“...ทุกวันนี้มีการบอกว่า กสทช. กำกับราคาค่าโทรศัพท์และค่าอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว แต่ราคาที่กำกับนั้น เพดานสูงกว่าราคาจริง 20% ดังนั้น ถ้าเขาแข่งขันตามปกติ และอยากขึ้นราคา 20% ก็ทำได้...”
..................................
เมื่อวันที่ 2 ส.ค. สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดงานเสวนาวิชาการ เรื่อง ‘ชะตากรรมผู้บริโภคกับยุคผูกขาดคลื่นความถี่’ โดยวิทยากรที่เข้าร่วมเวทีเสวนาวิชาการฯครั้งนี้ ต่างก็มีความเห็นว่า หาก กสทช. อนุญาตให้มีการควบรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) จะทำให้การแข่งขันในธุรกิจโทรศัพท์มือถือลดลง และทำให้ผู้บริโภคเสียค่าบริการเพิ่มขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนั้น
ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB (101 Public Policy Think Tank) ระบุว่า หากมีการอนุญาตให้ควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC จะทำให้เหลือผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่แข่งขันกันจริงๆเพียง 2 เจ้า คือ AIS เจ้าตลาดเดิม และ TRUE-DTAC ซึ่งจะมีส่วนแบ่งตลาดในตลาดโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตมือถือรวมเป็น 50-51% หลังจากการควบรวม ขณะที่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) มีส่วนแบ่งแค่ 1.9-2.8% ซึ่งสะท้อนถึงการกระจุกตัวของตลาด
“เดิมทีตลาดมือถือเป็นตลาดที่ผูกขาดโดยธรรมชาติ เพราะต้องการการลงทุนสูง แต่เมื่อมีการควบรวมกันอีก ยิ่งทำให้การกระจุกตัวสูงขึ้น จากเดิมที่ค่า HHI อยู่ที่ 3,500 กว่าๆ ซึ่งถือว่าสูงมากแล้ว จะกลายเป็น 4,700-4,800 ซึ่งเป็นระดับที่อันตรายสำหรับประเทศไทย” ฉัตร กล่าว
@แบบจำลองชี้หากอนุญาตควบ ‘TRUE-DTAC’ ค่าบริการเพิ่มขึ้น
ฉัตร ยังระบุว่า ที่ผ่านมาค่าบริการโทรศัพท์มือถือลดราคาลงมาต่อเนื่อง ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับการแข่งขัน เพราะเดิมทีเรามี AIS เจ้าเดียว แต่เมื่อ DTAC และ TRUE เข้ามาแข่งขันในตลาด ก็ทำให้อัตราค่าบริการในประเทศไทยลดต่ำลง พร้อมๆกับต้นทุนที่ลดลงจากเรื่องเทคโนโลยี แต่สิ่งสำคัญที่พบ คือ ค่าบริการที่ลดลงนั้น ลดลงเร็วกว่าต้นทุนของผู้ประกอบการที่ลดลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง และการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดกัน
“เขาบอกว่าเมื่อควบรวมแล้ว จะทำให้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เมื่อประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ต้นทุนก็ต่ำลง และจะทำให้ค่าบริการถูกลง แต่ด้วยการแข่งขันที่หายไปนั้น แม้ว่าต้นทุนของเขาต่ำลงก็จริง แต่ไม่ได้แปลว่า เขาจะลดราคาค่าบริการให้พวกเรา” ฉัตร ย้ำ พร้อมระบุว่า “ในอนาคตต้นทุนในอุตสาหกรรมนี้ จะต้องลดลงอยู่แล้ว แต่เขาอาจไม่ส่งต่อต้นทุนที่ลดลงเหล่านั้นให้กับผู้บริโภคก็ได้ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทย มีราคาค่าบริการที่แพงกว่าประเทศอื่นๆมากขึ้น”
ฉัตร กล่าวด้วยว่า จากการทำแบบจำลอง (Model) กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC พบว่า หลังการควบรวมฯ ค่าบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยหากมีการควบรวมและผู้ประกอบการรายใหญ่ 2 เจ้า (AIS และ TRUE-DTAC) แข่งขันกันรุนแรง ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 7-10% แต่หากแข่งขันกันตามปกติหรือแข่งขันในลักษณะที่เป็นเหมือนกับทุกวันนี้ ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 13-23% และหากทั้ง 2 รายใหญ่ฮั้วกันสำเร็จ ค่าบริการจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบัน
“ถ้ารายใหญ่ฮั้วกันสำเร็จ คือ มี 2 รายใหญ่ ฝ่ายละ 50% และไม่รู้จะตัดราคาหรือจะแข่งกันไปทำไม แบ่งตลาดไปคนละครึ่งแบบนี้ ก็ดีอยู่แล้ว ถ้าเป็นแบบนั้น จะทำให้ราคาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว” ฉัตร กล่าว และว่า “ทุกวันนี้มีการบอกว่า กสทช. กำกับราคาค่าโทรศัพท์และค่าอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว แต่ราคาที่กำกับนั้น เพดานสูงกว่าราคาจริง 20% ดังนั้น ถ้าเขาแข่งขันตามปกติ และอยากขึ้นราคา 20% ก็ทำได้”
ฉัตร ย้ำว่า “ที่เขาบอกว่าเมื่อควบรวมแล้ว รายใหม่ยังเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ได้อยู่ แต่ความเป็นจริง คือ การเข้าสู่ตลาดนี้มีอุปสรรคสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนที่ใช้เงินเป็นแสนล้าน ต้องประมูลคลื่น และคลื่นไปกระจุกตัวกับรายใหญ่หมดแล้ว ดังนั้น รายใหม่จึงเข้ามายากมาก”
@หากลดผลกระทบจากการควบรวมไม่ได้ ‘กสทช.’ ไม่ควรอนุญาต
ฉัตร กล่าวถึงอำนาจของ กสทช.ในการพิจารณากรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ว่า แม้ว่าก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช. หรือแม้แต่งานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะระบุว่า กสทช.ไม่มีอำนาจสั่งห้ามการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ทำได้เพียงกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันการผูกขาดเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องเล่าที่น่ามหัศจรรย์มาก และหากเป็นเช่นนั้น ต่อไปใครจะทำอะไรที่เป็นการผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นการควบรวมหรือจะขึ้นราคา ก็ทำได้หรือ
“ถ้าไปอ่านกฎหมายจะพบว่ามีการให้อำนาจ กสทช. ไว้ชัดเจน โดยประกาศฯปี 2561 บอกว่า การควบรวมให้แจ้งรายงาน แต่การแจ้งรายงานนั้น ให้เป็นการขออนุญาตไปด้วยในเวลาเดียวกัน และเมื่อเป็นการขออนุญาตจะต้องย้อนกลับไปอ้างอิงกับประกาศฯปี 2549 ที่บอกว่า การถือครองธุรกิจนี้ ถ้าเกิดอยู่ในประเภทเดียวกัน ไม่ว่าจะทางตรงทางอ้อม หรือผ่านตัวแทน กสทช. สามารถสั่งห้ามการถือครองกิจการได้ หรือจะกำหนดมาตรการเฉพาะก็ได้” ฉัตร กล่าว
ฉัตร ระบุว่า “จริงๆแล้ว การไม่อนุญาตถือว่าเป็นยาแรง เพราะไปขัดกับสิทธิเสรีภาพในการดำเนินธุรกิจ แต่ กสทช. ก็มีเรื่องสิทธิเสรีภาพ และสวัสดิภาพของผู้บริโภคที่ต้องดูแลเช่นกัน จึงเป็นสิ่งที่ กสทช. ต้องถ่วงน้ำหนัก ซึ่งการควบรวมที่ใหญ่ขนาดนี้ เหลือแค่ 2 รายใหญ่ และแบ่งกันคนละครึ่งของตลาดนี้ กสทช.จะมีมาตรการที่จะลดขนาดของผลกระทบได้จริงหรือไม่ ถ้าไม่มีมาตรการที่ลดความรุนแรงเหล่านั้นได้ สิ่งที่ กสทช.ควรทำ คือ ไม่อนุญาตให้ควบรวม
แต่ถ้าเกิดบอกว่า อย่างไรก็ต้องปล่อยให้ควบรวม ผมคิดว่า กสทช.ต้องใช้มาตรการเชิงโครงสร้าง คือ บริษัทที่ควบรวมกันแล้วใหญ่เกินไป และไม่มีรายใหม่เข้ามาได้ ในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน และสหรัฐ เมื่อมีการควบรวมใหญ่ขนาดนี้ ก็มักจะใช้วิธีสั่งขายกิจการ เช่น ขายคลื่นหรือเสาสัญญาณส่วนเกินไปให้กับรายใหม่ เพื่อให้เกิดแรงกดดันทางการแข่งขัน ไม่ทำให้ผู้บริโภคไม่เสียประโยชน์ หรือไม่ก็ห้ามควบรวมไปเลย”
ฉัตร กล่าวทิ้งท้ายว่า กสทช. สามารถทำให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้ประโยชน์ โดยไม่เกิดการผูกขาดหรือเกิดการควบรวมกิจการได้ คือ 1.การทวงคืนคลื่นความถี่ของประเทศที่อยู่กับหน่วยงานต่างๆกลับมายัง กสทช. ก่อนนำไปจัดสรรต่อไป โดยเฉพาะคลื่นความถี่ที่อยู่กับทหาร ซึ่งมีบางคลื่นไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ เพราะเมื่อคลื่นความถี่มีน้อย ราคาก็แพง ธุรกิจก็ต้องแข่งขันจนเหนื่อย และ 2.ต้องทำให้มีการแชร์โครงสร้างพื้นฐานต่างๆให้มากขึ้น
(ฉัตร คำแสง)
@ค่าบริการมือถือเพิ่มขึ้นทุกๆ 10% จะกระทบจีดีพี 1.6 หมื่นล้าน
ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC ด้านเศรษฐศาสตร์ กสทช. ระบุว่า จากการใช้แบบจำลอง (Upward Pricing Pressure Model) เพื่อศึกษากรณีการควบรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC พบว่า หากมีการอนุญาตให้ควบรวมธุรกิจฯ จะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้น 5-200% แล้วแต่กรณี โดยอัตราค่าบริการที่จะเพิ่มขึ้นและเป็นไปได้มากที่สุดจะอยู่ที่ 20-30%
นอกจากนี้ จากการใช้แบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (CGE Model) เพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของราคาในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยการผลิตของทุกกิจการ กับการเจริญเติบโตเศรษฐกิจโดยรวม พบว่า อัตราค่าบริการที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10% จากราคาในปัจจุบัน จะทำให้จีดีพีของประเทศไทยลดลง 1.6 หมื่นล้านบาท ดังนั้น หากค่าบริการฯเพิ่มขึ้น 5-200% แล้วแต่กรณี จะทำให้จีดีพีลดลงตั้งแต่ 1 หมื่นล้านบาทถึง 3 แสนล้านบาท
“ถ้าเราเชื่อว่าเขาจะมีการร่วมมือกัน (แข่งขัน) ปานกลาง ตัวเลขจีดีพีที่ลดลงจะอยู่ที่ 3-5 หมื่นล้าน” ผศ.ดร.พรเทพ กล่าว
ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการบอกว่า ปัจจุบัน กสทช. มีการกำกับดูแลอัตราค่าบริการฯอยู่แล้ว นั้น ผศ.ดร.พรเทพ กล่าวว่า ก็ถูกในส่วนหนึ่ง แต่จากราคาค่าบริการจริงๆในปัจจุบัน จะพบว่าผู้ประกอบการมีช่องว่างให้ขึ้นค่าบริการได้อีก 20% และที่ผ่านมาการกำกับดูแลเรื่องราคาของ กสทช. ยังมีปัญหาอยู่ เพราะราคาที่ กสทช. ใช้ในการกำกับดูแลราคานั้น เป็นราคาที่ได้รับรายงานมาจากผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ตรงไปตรงมา
“ทุกเดือน ผู้ประกอบการจะส่งราคาแพ็กเกจมา แต่มันไม่ตรงไปตรงมา เพราะราคาที่ กสทช.ได้รับมานั้น เป็นราคาแพ็กเกจ ซึ่งแพ็กเกจทั้งหมดที่ส่งมาจะนำมาหาร โดยไม่มีการถ่วงน้ำหนักจำนวนคนที่ใช้ ดังนั้น ผู้ประกอบการจะรู้อยู่แล้วว่า ถ้าเขาส่งแพ็กเกจมา 100 อัน กสทช.จะคำนวณราคาได้เท่าไหร่ ฉะนั้น ราคาตลาดที่ กสทช.ใช้ จึงถูกกำหนดโดยผู้ประกอบการ บางอันเป็นโปรฯลับที่มีคนใช้น้อยมาก” ผศ.ดร.พรเทพ ระบุ
(ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล)
ผศ.ดร.พรเทพ กล่าวอีกว่า กรณีที่ผู้ประกอบการระบุว่า ภายหลังการควบรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC แล้ว จะทำให้การให้บริการและโครงข่ายมีความครอบคลุมมากขึ้นนั้น โดยส่วนตัวแล้ว ตนเห็นตรงกันข้าม เพราะเมื่อมีการควบรวมฯแล้ว การแข่งขันก็จะลดลง ซึ่งจะทำให้แรงจูงใจในการลงทุนขยายโครงข่ายฯไปยังพื้นที่พื้นที่ห่างไกลลดลง ส่วนที่บอกว่าถ้ามีการควบรวมกันแล้ว จะทำให้มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆเพิ่มขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น
“ถ้าจะพัฒนานวัตกรรมจริงๆ เขา (TRUE และ DTAC) สามารถทำได้เลย ไม่ต้องรอให้มีการควบรวมกันก็ได้ และในในต่างประเทศ เวลาที่เขาพูดถึงเรื่องผลประโยชน์ที่เกิดกับผู้บริโภค และเรื่องการพัฒนานวัตกรรมนั้น เวลาที่เขามาอนุญาต เขาบอกเลยว่าเขาจะทำอะไรบ้าง ประมาณการตัวเลขเป็นเท่าไหร่ และนวัตกรรมที่จะเกิดคืออะไร รวมทั้งบอกได้ว่าประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ประหยัดได้กี่เปอร์เซนต์ ลดต้นทุนได้เท่าไหร่ และผู้บริโภคได้เท่าไหร่
แต่ของเรา ผู้ควบรวมไม่ค่อยพูดนี้ พูดแต่ว่าจะ transform ไปเป็นเทคคอมพานี จะเพิ่มนวัตกรรม แต่เราไม่รู้ว่านวัตกรรมอะไร ผลประโยชน์คืออะไร ซึ่งผมเคยถามในชั้นอนุกรรมการฯคุ้มครองผู้บริโภคว่า สิ่งที่เขาจะทำคืออะไรบ้าง เขาบอกว่าต้องขึ้นอยู่กับบอร์ดใหม่ของบริษัทที่ควบรวม ตอนนี้ยังไม่ควบรวม จึงบอกไม่ได้ว่าคืออะไร มันจึงเป็นคำพูดที่ไม่ได้มีความหมายอะไร เหมือนให้ กสทช. เซ็นเช็คเปล่าให้ด้วยความเชื่อว่าเขาจะทำนวัตกรรมอะไรซักอย่าง” ผศ.ดร.พรเทพ กล่าว
ผศ.ดร.พรเทพ ยังระบุด้วยว่า “ที่ผู้ควบรวมฯบอกว่าทุกคนจะดีขึ้น ไม่มีใครแย่ลง และที่เขาต้องควบรวมเพื่อทำให้เขาเข้มแข็งมากขึ้น จึงอยากถามว่าที่เขาควบรวมกัน เพราะการแข่งขันเยอะ เขาเลยอยากควบรวม เพื่อจะได้ไม่ต้องแข่งขันใช่หรือเปล่า แล้วที่บอกว่า เขาจะกำไรดีขึ้น และผู้บริโภคก็ดีขึ้นด้วย แต่มีคำถาม คือ ในเมื่อตอนนี้ตลาดไม่ได้ขยายแล้ว จึงนำไปสู่ข้อสรุปเดียว คือ ที่บริษัทเขาดีขึ้นได้ เพราะไปควักมาจากผู้บริโภคใช่หรือไม่”
@‘สอบ.’ชี้หากมีการควบรวมฯจะทำให้ผู้บริโภคจ่ายเพิ่ม 3.5 พันล./เดือน
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า จุดยืนของ สอบ. คือ คัดค้านการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC เพราะเป็นดีลที่จะทำให้ค่าบริการโทรศัพท์มือถือแพงขึ้น 20-30% จากค่าบริการเฉลี่ยในปัจจุบัน 220 บาท/เดือน และจะทำให้ผู้บริโภคที่มีการใช้งานโทรศัพท์จริงประมาณ 80 ล้านเลขหมาย ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 3,520-5,280 ล้านบาท/เดือน หรือ 42,240-63,260 ล้านบาท/ปี
“เมื่อความแข็งแกร่งของบริษัทฯ เกิดขึ้นภายใต้ภาระของผู้บริโภค ซึ่ง สอบ.จึงมีจุดยืดที่ชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมในครั้งนี้ และถ้าไม่มีแข่งขันกัน ฮั้วกันเลย ต่างคนต่างแข็งแกร่ง แบ่งเค้กกัน ก็จะมีผลกระทบต่อค่าบริการถึง 200% หรือคิดเป็นค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มขึ้น 305,184 ล้านบาท/ปี หรือ 25,432 ล้านบาท/เดือน” สารี กล่าว
สารี กล่าวว่า ต้องขอบคุณ กสทช.ชุดใหม่ ที่มีการตั้งคณะอนุกรรมการฯมาศึกษาข้อเท็จจริงกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE-DTAC ถึง 4 คณะ แทนที่จะพึ่งแต่รายงานศึกษาของสถาบันภายนอกอย่างเดียว และจากผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการฯทั้ง 4 คณะ ก็เห็นความชัดเจนในเรื่องต่างๆมากขึ้น เช่น คณะอนุกรรมการฯด้านกฎหมายที่มีมติชัดเจนว่า การพิจารณาเรื่องนี้เป็นอำนาจของ กสทช.
“เราเห็นว่าการควบรวมฯ ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการแข่งขัน ไม่ได้เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค และยังกระทบกับจีดีพี ซึ่งเราก็อยากเห็นประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ใช่เป็นประเทศกำลังพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และเรื่องนี้ เราไม่มีประเด็นขัดแย้ง ซ่อนเงื่อน หรือมีเหตุใดๆกับ DTAC และ TRUE เลย โดยเราจะติดตามกรณี AIS และ 3BB ด้วย เพราะเราเห็นว่าไม่ควรอนุญาตให้มีการรวม AIS และ 3BB เช่นกัน” สารี กล่าว
สารี กล่าวด้วยว่า ในวันพรุ่งนี้ (3 ส.ค.) สอบ.จะยื่นรายชื่อผู้บริโภคที่คัดค้านการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC จำนวน 1 หมื่นรายชื่อ ให้กับ กสทช. เพื่อแสดงจุดยืนของผู้บริโภคต่อกรณนี้
(สารี อ๋องสมหวัง)
@‘ก้าวหน้า-ก้าวไกล’ ค้านดีลควบธุรกิจ ‘TRUE-DTAC’ ชี้ลดการแข่งขัน
ด้าน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ระบุว่า เหตุผลที่เรามารวมตัวกันครั้งนี้ เพราะนี่เป็นโค้งสุดท้ายก่อนที่บอร์ด กสทช. จะตัดสินใจว่าอนุมัติให้มีการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE-DTAC หรือไม่ ซึ่งการตัดสินใจของ กสทช.จะแบ่งได้เป็น 4 กรณี คือ 1.อนุญาตให้ควบรวมแบบไม่มีเงื่อนไข 2.อนุญาตให้ควบรวมแบบมีเงื่อนไขในการกำกับดูแลพฤติกรรม 3.อนุญาตให้ควบรวมและมีเงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างฯ และ 4.ไม่อนุญาตให้มีการควบรวม
“จริงๆแล้ว เรคกูเรเตอร์หรือผู้กำกับดูแลในประเทศไทยทั้งหมด ไม่เคยมีที่ไหนใช้ยาแรง ซึ่งจะทำให้เกิดการควบรวมอย่างมีเงื่อนไขในเชิงการปรับโครงสร้างฯ หรือบังคับขาย บังคับให้แยกตัวของมาร์เก็ตแชร์บางส่วนออกไป ไม่เคยมี ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่า กสทช.จะอนุมัติให้มีการควบรวม (TRUE และ DTAC) อย่างไม่มีเงื่อนไข หรือควบรวมแบบมีเงื่อนไขในการกำหนดพฤติกรรมบางอย่างเฉยๆ ซึ่งเป็นอันตราย” ธนาธร กล่าว
ธนาธร ให้ความเห็นว่า หาก กสทช.อนุญาตให้มีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC จะทำให้ผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจโทรคมนาคมลดลงจาก 3 รายเหลือ 2 ราย ในขณะที่การทำให้มีผู้เล่นกลับมาเป็น 3 รายอีกครั้ง ก็เป็นสิ่งที่ยากมาก ดังนั้น วิธีที่เสี่ยงน้อยที่สุดสำหรับผู้บริโภค คือ กสทช. จะต้องไม่อนุญาตให้มีการควบรวมธุรกิจตั้งแต่แรก และคงไม่มีใครอยากเห็นคนในประเทศนี้ร่ำรวยได้ เพราะการผูกขาด และการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจด้วยการเอารัดเอาเปรียบคนจน
“การตัดสินใจของ กสทช.ครั้งนี้ สำคัญต่ออนาคต การพัฒนาเศรษฐกิจไทย ทุนนิยมของไทย และมันจะบอกว่า เราจะเลือกประเทศไทยแบบไหนที่เราอยากเห็น” ธนาธร กล่าว
(ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ)
วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC เพราะทำให้ผู้เล่นรายใหญ่ลดจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย ขณะที่ผู้เล่นทั้ง 2 ราย จะมีส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงกันราว 50% ซึ่งทำให้ไม่เกิดบรรยากาศของการแข่งขัน ดังนั้น เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่จะต้องทำให้มั่นใจว่า มีการแข่งขัน เพราะการแข่งขันจะทำให้ราคาลดลง คุณภาพดีขึ้น และผู้บริโภคได้ใช้เทคโนโลยีใหม่เร็วขึ้น
“ยังไม่มีประเทศไหนในโลกที่อนุญาตให้มีการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคม ที่จะทำให้มีผู้เล่นจาก 3 รายเหลือ 2 ราย โดยเฉพาะการทำให้เหลือผู้เล่นรายใหญ่ 2 ราย ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดราว 50% ทั้งคู่ เพราะการอนุญาตเช่นนั้น จะทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน หรือเกิดเป็นบรรยากาศที่ไม่จำเป็นต้องแข่งขัน เนื่องจาก NT เล็กเกินไปที่จะเป็นผู้เล่น 1 ราย ดังนั้น จึงไม่ควรจะอนุญาตให้ควบรวมผู้เล่นจาก 3 รายเหลือ 2 ราย” วรภพ กล่าว
ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการฯระบุว่า การควบรวม TRUE และ DTAC จะทำให้ต้นทุนลดลง แล้วผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ นั้น ตนเห็นว่า ประโยชน์สูงสุดที่จะได้จากเรื่องนี้ คือ ต้องทำให้เกิดการแข่งขัน เพราะการที่ผู้ประกอบการมีต้นทุนลดลง นั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่การันตีหรือหมายความว่า ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากต้นทุนที่ลดลงเลย แต่ค่าบริการจะลดลงได้ หากมีการแข่งขันกันอยู่ ยกตัวอย่างเช่น กรณีสายการบิน เมื่อมีการแข่งขัน ราคาค่าโดยสารก็ลดลงมา
“ถ้าเกิดการควบรวมแล้วมีผู้เล่นเหลือ 2 ราย และมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% แต่ไม่นับว่าเป็นการผูกขาด ผมคิดว่าอันตรายอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจไทยในอนาคต และส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ผู้บริโภค และประเทศไทยในวงกว้าง เพราะเหมือนกับเป็นใบเบิกทางให้ไฟเขียวกับการควบรวมลักษณะนี้ในทุกๆธุรกิจ” วรภพ กล่าว
(วรภพ วิริยะโรจน์)
ด้าน เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เป็นคำตอบที่สำคัญที่จะสร้างประชาธิปไตยทางการเมืองได้ แต่ที่ผ่านมากลับมีการปล่อยให้กลุ่มทุนผูกขาดทำธุรกิจการเมืองกับฝ่ายการเมืองมายาวนาน และอาจจะเป็นสิ่งที่เลวร้ายมากขึ้น หากกลุ่มทุนที่ผูกขาดคลื่นความถี่เข้ามากำหนดอนาคตเงินในกระเป๋าของเราทุกเดือน
“ไม่มีประเทศไหนปล่อยให้มีผูกขาดจนกระทั่งเหลือ 2 เจ้า ซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายแพงขึ้น” เมธา กล่าวถึงกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC
(เมธา มาสขาว)
เหล่านี้เป็น ‘ความคิดเห็น’ และ ‘จุดยืน’ ของฟากฝั่งผู้บริโภค นักวิชาการ และนักการเมืองบางพรรค ต่อกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ก่อนที่ในวันพรุ่งนี้ (3 ส.ค.) ที่ประชุมบอร์ด กสทช. จะมีการพิจารณากรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC เป็นนัดแรก!
อ่านประกอบ :
เรื่องอยู่ในศาลฯ-เป็นอำนาจ‘กสทช.’! ‘กฤษฎีกา’ไม่รับตีความประเด็น‘กม.’ดีลควบ TRUE-DTAC
ฟังทัศนะ 5 กรรมการ ‘กสทช.’ ก่อนถกดีลควบ TRUE-DTAC ยัน ‘ไม่มีธง-ยึดประโยชน์สาธารณะ’
ชงบอร์ด'กสทช.'ถกดีลควบ'TRUE-DTAC' 3 ส.ค.นี้-อนุกรรมการฯด้าน'ผู้บริโภค'ค้านรวมธุรกิจ
‘สำนักงาน กสทช.’ ปฏิเสธข่าว ‘อนุกรรมการฯ’ โหวตคว่ำดีลควบรวมธุรกิจ ‘TRUE-DTAC’
คำให้การ TRUE-DTAC! ‘ร้องสอด’คดีเพิกถอนประกาศ‘กสทช.’ ยก 7 เหตุผลหนุน‘ควบรวมธุรกิจ’
เปิดหนังสือหารือ‘กฤษฎีกา’ ตีความอำนาจ‘กสทช.’ 7 ประเด็น คลี่ปมดีลรวมธุรกิจ‘TRUE-DTAC’
‘ศาลปค.’ ชี้ ‘กสทช.’ มีอำนาจสั่งห้ามควบรวม ‘TRUE-DTAC’ หากเห็นว่าก่อให้เกิดการผูกขาด
‘อนุฯศึกษา’ชี้ดีลควบ TRUE-DTAC ทำค่าบริการเพิ่ม 2-19%-เวที‘นักวิชาการ’หนุนรวมกิจการ
ลดทางเลือกผู้บริโภค! เวทีสาธารณะค้านควบ TRUE-DTAC ‘ประวิทย์’โต้ถูกกล่าวหา‘ไม่เป็นกลาง’
วงเสวนาฯชำแหละ! ดีลควบ TRUE-DTAC ผู้บริโภคเสียเปรียบ ห่วง'ทุนใหญ่'สร้างอาณาจักรผูกขาด
ร้อง ‘ป.ป.ช.’ ไต่สวนฯ ‘กสทช.ชุดใหม่-พวก’ ละเว้นหน้าที่-ไม่โต้แย้งดีลควบรวม TRUE-DTAC
เลาะเวทีรับฟังความเห็นฯ ควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC 'เอไอเอส-NT'ค้าน-'สมาคมฯเอกชน'หนุน
เปิดหนังสือ กมธ.! ทักท้วง 7 ข้อ ปมควบรวม'TRUE-DTAC' ลดแข่งขัน-เสนอ'บิ๊กตู่'สั่งชะลอ