รศ.ดร.ชัยรัตน์ กล่าวต่อว่า ในเรื่องสวัสดิการนั้น เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ คือ รัฐบาลที่มาจากพรรคเพื่อไทย ไม่มีความชัดเจนในเรื่องนโยบายสวัสดิการเลย เพราะไม่เคยได้ยินว่ามีนโยบายให้สวัสดิการเบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาท/เดือน ถ้วนหน้า และไม่เคยได้ยินว่ามีนโยบายอุดหนุนเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี ทั้งๆที่การช่วยเหลือเด็กและผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญ และแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตในอัตราค่อนข้างต่ำ แต่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องทำ
“ในอีกมุมหนึ่ง ถ้าผมมีเงิน 5.6 แสนล้าน ถ้าผมคิดเรื่องสวัสดิการ ผมจะเอามาแจกให้เด็กและผู้สูงอายุเท่านั้น ที่ผมคิดอย่างนั้น ก็เพราะว่ากลุ่มผู้สูงอายุมีการออมต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และมีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั้งประเทศ ถ้ากลุ่มนี้ได้เงินไป คือ แจกให้คนแก่ 4.5 แสนล้าน ซึ่งแจกได้แค่ปีเดียวเหมือนกัน ผมคิดว่าเศรษฐกิจจะมีการเติบโตมากกว่าแจกถ้วนหน้า เพราะคนที่มีรายได้ค่อนข้างต่ำนั้น มีแนวโน้มจะบริโภคในสัดส่วนที่สูงมาก
แล้วถ้าเราเอาเงินไปแจกเด็ก ทำให้เขามีสวัสดิการดีขึ้น เช่น นำไปซื้ออาหาร ซื้อนม ที่มีประโยชน์แก่เด็ก ถ้าเอาไปใช้ตรงนี้ทั้งหมด 5.6 แสนล้านเหมือนกัน ผมคิดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าแจกคนละ 1 หมื่นบาท และก็จะตรงกับกลุ่มที่เดือดร้อนจริงๆด้วย” รศ.ดร.ชัยรัตน์ กล่าว
รศ.ดร.ชัยรัตน์ ยังระบุว่า การทำนโยบายให้เบี้ยคนชราถ้วนหน้า 3,000 บาท จะต้องใช้เงิน 4.5 แสนล้านบาท/ปี แต่หากทำทุกปีแล้ว ก็มีคำถามว่าประเทศไทยจะเอาเงินจากไหนในระยะยาว ซึ่งวิธีการที่ทำได้ คือ เก็บภาษีเพิ่ม แต่ในภาวะที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจยังติดๆดับๆ เติบโตค่อนข้างต่ำ การเก็บภาษีเพิ่มอาจทำได้ไม่ง่ายนัก
@เสนอแก้รัฐธรรมนูญ ทำให้‘สวัสดิการ’เป็นแบบถ้วนหน้า
นอกจากนี้ ในเวทีเสวนา เรื่อง ‘การบ้านรัฐสวัสดิการ ในรัฐบาลเศรษฐา’ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่าย We Fair ได้อภิปรายว่า เมื่อพูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการหรือนโยบายใดๆก็ตาม แม้ว่านโยบายอาจดี แต่หากไม่เป็นประชาธิปไตย ก็จะไม่ได้เกิดหรือไม่มีความยั่งยืน และจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 ปี 2550 และปี 2560 ล้วนเป็นรัฐธรรมนูญที่ฝังดีเอ็นเอในเรื่องการสงเคราะห์เอาไว้ทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่จะต้องดีเอ็นเอตรงนี้ออกไป
“รัฐธรรมนูญบอกให้ผู้ยากไร้เข้าถึงการรักษาพยาบาลฟรี เบี้ยยังชีพก็บอกเหมือนกันว่า ต่อไปนี้คนที่จะได้เบี้ยผู้สูงอายุต้องให้เฉพาะคนจน ซึ่งดีเอ็นเอที่ฝังในเรื่องสงเคราะห์ตรงนี้ มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 และปี 2560
ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะแก้ ต้องดึงดีเอ็นเอตรงนี้ออก แล้วทำให้สวัสดิการเป็นสิทธิเสมอกันถ้วนหน้า ทุกคนต้องได้ ภาษีที่จ่ายไปแล้วต้องกลับคืนเป็นสวัสดิการ ส่วนคนรวยจะสละสิทธิก็ได้ แต่ทุกคนต้องได้ถ้วนหน้ากัน” นิติรัตน์ กล่าว
นิติรัตน์ ระบุว่า ในขณะที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ว่า จะมีการจัดสรรงบประมาณ 3 แสนล้านบาท สำหรับการจัดสวัสดิการทุกประเภท แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะนำงบไปทำเรื่องใดบ้าง และเมื่อตรวจสอบในเรื่องนโยบายพบว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีนโยบายในการอุดหนุนเด็กเลย อีกทั้งเมื่อตรวจสอบนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหรือบำนาญประชาชน พรรคเพื่อไทยก็ไม่มีนโยบายนี้เช่นกัน แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆหลายพรรคที่มีนโยบายให้เบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาท/เดือน
“ถ้าเราได้ (เบี้ยผู้สูงอายุ) 3,000 บาท ปีหนึ่ง 3-4 แสนล้าน เราจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทุกเดือน และคนที่เป็นแรงงาน ซึ่งเป็นลูกหลานที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ เขาก็ไม่ต้องทำ OT อย่างน้อย 30 ชั่วโมง ถ้าได้ชั่วโมงละ 100 บาท ชีวิตที่มีเวลาดูแลลูกมากขึ้น 1 ชั่วโมง มันเป็นเศรษฐศาสตร์แห่งความสุข นี่คือการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่สำคัญไทยเราติดอันดับความเหลื่อมล้ำ 1 ใน 10 ของโลก เรามีเศรษฐี 10 อันดับแรก ซ้ำๆวนๆเวียนๆ อย่างนี้
เราจะขยับประเทศนี้ได้อย่างไร ถ้าไม่มีรัฐสวัสดิการ นี่จึงเป็นการบ้านของรัฐบาลเศรษฐา และสิ่งที่เราเรียกร้อง 3,000 บาทนั้น ถามว่ามันเกินเลยไปใช่ไหม อยากถามว่า เกินเลยอย่างไรกับเบี้ยฯ 3,000 บาท ทั้งนี้ ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์และรัฐบาลที่เป็นแนวทุนนิยม ต่างก็บอกว่างบไม่พอ แต่ถ้าลองไปดูจะพบว่า การจัดสรรงบสวัสดิการของไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกอีก” นิติรัตน์ ระบุ
นิติรัตน์ ยังเสนอให้รัฐบาลปฏิรูประบบภาษีและระบบงบประมาณ เช่น การเก็บภาษีความมั่งคั่งกับมหาเศรษฐี 1% ,เก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้น 30% ,ปรับปรุงภาษีมรดก เช่น ปรับอัตราขั้นต่ำ ,การเก็บภาษีนิติบุคคลทุนใหญ่ ,ปฏิรูปสิทธิประโยชน์ BOI และลดงบกลาโหมลง 20% เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เงินเข้ามาเพิ่ม 5.6 แสนล้านบาท เพื่อนำเงินมาจัดทำรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า เช่น ให้เงินอุดหนุนเด็ก บำนาญผู้สูงอายุถ้วนหน้า และประกันสังคมถ้วนหน้า เป็นต้น
@กระตุ้นรัฐบาลเพิ่มสวัสดิการ‘เด็ก-ผู้สูงอายุ-แรงงาน’
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกล กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องสวัสดิการ แต่มีสวัสดิการอย่างน้อย 3 ด้าน ที่พรรคก้าวไกลเห็นว่าต้องเร่งผลักดัน ได้แก่ 1.สวัสดิการด้านเด็ก ซึ่งสถานกาณ์เด็กในปัจจุบันมีความน่าเป็นห่วงมาก เช่น เด็กผอมแห้งมีสัดส่วน 7.2% มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ 6.7% ทั้งๆที่เราเป็นประเทศผู้ผลิตอาหาร เป็นครัวของโลก หากปล่อยไว้อย่างนี้จะเกิดปัญหาต่อเนื่องระยะยาว
ดังนั้น จึงอยากให้มีการเพิ่มเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าจาก 600 บาท/เดือน เป็น 1,200 บาท/เดือน ซึ่งใช้เงิน 3-5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น เพราะเด็กมีจำนวนไม่มาก
2.สวัสดิการด้านผู้สูงอายุ แม้ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการแจกเงิน 1 หมื่นบาท จะทำให้ตัวเลขต่างๆดีขึ้นจริง แต่ถ้าเทียบระหว่างการได้เงิน 1 หมื่นบาท และต้องใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน กับการให้เบี้ยผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 3,000 บาททุกเดือน ผลที่ได้น่าจะแตกต่างกัน เพราะมีโอกาสสูงมากว่า การได้เงินระยะสั้นในคราวเดียว คนอาจนำไปซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นก็ได้ แต่หากได้ 3,000 บาททุกเดือน คนจะวางแผนว่า แต่ละเดือนจะนำใช้ปรับปรุงคุณภาพชีวิตหรือลงทุนอย่างไร
ขณะเดียวกัน เนื่องจากเบี้ยผู้สูงอายุไม่ได้ปรับมา 12 ปีแล้ว จึงต้องมีการหารือกับรัฐบาลให้ปรับเพิ่มในส่วนนี้ แม้ว่าจะได้ไม่ถึง 3,000 บาท/เดือน ก็ตาม รวมทั้งต้องยืนยันในหลักการให้ว่า 'ต้องแบบถ้วนหน้า' ทุกคนต้องได้รับ ไม่ต้องมาพิสูจน์ความจนกันอีก นอกจากนี้ รัฐบาลควรต้องจัดทำระบบสวัสดิการในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อลดภาระของลูกหลานที่อาจต้องลาออกจากงานมาดูแลผู้สูงอายุ อีกทั้งต้องเร่งแก้ปัญหาหนี้สินของผู้สูงอายุด้วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุในภาคเกษตรกรรม
และ 3.สวัสดิการด้านแรงงาน จะต้องมีการตกลงหรือกำหนดกติกาให้ชัดเจนว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นอย่างไร เช่น ปรับเพิ่มตามเงินเฟ้อ ปรับเพิ่มตามอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นต้น เพื่อให้ทั้งผู้ประกอบการและแรงงานสามารถคาดการณ์ได้ว่า ค่าแรงควรจะขึ้นเท่าไหร่ ทั้งนี้ ตนยังมีข้อสังเกตว่า เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตแล้ว จะพบว่าการเพิ่มขึ้นของค่าแรงของไทยนั้น เพิ่มขึ้นน้อยกว่าเงินเฟ้อ และเพิ่มขึ้นน้อยกว่าผลิตภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้นด้วย
ด้าน สงกรานต์ จิตสุทธิภากร ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตอนที่หาเสียงเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาท ซึ่งถามว่าเราอยากเพิ่มเบี้ยฯเป็น 3,000 บาทหรือไม่ เราก็อยากให้ แต่ด้วยความที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแนวอนุรักษ์นิยม ก็มีคำถามภายในพรรคว่า แล้วจะเอาเงินมาจากที่ไหน ถ้าพูดแล้ว ทำไม่ได้จะพูดทำไม ซึ่งในความเห็นส่วนตัวแล้ว มีงบหลายส่วนที่เอามาทำตรงนี้ได้ เช่น งบทหาร และงบส่วนเกินที่ซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆ
ส่วน เดโชนุชิต นวลสกุล โฆษกพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า พรรคเป็นธรรม สนับสนุนการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท/เดือน และมีวิธีการที่จะทำให้การเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็นจริงได้ด้วย แต่คงไม่พูด ณ ที่นี้ เพราะไม่ได้เป็นรัฐบาล และส่วนตัวมองว่าในช่วง 3 ปีจากนี้ไป ไม่น่าจะได้เห็นการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท เพราะรัฐบาลจะบอกแต่เพียงว่าไม่มีเงิน ทั้งๆที่รัฐบาลมีแหล่งเงินที่จะนำมาเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุได้
ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคฯ สนับสนุนให้รัฐบาลจัดสวัสดิการให้กับประชาชน ไม่ว่าเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย และสวัสดิการที่เป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ซึ่งกรณีการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาทนั้น ไม่ได้หมายความว่า เราจะให้รัฐเป็นผู้เลี้ยงดูผู้สูงอายุ แต่มองว่าเป็นการช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุมีความมั่นคงในด้านเศรษฐกิจมากกว่า
“ถ้าทุกคนมีหลักประกันด้านรายได้ของตัวเอง โดยเฉพาะผู้สูงอายุคนละ 3,000 บาท ซึ่งเลยเส้นความยากจน 2,804 บาท น่าจะเป็นการสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว เพราะอย่างน้อยเมื่อลูกตกงานก็จะกลับไปอยู่กับพ่อแม่ได้ และเราก็ควรจะทลายคำถามที่ว่า เราจะเอาเงินมาจากไหน เพราะเมื่อคุณเป็นรัฐบาล คุณต้องคิดในเรื่องเหล่านี้ เพราะการสร้างหลักประกันให้คนถือเป็นเรื่องสำคัญ” สารี กล่าว
อ่านประกอบ :
ต้องคงสิทธิ‘ถ้วนหน้า’! ‘เครือข่ายภาคปชช.’จี้ยกเลิกระเบียบฯจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุแบบ‘อนาถา’
ต่างกัน 4 เท่า! เทียบงบ‘เบี้ยผู้สูงอายุ-บำนาญขรก.’10ปี ก่อน‘รบ.บิ๊กตู่’รื้อเกณฑ์จ่ายคนชรา
‘จุรินทร์’ยันไม่ปรับเกณฑ์จ่าย‘เบี้ยผู้สูงอายุ’-‘นักวิชาการ’มองรัฐไม่กล้าเก็บภาษีคนรวย
รบ.แจงปรับลดเบี้ยผู้สูงวัย เฉพาะคนรวย ลดภาระงบประมาณ
รายจ่ายยากลดทอน 2 ล้านล.! เปิด‘ความเสี่ยงการคลัง’ล่าสุด หลัง‘นักการเมือง’โหม‘ประชานิยม’
สำรวจนโยบาย 'บำนาญแห่งชาติ-เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ' สู้ศึกเลือกตั้ง-เสี่ยงภาระการคลัง?
เวทีเสวนาฯชงรีดภาษีมั่งคั่ง-ขึ้นVat หางบโปะ‘บำนาญแห่งชาติ’-ห่วง‘รุ่นเกิดล้าน’แก่แล้วจน
จุดยืนล่าสุด 5 พรรคการเมือง หนุน‘บำนาญแห่งชาติ’ แต่ไม่ฟันธงได้เดือนละ 3 พันบาท ปีไหน!
ข้อเสนอ 'บำนาญถ้วนหน้า' เดือนละ 3 พันบาท ทำได้-ไม่ได้ ใช้เงินเท่าไหร่-หาเงินจากไหน?
จี้เลิกลดหย่อนภาษีคนรวย-เจ้าสัว! ‘ภาคปชช.’เคลื่อนไหวผลักดัน‘บำนาญถ้วนหน้า’ 3 พันบาท/ด.
จาก'สงเคราะห์'สู่'สวัสดิการ' เพิ่ม'เบี้ยผู้สูงอายุ' 3 พันบาท ทางเลือกที่รัฐบาลทำได้?
ครม.อนุมัติ 8.3 พันล้าน เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา 100-250 บาท 6 เดือน
ผลวิจัยฯชี้เพิ่ม‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’เป็น 3 พันบาท/ด. ต้นทุนเทียบเท่าขึ้นแวต 16.9%
รมว.พม.รับข้อเสนอเครือข่ายประชาชน พัฒนา 'เบี้ยผู้สูงอายุ' เป็นระบบบำนาญ