“…เรื่องนี้ (ที่ดินเขากระโดง) มีการดำเนินการมานานมาก และก็ได้ข้อยุติไปครั้งหนึ่ง แล้วก็มีเรื่องอีก และมีข้อยุติอีก แล้วก็มีเรื่องอีก ทุกครั้งที่คนที่เกิดในนามสกุลชิดชอบ ตั้งแต่รุ่นพ่อ (ชัย ชิดชอบ) พอดำรงตำแหน่งทางการเมืองขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็ยกเรื่องนี้ขึ้นมาตลอด แล้วก็มีการดำเนินตามกฎหมาย แล้วก็ยุติ ท่านเนวิน (ชิดชอบ) ขึ้นมาก็โดนเรื่องนี้ ก็ยุติ พอมาถึงผม ก็ยกเรื่องนี้ขึ้นมาอีก…”
...........................
กำลังเป็น ‘ปมพิพาท’ ระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน
เมื่อ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ออกระบุว่า รฟท.อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารต่างๆ เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลฯมีคำสั่งให้ กรมที่ดิน เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับที่ดินรถไฟฯ ‘เขากระโดง’ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่ 5,083 ไร่ (อ่านประกอบ : ‘รฟท.’ จ่อยื่นฟ้อง ‘ศาลปกครอง’ สั่ง ‘กรมที่ดิน’ เพิกถอนโฉนดที่ดินแยก ‘เขากระโดง’)
แม้ว่าล่าสุด นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลกรมที่ดิน บอกว่า ไม่อยากให้กรณี ‘เขากระโดง’ กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐ พร้อมระบุว่า กระบวนการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับที่ดินเขากระโดง ‘เริ่มนับหนึ่งแล้ว’ (อ่านประกอบ : 'นิพนธ์'เผยกรมที่ดิน-รฟท.ตั้ง กก.สอบแนวเขต 5,083 ไร่ แก้ปมแผนที่ทับซ้อน'เขากระโดง')
แต่ทว่าผ่านไปกว่า 9 เดือนแล้ว นับตั้งแต่มีการหยิบยกประเด็นการ ‘เพิกถอน’ เอกสารสิทธิ์ที่ออกทับที่ดินรถไฟเขากระโดง ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา และมติ ป.ป.ช. ขึ้นมาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อเดือน ก.พ.2564 (อ่านประกอบ : มหากาพย์ที่ดิน ‘เขากระโดง’ โยง ‘ศักดิ์สยาม-ญาติ’ มีบ้านพักบน ‘ที่หลวง’)
ปรากฏว่าการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ‘ส่วนใหญ่’ ที่ออกทับที่ดินรถไฟเขากระโดง โดยเฉพาะโฉนดที่ดิน 2 แปลง (โฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์) ที่มีความเกี่ยวพันกับคนในตระกูล ‘ชิดชอบ’ กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามี ‘นักการเมือง’ บางกลุ่มอยู่เบื้องหลังหรือไม่
โอดถูกยกปม ‘เขากระโดง’ โยงคนนามสกุล ‘ชิดชอบ’ ทุกครั้งที่มีตำแหน่ง
“ต่อประเด็นคำถามว่า เอ๊ะ เราเข้ามา เราจะมาแก้ปัญหาเรื่องที่ดินเขากระโดงหรือไม่ เรื่องนี้ผมตอบในการชี้แจงในสภาฯมาหลายแล้ว และตอบกระทู้มาหลายรอบแล้วว่า เรื่องนี้เป็นปัญหายาวนานมาก และไม่ใช่แค่ที่บุรีรัมย์ที่มีข้อพิพาทที่ดินระหว่างรัฐกับประชาชน
เรื่องนี้ (ที่ดินเขากระโดง) มีการดำเนินการมานานมาก และก็ได้ข้อยุติไปครั้งหนึ่ง แล้วก็มีเรื่องอีก และมีข้อยุติอีก แล้วก็มีเรื่องอีก ทุกครั้งที่คนที่เกิดในนามสกุลชิดชอบ ตั้งแต่รุ่นพ่อ (ชัย ชิดชอบ) พอดำรงตำแหน่งทางการเมืองขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็ยกเรื่องนี้ขึ้นมาตลอด แล้วก็มีการดำเนินตามกฎหมาย แล้วก็ยุติ
ท่านเนวิน (ชิดชอบ) ขึ้นมาก็โดนเรื่องนี้ ก็ยุติ พอมาถึงผม ก็ยกเรื่องนี้ขึ้นมาอีก แต่ผมไม่ได้มีปัญหากับเรื่องนี้ ซึ่งได้ชี้แจงในสภาฯไปแล้วว่า หลักการในการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชนให้ยึดหลักกฎหมาย ยึดมติครม.เอามาดูให้หมด ดูกันอย่างโปร่งใส ใช้หลักธรรมาภิบาล แล้วไม่มีการไปใช้อำนาจอะไรในเรื่องนี้
ผมได้เรียนกับผู้บริหาร รฟท. และผู้ว่าฯ รฟท. (นิรุฒ มณีพันธ์) ว่า เอามาดูให้หมดเลย แล้วให้สามารถดำเนินการโดยไม่ต้องมาติดว่า ผมหรือใคร อะไรถูก คือ ถูก อะไรไม่ถูก ก็คือ ไม่ถูก เพราะฉะนั้น เวลาผมทำงาน จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ตลอดเวลา เพราะไปกระทบกับผลประโยชน์ของคนบางคน ของบางกลุ่ม ที่เวลาเขาไม่ได้ เขาก็มักชี้ว่าเราทำอะไรไม่ถูก
แต่ทั้งหมดนี้ เราไปยุติกันที่กระบวนการยุติธรรม เราอย่ามาตัดสินกันโดยใช้ดุลพินิจ เราเอาข้อเท็จจริงทั้งหมด จะเป็นเอกสารทางราชการ ข้อกฎหมายทั้งหมด แล้วก็ดู และดำเนินการตามขั้นตอนที่ราชการปฏิบัติ ยุติอย่างไรก็จบ” ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในฐานะกำกับดูแล รฟท. กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) กรณีที่ดินเขาโดง
‘ศักดิ์สยาม’ ยันโฉนดที่ดิน ‘ชัย ชิดชอบ’ ออกโดยชอบตามกม.ที่ดิน
ศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า “กรณีเขากระโดง ผมศึกษามาตั้งแต่ก่อนเป็นรัฐมนตรีว่าการฯ เพราะเรื่องนี้เป็นข้อพิพาทกันมานาน สิ่งที่เราเห็น คือ ประชาชนเขาใช้สิทธิ์ของเขา ไม่ใช่มีแค่คนนามสกุลชิดชอบที่มีที่ตรงนั้น ที่ดินที่รถไฟที่อ้างว่ามี 5,000 กว่าไร่ ตรงนั้น
จริงๆแล้ว มีพี่น้องประชาชนอยู่เป็นหมื่นครอบครัว และมีเอกสารสิทธิ์ที่ออกเป็นโฉนดที่ดิน 900 แปลง มีเอกสารสิทธิ์ระดับรองๆลงมา เช่น น.ส. 3 ก 300-400 แปลง ซึ่งตรงนี้มีประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 อนุญาตให้ทำ เขาก็ทำของเขา
ขณะเดียวกัน รฟท.ก็มีพ.ร.ฎ.ก่อสร้างทางรถไฟสายหลักจากมณฑลนครราชสีมาไปถึงมณฑลอุบลราชธานี ซึ่งที่ดินพิพาท เป็นทางแยก ซึ่งไม่อยู่ในพ.ร.ฎ. นี่เป็นข้อเท็จจริง แต่ผมก็บอกว่า ให้ รฟท.ไปดูก็แล้วกัน เพราะฉะนั้น จะเห็นว่า การดำเนินการระหว่างกรมที่ดินกับ รฟท. ก็ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย
รฟท.ก็บอกให้กรมที่ดินเพิกถอน (โฉนด) เพราะเชื่อว่ามีสิทธิ์ในที่ดินตรงนั้น แต่กรมที่ดินก็ถามหลับมาที่ รฟท.ว่า ที่ รฟท.มีสิทธิ์นั้น มีหลักฐานอะไร ตรงนี้ก็ไปดูว่าการได้มาที่ดินของ รฟท. ตามกฎหมายมีกี่ประเภท ซึ่งเท่าที่จำได้มี 3-4 ประเภท เช่น 1.ออกพ.ร.ฎ.เวนคืนฯ ซึ่งต้องมีแผนที่แนบท้ายพ.ร.ฎ. 2.ได้มาโดยการพระราชทาน
3.ได้มาโดยการจับจอง ซึ่ง รฟท.ต้องไปออกใบจับจอง และอันนี้เป็นประเด็นว่า รฟท.อ้างว่ามี ส.ค.1 แต่ ส.ค.1 เป็นการออกตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับประชาชน ไม่ใช่รัฐกับรัฐ ทำให้ไม่แน่ใจว่าตรงนี้จะยังงัย แต่มีการอ้างเรื่องนี้ขึ้นมา ผมจึงบอกว่าให้ไปดำเนินการตามขั้นตอน”
ศักดิ์สยาม กล่าวว่า “เท่าที่ได้รับรายงานมา พอกรมที่ดินได้รับหนังสือจาก รฟท. ให้ไปเพิกถอน (เอกสารสิทธิที่ดิน และโฉนด) แต่กรมที่ดินบอกว่าเพิกถอนไม่ได้ เพราะเขาออกเอกสารสิทธิ์โดยชอบ ซึ่งการออกเอกสารสิทธิ์ เขา (กรมที่ดิน) จะดูว่าประชาชนมีเอกสารอะไรมายืนยันว่าตัวเองออกเอกสารสิทธิ์ที่เป็นโฉนดได้
ประชาชนก็มี ส.ค.1 และไปแจ้งโดยชอบตามประมวลกฎหมายที่ดิน แล้วก็มีการประกาศต่างๆ เวลาจะมีการออกเอกสารสิทธิ์ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆจะมาเขียนอะไรก็ได้ แม้แต่ที่ดินที่เดิมมีชื่อของคุณพ่อผมอยู่ (ชัย ชิดชอบ) แต่คุณพ่อผม ก็ไปซื้อมาจากคนอื่นที่เป็นเอกสารสิทธิ์ และมายื่นออกโฉนด
ปรากฏว่าเวลาออกโฉนด กรมที่ดิน โดยสำนักงานที่ดินจังหวัด ก็ออกประกาศว่าที่ดินข้างเคียงว่ามีใครบ้าง และให้มาชี้รับรองแนวเขต ด้านทิศตะวันตกของแปลงที่ดินของคุณพ่อ เป็นของ รฟท. รฟท.ก็ส่งคนมารับรองแนวเขต ก็ออกโฉนดมาจนเรียบร้อย นี่ก็เป็นข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย"
(ศักดิ์สยาม ชิดชอบ)
ปชช.ได้เอกสารสิทธิ์มาโดยสุจริต-หาก ‘กรมที่ดิน’ เพิกถอนจะถูกฟ้องร้อง
ศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า "แต่วันนี้ เมื่อมีข้อสงสัยก็ไปดำเนินการให้จบซะ ถ้าออกมาสุดท้ายว่า ที่ดินเป็นของ รฟท. เราต้องดำเนินาการอย่างไร แน่นอนว่า ประชาชนจะต้องกลับมาขอเช่าที่ดินกับ รฟท. รฟท.ก็ไปประเมินว่าที่ดินเป็นอะไรก็ว่ากันไป
แต่ในขณะเดียวกัน ต้องไปดูว่า กรมที่ดินออกเอกสารสิทธิ์ให้ประชาชน ทำให้ประชาชนที่สุจริตเป็นอะไร เมื่อเขาต้องเสียทรัพย์ นั่นคือการละเมิดเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องฟ้องกันอีกอุตลุดวุ่นวายกันอย่างนี้”
เมื่อถามว่า โฉนดที่ดิน 2 แปลง (โฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ) ของตระกูลชิดชอบ ที่ ป.ป.ช.มีมติให้เพิกถอนโฉนดนั้น จะมีการพูดคุยกับคนในตระกูลเพื่อให้สละคืน รฟท. และเช่าที่จาก รฟท.เป็นตัวอย่างหรือไม่ ศักดิ์สยาม กล่าวว่า “จริงๆแล้ว ไม่ใช่เรื่องตัวอย่างหรือไม่ตัวอย่าง
ผมเรียนตั้งแต่ต้นว่า เวลาดำเนินการอะไรทั้งหมด มันต้องจบสิ้นในเรื่องข้อกฎหมายกับข้อเท็จจริง อย่ามาใช้ความรู้สึกของใครก็ได้ วันนี้มีการกล่าวหาว่า ผมไปอยู่อาศัยในที่ดินซึ่งมีปัญหาข้อพิพาท โดยถูกกล่าวหาจาก ส.ส.บางท่าน ผมก็เป็น ส.ส. ถ้าผมกล่าวหากลับไป แล้วคนๆนั้นที่เขาอยู่ จะต้องออกจากที่ดินด้วยหรือเปล่า มันไม่ใช่
จริงๆ มันต้องจบกระบวนการยุติธรรม ผมไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผมเป็นเพียงผู้อยู่อาศัย เข้ามาโดยสุจริต เพราะเชื่อในความสุจริตว่า ที่ดินที่ออกโดยกรมที่ดิน เอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยกรมที่ดินออกโดยชอบ ไม่ได้เป็นการบุกรุก หรือไปพาคนมาบุกรุก มีการกล่าวหาว่าผมพอควรไปบุกรุก
ผมถามว่าเอกสารสิทธิของคุณพ่อ ซึ่งวันนี้ไม่ใช่ของคุณพ่อแล้ว เพราะมีการจำหน่ายจ่ายโอนให้บริษัทไปแล้ว ออกเมื่อปี 2515 ผมเกิดปี 2505 ผมอายุ 10 ขวบ เด็กอายุ 10 ขวบ จะสามารถที่จะไปนำประชาชนมาบุกรุกที่รถไฟได้เหรอ
แล้วจริงๆ ผมเรียนว่า ประมวลกฎหมายที่ดินออกปี 2497 ผมยังไม่เกิดเลย ประชาชนก็ไปแจ้ง ส.ค.1 กันเยอะแยะไปหมดแล้ว แล้วมากล่าวหาว่าผมไปพาประชาชน ทั้งที่ผมยังไม่เกิด ผมจะเข้าฝันคนได้เหรอ”
‘ศักดิ์สยาม’ ยันไม่เคยใช้ ‘อำนาจ-สั่งการ’ กรณีที่ดินเขากระโดง
ศักดิ์สยาม กล่าวว่า “ผมพยายามให้มีการดำเนินการในเรื่องนี้ ผมบอกรถไฟฯว่า ให้ดูข้อเท็จจริง ดูข้อกฎหมาย และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเดินให้ได้ข้อยุติเถอะ ผมไม่มีวันที่จะไปก้าวก่ายว่า เรื่องนี้หยุดไม่ต้องทำ เรื่องนี้ต้องทำแบบนี้ ไม่มี แล้วก็ดำเนินการ ถ้า รฟท.จะไปฟ้องกรมที่ดินก็ต้องทำ
เวลาเจอท่านอนุพงษ์ (พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย) ก็กราบเรียนท่านตลอดว่า เรื่องเหล่านี้ ถ้าเราใช้หลักการบริหารบ้านเมืองแบบปกติ ก็มาดูข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายก็ว่าตามนั้น เพราะจริงๆ ประชาชนสุจริตหมด ไม่มีใครอยู่ๆจะไปบุกรุกได้ เขาอยู่กันมาไม่รู้เท่าไหร่แล้ว
และผมสั่งการว่า อย่าไปทำเฉพาะเคสบุรีรัมย์ ทั่วประเทศเอาดูให้หมดเลย มันควรจะได้ข้อยุติ เพราะวันนี้ที่ดินรถไฟ ไม่ใช่ว่าจะบุกรุกหรือไม่บุกรุก แต่เป็นที่ดินที่ต้องเอามาบริหารให้เกิดประโยชน์ต่อรถไฟ ซึ่งเราได้ตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์รถไฟ (บริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัด) ขึ้นมา เพราะมีที่ดินรถไฟที่ศักยภาพเยอะแยะเลยในประเทศ”
ศักดิ์สยาม ย้ำว่า “เรื่องที่ดินรถไฟบุรีรัมย์ ก็ดำเนินการไปตามกฎหมาย ผมไม่มีวันไปสั่งการ หรือไปแทรกแซงให้ทำ หรือไม่ทำ เขาต้องทำ ซึ่งเขา (รฟท.) รายงานมาที่ผม ผมก็ทราบและให้ดำเนินตามระเบียบกฎหมาย ตามมติครม. และธรรมาภิบาลโดยเคร่งครัด นั่นคือการสั่งการปกติ จึงอยากให้เกิดความสบายใจว่า เรื่องนี้ไม่ไปต้องกังวลว่า ผมจะใช้อำนาจหน้าที่เข้าไปแทรกแซง”
พลิก มติ ป.ป.ช.ปี 54 ยันโฉนดที่ดิน 2 แปลงออกทับที่ดินรถไฟ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ศักดิ์สยาม ยืนยันว่าโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 ของบิดา (ชัย ชิดชอบ) ที่ขอออกโฉนดเมื่อปี 2515 ก่อนขายให้ บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ในเวลาต่อมา นั้น เป็นการออกโดยชอบตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 (ของกรุณา ชิดชอบ) เป็นการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบ
จากรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีที่ดินเขากระโดงของ ป.ป.ช. (เรื่องกล่าวหาเลขดำที่ 51910034 เรื่องกล่าวหาเลขที่แดงที่ 14959054) เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2554 หน้า 47-48 ได้มีการวินิจฉัยกรณีโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ว่าออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ดังนี้
“จากการไต่สวนข้อเท็จจริงปรากฎว่า ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ทั้งสองแปลงดังกล่าว ออกสืบเนื่องมาจาก น.ส.3 เลขที่ 334 และ น.ส.3 เลขที่ 502, 411,409 และ 120 ตามลำดับอันเป็นการออกโดยมีหลักฐานการครอบครอง จึงเป็นการออกเฉพาะราย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 โดยออกให้กับผู้ขอเมื่อปี 2515 และ 2518 ตามลำดับ
ซึ่งเป็นการออกเอกสารสิทธิภายหลังจากที่กรมรถไฟหลวง (การรถไฟแห่งประเทศไทย) ประกาศหวงห้ามที่ดิน เมื่อปี 2462 และ 2464
ทั้งยังปรากฎหลักฐานว่าที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว มีอาณาเขตข้างเคียงด้านทิศตะวันตกจดที่ดินของการรถไฟ และจากการไต่สวนข้อเท็จจริงปรากฎว่า ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวตั้งอยู่ในบริเวณที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวคือ ที่ดินบริเวณเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์...
ซึ่งกรมรถไฟหลวง (ปัจจุบัน คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย) ได้กรรมสิทธิ์โดยพระราชกฤษฎีกาฯ พ.ศ. 2462 และ พระราชกฤษฎีกาฯ พ.ศ. 2464 โดยแผนที่กำหนดแนวเขตไว้อย่างกว้าง สำหรับการสำรวจสร้างทางรถไฟ
นอกจากนี้ หลังจากสำรวจได้มีการตรา พ.ร.ฎ.จัดซื้อที่ดินจากเอกชนและยกเลิกพระราชกฤษฎีกาฯ พ.ศ.2462 เป็นตอนๆไปนั้น พบว่า
ที่ดินของการรถไฟมีสภาพเป็นป่า ไม่มีผู้ใดครอบครองทำประโยชน์ เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้เข้าทำประโยชน์เป็นแหล่งวัสดุสำหรับก่อสร้างทางรถไฟ จึงถือว่าเป็นการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าไว้ใช้ในราชการตามกฎหมายแล้ว ที่ดินนั้นจัดเข้าลักษณะเป็นที่ดินรถไฟ
ขณะเดียวกัน จากการตรวจสอบสภาพพื้นที่ โดยการทำแผนที่ภาพเชิงซ้อน ของคณะทำงานอ่าน แปล ตีความ วิเคราะห์ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และสำรวจพื้นที่ และคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยมี เจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ‘นำชี้’
และได้ทำการรังวัดตรวจสอบโดยใช้เครื่องมือรับสัญญาณจากดาวเทียมสำหรับหาค่าพิกัดตำแหน่ง (จีพีเอส) หาค่าพิกัดตำแหน่งที่ดินตามที่การรถไฟกล่าว อ้างว่า จาก กม.4+540 ถึง กม. 8+000 เขตรถไฟห่างจากศูนย์กลางทางข้างละ 1,000 เมตร และตรวจสอบตำแหน่งที่ดินของแปลงโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 แล้ว
ปรากฎว่า ที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ห่างจาก ‘ศูนย์กลาง’ ทางรถไฟไปทางด้านทิศตะวันออกประมาณ 100 เมตร เท่านั้น ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นที่ดินเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้ามมิให้ออกเอกสารสิทธิทางที่ดิน
พิจารณาเห็นว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 เป็นการออกในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดิน จึงเป็นการออกโดยมิชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 59 และ กฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ข้อ 8” รายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีที่ดินเขากระโดงของ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2554 ระบุ (อ่านเอกสารประกอบ)
บทสรุปกรณีการเพิกถอนโฉนดที่ดินรถไฟ ‘เขากระโดง’ จะได้ข้อยุติอย่างไรนั้น ยังคงต้องติดตามกันไป!
อ่านประกอบ :
'นิพนธ์'เผยกรมที่ดิน-รฟท.ตั้ง กก.สอบแนวเขต 5,083 ไร่ แก้ปมแผนที่ทับซ้อน'เขากระโดง'
‘รฟท.’ จ่อยื่นฟ้อง ‘ศาลปกครอง’ สั่ง ‘กรมที่ดิน’ เพิกถอนโฉนดที่ดินแยก ‘เขากระโดง’
‘กรมที่ดิน’ชี้ช่อง ‘รฟท.’ ยื่นหลักฐาน ‘ส.ค.1’ ออกโฉนดที่ดินรถไฟ‘เขากระโดง’ 5 พันไร่
'รฟท.'ยื่นโนติส'กรมที่ดิน'ฉบับที่ 2! ยันต้องเพิกถอนโฉนดเขากระโดง 5 พันไร่-ขู่ฟ้องศาล
เปิดหนังสือ‘เลขาฯคปต.’ ยื่น‘ป.ป.ช.’ไต่สวน‘ผู้ว่าฯรฟท.’ ผิด ม.157 กรณีที่ดินเขากระโดง
มหากาพย์ชิงกรรมสิทธิ์ที่ดิน 'เขากระโดง' ใครบ้างต้องรับผิดชอบ?
‘สร.รฟท.’จี้ ‘นิรุฒ’เร่งบังคับคดีผู้บุกรุกที่ดิน‘เขากระโดง’-หากอยู่ต่อให้ทำสัญญาเช่า
เปิดบันทึกเก่า 50 ปี! คลี่ปมกรรมสิทธิ์เขากระโดง 'ชัย ชิดชอบ' ขออาศัยที่ดิน 'รฟท.'
เก็บเรื่อง 9 ปี! 3 ผู้ว่าฯรฟท.ไม่สั่งฟ้องศาลถอนโฉนด ที่ดิน 'เขากระโดง' โยง 'ชิดชอบ'
‘กรมที่ดิน’ ย้ำให้ 'รฟท.' ฟ้องศาลฯเพิกถอน 'โฉนด' ที่ดินเขากระโดง 700 แปลง
แค่ผู้อยู่อาศัย-ปัดเอื้อญาติ! ‘ศักดิ์สยาม’ แจง 9 ประเด็นที่ดิน ‘เขากระโดง’ 5 พันไร่
อภิปรายไม่ไว้วางใจ : โยง'ศักดิ์สยาม'เอื้อ'ตัวเอง-ญาติ'ไม่สั่งขับไล่พวกรุกที่เขากระโดง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/