‘รฟท.’ เตรียมยื่นฟ้อง ‘ศาลปกครอง’ ขอให้มีคำสั่งให้ ‘กรมที่ดิน’ เพิกถอนโฉนดที่ดินรถไฟ ‘เขากระโดง’ หลังศาลฎีกามีคำพิพากษาเป็นที่ยุติแล้ว ย้ำกรมที่ดินที่มีหน้าที่ตรวจสอบ ‘ข้อกม.-ขอบเขตที่ดิน’ ให้ถูกต้อง ก่อนออกโฉนดให้ประชาชน
..................................
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการเรื่องข้อพิพาทที่ดินบริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ว่า การรถไฟฯได้ดำเนินการในเรื่องที่ดินบริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ อย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักความถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย และธรรมาภิบาล เพื่อสร้างความเป็นธรรมและปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อพี่น้องประชาชน รักษาผลประโยชน์ต่อองค์กรและประเทศชาติ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้จัดทำหนังสือที่ รฟ 1/1911/2564 ลงวันที่ 23 มิ.ย.2564 ถึงอธิบดีกรมที่ดินเพื่อให้ดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 ในการเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับซ้อนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 ภายใน 90 วัน
ภายหลังจากมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842–876/2560 ลงวันที่ 16 ก.พ.2560 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 ลงวันที่ 22 พ.ย.2561 ได้วินิจฉัยสอดคล้องกันว่า สำเนาแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ย่อมถือได้ว่าเป็นที่ดินที่จัดหามาเพื่อใช้ในกิจการรถไฟ โดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อการรถไฟฯ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการรถไฟฯ พ.ศ. 2494 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้โอนทรัพย์สินและหนี้สินของกรมรถไฟแผ่นดินให้แก่การรถไฟฯ การรถไฟฯจึงเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท
ต่อมากรมที่ดิน มีหนังสือ ที่ มท 0516.2/3530 ลงวันที่ 27 ก.ย.2564 ถึงการรถไฟฯ ว่า ไม่สามารถดำเนินการเพิกถอนหรือแก้ไขตามมาตรา 61 วรรคแปด แห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้ เนื่องจากการเพิกถอนหรือแก้ไขตามคำพิพากษาของศาลดังกล่าว จะต้องเป็นกรณีที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุด ว่า เป็นการออกไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แต่ในกรณีนี้ คำพิพากษาของศาลฎีกาทั้งสองคดีไม่ได้พิพากษาให้เพิกถอนหรือแก้ไขแต่อย่างใด แต่หากการรถไฟฯ ยืนยันว่า แผนที่ที่ใช้ในการพิจารณาของศาลเป็นแผนที่ที่มีความถูกต้อง การรถไฟฯ สามารถถ่ายทอดแนวเขตลงไปในระวางรูปถ่ายทางอากาศที่กรมที่ดินจัดส่งให้ และรับรองความถูกต้อง ซึ่งกรมที่ดินจะใช้ระวางแผนที่ที่การรถไฟฯ ได้ขีดเขตและรับรองเป็นหลักฐานอย่างหนึ่ง นอกจากหลักฐานอื่นๆ (ถ้ามี) ในการประกอบการพิจารณา
โดยกรมที่ดินจัดส่งระวางแผนที่ดังกล่าวให้จังหวัดบุรีรัมย์ตรวจสอบว่า ที่ดินแปลงใดต้องดำเนินการเพิกถอนทั้งแปลงหรือบางส่วนต่อไป เว้นแต่กรณีที่การรถไฟฯไม่สามารถกำหนดแนวเขตลงในระวางแผนที่ได้ การรถไฟฯ สามารถนำหลักฐาน สค.1 เลขที่ 1180 หมู่ที่ 1 ตำบลในเมือง ไปยื่นขอออกโฉนดที่ดินในส่วนที่เหลือ 4,605 ไร่ 1 งาน 71.2 ตารางวา ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ได้ เพื่อให้ครอบคลุมตามหลักฐาน สค.1 เลขที่ 1180 ดังกล่าว และเมื่อได้แนวเขตที่ดินที่ชัดเจนกรมที่ดินจะได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
อย่างไรก็ดี ทางการรถไฟฯ เห็นว่ากรมที่ดิน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินงานออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ราษฎรและให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เมื่อได้รับทราบความตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842–876/2560 ลงวันที่ 16 ก.พ.2560 และคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 8027/2561 ลงวันที่ 22 พ.ย. 2561 จนเป็นที่ยุติแล้วว่า ที่ดินในพื้นที่ทางแยกบริเวณเขากระโดงเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยชอบด้วยกฎหมาย
จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานที่ดินย่อมต้องทราบถึงการมีอยู่ของที่ดินรถไฟหลวงดังกล่าว หากได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบกฎหมายรวมถึงขอบเขตของที่ดินในพื้นที่ทางแยกบริเวณเขากระโดงดังกล่าว ก่อนที่จะทำการออกโฉนดที่ดินให้แก่ประชาชน ซึ่งกรมที่ดินจึงมีหน้าที่ที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกระบวนการตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 วรรคหนึ่ง
แต่เมื่อกรมที่ดินไม่ดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 จึงอาจเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 (2)
ดังนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย จึงอาจต้องนำคดีการออกโฉนดที่ดินทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยในพื้นที่ทางแยกบริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยจัดเตรียมเอกสารต่างๆ หากกรมที่ดินยืนยันที่จะไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว ก็จักให้มีการจัดทำคำฟ้องคดีปกครองยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อพิจารณาต่อไป
อ่านประกอบ :
‘กรมที่ดิน’ชี้ช่อง ‘รฟท.’ ยื่นหลักฐาน ‘ส.ค.1’ ออกโฉนดที่ดินรถไฟ‘เขากระโดง’ 5 พันไร่
'รฟท.'ยื่นโนติส'กรมที่ดิน'ฉบับที่ 2! ยันต้องเพิกถอนโฉนดเขากระโดง 5 พันไร่-ขู่ฟ้องศาล
เปิดหนังสือ‘เลขาฯคปต.’ ยื่น‘ป.ป.ช.’ไต่สวน‘ผู้ว่าฯรฟท.’ ผิด ม.157 กรณีที่ดินเขากระโดง
มหากาพย์ชิงกรรมสิทธิ์ที่ดิน 'เขากระโดง' ใครบ้างต้องรับผิดชอบ?
‘สร.รฟท.’จี้ ‘นิรุฒ’เร่งบังคับคดีผู้บุกรุกที่ดิน‘เขากระโดง’-หากอยู่ต่อให้ทำสัญญาเช่า
เปิดบันทึกเก่า 50 ปี! คลี่ปมกรรมสิทธิ์เขากระโดง 'ชัย ชิดชอบ' ขออาศัยที่ดิน 'รฟท.'
เก็บเรื่อง 9 ปี! 3 ผู้ว่าฯรฟท.ไม่สั่งฟ้องศาลถอนโฉนด ที่ดิน 'เขากระโดง' โยง 'ชิดชอบ'
‘กรมที่ดิน’ ย้ำให้ 'รฟท.' ฟ้องศาลฯเพิกถอน 'โฉนด' ที่ดินเขากระโดง 700 แปลง
แค่ผู้อยู่อาศัย-ปัดเอื้อญาติ! ‘ศักดิ์สยาม’ แจง 9 ประเด็นที่ดิน ‘เขากระโดง’ 5 พันไร่
อภิปรายไม่ไว้วางใจ : โยง'ศักดิ์สยาม'เอื้อ'ตัวเอง-ญาติ'ไม่สั่งขับไล่พวกรุกที่เขากระโดง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/