เลขาธิการ ACT ชี้ปัญหาคอร์รัปชัน มีต้นตอจาก ‘ภาคการเมือง’ มองเหตุที่เอาชนะปัญหาไม่ได้ เพราะนักการเมือง ‘ปากพูด แต่ไม่ได้ทำจริง’ ขณะที่ ‘บีทีเอส’ ตั้งคำถาม ‘รฟม.’ ยกเคสประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ พร้อมตั้งคำถามมีคอร์รัปชันหรือไม่
.........................................
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยในงาน ฟัง-คิด-ทำ ‘ถึงเวลาหยุดคนโกง หยุดงบประมาณรั่วไหล’ เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ตอนหนึ่งว่า สาเหตุที่ทำให้ปัญหาคอร์รัปชันทุกวันนี้เลวร้ายลง เป็นเพราะภาคการเมือง และถือว่าเป็นยอดปิรามิดของการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะภาคการเมืองมีอำนาจมากในการกำหนดนโยบาย การจัดสรรงบประมาณ และการกดดันการทำงานของข้าราชการ
“ถามว่าวันนี้ ทำไมปัญหาคอร์รัปชันจึงเลวร้ายอย่างนี้ คำตอบก็คือ เพราะภาคการเมือง เนื่องจากภาคการเมืองมีอำนาจเยอะในการกำหนดนโยบายสาธารณะ มีอำนาจกำหนดงบประมาณ มีอำนาจตั้งนายกฯ ตั้งรัฐบาล มีอำนาจกำหนดทิศทางและกำหนดนโยบายของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ รวมทั้งพรรคการเมืองและนักการเมืองยังมีอิทธิพลไปกดดันการบริหารการจัดการของข้าราชการในกระทรวงต่างๆ ซึ่งตรงนี้เป็นตัวปัญหาสำคัญที่ทำให้จะแก้ ก็แก้ยาก
ทุกวันนี้ ในเรื่องการโกงของบ้านเรา เรามีแผนปฏิรูปฯ เรามีแผนยุทธศาสตร์ชาติของ ป.ป.ช. เรามีแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล เรามีแผนเยอะแยะ มีคณะกรรมการที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเยอะมาก มาตรการก็ออกมาเยอะ และมีตำราออกมาหลายเล่ม แต่ปัญหา คือ เมื่อกำหนดทิศทางแล้ว ในทางปฏิบัติ มันไม่ถูกปฏิรูป เริ่มตั้งแต่คนที่เป็นนักการเมือง คนที่เป็นรัฐมนตรี ปากพูด แต่ไม่ได้ทำจริงในสิ่งที่เป็นแผน หรือสิ่งที่พูด
ปากบอกว่าทำทุกอย่างมีธรรมาภิบาล ทำงานโปร่งใส แต่ในความจริง คือ เขาไม่ได้เปิดเผยข้อมูล เพราะฉะนั้น รากฐานของปัญหาคอร์รัปชันที่ทำให้เอาชนะไม่ได้ คือ การทำอะไรแล้วไม่ยอมเปิดเผยให้โปร่งใส ประชาชนจะพูดอะไร ก็บอกว่าคุณคิดเอาเอง คุณเข้าใจผิด เดี๋ยวโดนฟ้อง เดี๋ยวหมิ่นประมาทนะ เดี๋ยวนำเข้าข้อมูลเท็จผิดกฎหมาย PDPA ประชาชนเขากลัวจึงไม่กล้าที่จะพูด แม้แต่ข้าราชการดีๆเขาก็ไม่กล้าพูด
อีกปัจจัยหนึ่งที่แก้ไม่ได้ คือ วัฒนธรรมในระบบราชการ คนที่เป็นข้าราชการในทุกวันนี้ ยังชินชากับการใช้อำนาจ ใช้ดุลพินิจ การคอร์รัปชัน การเรียกส่วย สินบนในระบบราชการยังเต็มไปหมด ในกรุงเทพฯ ถ้าคุณไปยื่นขอสร้างบ้าน คนประมาณอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจะต้องจ่ายสินบน ถ้าไม่จ่ายจะไม่ได้ใบอนุญาตสร้างบ้าน ทั้งๆที่ที่ดินและเงินที่สร้างบ้านเป็นของตัวเอง แต่ข้าราชการไม่ปล่อย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกรุงเทพฯ แต่เกิดทั่วประเทศเลย” นายมานะกล่าว
นายมานะ กล่าวต่อว่า อีกตัวหนึ่งที่อยากพูด คือ วันนี้เวลาพูดเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน เราจะได้ยินจากผู้มีอำนาจว่า ให้ไปหาหลักฐานมาแล้วจะลงโทษตามขอบเขตของกฎหมาย จะลงโทษตามพยานหลักฐาน หากมีพยานหลักฐานจะลงโทษทั้งหมดเลย แต่ในเมื่อนักการเมืองหรือภาคการเมืองเป็นหัวหอกของการโกง เช่น การคอร์รัปชันเชิงนโยบาย แล้วจะเอาหลักฐานมาจากไหน และถึงเวลามีปัญหาก็ช่วยเหลือกันอีก
“อย่างกรณีตู้ห่าว เป็นเรื่องที่พูดกันหลายปีแล้ว โดยเมื่อปี 2561 ดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) ก็ทำคดีประเภทนี้อยู่ เรื่องบัตรประชาชน เรื่องสัญชาติ เรื่องสวมสิทธิปลอม ปรากฏว่าจากปีนั้นถึงปีนี้ ทำไม่เงียบไป ทำไมเพิ่งมาดังตอนนี้ สิ่งที่คนไทยได้เห็น ในอดีตมันเป็นเรื่องการโกงในระดับพื้นที่ ระดับครัวเรือน ชาวบ้าน เจ้าของทะเบียนบ้าน นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจในท้องที่ในจังหวัดแล้วส่งเรื่องมาที่ ตม.
แต่วันนี้ กลายเป็นว่า เป็นตำรวจที่ใหญ่ขึ้น เป็นระดับกองบัญชาการ มีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ในอดีตที่ผ่านมาคนที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ปลอมแปลงสัญชาติ หรือซื้อขายสัญชาติ สร้างความเสียหายระดับพื้นที่ เช่น แย่งงานคนไทยทำ แต่วันนี้กลายเป็นนายทุนระดับใหญ่ที่เข้ามาปล้นชาติ แต่ต้องตั้งคำถามว่าระหว่างคนที่ปล้นชาติกับคนไทยที่ไปช่วยเขาปล้นชาติ และคนไทยที่เป็นเจ้าหน้าที่ที่คุ้มครองเขาแลกกับเงิน ใครชั่วกว่ากัน” นายมานะ ระบุ
นายมานะ กล่าวว่า ทุกวันนี้คนไทยรู้ดีว่าปัญหาคอร์รัปชัน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม และเกิดกรณี เช่น ตู้ห่าว หวย บ่อน ซ่อง ยาเสพติด การซื้อขายตำแหน่ง ข้าราชการห่วยๆได้เป็นอธิบดี ได้เป็นปลัดกระทรวง ตำรวจห่วยๆได้เป็นผู้บัญชาการ เพราะเป็นคนมีเส้นสาย หรือคนบางคนได้เป็นรัฐมนตรีเพราะอะไรคนเขาก็เห็นอยู่ ดังนั้น ปัญหาคอร์รัปชันจึงเป็นรากฐานทำให้เกิดปัญหาสังคมแทบทุกเรื่อง เช่น การพนันออนไลน์ ต้องมีเจ้าหน้าที่รู้เห็นจึงจะทำได้
นายมานะ ระบุว่า เพื่อเอาชนะคอร์รัปชัน สิ่งที่ประชาชนอยากเห็น คือ 1.การทำงานของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือนักการเมือง ต้องเปิดเผยโปร่งใส ไม่ใช่ปากบอกว่าเปิดเผยข้อมูลแล้ว แต่ถึงเวลางุบงิบทำอะไรก็ไม่รู้ เช่น ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม คนตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัยกันมาก แต่ก็ไม่มีคำตอบ หรือการไปให้เอกชนรายหนึ่งได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก แต่วันนี้เราก็ยังไม่เห็นสัญญาเหล่านั้น
2.ต้องมีการบังคับใช้มาตรการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน เพราะแม้ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้เคยมีมติ ครม. เมื่อปี 2561 กำหนดมาตรการแก้ปัญหาคอร์รัปชันและป้องกันคอร์รัปชันในระบบราชการ และในปี 2563 ได้ลงมติอีกครั้ง โดยเอาเนื้อหาเดิมมาลงมติใหม่ แต่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่ได้ทำอะไรเลย เช่น ถ้ามีการร้องเรียนว่ามีการทุจริตต้องตั้งคณะกรรมการสอบฯภายใน 7 วัน และใน 30 วันต้องรู้ผล หากมีมูลต้องสั่งย้าย ลงโทษทางวินัยและทางปกครอง แต่ทุกวันนี้ไม่ได้ทำเลย
3.ประชาชนเสนอว่า ถ้าจะมีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองต้องมีชุดนโยบายในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน และแสดงความรับผิดชอบต่อบุคลาการทางการเมืองของพรรค ไม่ใช่มีปัญหาแล้วลอยตัว
“ประชาชนรู้ว่าคอร์รัปชันเป็นต้นเหตุของปัญหาสังคมมากมาย ถ้าเราจะแก้ปัญหาสังคม ก็ต้องแก้ปัญหาคอร์รัปชันด้วย” นายมานะ กล่าว
ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ปัญหาคอร์รัปชันเพิ่มสูงขึ้น มาจากการผูกขาดทั้งในภาคการเมืองและภาคธุรกิจ รวมทั้งการใช้ดุลพินิจของข้าราชการและการเมืองในการตัดสินใจและการทำนโยบายต่างๆ ซึ่งสิ่งที่ทำให้การคอร์รัปชันลดลง คือ การมีหน่วยงานอิสระเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบในกรณีต่างๆ แต่ปัญหา คือ วันนี้เรามีหน่วยงานตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพหรือไม่
“ถ้าดูจากการจัดอันดับดัชนี CPI (ดัชนีการรับรู้การทุจริต) อันดับของเราลงจาก 101 ลงมา 104 แล้วลงไป 110 ส่วนคะแนนของเราได้ประมาณ 35 คะแนน ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วจะได้คะแนน 88 ซึ่งคะแนนของเราต่ำมาก ซึ่งสะท้อนว่ากลไกขององค์กรอิสระของเรายังมีปัญหาอยู่” ศ.ดร.อรรถกฤต กล่าว
ศ.ดร.อรรถกฤต ระบุว่า เพื่อทำให้ระดับคะแนนคอร์รัปชันของไทยปรับตัวดีขึ้น ตนเห็นว่าควรนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ หรืออาจใช้แนวทางของไต้หวันที่นำระบบ Digital Democracy (ประชาธิปไตยดิจิทัล) เข้ามาใช้ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น รวมทั้งต้องปฏิรูประบบเงินเดือนของข้าราชการไทย เช่น การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการนอกจากจะพิจารณาจากเงินเฟ้อแล้ว จะต้องสอดคล้องหรือไปในทิศทางเดียวกับค่าดัชนี CPI เป็นต้น
ด้าน นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) กล่าวว่า ที่ผ่านมา BTS ได้เข้าประมูลงานภาครัฐในส่วนงานสัมปทาน เช่น รถไฟฟ้า ซึ่งเป็นการประมูลภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ โดย BTS ได้เข้าประมูลงานด้วยความโปร่งใส มีการแข่งขัน และชนะอย่างโปร่งใสมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการประมูลรถไฟฟ้าสายต่างๆ มอเตอร์เวย์ หรือสนามบิน เป็นต้น
แต่ในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) BTS กลับพบว่ามีความแปลกประหลาด ตั้งแต่การเปิดประมูลฯครั้งแรกในเดือน พ.ค.2563 ที่เปิดขายซองไปแล้ว และมีผู้ซื้อซอง 10 ราย แต่ระหว่างที่ยังไม่ได้ยื่นซอง รฟม.ได้เปลี่ยนข้อกำหนดทีโออาร์ ซึ่งไม่เคยมีการทำในลักษณะมาก่อน เมื่อเราไปฟ้องศาลปกครอง และศาลปกครองให้กลับไปใช้ทีโออาร์เดิม ทาง รฟม.ก็เปิดให้เอกชนยื่นซองใหม่ ซึ่งมีผู้ยื่น 2 ราย แต่ รฟม.ก็ยกเลิกการประมูลไป
อย่างไรก็ดี ที่แปลกไปกว่านั้น คือ เมื่อ รฟม. เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯรอบใหม่ (ครั้งที่ 2) รฟม.ได้กำหนดเงื่อนไขทีโออาร์ใหม่ โดยมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีคุณสมบัติเข้าร่วมประมูลแบบแปลกๆ คือ ปัจจุบันประเทศไทยผู้เดินรถไฟฟ้าอยู่ 2 ราย คือ BTS และเอกชนอีกรายหนึ่ง แต่ปรากฏว่าเงื่อนไขตามทีโออาร์ใหม่ ทำให้ BTS ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ เพราะไม่มีคุณสมบัติ ทั้งๆเป็นผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ
“พอถึงวันประมูล มีผู้ยื่นประมูล 2 ราย คือ BEM (บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ) และกลุ่ม ITD (อิตาเลียนไทย) แต่ที่หนักไปกว่านั้น ITD ไม่มีคุณสมบัติ เพราะมีการกำหนดคุณสมบัติว่า ถ้าบริษัทใดมีกรรมการต้องโทษจำคุกถึงที่สุด ก็จะไม่ให้ร่วมประมูลโครงการร่วมลงทุนฯ แต่ปรากฏว่า ITD ไปยื่นและผ่านคุณสมบัติด้วย ซ้ำร้ายกว่านั้น วันที่ รฟม. ประกาศผลประมูล คือ วันที่ 8 ก.ย.2565 นั้น รายที่ชนะประมูลได้เสนอขอรับอุดหนุนจากรัฐเกือบ 8 หมื่นล้าน
ซึ่งหลังจาก รฟม. ประกาศรายชื่อผู้ชนะแล้ว เรา (BTSC) ได้ไปขอซองประมูลครั้งแรก ซึ่ง รฟม.ยกเลิกประมูล แต่เรายังไม่ได้เอาซองกลับมา แล้วเอางมาเปิดต่อหน้าสื่อมวลชน เพื่อให้ดูว่าราคาที่เราเสนอเป็นเท่าไหร่ ปรากฏว่าพอเปิดซองมาแล้ว และหักลบกันแล้ว เราขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพียง 9,000 กว่าล้าน ก็แปลว่ามีตัวเลขที่ต่างกัน 6.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ความเสียหายจากความล่าช้าจากยกเลิกการประมูลเมื่อ 3 ปีก่อน มีมูลค่าหลายหมื่นล้าน” นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุรพงษ์ ย้ำว่า “หากวันนั้นคุณ (รฟม.) ไม่เปลี่ยนหลักเกณฑ์ และประมูลไปตามปกติ อย่างน้อยที่สุด หากเรา (BTS) เป็นผู้ชนะ รัฐจะประหยัดเงินไปอย่างน้อย 6.8 หมื่นล้านบาท ผมก็ฝากให้ไปคิดดูว่า มันเป็นเรื่องการคอร์รัปชันหรือไม่”
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชันเป็น 1 ใน 5 ปัญหาของประเทศไทยที่ควรได้รับการแก้ไข เพราะการคอร์รัปชันนับเป็นต้นทุนที่แฝงอยู่ในสินค้าและบริการ หากเราผลิตสินค้าแล้วต้นทุนสู้คู่แข่งต่างประเทศไม่ได้ เราจะอยู่กันอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมเองต้องการเห็นพรรคการเมืองมีนโยบายในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน
“เอกชนอย่างพวกผม ถ้าอยากได้ใบอนุญาต หรือได้มาซึ่งอะไรก็ตามที่ดูแลโดยภาครัฐ ก็ต้องวิ่งไปหาภาครัฐ และถ้าอยากได้ในเวลาที่ไม่ช้าเกินไป ไม่โดนดองใต้โต๊ะ ก็ต้องใช้วิธีการจ่าย ซึ่งท่อนแรกที่รับ คือ ข้าราชการประจำ แต่คำถาม คือ ข้าราชการประจำเหล่านั้น ดูแล แต่งตั้ง ประเมินผลงาน โดยข้าราชการสูงสุด คือ ภาคการเมือง ถ้าฝ่ายข้าราชการการเมืองมีส่วนทำให้ได้คนดี คนเก่ง คนไม่มีประวัติด่างพร้อยมาบริหาร กลไก 3 ประสานนี้จะไม่ลงตัว” นายอิศเรศ ระบุ
(สุรพงษ์ เลาหะอัญญา (ซ้าย) และ อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต (ขวา))