"...ตอนนี้อยู่ระหว่างการติดตามว่าเป็นการโอนหุ้นแบบปกติหรือไม่ รวมถึงจะตรวจสอบว่า บุคคลทั้ง 3 ยังไม่เคยประกอบอาชีพในการรับเหมาก่อสร้างมาก่อน แต่กลับเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นขนาดใหญ่แบบนี้และรับงานภาครัฐได้อย่างไร โดยจากตรวจสอบเจอทั้งหมด 29 โครงการ ทั่วประเทศ ร่วมกับกิจการร่วมค้า 12 ราย ตั้งแต่ปี 2562 - 2567 วงเงินตามสัญญา 22,773,856,494.83 บาท..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยแพร่ข้อมูลการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในกิจการร่วมค้า ไอทีดี – ซีอาร์อีซี (ประกอบไปด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) คู่สัญญาก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ วงเงิน 2,136 ล้านบาท ที่พังถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหว
หลังจากก่อนหน้านั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีการรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ และมีการประชุมคดีพิเศษ กรณี อาคาร สตง. ที่กำลังก่อสร้าง ถล่มหลังเหตุแผ่นดินไหว ในช่วงเช้าวันที่ 4 เม.ย.2568 ที่ผ่านมา
โดย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ดีเอสไอ รับกรณีเหตุตึก สตง.ถล่มหลังแผ่นดินไหว ในฐานความผิดว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เป็นคดีพิเศษ โดยประเด็นความผิดว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จะตรวจสอบว่าคนไทยที่ถือหุ้นว่ามีการถือหุ้นโดยอำพรางหรือไม่ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีแนวโน้มว่าเป็นนอมีนี หรือการถือหุ้นอำพราง
นางสาวกนกไรวินท์ บุรินทร์นันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบบัญชีกล่าวว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ เดิมในช่วงก่อตั้งนิติบุคคลมีผู้ถือหุ้นทั้ง 3 คน ในช่วงแรก นายมานัส ศรีอนันท์ ถือหุ้น 306,000 หุ้น ในวันก่อตั้ง จากนั้นค่อยโอนหุ้นให้ นายโสภณ มีชัย ในปัจจุบันเหลือแค่ 3 หุ้นเท่านั้น
"ตอนนี้อยู่ระหว่างการติดตามว่าเป็นการโอนหุ้นแบบปกติหรือไม่ รวมถึงจะตรวจสอบว่า บุคคลทั้ง 3 ยังไม่เคยประกอบอาชีพในการรับเหมาก่อสร้างมาก่อน แต่กลับเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นขนาดใหญ่แบบนี้และรับงานภาครัฐได้อย่างไร โดยจากตรวจสอบเจอทั้งหมด 29 โครงการ ทั่วประเทศ ร่วมกับกิจการร่วมค้า 12 ราย ตั้งแต่ปี 2562 - 2567 วงเงินตามสัญญา 22,773,856,494.83 บาท" นางสาวกนกไรวินท์ ระบุ (ดูรายละเอียดในเอกสารประกอบท้ายเรื่อง)
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีที่ประชาชนต้องการความยุติธรรม มีคนเสียชีวิต 15 ราย ยังต้องติดตามอีก 103 คน จะต้องให้ความเป็นธรรมให้ได้ อย่างไรก็ตามในการสอบสวนต้องมีพยานหลักฐานหรือพยานบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ และยังต้องการพยานวัตถุว่าอะไรเป็นสาเหตุของตึกถล่ม แล้วทำให้คนเสียชีวิต จึงอยากให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษประสานกับผู้รับผิดชอบโดยนำผู้เชี่ยวชาญไปดูหาพยานหลักฐานได้ แต่อย่าไปเป็นอุปสรรคการช่วยเหลือผู้ที่ยังสูญหาย
"อยากให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตรวจสอบข้อมูลของกิจการร่วมค้าที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ รวมไปถึงประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบบริษัทดังกล่าวด้วย " พ.ต.อ.ทวี ระบุ
ทั้งนี้เมื่อรวมจำนวนวงเงินทั้ง 29 โครงการ มีมูลค่า 22,773 ล้านบาท โดย 29 โครงการนี้ผู้ที่รับผิดชอบเป็นกิจการร่วมค้า เช่น กิจการร่วมค้า เอ จี ซี 10 คอนสตรัคชั่น กิจการร่วมค้า WGC10 Construction กิจการร่วมค้า อาร์แอลจี กิจการร่วมค้า ดีวายซีอาร์ คอนสตรัคชั่น เป็นต้น