‘กฤษฎีกา’ ไม่รับตีความประเด็น ‘ข้อกฎหมาย’ กรณีดีลรวมธุรกิจระหว่าง ‘TRUE-DTAC’ ชี้เป็นอำนาจของ กสทช.-เรื่องอยู่ในชั้นศาลฯ
..................................
จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติ มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นข้อกฎหมายเรื่องอำนาจหน้าที่ของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น นั้น (อ่านประกอบ : เปิดหนังสือหารือ‘กฤษฎีกา’ ตีความอำนาจ‘กสทช.’ 7 ประเด็น คลี่ปมดีลรวมธุรกิจ‘TRUE-DTAC’)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีหนังสือแจ้งไปยังเลขาธิการ กสทช. ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่อาจรับข้อหารือของสำนักงาน กสทช. เรื่อง ขอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ไว้พิจารณาได้
“คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าวข้างต้น โดยมีผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และผู้แทนสำนักงาน กสทช. เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า ประเด็นที่สำนักงาน กสทช. หารือมานี้ เป็นกรณีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ กสทช. โดยเฉพาะตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553
รวมทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธ.ค.2560 ที่เป็นเครื่องมือของ กสทช. ในการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการรวมธุรกิจที่เป็นประเด็นหารือนี้ มีการฟ้องเพิกถอนเป็นคดีอยู่ในศาลปกครอง
ซึ่งตามข้อ 9 (1) แห่งระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าด้วยการรับปรึกษาให้ความเห็นทางกฎหมายของกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2522 กำหนดว่า กรรมการกฤษฎีกาจะไม่พิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายในเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล เว้นแต่จะเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี ได้มีมติหรือคำสั่งเป็นการภายในให้พิจารณา ดังนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) จึงไม่อาจรับข้อหารือนี้ไว้พิจารณาได้” หนังสือของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ นร 0909/106 ลงวันที่ 27 ก.ค.2565 ระบุ
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการฯ
แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. กล่าวว่า เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่รับข้อหารือของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับประเด็นข้อกฎหมายกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ไว้พิจารณา จึงเป็นอำนาจของบอร์ด กสทช. ที่จะพิจารณาในเรื่องนี้ ขณะที่ก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการฯด้านกฎหมายได้พิจารณาในเรื่องนี้แล้ว และเห็นว่า กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาว่าจะ ‘อนุญาต’ หรือ ‘ไม่อนุญาต’ กรณีการขอรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ในการประชุมบอร์ด กสทช. ในวันที่ 3 ส.ค.นี้ ได้มีการบรรจุวาระ เรื่อง การรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ให้บอร์ด กสทช. พิจารณาแล้ว
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า สำหรับประเด็นข้อกฎหมายที่สำนักงาน กสทช. ขอหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา ประกอบด้วย 7 ประเด็น คือ
1.หากการรวมธุรกิจส่งผลให้ตลาดที่เกี่ยวข้องมีดัชนีเฮอร์ฟินดาห์ล-เฮิร์ชแมน (HHI) มากกว่า 2.500 และเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 และมีอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีการครอบครองโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ให้ถือว่าการรวมธุรกิจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้องนั้น จะถือว่าการรวมธุรกิจดังกล่าวเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขัน ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 และประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 หรือไม่ อย่างไร และ กสทช. ต้องพิจารณาต่อรายงานการรวมธุรกิจในกรณีนี้อย่างไร
2.กสทช. สามารถยกเลิกหรือแก้ไขประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ภายหลังจากที่บริษัท ทรูฯ และบริษัท โทเทิ่ลฯ ยื่นรายงานการรวมธุรกิจแล้วได้หรือไม่ และจะมีผลต่อการรวมธุรกิจอย่างไร
3.ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ข้อ 9 กำหนดว่า “การรายงานตามข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 หรือข้อ 8 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ” มีความหมายอย่างไร
และหากปรากฏว่าการรวมธุรกิจจะทำให้เกิดการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมแล้ว กสทช. จะมีอำนาจในการนำประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 มาใช้เพื่อประกอบการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกรณีนี้ได้เพียงใด และ กสทช. สามารถนำประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 มาใช้บังคับกับการรวมธุรกิจได้หรือไม่ เพียงใด และมีอำนาจพิจารณาในการสั่ง “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” การรวมธุรกิจ และหรือมีคำสั่งอย่างอื่นได้หรือไม่เพียงใด
4.ตามที่ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ข้อ 9 กำหนดว่า “การรายงานตามข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 หรือข้อ 8 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549” และโดยที่ข้อ 12 ของประกาศฉบับเดียวกันกำหนดให้เลขาธิการ กสทช. รายงานต่อ กสทช. ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นประกอบการรายงานการรวมธุรกิจจากที่ปรึกษาอิสระ
หากรายงานการรวมธุรกิจส่งผลให้ตลาดที่เกี่ยวข้องมีดัชนีเฮอร์ฟินดาห์ล-เฮิร์ชแมน (HHI) มากกว่า 2,500 และเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 และมีอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีการครอบครองโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ให้ถือว่าการรวมธุรกิจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กสทช. อาจพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้น จากที่มีการกำหนดไว้ในข้อ 8 ประกอบกับข้อ 12 ดังกล่าวข้างต้น จะถือว่าเป็นการมอบอำนาจการพิจารณาอนุญาตให้ถือครองธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นที่เป็นอำนาจเฉพาะตัวของ กสทช ตาม 27(11) ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ประกอบข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ให้เลขาธิการ กสทช หรือไม่และจะมีผลประการใด
และจะเป็นการกระทบต่อหลักการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรนาคมตามกฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้อง หรือไม่ อย่างไร
5.หากกรณีการกำหนดประกาศตามข้อ 9 และข้อ 12 มิใช่การมอบอำนาจให้เลขาธิการ กสทช. กรณีเช่นนี้ ระยะเวลาการใช้อำนาจพิจารณาอนุญาตให้ถือครองธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 และกำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ จะต้องอยู่ภายใต้ระยะเวลา 60 วันตามข้อ 12 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม หรือไม่ประการใด
6.ระยะเวลา 60 วันตามข้อ 12 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม สามารถขยายระยะเวลาการดำเนินการโดยอาศัยตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ได้หรือไม่ อย่างไร
7.ปัจจุบันมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม และขอศาลให้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศ กสทช. ดังกล่าว หากศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับแล้ว กสทช. จะสามารถพิจารณาการรวมธุรกิจในครั้งนี้ได้หรือไม่ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายใด
อ่านประกอบ :
ฟังทัศนะ 5 กรรมการ ‘กสทช.’ ก่อนถกดีลควบ TRUE-DTAC ยัน ‘ไม่มีธง-ยึดประโยชน์สาธารณะ’
ชงบอร์ด'กสทช.'ถกดีลควบ'TRUE-DTAC' 3 ส.ค.นี้-อนุกรรมการฯด้าน'ผู้บริโภค'ค้านรวมธุรกิจ
‘สำนักงาน กสทช.’ ปฏิเสธข่าว ‘อนุกรรมการฯ’ โหวตคว่ำดีลควบรวมธุรกิจ ‘TRUE-DTAC’
คำให้การ TRUE-DTAC! ‘ร้องสอด’คดีเพิกถอนประกาศ‘กสทช.’ ยก 7 เหตุผลหนุน‘ควบรวมธุรกิจ’
เปิดหนังสือหารือ‘กฤษฎีกา’ ตีความอำนาจ‘กสทช.’ 7 ประเด็น คลี่ปมดีลรวมธุรกิจ‘TRUE-DTAC’
‘ศาลปค.’ ชี้ ‘กสทช.’ มีอำนาจสั่งห้ามควบรวม ‘TRUE-DTAC’ หากเห็นว่าก่อให้เกิดการผูกขาด
‘อนุฯศึกษา’ชี้ดีลควบ TRUE-DTAC ทำค่าบริการเพิ่ม 2-19%-เวที‘นักวิชาการ’หนุนรวมกิจการ
ลดทางเลือกผู้บริโภค! เวทีสาธารณะค้านควบ TRUE-DTAC ‘ประวิทย์’โต้ถูกกล่าวหา‘ไม่เป็นกลาง’
วงเสวนาฯชำแหละ! ดีลควบ TRUE-DTAC ผู้บริโภคเสียเปรียบ ห่วง'ทุนใหญ่'สร้างอาณาจักรผูกขาด
ร้อง ‘ป.ป.ช.’ ไต่สวนฯ ‘กสทช.ชุดใหม่-พวก’ ละเว้นหน้าที่-ไม่โต้แย้งดีลควบรวม TRUE-DTAC
เลาะเวทีรับฟังความเห็นฯ ควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC 'เอไอเอส-NT'ค้าน-'สมาคมฯเอกชน'หนุน
เปิดหนังสือ กมธ.! ทักท้วง 7 ข้อ ปมควบรวม'TRUE-DTAC' ลดแข่งขัน-เสนอ'บิ๊กตู่'สั่งชะลอ