“...ที่ออกมาแฉ เพราะโครงการนี้ผลประโยชน์มีมหาศาล และมันมีคนได้ประโยชน์ ซึ่งไม่ใช่ประชาชนทั่วไป และถ้าแน่จริงก็ดำเนินโครงการต่อไป ผมพูดของผม คุณก็ทำของคุณไป...”
เป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์แล้ว ที่ "ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์" อดีตนักการเมืองชื่อดัง และอดีตผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรครักประเทศไทย ชักธงรบเล่นศึกกับพรรคภูมิใจไทย
โดยเริ่มต้นจากการเปิดแผลโครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทางรวม 35.9 กม. วงเงินโครงการรวม 142,000 ล้านบาท หลังออกมาแฉทุนจีนสีเทาอยู่นาน
สำหรับประเด็นสำคัญที่นายชูวิทย์ออกมาแฉโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมี 2 ประเด็นสำคัญ คือ การรับเงินทอนของคนบางกลุ่มที่ต่างประเทศ วงเงิน 30,000 ล้านบาท ผ่านธนาคาร HSBC และ 2. กรณีมีการล็อบบี้กระบวนการยุติธรรมที่มีผลต่อคดีรถไฟฟ้าสายสีส้มในขณะนี้
แน่นอน สังคมงุนงงกับการที่นายชูวิทย์ออกมาขย่มเรื่องสายสีส้มแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย จนภายหลังลามไปถึงนโยบายกัญชาเสรีที่เป็นเหมือนผลงานใจกลางของพรรคภูมิใจไทย
ซึ่งนายชูวิทย์ได้ระบุถึงสาเหตุที่ออกมาแฉปมประเด็นรถไฟฟ้าสายสีส้มหลายครั้ง เช่นเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2566 ที่โรงแรมเดอะเดวิส สุขุมวิท 24 นายชูวิทย์ชี้แจงว่า ที่ออกมาแฉ เพราะโครงการนี้ผลประโยชน์มีมหาศาล และมันมีคนได้ประโยชน์ ซึ่งไม่ใช่ประชาชนทั่วไป และถ้าแน่จริงก็ดำเนินโครงการต่อไป ผมพูดของผม คุณก็ทำของคุณไป
เมื่อมีการถามย้ำว่า การออกมาแฉไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องพรรคการเมืองใช่หรือไม่ นายชูวิทย์ระบุว่า พรรคการเมืองจะทำอะไรก็ทำไป
ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 ที่กระทรวงยุติธรรม นายชูวิทย์ อธิบายอีกรอบหนึ่งว่า ที่ออกมาแตะเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้มและเรื่องกัญชา เพราะเกี่ยวพันกับผลประโยชน์เยอะ และส่วนหนึ่งนายศักดิ์สยามก็ท้าทายไว้ด้วยว่า โง่ สติไม่ดี และเมื่อไปแตะทั้ง 2 เรื่องนี้ก็มีสุนัขรับใช้บางกลุ่มออกมาโจมตีตน
ส่วนที่การตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะรับงานมาจากพรรครวมไทยสร้างชาติที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรค และที่สำคัญคือมีนายหิมาลัย ผิวพรรณ (เสธ.หิ) ผู้ประสานงานพรรค อดีตคนสนิทนายชูวิทย์รวมอยู่ด้วยนั้น นายชูวิทย์ชี้แจงว่า นายกฯสั่งตนได้อย่างไร ในเมื่อตนด่านายกฯ ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ทำไมไม่คิดบ้างว่ารับงานใครมาด่านายกฯ และความสัมพันธ์กับเสธ.หิก็เคยติดคุกด้วยกันมา แล้วคิดว่าเสธ.หิสั่งตนได้หรือ?
นั่นคือคำชี้แจงส่วนหนึ่งของ "ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์"
นายชูวิทย์ ขณะกำลังชี้แจงผู้สื่อข่าวกรณีออกมาแฉพรรคภูมิใจไทยที่กระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566
ภาพจาก: Youtube เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์
ไม่ว่าการออกมาประกาศศึก ท้าชน พรรคภูมิใจไทย ของ นายชูวิทย์ จะมีเหตุผลเบื้องหลังอะไรก็ตาม
แต่คำถามที่น่าสนใจ คือ ข้อมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ นายชูวิทย์ ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชน เป็นข้อเท็จจริง มีเหตุมีผลมากนอกเพียงใด
@นับหนึ่งที่การเปลี่ยนเกณฑ์เมื่อปี 63
หลังจากที่เป็นประเด็นสังคม ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ประสานขอข้อมูลจากทีมงานของนายชูวิทย์ที่เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่นอกเหนือไปจากที่มีการเปิดเผยไปแล้ว
ทางทีมงานนายชูวิทย์ได้ส่งข้อมูลกลับมาเป็นทางการ
โดยข้อมูลของนายชูวิทย์ ตั้งโจทย์ที่การเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 วันที่ 1 ก.ค. 2563 และครั้งที่ 2 วันที่ 2 พ.ค. 2565
สำหรับการประมูลครั้งแรกเมื่อปี 2563 ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หน่วยงานเจ้าของโครงการ เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประมูล จากเดิมตัดสินที่ "ราคาต่ำสุด (Price)" เป็น "Price performance" เป็นการเปิดช่องให้สามารถใช้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวางในการคัดเลือกผู้ชนะ
เหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขมาจาก บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ทำหนังสือถึง รฟม. และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2563 ขอให้เปลี่ยนเกณฑ์การประมูลโดยขอให้เอาคะแนนด้านเทคนิคมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาโครงการ ทาง รฟม.ก็นำข้อร้องเรียนดังกล่าวให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 พิจารณาในวันที่ 21 ส.ค. 2563
ในจุดนี้ ข้อมูลของนายชูวิทย์ระบุว่า "มีข้อสังเกตว่า เกณฑ์การประเมินใหม่ได้แนบเสนอเข้าคณะกรรมการคัดเลือกพร้อมรายละเอียด ทั้งที่หนังสือ ITD มิได้มีรายละเอียดดังกล่าวแต่อย่างใด"
ต่อมา รฟม.พิจารณาเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2563 ทำให้ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอทุเลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะฉบับใหม่ พร้อมกับกล่าวหาคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 และ รฟม.แก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ต่อมาศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกแบบใหม่ของ รฟม.เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น ทาง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้ระงับคำสั่งของศาลปกครองกลางที่สั่งทุเลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 แต่ รฟม.เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ก็ล้มประมูลโครงการไปในที่สุด
@ข้อสังเกต 5 ประการ หลักเกณฑ์ประมูลรอบ 2
ต่อมา รฟม. ออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มอีกครั้ง โดยมีการเสนอขายเอกสารข้อเสนอร่วมลงทุนแก่เอกชนในเดือน พ.ค. 2565 และกำหนดยื่นประมูลในเดือน ก.ค. 2565
ข้อมูลของนายชูวิทย์ตั้งข้อสังเกตว่า ในการประมูลครั้งที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นสาระสำคัญ 5 ประการ ได้แก่
1.การใช้ผลงานโยธา จะต้องเป็นงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย และต้องแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 20 ปี ทำให้ผู้รับเหมาที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติมีจำนวนจำกัด และเป็นการผูกขาดให้ผู้รับเหมางานโยธาบางราย ซึ่งขัดกับข้อสังเกตของกระทรวงคมนาคมเมีอปี 2560 ที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการจัดการประมูลตามหลักการของ International Competitive Bidding (ประกวดราคานานาชาติ)
2.ไม่ให้ใช้ผลงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และยังทำไม่เสร็จมายื่นได้ ทำให้กลุ่ม BSR ไม่สามารถผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเพื่อยื่นข้อเสนอในการประมูลครั้งที่ 2 ได้ ทั้งที่เป็นผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติและได้มีการยื่นข้อเสนอในการ ประมูลครั้งแรก
3.ลดคุณสมบัติด้านประสบการณ์การจัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้า โดยตัดประสบการณ์ "จัดหาหรือผลิตระบบรถไฟฟ้าพร้อมติดตั้ง มูลค่าไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท" ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะได้ผู้ประกอบการที่ไม่มีประสบการณ์ในการเดินรถไฟฟ้า
4.ลดคุณสมบัติ กรณีมีการร่วมกลุ่มมายื่นประมูล โดยผู้นำกลุ่มไม่ต้องมีประสบการณ์ในการซ่อมบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้า แต่เปลี่ยนเป็น ต้องมี ประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างโยธา แทน ทำให้การประมูลครั้งนี้เป็นการร่วมลงทุนก่อสร้างอุโมงค์และสถานีใต้ดิน แทนที่จะเป็นการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าตามเจตนารมณ์เดิม
5.ลดคุณสมบัติประสบการณ์ในการจัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้าในไทย จากเดิม จะต้องเคยเดินรถไฟฟ้าภายในระยะเวลา 25 ปี และมีระยะเวลาดำเนินการไม่น้อยกว่า 10 ปี อย่างน้อย 1 โครงการในประเทศไทย ตัดคำว่า ‘ในประเทศไทย’ ออก ซึ่งข้อมูลตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการเปิดช่องให้ Operator รายที่ 3 สามารถเข้าร่วมประมูลได้โดยที่ไม่ต้องมีคุณสมบัติตามข้อ 3 และ ข้อ 4 ข้างต้น
@จดหมายชูวิทย์ เปิดพิรุธ ‘อิตาเลี่ยนไทย-รมว.คมนาคม’
นอกจากข้อมูลดังกล่าวแล้ว ในจดหมายที่นายชูวิทย์ทำถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยื่นไปที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2566
ได้เปิดเผยถึงข้อสังเกตสำคัญ 2 ประเด็น ได้แก่
1.การให้บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD)เป็นผู้มีคุณสมบัติยื่นข้อเสนอ ทั้งที่ไม่มีคุณสมบัติยื่นข้อเสนอ เพราะตามประกาศหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน พ.ศ.2563 คุณสมบัติของเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอซองที่ 1 ตามวิธีการเงื่อนไข ประกาศเชิญชวน ปี 2565 ข้อ 9 ห้ามมิให้ผู้บริหารต้องโทษจำคุก ซึ่งพบว่า มีผู้บริหาร ITD คนหนึ่ง ในขณะยื่นซองข้อเสนอ เป็นบุคคลต้องโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีเสือดำ และยังรับโทษอยู่ ก็ต้องประเมินไม่ผ่าน และต้องคืนซองที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาเป็นอย่างอื่น แต่ก็หาได้ทำหน้าที่เช่นนั้น
และ 2.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้มีอำนาจหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 ละเว้นไม่ดำเนินการตามกฎหมาย เพราะใน พ.ร.บ.ดังกล่าวให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีอำนาจในการกำกับควบคุม ตาม มาตรา 72 ที่จะสั่งการให้ คณะกรรมการ รฟม. และ ผู้ว่า รฟม. ชี้แจงข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ตลอดจนมีอำนาจที่จะยับยั้งการกระทำเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนที่ขัดต่อ มติคณะรัฐมนตรี ตลอดจนสั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการในการคัดเลือกเอกชนได้
แต่ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนภายใต้การดำเนินการของ รฟม.ตั้งแต่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ ปี 2563 การยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 รวมถึงการประมูลครั้ง ที่ 2 ที่มีเรื่องการกีดกันและเอื้อประโยชน์ กระบวนการคัดเลือกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณสมบัติเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอ รวมถึงราคาที่แตกต่างซึ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ เกิดขึ้นในสมัยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง
แต่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มิได้ดำเนินการใดๆ ตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ ตาม มาตรา 72 ทั้งที่ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี ถือว่าเป็นการละเว้น เกี่ยวกับหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด?
เหล่านี้ คือ ข้อมูลสำคัญโดยสรุปที่นายชูวิทย์เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา
ฝ่ายกระทรวงคมนาคม จะมีคำชี้แจงอีกด้านอย่างไร คงต้องรอฟังกันต่อไป
ขณะที่ ในด้านคดีความที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้ ก็ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองอีกหลายคดี
ผลการตัดสินคดีความตามหลักกระบวนการยุติธรรมจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องรอติดตามดูเช่นกัน
อ่านประกอบ
- เปิดชื่อ 20 ตุลาการฯ'เสียงข้างน้อย' เห็นแย้งคดีแก้TORสายสีส้มฯ ชี้'รฟม.'ใช้อำนาจโดยพลการ
- มีอำนาจ-ใช้ดุลพินิจโดยชอบ!‘ศาลปค.สูงสุด’ยกฟ้องคดี‘บอร์ดคัดเลือกฯ-รฟม.’แก้ TOR สายสีส้มฯ
- ‘ศักดิ์สยาม’ สอน ‘ชูวิทย์’ รถไฟฟ้าสายสีส้ม อย่าพูดลอยๆ ต้องมีหลักฐานชัดๆ
- ‘ชูวิทย์’ แฉสายสีส้มมีพิรุธ ‘เงินทอน-กระบวนการยุติธรรม’ รฟม.โต้โปร่งใสทุกขั้นตอน
- 'รฟม.'รอศาลปค.สูงสุดชี้ขาด 3 คดีก่อนชง'ครม.'เคาะสายสีส้ม-โต้'ก้าวไกล'ยันประมูลชอบด้วยกม.
- ส่อผิดกม.ฮั้ว! ฝ่ายค้านฯยื่น‘ป.ป.ช.’ไต่สวน‘บิ๊กตู่-ศักดิ์สยาม’กรณีประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ
- ‘รฟม.’ โต้ ‘คีรี’ ยันประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้มฯ’ โปร่งใส-ย้ำข้อเสนอ BTS ไม่น่าเชื่อถือ
- อย่าให้เกินไป! ‘คีรี’จี้‘บิ๊กตู่’ทบทวนประมูล‘สายสีส้มฯ’-ชี้ปัญหาคอร์รัปชันไทยรุนแรงมาก
- ปากพูดแต่ไม่ทำจริง! ACT ชี้ภาคการเมืองต้นตอ‘คอร์รัปชัน’-BTS ยกประมูล‘สายสีส้มฯ’สุดแปลก
- ‘ศักดิ์สยาม’ชี้ ‘สายสีส้ม’ รอศาลตัดสินจบทุกคดี โยน ‘รฟม.’ ตอบรับโอน ‘สายสีเขียว’
- ยัน'โปร่งใส-ตรวจสอบได้'! 'รฟม.' แจง 5 ประเด็น ปมคัดค้านผลประมูลรถไฟฟ้า 'สายสีส้มฯ'
- ‘เวทีสาธารณะฯ’ จี้รัฐบาลตรวจสอบประมูล ‘สายสีส้ม’-ตั้งคำถามปม ‘ส่วนต่าง’ 6.8 หมื่นล้าน
- รฟม.โต้ ACT ยันประมูล‘สายสีส้ม’เปิดกว้าง-ชี้ส่วนต่างผลปย.รัฐ 6.8 หมื่นล.ไม่น่าเชื่อถือ
- เสนอผลปย.ต่างกัน 6.8 หมื่นล.! ACT ออกแถลงการณ์ ร้อง‘บิ๊กตู่’สอบประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ
- BTS ยันข้อเสนอขอรัฐอุดหนุนรถไฟฟ้า 'สายสีส้ม' 9 พันล. ทำได้จริง-ย้ำประมูลส่อไม่สุจริต
- ‘บอร์ดคัดเลือกฯ’เคาะ BEM ชนะประมูลรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’-ผู้ว่าฯรฟม.ยกเลิกแถลงข่าวกระทันหัน