‘กลุ่ม We Fair-เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ-เครือข่ายสลัมสี่ภาค’ ชุมนุมหน้า ‘ก.คลัง’ คัดค้านให้สิทธิเบี้ยยังผู้สูงอายุแบบ ‘อนาถา’ ขณะที่เครือข่ายฯ 53 องค์กร ออกแถลงการณ์ร่วมค้าน ‘ตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ เรียกร้อง ‘รัฐบาลรักษาการ’ ยกเลิกระเบียบมหาดไทยฯฉบับใหม่ คงสิทธิเบี้ยคนชราแบบ 'ถ้วนหน้า'
.................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่บริเวณประตู 4 หน้ากระทรวงการคลัง เครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และเครือข่ายสลัมสี่ภาค ได้รวมตัวจัดกิจกรรม ‘ค้านการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ เพื่อคัดค้านกรณีการบังคับใช้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯฉบับใหม่ ที่กำหนดให้ยกเลิกการให้สิทธิ ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ แบบถ้วนหน้า
ทั้งนี้ แกนนำเครือข่ายฯ ระบุว่า เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2566 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฯ พ.ศ.2566 โดยระเบียบฯฉบับนี้กำหนดว่า ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.2566 เป็นต้นไป ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะไม่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้าอีกต่อไปแล้ว คือ ต้องได้รับเบี้ยยังชีพฯแบบอนาถาหรือสงเคราะห์ โดยมีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะผู้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าใครจะได้หรือไม่ได้
“ถ้าทำอย่างนี้จะเกิดปัญหาแน่นอน และสร้างความแตกแยกในท้องถิ่น เพราะคนที่มีลูกหลานเป็นผู้นำท้องถิ่น เมื่อมีอายุ 60 ปีแล้ว คนเหล่านี้ก็จะได้ก่อน ซึ่งเป็นการย้อนกลับไปในอดีตใช่หรือไม่ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลรักษาการเขาทำ หมกเม็ดลักไก่ ลักหลับพี่น้องประชาชน คนแก่ของพวกเรา เราแก่อยู่แล้ว เราก็ใกล้จะตายอยู่แล้ว ยังจะมาลักหลับเราอีก อันนี้ คือ ความน่าสมเพชของรัฐบาล และของหน่วยงานรัฐ
คนเหล่านี้ก่อนที่เขาจะแก่ กว่าจะรอดปากเหยี่ยวปากกามา กว่าจะผ่าน 60 ปี เขาเคยเป็นผู้ใช้แรงงาน เคยเสียภาษี เคยเป็นกลุ่มคนที่เสียภาษีให้กับรัฐตลอด ทั้งทางตรงและทางอ้อม แล้วรัฐคิดอะไร คิดว่าจะให้แบบอนาถา แบบมีบุญคุณ กดทับ ใครที่จะต้องได้ หลังจากวันที่ 12 ส.ค.นี้ ก็ต้องไปกราบกราน อ้อนวอนว่า ผมนี่อายุ 60 ปีแล้ว ขอให้ได้เบี้ยยังชีพอย่างน้อย 600 บาทอย่างนั้นหรือ คุณกำลังกลับไปทำสิ่งในที่ไม่เท่าเทียมและเหลื่อมล้ำชัดเจนขึ้น” แกนนำฯระบุ
แกนนำเครือข่ายฯ กล่าวต่อว่า ตามระเบียบฯข้อ 6 (4) ที่กำหนดว่า ผู้ที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพฯจะต้องไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอในการดำรงชีวิต หรือเป็นการวัดจากฐานความยากจนนั้น อยากถามว่าการวัดความยากจนในที่ผ่านมา รัฐบาลวัดได้หรือไม่และใครเป็นคนกลั่นกรอง เช่น กรณีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนนั้น พบว่ามีคนจนจริงๆที่ตกหล่นเป็นจำนวนมาก
รายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงบ่าย เครือข่ายภาคประชาชนฯยังได้เคลื่อนขบวนไปจัดกิจกรรม ‘ค้านการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ ที่กระทรวงการคลัง และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อีกด้วย
วันเดียวกัน เครือข่ายประชาชนฯ 53 องค์กร และประชาชนรายบุคคล 1,468 คน ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ร่วมเครือข่ายประชาชน “ปกป้องสวัสดิการประชาชน คัดค้านการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” โดยมีเนื้อหาว่า ในห้วงยามที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว รัฐบาล ‘ประยุทธ์’ ยังคงรักษาการณ์ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ กระทรวงมหาดไทยได้ออกหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 โดยเพิ่มคุณสมบัติ การเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ เป็นเงื่อนไขในการรับเบี้ยยังชีพ
ทั้งที่นับกว่าทศวรรษตั้งแต่ปี 2552 สวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ถูกปรับจากระบบสงเคราะห์คนยากไร้อนาถามาเป็นสิทธิสวัสดิการระบบถ้วนหน้า ขอเพียงให้ประชาชนมีอายุ 60 ปี และไม่ได้รับสวัสดิการหรือบำนาญอื่นใดจากรัฐในลักษณะเดียวกัน
จนเมื่อเข้าสู่การรัฐประหาร 2557 การบริหารประเทศภายใต้การนำของประยุทธ์ จันทร์โอชา การดำเนินนโยบายด้านสวัสดิการสังคม ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย กลับลิดรอนสิทธิสวัสดิการของประชาชน ลดทอนด้อยค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยการให้พิสูจน์ความยากจน แสดงถึงความไม่เชื่อมั่นในระบบสวัสดิการถ้วนหน้า อันเป็นการเคารพสิทธิเสมอกันของประชาชน และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพลเมืองในประเทศนี้
ยิ่งสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น รัฐควรต้องออกโรงมาปกป้องดูแลทรัพยากรมนุษย์ ผู้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศ ด้วยการเพิ่มสิทธิสวัสดิการ ยกระดับคุณภาพชีวิต ในฐานะพลเมือง ทรัพยากรบุคคลของประเทศ
ในนามของพลเมือง ที่ได้รับผลกระทบจากการออกระเบียบของกระทรวงมหาดไทย และหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เราจะร่วมกันปกป้องสวัสดิการประชาชน และร่วมกันคัดค้านการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยมีข้อเรียกร้องร่วมกันดังนี้
1.กระทรวงมหาดไทย ให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 แล้วกลับไปใช้ระเบียบเดิม ซึ่งคงสิทธิถ้วนหน้า โดยไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน และตัดสิทธิการรับสวัสดิการซ้ำซ้อนไว้แล้ว
2.คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ต้องออกมาปกป้องสิทธิของผู้สูงอายุทุกคน ไม่ให้ถูกลิดรอนต่ำลงไปกว่าที่เคยเป็น ด้วยการไม่สนองตอบต่อหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566
3.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องมีบทบาทสำคัญในการยกระดับการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นระบบบำนาญถ้วนหน้า ด้วยการออกเป็นกฎหมายรองรับ ไม่ใช่ใช้หลักนโยบายการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามมติคณะรัฐมนตรี
4.กระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ของตัวเองในการศึกษาตัดงบรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เข้ารัฐ เพื่อเพิ่มรายได้มาเติมเต็มการจัดสวัสดิการให้กับประชาชนแบบถ้วนหน้า เช่น การศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง ภาษีลาภลอย ภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้น เป็นต้น
5.รัฐบาลใหม่ ต้องผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเรื่องรัฐสวัสดิการเป็นสิทธิแบบถ้วนหน้าบรรจุในกฎหมายให้ชัดเจน
อ่านประกอบ :
ต่างกัน 4 เท่า! เทียบงบ‘เบี้ยผู้สูงอายุ-บำนาญขรก.’10ปี ก่อน‘รบ.บิ๊กตู่’รื้อเกณฑ์จ่ายคนชรา
‘จุรินทร์’ยันไม่ปรับเกณฑ์จ่าย‘เบี้ยผู้สูงอายุ’-‘นักวิชาการ’มองรัฐไม่กล้าเก็บภาษีคนรวย
รบ.แจงปรับลดเบี้ยผู้สูงวัย เฉพาะคนรวย ลดภาระงบประมาณ
รายจ่ายยากลดทอน 2 ล้านล.! เปิด‘ความเสี่ยงการคลัง’ล่าสุด หลัง‘นักการเมือง’โหม‘ประชานิยม’
สำรวจนโยบาย 'บำนาญแห่งชาติ-เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ' สู้ศึกเลือกตั้ง-เสี่ยงภาระการคลัง?
เวทีเสวนาฯชงรีดภาษีมั่งคั่ง-ขึ้นVat หางบโปะ‘บำนาญแห่งชาติ’-ห่วง‘รุ่นเกิดล้าน’แก่แล้วจน
จุดยืนล่าสุด 5 พรรคการเมือง หนุน‘บำนาญแห่งชาติ’ แต่ไม่ฟันธงได้เดือนละ 3 พันบาท ปีไหน!
ข้อเสนอ 'บำนาญถ้วนหน้า' เดือนละ 3 พันบาท ทำได้-ไม่ได้ ใช้เงินเท่าไหร่-หาเงินจากไหน?
จี้เลิกลดหย่อนภาษีคนรวย-เจ้าสัว! ‘ภาคปชช.’เคลื่อนไหวผลักดัน‘บำนาญถ้วนหน้า’ 3 พันบาท/ด.
จาก'สงเคราะห์'สู่'สวัสดิการ' เพิ่ม'เบี้ยผู้สูงอายุ' 3 พันบาท ทางเลือกที่รัฐบาลทำได้?
ครม.อนุมัติ 8.3 พันล้าน เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา 100-250 บาท 6 เดือน
ผลวิจัยฯชี้เพิ่ม‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’เป็น 3 พันบาท/ด. ต้นทุนเทียบเท่าขึ้นแวต 16.9%
รมว.พม.รับข้อเสนอเครือข่ายประชาชน พัฒนา 'เบี้ยผู้สูงอายุ' เป็นระบบบำนาญ