"...ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาของศาล แต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษา และเอกสารคำเบิกความพยานไม่ตรงกันเช่นนี้ แม้ข้้นตอนตามกฏหมาย จำเลยสามารถนำพยานหลักฐานเหล่านี้มาอุทธรณ์ ได้ก็ตาม แต่ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาจึงไม่ตรงกับเอกสารคำเบิกความของพยานสำคัญ ซึ่งมีผลต่อคดีอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งคงไม่ใช่การผิดหลงอย่างแน่นอน ..."
คดีความที่ฟ้องร้องกันไปมาในสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อท 155/2566
คดีดังกล่าว นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. (โจทก์) ยื่นฟ้อง พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 1) ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 2) , รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 3) ,รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 4) และ ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. (จำเลยที่ 5) ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 157 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 กรณีแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย
ประเด็นที่สาธารณชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก คือ ผลของคำพากษาคดีนี้จะออกมาในลักษณะเดียวกับคดีที่ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้อง ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบซึ่งศาลมีคำพิพากษาจำคุก ศ.ดร.พิรงรอง 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา หรือไม่
เพราะหลังจากมีคำพิพากษาในลักษณะดังกล่าวได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งในเนื้อหาของคำพิพากษาและผลกระทบที่เกิดขึ้นในมิติต่าง ๆ
- ฉบับเต็ม! คำพิพากษาคุก 2 ปี ‘พิรงรอง’ อ้าง 'ตลบหลัง-ล้มยักษ์' พูดหลังประชุมแค่เปรียบเปรย
- 'พิรงรอง Effect' : กฎหมาย กสทช.ล้าหลัง ไม่ตอบโจทย์-ไร้อำนาจคุม OTT
- สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ : อะไรคือผลกระทบระยะยาว จากคดีพิรงรอง ?
ผู้เขียนเคยเขียนวิเคราะห์คำพิพากษาคดี ศ.ดร. พิรงรอง มาแล้ว โดยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคำพิพากษาดังกล่าวใน 2-3 ประเด็นตั้งแต่รูปแบบของการเขียนคำพิพากษาที่แทบไม่ปรากฏคำให้การของจำเลยซึ่งเป็นส่วนสำคัญเพื่อทำให้ประชาชนเห็นว่า ศาลได้ชั่งน้ำหนักพยานและคำให้การของทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นธรรม
การอ้างว่า จำเลยแก้ไขร่างบันทึกการประชุม อนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ฯ เป็นเท็จ ทั้งๆที่ หลังจากมีการนำร่างบันทึกการประชุมดังกล่าว ไปให้ที่ประชุมอนุกรรมการฯ รับรอง
ต่อมาผู้เขียนได้ศึกษาเอกสารที่ใช้ประกอบการเขียนคำพิพากษาเพิ่มเติม พบข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญในคำพิพากษาซึ่งมีผลต่อคดีเป็นอย่างมาก
ในคดีนี้ศาลมีความเห็นว่า จำเลยมีเจตนาพิเศษที่จะกลั่นแกล้งโจทก์ โดยอ้างอิงพยานหลักฐานต่างๆ เช่น พฤติกรรมของจำเลยที่กล่าวในห้องประชุมอนุกรรมการฯ, การแก้ไขร่างบันทึกการประชุมเป็นเท็จ และคำเบิกความของพยาน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. มายืนยันความเห็นดังกล่าว
ต่อไปนี้ เป็นข้อความในคำพิพากษาที่อ้างถึงคำเบิกความของพยาน 2 คนคือ นางกรกนก ชายพรหม และนายชาญณรงค์ ให้การว่า จำเลยเร่งรัดการจัดทำหนังสือเวียนฉบับที่ 2
ระบุว่า โดยก่อนที่จะมีการนำเสนอให้นางรมิดาลงนาม เอกสารดังกล่าวได้ผ่านการกลั่นกรองของนางกรกนก ชายพรหม ซึ่งทำหน้าที่กลั่นกรองงานให้แก่รองเลขาธิการ กสทช. ทำให้นางกรกนกได้สอบถามเหตุผลและความจำเป็นในการทำบันทึกและร่างหนังสือของสำนักงาน กสทช. ดังกล่าวจากนายชาญณรงค์ ซึ่งได้รับแจ้งจากนายชาญณรงค์ว่า จำเลยเป็นผู้สั่งการและเร่งรัดให้จัดทำบันทึกและร่างหนังสือดังกล่าว
หลังจากนั้น นางกรกนกจึงแจ้งให้นางรบิดาทราบ ซึ่งนางกรกนกและนางรมิดาก็ได้มาเบิกความเป็นพยานยืนยันข้อเท็จจริงต่อศาลว่า จำเลยเป็นผู้สั่งการและเร่งรัดให้จัดทำหนังสือตามเอกสารหมายเลข จ.6
อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบเอกสารคำเบิกความของนางกรกนก เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 หน้า 2 บรรทัดที่ 3 ระบุว่า ข้าฯ เคยสอบถามไปยังนายยิ่งศักดิ์หรือนายชาญณรงค์ เกี่ยวกับการออกหนังสือฉบับนี้ แต่นายชัยณรงค์ไม่ได้บอกว่าการออกหนังสือดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งหรือมติใด
ข้าฯ สอบถามนายชาญณรงค์ จึงทราบว่าหนังสือดังกล่าวได้ผ่านผู้ช่วยมณีรัตน์มาแล้ว
บรรทัดที่ 10 ข้าฯ บอกนางรมิดา นายชาญณรงค์ต้องการด่วน แต่นายชาญณรงค์ไม่ได้บอกว่า เหตุใด ต้องการด่วน
สำหรับคำเบิกความของนายชาญณรงค์ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 หน้า 10 บรรทัดที่ 9 ระบุว่า
ในส่วนของร่างหนังสือเวียนฉบับที่สองได้มีการเสนอเรื่องต่อผู้บังคับบัญชาสำนัก ปส. (นางรมิดา) ผ่านระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 กรณีนี้จึงไม่มีความจำเป็นที่ข้าฯ จะต้องนำร่างที่นางรมิดาฯ เป็นผู้พิจารณาผ่านงานด้วยตนเองไปเร่งรัดนางรมิดาฯ พิจารณาลงนามในหนังสือดังกล่าวอีก ประกอบกับการเสนอร่างหนังสือแจ้งเวียนฉบับที่สองดำเนินการผ่านระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ทั้งกระบวนการ
ดังนั้น จึงไม่มีการจัดพิมพ์กระดาษและเสนอผู้เข้าบัญชาลงนามด้วยน้ำหมึกซึ่งเป็นไปไม่ได้และไม่มีความจำเป็นที่ข้าฯ จะต้องจัดพิมพ์และนำร่างหนังสือในรูปแบบเอกสารขึ้นไปพบนางรมิดาฯ และเร่งรัดให้ลงนามในเอกสารดังกล่าว
นอกจากนี้ ข้าฯ ไม่เคยกล่าวกับนางรมิดาฯ และนางกรกนก ชายพรหมว่า จำเลยเป็นผู้สั่งการหรือเร่งรัดให้สำนักงาน กสทช. หรือนางรมิดาฯ จะต้องลงนามในหนังสือแจ้งเวียนฉบับที่สอง
ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาของศาล แต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษา และเอกสารคำเบิกความพยานไม่ตรงกันเช่นนี้
แม้ขั้นตอนตามกฏหมาย จำเลยสามารถนำพยานหลักฐานเหล่านี้มาอุทธรณ์ ได้ก็ตาม
แต่ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาจึงไม่ตรงกับเอกสารคำเบิกความของพยานสำคัญ ซึ่งมีผลต่อคดีอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งคงไม่ใช่การผิดหลงอย่างแน่นอน
ทั้ง ๆ ที่ในระบบการจัดทำคำพิพากษาจะต้องระบบกลั่นกรองตรวจสอบโดยผู้พิพากษาที่เป็นผู้บริหารศาล
แม้ในกรณีนี้จำเลยหรือผู้ได้รับผลกระทบจากคดีไม่ได้มีการทำเรื่องร้องเรียนต่อประธานศาลฎีกาหรือคณะกรรมการตุลาการโดยตรง แต่ต้องถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากมีผลกระทบต่อศาลยุติธรรมโดยรวม
ดังนั้น ผู้มีอำนาจหน้าที่จะต้องลงไต่สวนตรวจสอบในตอนนี้อย่างจริงจังเพื่อรักษาความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนต่อระบบศาลยุติธรรม อย่าให้เกิดการสั่นคลอนเหมือนองค์กรอื่น ๆ ในกระบวนการยุติธรรม