"...แต่จากข้อมูลล่าสุดที่สำนักข่าวอิศรารายงานว่า สำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นอย่างชัดเจนว่า หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดในกรณีดังกล่าวหน้าที่ในการฟ้องร้องเพิกถอนโฉนดที่ดินเป็นหน้าที่ของ รฟท. โดยให้กรมที่ดินแจ้งให้ รฟท.ดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล อย่างไรก็ตามเรื่องได้ล่วงเลยมานานถึง 10 ปี ผู้บริหาร รฟท.หลายยุคหลายสมัยกลับมิได้ดำเนินการใดๆ..."
......................
อ่านเรื่องราวข้อพิพาทในกรรมสิทธิ์ ที่ดิน 5,000 ไร่ บริเวณ’เขากระโดง’ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)กับชาวบ้าน ต.อิสาณ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์โดยเฉพาะกับครอบครัว’ชิดชอบ’ ที่ยืดเยื้อยาวนานกว่ากึ่งศตวรรษอาจจะดูซับซ้อนซ่อนเงื่อน
แต่จากข้อมูลล่าสุดที่สำนักข่าวอิศรา ( www.isranews.org ) รายงานว่า สำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นอย่างชัดเจนว่า หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดในกรณีดังกล่าวหน้าที่ในการฟ้องร้องเพิกถอนโฉนดที่ดินเป็นหน้าที่ของ รฟท. โดยให้กรมที่ดินแจ้งให้ รฟท.ดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล อย่างไรก็ตามเรื่องได้ล่วงเลยมานานถึง 10 ปี ผู้บริหาร รฟท.หลายยุคหลายสมัยกลับมิได้ดำเนินการใดๆ
( เก็บเรื่อง 9 ปี! 3 ผู้ว่าฯรฟท.ไม่สั่งฟ้องศาลถอนโฉนด ที่ดิน 'เขากระโดง' โยง 'ชิดชอบ' )
จากข้อมูลดังกล่าว ถ้า รฟท. ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาตามอำนาจหน้าที่ เรื่องคงไม่ยืดเยื้ออย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
เพราะความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในปี 2554 และความเห็นของ สำนักงานอัยการสูงสุด ในการพิจารณาเกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง 2 โฉนดของครอบครัว’ชิดชอบ’ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า หน่วยงานที่เป็นผู้เสียหายคือ รฟท. ต้องเป็นผู้ฟ้องของให้ศาลเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงซึ่งออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและในขณะเดียวกันต้องฟ้องขับไล่ให้ผู้ครอบครองที่ดินออกไปจากที่ดินที่ครอบครองอยู่
ยิ่งในปัจจุบัน มีคำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2561 ออกมารับรองเป็นบรรทัดฐานว่า ที่ดินเขากระโดงจำนวน 5,000 กว่าไร่เป็นที่ดินของ รฟท.ยิ่งชัดเจนว่า รฟท.จะต้องดำเนินการฟ้องเพิกถอนทุกโฉนดที่ดินที่ออกประมาณ 700 กว่าโฉนดที่ออกมาโดยมิชอบเพื่อให้ที่ดินกลับมาเป็นของ รฟท.ตามที่ศาลฎีกาได้พิพากษาโดยไม่มีเหตุผลใดที่ ผู้ว่า รฟท.คนปัจจุบันจะไม่ดำเนินการฟ้องต่อศาลให้เพิกถอนโฉนดที่ออกโดยมิชอบ
ในขณะเดียวกัน ปัจจุบันนี้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ สมาชิกครอบครัว ‘ชิดชอบ’ซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดิน 1 ใน 2 โฉนดที่เป็นปัญหามาตั้งแต่ พศ.2554 กลับมาเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งมี รฟท. เป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลและบริหารอยู่ในกระทรวงคมนาคมด้วยแล้ว ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วไปแล้วว่า รัฐมนตรีคนดังกล่าว เป็นผู้มีคำสั่งให้ รฟท. ดำเนินการตามกฎหมายกับการออกโฉนดโดยมิชอบในที่ดินเขากระโดงซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท.ตามคำพิพากษาศาลฎีกาตามที่กล่าวมาแล้ว ควรต้องแสดงความรับผิดชอบ ให้เป็นตัวอย่างในการบังคับใช้ กฎหมายเกี่ยวกับที่ดินซึ่งครอบครัวตนเองมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินที่เป็นของ รฟท. ตามที่ศาลฎีกาได้พิพากษารับรองสิทธื์ของ รฟท.ไว้โดยชัดแจ้ง โดยขอคืนที่ดินตามโฉนดที่ครอบครัวตนเองครอบครองให้แก่ รฟท.โดย รฟท. ไม่จำต้องฟ้องคดีให้ศาลมีคำพิพากษาสำหรับที่ดินที่ครอบครองอยู่ ให้เป็นตัวอย่างของการที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีข้อเท็จจริงปรากฎชัดแจ้งแล้ว
สำหรับการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของอดีตผู้ว่าการ รฟท.ทุกรายที่ผ่านมา และปรากฎข้อเท็จจริงชัดเจนแล้วว่า ไม่ดำเนินการฟ้องขอเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงทั้งๆที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กรมที่ดินและสำนักงานอัยการสูงสุดแนะนำให้ รฟท.เป็นผู้เสียหายถือว่า เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการกับผู้ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ผู้ว่าการ รฟท. คนปัจจุบัน หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องยื่นเรื่องไปที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้สอบสวนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้ตามอำนาจหน้าที่
เขียนโดย ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์