“…ถ้าทุกคนใน 5 คนนี้ มีความเห็นเหมือนกันหมด ก็ไม่ต้องมานั่งตรงนี้แล้ว มันต้องมีความหลากหลายในความคิด ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก ต่างคนต่างมีความเห็น เราเคารพซึ่งกันและกัน เราคุยกันด้วยเหตุและผล เพราะฉะนั้น ผมจึงได้พูดแต่ต้นๆแล้วว่า ‘ไม่มีธง’ เรามีถนนกฎหมาย ถนนผลประโยชน์ของประชาชน และการแข่งขันเสรี ซึ่งเป็นถนนที่ให้เราเดิน…”
..................................
เป็น ‘ดีลธุรกิจ’ มูลค่านับแสนล้านบาท ที่ทุกฝ่ายต่างจับจ้อง
สำหรับกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เป็น ‘บริษัทใหม่’ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการ ‘พิจารณา’ ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ล่าสุดสำนักงาน กสทช. ระบุว่า จะเสนอรายงานผลการศึกษากรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ของคณะอนุกรรมการชุดต่างๆและที่ปรึกษาฯ ให้ ‘บอร์ด กสทช.’ พิจารณาในวันที่ 3 ส.ค.นี้ (อ่านประกอบ : ชงบอร์ด'กสทช.'ถกดีลควบ'TRUE-DTAC' 3 ส.ค.นี้-อนุกรรมการฯด้าน'ผู้บริโภค'ค้านรวมธุรกิจ)
อย่างไรก็ดี แม้ว่าที่ผ่านมาไม่เคยปรากฏว่า ‘กรรมการ กสทช.’ ได้ความเห็นเกี่ยวกับดีลควบรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC เลย แต่ทว่าล่าสุดในการแถลงผลงานของ กสทช. ครบรอบ 3 เดือน เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2565 กรรมการ กสทช. ทั้ง 5 คน ได้ให้ความเห็นต่อสาธารณะเกี่ยวกับดีลควบรวม TRUE และ DTAC ที่น่าสนใจ ดังนี้
ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.
ศ.คลินิก นพ.สรณ ระบุว่า ในการพิจารณากรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC พยายามจะไม่ทำให้ยืดเยื้อ ส่วนจะมีการเปิดเผยรายงานและเอกสารที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ต่อสาธารณะหรือไม่นั้น คงต้องขึ้นอยู่กับกฎหมาย ถ้ากฎหมายอนุญาต ก็น่าจะเปิดเผยได้
“พยายามจะไม่ให้ยืดเยื้อ และน่าจะมีการคำตอบไม่วันที่ 3 ส.ค. ก็วันที่ 10 ส.ค. โดยจะไม่ให้ยืดเยื้อ” ศ.คลินิก นพ.สรณ กล่าว
ศ.คลินิก นพ.สรณ กล่าวต่อว่า “ทุกอย่างมีถนนให้เดิน มีถนนอยู่แล้ว มีถนน แต่ไม่มีธง”
ศ.คลินิก นพ.สรณ ระบุด้วยว่า ในการพิจารณากรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC กรรมการ กสทช. ทั้ง 5 คน ไม่จำเป็นต้องมีความเห็นเหมือนกันทั้งหมด เพราะหากมีความเห็นกัน ก็คงไม่ต้องมานั่งอยู่ตรงนี้
“ถ้าทุกคนใน 5 คนนี้ มีความเห็นเหมือนกันหมด ก็ไม่ต้องมานั่งตรงนี้แล้ว มันต้องมีความหลากหลายในความคิด ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก ต่างคนต่างมีความเห็น เราเคารพซึ่งกันและกัน เราคุยกันด้วยเหตุและผล เพราะฉะนั้น ผมจึงได้พูดแต่ต้นๆแล้วว่า ‘ไม่มีธง’ เรามีถนนกฎหมาย ถนนผลประโยชน์ของประชาชน และการแข่งขันเสรี ซึ่งเป็นถนนที่ให้เราเดิน” ศ.คลินิก นพ.สรณ กล่าว
เมื่อถามว่าบอร์ด กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาว่าจะ ‘อนุญาต’ หรือ ‘ไม่อนุญาต’ กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC หรือไม่ ศ.คลินิก นพ.สรณ กล่าวว่า “ผมขอไม่ตอบ” พร้อมระบุว่า “มติคงออกมาเร็วๆนี้ ขอให้อดใจหน่อย ไม่ยืดเยื้อแน่”
(ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์)
ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.
ศ.ดร.พิรงรอง กล่าวว่า ในวันที่ 3 ส.ค.นี้ สำนักงาน กสทช.จะสรุปเรื่องราวทั้งหมดให้ กสทช. รับทราบ รวมถึงรายงานความเห็นกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ของคณะอนุกรรมการฯ 4 ชุด ,สรุปความคิดเห็นในการประชุม Focus Group และรายงานผลการศึกษาฯ ที่สำนักงาน กสทช. ว่าจ้างให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษา
“สำนักงาน กสทช. ต้องสรุปรายงานทั้งหมดมาให้เรา ภายในวันที่ 3 ส.ค. และจริงๆแล้ว หลังวันที่ 3 ส.ค. เราเองก็ต้องใช้เวลา ส่วนจะนานเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของสิ่งที่เราได้รับมาก่อนจะประมวลข้อมูลทั้งหมด”
ศ.ดร.พิรงรอง ยังระบุว่า กรรมการ กสทช. แต่ละคนมีความเห็นเป็นของตนเอง (individual) และเราทุกคนอาจไม่ได้เห็นตรงกับประธานฯก็ได้
“เราอาจไม่เห็นตรงกับประธาน (กสทช.) ทุกคนก็ได้” ศ.ดร.พิรงรอง ย้ำ
ศ.ดร.พิรงรอง กล่าวถึงนโยบายเกี่ยวกับการควบรวม (TRUE และ DTAC) ว่า กสทช.ต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย เพราะเป็นหลักการที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการปฏิรูปสื่อ และทำให้เกิด กสทช. ขณะที่หลักการเหล่านั้น ก็คือ เรื่องประโยชน์สาธารณะ และเรื่องการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ซึ่งเป็นหลักการของการปฏิรูปสื่อ
“กสทช. ถูกกำกับโดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ร.บ.ประกอบการกิจการกระจาย กิจการโทรคมนาคมฯ ทั้งหมดทั้งปวง จึงต้องอยู่ภายใต้เจตนารมณ์นี้ ทั้งเรื่องประโยชน์สาธารณะ และการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม” ศ.ดร.พิรงรอง ระบุ
(ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต)
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช.
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายให้เป็นอนุกรรมการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านเทคนิคในกรณีควบรวม TRUE กับ DTAC ซึ่งเรามีการประชุมกันมาแล้ว 5 ครั้ง รวมทั้งมีการจัด Focus Group อีก 1 ครั้ง ซึ่งตนได้นำเสนอความเห็นต่อที่ประชุม กสทช. ให้ทราบแล้ว เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2565 ที่ผ่านมา และไม่มีการโหวตแต่อย่างใด
“อันนี้ไม่มีการโหวตแต่อย่างใด ที่ผ่านมาเป็น fake news (ข่าวปลอม) โดยสิ้นเชิง และขออนุญาตยืนยันว่า เราพิจารณาด้วย consensus (ฉันทามติ)” พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าว
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ ยังระบุว่า ในมุมมองตน การให้ความเห็นกรณีการรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC คงต้องแล้วแต่กรรมการ กสทช. แต่ละท่าน และแม้ว่าเราจะมีความเห็นที่หลากหลาย แต่ไม่ใช่ว่าเราจะทะเลาะกัน เพราะตนเองก็ทำงานร่วมกับ กรรมการ กสทช.ทั้ง 4 ท่าน
“ถ้า (มติ) ไม่เป็นเอกฉันท์ ก็ถือเป็นสิทธิ์ของแต่ละคน” พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าว พร้อมระบุว่า “ตอนนี้ยังไม่ถึงจุดที่จะบอกว่า กสทช. มีอำนาจอนุญาตหรือไม่ เพราะยังไม่ถึงจุดนั้น”
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ ด้านเทคโนโลยี (ด้านเทคนิค) ยังยืนยันว่า “ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการฯด้านเทคนิคยังไม่ได้มีการโหวตอะไรเลย”
(พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ)
รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช.
รศ.ดร.ศุภัช กล่าวว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโทรศัพท์มือถือ หรือธุรกิจการให้บริการอินเตอร์เน็ต นั้น เป็นธุรกิจที่ไม่เหมือนคนอื่น เป็นธุรกิจพิเศษที่ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า market failure คือ เราไม่สามารถให้ทุกคนเข้ามาแข่งขันในธุรกิจเหล่านี้ได้
ไม่เหมือนกับ ‘ชายสี่หมี่เกี๋ยว’ หรือร้านก๋วยเตี๋ยวตามถนนที่ entry (เข้า) ง่าย Exit (ออก) ง่าย ที่ไม่ต้องมีการกำกับ เพราะหากธุรกิจมีกำไรเกินไปปกติ ในทางเศรษฐศาสตร์แล้วก็จะมีคนมากแข่ง แต่หากได้กำไรแบบพอดีๆ การแข่งขันก็จะอยู่ในระดับที่ OK
และเมื่อธุรกิจโทรคมนาคม เป็นธุรกิจที่ทุกคนไม่สามารถเข้ามาทำได้ ดังนั้น คนที่จะเข้ามาอยู่ในธุรกิจนี้จะต้องเริ่มจากการประมูลก่อน และเราก็รู้อยู่ว่าธุรกิจนี้จะผูกขาดอยู่กับไม่กี่ราย บางอย่างมี 3 ราย หรือบางอย่างมี 4 รายบ้าง รัฐบาลจึงต้องพยายามเอา ‘กำไรส่วนเกิน’ กลับมา เพื่อ redistribute ให้กับประชาชนทั่วไป
“หนึ่ง เราต้องเอากำไรคืนมา ส่วนจะเอามาได้เท่าไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับว่า เราต้องพยายามทำให้การประมูลทุกครั้ง มีการแข่งขัน เพราะถ้าเขาไม่แข่ง มันยุ่ง หรือถ้ามีการฮั้วกัน ก็จ่ายรัฐบาลน้อย แล้วเข้ากระเป๋าตัวเองมากขึ้น อันที่สอง การกำกับเรื่องราคา ซึ่งขณะนี้ ตามกฎหมาย กสทช.ก็กำกับดูแลเรื่องราคาอยู่ แต่เราก็ต้องดูว่า ราคาที่เราจะให้เขาอยู่ตรงไหน”
รศ.ดร.ศุภัช กล่าวต่อว่า ในทางเศรษฐศาสตร์ แม้ว่าธุรกิจโทรคมนาคมจะเป็นธุรกิจที่มีรัฐให้กำไรกับเอกชนเป็นปกติ (normal profit) อยู่แล้ว แต่เมื่อธุรกิจนี้มีการลงทุนสูงและมีต้นทุน ดังนั้น ในการกำกับดูแลนั้น เราไม่สามารถทำให้ธุรกิจเหล่านี้มีลักษณะ achieve profit competition (บรรลุการแข่งขันด้านกำไร) ได้ แต่เราทำให้เกิด healthy competition ได้
“เราไม่สามารถทำให้เกิด achieve profit competition (บรรลุการแข่งขันด้านกำไร) ได้ แต่เราทำให้เกิด healthy competition (การแข่งขันที่ดี) ได้ อยู่ร่วมกันได้ มีผลประโยชน์ร่วมกันได้ และมีการพัฒนาในทางเทคโนโลยีได้ ไม่อย่างนั้น ถ้าแข่งขันกันสุด Floor เขาจะไม่มีเงินเหลือไว้พัฒนาเทคโนโลยีต่อไป อันนี้เป็นความยากของ กสทช. หรือ ผู้กำกับดูแล”
รศ.ดร.ศุภัช ย้ำว่า “การแข่งขันที่มีลักษณะ healthy competition คือ สิ่งสำคัญมากๆ ซึ่งเรา (กสทช.) ต้องดูแลทั้งผู้บริโภค ทั้งผู้ประกอบการด้วย เพื่อให้เขาและเราอยู่ด้วยกัน และประเทศเดินไปข้างหน้าได้ในทางเทคโนโลยี และเราก็ได้
เพราะอย่าลืมว่า Digital economy (เศรษฐกิจดิจิทัล) ขณะนี้มันอยู่ที่ 15% ของจีดีพีโลก และประเทศไทยเองก็มีสัดส่วน (Digital economy) อยู่ที่ 15% ซึ่งใหญ่กว่าภาคเกษตรแล้ว เราจึงต้องดูแลตรงนี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับการพัฒนาในการเกิด economic growth (การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ) ต่อไปด้วย ซึ่งจุดยากมันอยู่ตรงนี้”
รศ.ดร.ศุภัช ระบุด้วยว่า “แข่งกันไปตายก็ไม่ไหว แต่ว่าผูกขาดเลยก็ไม่ได้ นี่คือแนวทาง และเราจะพยายามทำให้ดีที่สุด เพื่อประโยชน์ส่วนรวม”
(รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย)
เมื่อถามว่า กสทช. สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้ผู้ประกอบการแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยที่ไม่ต้องมีการควบรวมธุรกิจ (TRUE และ DTAC) ได้หรือไม่ รศ.ดร.ศุภัช กล่าวว่า “เป็นคำถามที่ยากมาก และผมไม่สามารถตอบคนเดียวได้ เพราะอีก 4 ท่าน อาจไม่เห็นด้วยกับผมก็ได้ และผมคงต้องใช้เวลาในการศึกษา และตัดสินใจมากกว่านี้”
“ผมยังไม่เห็น (เอกสาร) ทั้งหมด ซึ่งในเรื่อง economic และเรื่องโมเดล ผมก็ทำของผมไป แต่มีด้านอื่นๆด้วย เช่น เรื่องการลงทุน เรื่อเทคโนโลยี และเรื่อง new competitive environment (การแข่งขันในสภาพสิ่งแวดล้อมใหม่) ซึ่งมีฟีเจอร์หรือเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะมา
ซึ่งเอกสารของสำนักงาน กสทช. นั้น ผมก็ไม่รู้ว่า มันรวมของพวกนี้หรือยัง และอันนี้ เมื่อเข้ามาแล้ว ก็ต้องเป็นชั่งน้ำหนัก ซึ่งสำหรับผมแล้ว ผมจะรอดู แต่ถ้าอะไรที่ไม่ครบ ผมต้องให้สำนักงาน กสทช. ไปหามา ไปหาในสิ่งที่ผมอยากได้ ให้ได้ เพราะมีบางอันอาจยังไม่มีคำตอบ และมันเป็นส่วนหนึ่งที่เราเอามาชั่งน้ำหนักก็ได้”
รศ.ดร.ศุภัช กล่าวตอนท้ายว่า “ตอนนี้ผมตอบได้แค่นี้ และผมไม่กล้าฟันธงอะไร เราขอดูความชัดเจนจากเอกสารของสำนักงาน กสทช.ก่อน ถ้าสำนักงานฯสรุปไม่เป็นที่น่าพอใจ ก็ต้องมีการขอเพิ่มเติมอย่างไร ซึ่งเราจะทำให้เรื่องนี้ให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น”
ต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการ กสทช.
ต่อพงศ์ กล่าวว่า หลักของตนในการพิจารณากรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE1 และ DTAC คือ หนึ่ง ตนต้องพิจารณาข้อมูลให้รอบด้าน ต้องฟังทุกอย่างให้ครบถ้วน ที่สำคัญต้องให้ความเป็นกับทุกฝ่าย และแน่นอนที่สุดการดำเนินการตามกระบวนการทางปกครองต้องดำเนินด้วยความเห็นโดยสุจริต
“การดำเนินการกระบวนการทางปกครอง ต้องดำเนินการด้วยความเห็นสุจริต” ต่อพงศ์ ระบุ
(ต่อพงศ์ เสลานนท์)
เหล่านี้เป็น ‘ทัศนะ’ หรือความเห็นส่วนตัวของ ‘กรรมการ กสทช.’ ทั้ง 5 ท่าน ก่อนจะมีการพิจารณากรณีดีลควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ‘นัดแรก’ ในวันที่ 3 ส.ค.นี้
อ่านประกอบ :
ชงบอร์ด'กสทช.'ถกดีลควบ'TRUE-DTAC' 3 ส.ค.นี้-อนุกรรมการฯด้าน'ผู้บริโภค'ค้านรวมธุรกิจ
‘สำนักงาน กสทช.’ ปฏิเสธข่าว ‘อนุกรรมการฯ’ โหวตคว่ำดีลควบรวมธุรกิจ ‘TRUE-DTAC’
คำให้การ TRUE-DTAC! ‘ร้องสอด’คดีเพิกถอนประกาศ‘กสทช.’ ยก 7 เหตุผลหนุน‘ควบรวมธุรกิจ’
เปิดหนังสือหารือ‘กฤษฎีกา’ ตีความอำนาจ‘กสทช.’ 7 ประเด็น คลี่ปมดีลรวมธุรกิจ‘TRUE-DTAC’
‘ศาลปค.’ ชี้ ‘กสทช.’ มีอำนาจสั่งห้ามควบรวม ‘TRUE-DTAC’ หากเห็นว่าก่อให้เกิดการผูกขาด
‘อนุฯศึกษา’ชี้ดีลควบ TRUE-DTAC ทำค่าบริการเพิ่ม 2-19%-เวที‘นักวิชาการ’หนุนรวมกิจการ
ลดทางเลือกผู้บริโภค! เวทีสาธารณะค้านควบ TRUE-DTAC ‘ประวิทย์’โต้ถูกกล่าวหา‘ไม่เป็นกลาง’
วงเสวนาฯชำแหละ! ดีลควบ TRUE-DTAC ผู้บริโภคเสียเปรียบ ห่วง'ทุนใหญ่'สร้างอาณาจักรผูกขาด
ร้อง ‘ป.ป.ช.’ ไต่สวนฯ ‘กสทช.ชุดใหม่-พวก’ ละเว้นหน้าที่-ไม่โต้แย้งดีลควบรวม TRUE-DTAC
เลาะเวทีรับฟังความเห็นฯ ควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC 'เอไอเอส-NT'ค้าน-'สมาคมฯเอกชน'หนุน
เปิดหนังสือ กมธ.! ทักท้วง 7 ข้อ ปมควบรวม'TRUE-DTAC' ลดแข่งขัน-เสนอ'บิ๊กตู่'สั่งชะลอ