'กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ' ส.ส.พรรคประชาชาติ ตั้งกระทู้ถามความคืบหน้าการดำเนินการที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ 'นิพนธ์' ยันกรมที่ดินไม่ปล่อยปละละเลย แต่ติดปัญหาเรื่องแผนที่มีความทับซ้อน ล่าสุด 8 พ.ย.ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน ตั้งกรรมการสอบแนวเขต 5,083 ไร่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.30 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ตั้งกระทู้ถามด้วยวาจากับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ถึงการปฏิบัติหน้าที่ของกรมที่ดิน เกี่ยวกับการดำเนินการในส่วนของที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 53 แห่งรัฐธรรมนูญ โดยมอบหมายให้นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เป็นผู้มาตอบแทน
นายกมลศักดิ์ กล่าวว่า ที่ดินเขากระโดง 5,083 ไร่เศษกำลังจะกลายเป็นมหากาพย์ และไม่อยากให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำ หลังจากที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ส่งเอกสารต่างๆ ที่ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาคำสั่งคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมไปถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งไปยังกรมที่ดิน เพื่อให้ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ เพราะความปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท. จากนั้นเดือนกรกฎาคม 2564 กรมที่ดินมีหนังสือให้ รฟท.ส่งรูประวางแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา จากนั้น รฟท.มีหนังสือตอบยืนยันให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอสการสิทธิ์บริเวณดังกล่าว ให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 สิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับการอภิปรายและเป็นปัจจุบัน ก็คือ หลังจาก รฟท.มีหนังสือถึงกรมที่ดินแล้ว เดือนตุลาคม 2564 กรมที่ดินมีหนังสือถึง รฟท.ให้ดำเนินการฟ้องเพิกถอน และจะไม่ดำเนินการเพิกถอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 จึงมีคำถามว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ทำไมถึงยังไม่มีการดำเนินการใดๆเลยกับที่ดินดังกล่าว
นายนิพนธ์ ตอบว่า กรณีดังกล่าว เรามีข้อพิพาทและเรื่องได้ถึงศาล คิดว่าสิ่งที่ได้เรียนมาว่า กรณีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีที่ 842-876/60 และ 8027/61 ถือว่าคำพิพากษาศาลฎีกาผูกพันคู่กรณี ซึ่งศาลพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท. กรมที่ดินได้แจ้งให้จังหวัดบุรีรัมย์ดำเนินการยกเลิกใบไต่สวนของราษฎรทั้ง 35 รายที่ฟ้องคดี และให้จำหน่าย ส.ค.1 เลขที่ 209 หมู่ที่ 1 ต.อิสาน อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ออกจากสารบบการครอบครองที่ดิน และกรมที่ดินมีหนังสือลับที่ มท 0516.2/3025 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2564 แจ้งให้ รฟท. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
ส่วนการดำเนินการตามที่ศาลฎีกาคำพิพากษาคดีที่ 8027/61 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 ว่าที่ดินตามหลักฐาน น.ส.3 ของเลขที่ 200 หมู่ที่ 9 (ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ 13) ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เป็นของ รฟท. กรมที่ดินได้มีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 1977/2564 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการให้มีคำสั่งแก้ไขเนื้อที่ตามระเบียบและกฎหมาย ซึ่งอำนาจหน้าที่ในการเพิกถอนโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกด้วยความคลาดเคลื่อนนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งก่อนดำเนินการเพิกถอน ต้องทำตามขั้นตอนที่กฎหมายได้กำหนดไว้ คือ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ขอขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 60 วัน รวม 120 วันต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกฎหมาย
นายกมลศักดิ์ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 และเพิ่งมาขยับปี 2564 หลังจากที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นอกจากนั้นยังมีคำถามว่า กรมที่ดินใช้หลักเกณฑ์อะไร ทำไมถึงแยกการพิจารณาออกเป็นหลายส่วน และไม่ใช้เอกสารของคำพิพากษาศาลฎีกามาใช้ประกอบตามประมวลกฎหมายที่ดินตามมาตรา 61 และเป็นห่วงว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะต้องรีบดำเนินการไม่ใช่ปล่อยปละละเลย และเหตุใดกรมที่ดินถึงแยกส่วนที่ดิน
นายนิพนธ์ ตอบว่า คำพิพากษาในคดีผูกพันเฉพาะคู่ความเท่านั้น เมื่อกรมที่ดินไม่ได้เป็นผู้ฟ้องหรือถูกฟ้องในคดีดังกล่าว โดยผลกฎหมายจะผูกพันนั้นมิได้ และขอกราบเรียนว่า เรื่องนี้ รฟท.เพิ่งมีหนังสือให้กรมที่ดินรับทราบและเพิ่งดำเนินการเมื่อปี 2564 จึงได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ที่ดิน รฟท.ที่มีกว่า 5,083 ไร่ รฟท.ได้มีหนังสือแจ้งปี 2564 เพิกถอนโฉนดที่ดินในหนังสือที่แสดงสิทธิ์ที่ดินทุกแปลงที่ออกทับที่ของ รฟท.บริเวณเขากระโดง โดยใช้แผนที่ที่อ้างอิงเป็นพยานในศาล ซึ่งเคยสำรวจมาตั้งแต่ปี 2539 มาใช้ประกอบและสอบข้อเท็จจริง ซึ่งแผนที่ ที่ใช้สู้คดีกันในศาล เป็นรูปลอยไม่มีค่าพิกัดตำแหน่งที่ตั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่ดำเนินการสแกนเป็นไฟล์ข้อมูลดิจิทัล เพื่อแสดงตำแหน่งภูมิสารสนเทศ โดยอาศัยลวดลายและรายละเอียดจากสำเนาแผนที่ ตามหลักวิชาการแผนที่ พบว่าแผนที่ 2 ฉบับมีความเหลื่อมล้ำไม่เป็นแนวเดียวกัน ประกอบกับยังไม่มีการถ่ายทอดแนวเขตลงในระวางแผนที่ที่ใช้ในราชการที่ดิน จ.บุรีรัมย์จึงยังไม่สามารถตั้งกรรมการสอบได้
จึงขอเรียนว่า ตนพยายามดูแผนที่ ซึ่งในแผนที่ดังกล่าว รอยเขต ไม่ได้เป็นแนวเดียวกันยังมีความทับซ้อน กรมที่ดินจึงได้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง รฟท. เพื่อชี้แจงความคืบหน้า และตกลงกันเมื่อวัน 8 พฤศจิกายน 2564 ในการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแนวเขตทั้งหมดของเนื้อที่ 5,083 ไร่ และแต่งตั้งกรรมการอำนวยการเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าว ฉะนั้นประเด็นนี้ กรมที่ดินและกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้ปล่อยปละละเลย ซึ่งตนได้กำชับเป็นหนังสือสั่งการไปที่กรมที่ดิน เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดต่อไป
นายกมลศักดิ์ กล่าวต่อด้วยว่า เคยมีกรณีคำสั่งกรมที่ดินเป็นการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน 11,000 ไร่เศษที่ อ.กระพง จ.พังงา ปี 2548 ซึ่งกรมที่ดินมีคำสั่ง ที่ 3127/2548 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2548 และอีกคำสั่งคือ 2101-2106/2548 เพียงรูประวางทางอากาศความปรากฏ ก็เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในเนื้อที่ดังกล่าว แต่กรณีเขากระโดงคำพิพากษาถึงที่สุด แต่รู้สึกว่ายากมากในการตั้งคณะกรรมการสอบสวน เมื่อยิ่งฟังรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ รฟท.จะฟ้องศาลปกครอง และกรมที่ดินโยนให้ รฟท.ไปฟ้องเอาเอง จึงอยากถามว่า มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำลังจะปล่อยให้มีข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานรัฐกันเอง ไม่มีมาตรการอื่นที่จะไม่ให้มีการฟ้องร้องกรมที่ดิน และดูเอกสารที่กรมที่ดินอ้าง คือรูประวางที่ รฟท.ส่งไป ไม่มีการเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง แล้วประเด็นตรงนี้ ระหว่างหน่วยงานรัฐกันเอง ไม่มีมาตรการที่จะไม่ให้เรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลหรือไม่
นายนิพนธ์ ตอบอีกว่า ที่ดินกว่า 5,083 ไร่ได้ออกเอกสารสิทธิ์ไปประมาณ 700 กว่าแปลง มี น.ส.3 และ น.ส.3 ก. อีกจำนวนหนึ่ง ฉะนั้นการกระทำที่กระทบสิทธิ์ผู้อื่น ต้องมีความรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาณาเขตที่เป็นขอบเขตที่แน่นอน มีพิกัดชัดเจน หากกรมที่ดินทำไปโดยขาดความละเอียดรอบคอบ อาจกระทบสิทธิ์ของบุคคลที่ได้เอกสารสิทธิ์โดยชอบ ดังนั้นก่อนดำเนินการใดๆ ความรอบคอบเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
“ขอกราบเรียนว่า กรมที่ดินไม่ได้ละเลย เมื่อ รฟท.แจ้งมาปี 2564 ท่านจึงได้เห็นความเคลื่อนไหวทั้งหมดในปี 2564 ขอกราบเรียนว่าเรื่องนี้มีปัญหาเป็นอุปสรรค หากไม่ดำเนินการไปตามแผนที่จริงจะมีที่ดินเหลื่อมล้ำได้รับผลกระทบ ฉะนั้นต้องชี้แนวเขตที่ดินให้ชัดเจนเสียก่อน ซึ่ง รฟท.ไม่เคยมานำชี้ ผมก็ไม่อยากให้เห็นความขัดแย้งของหน่วยงานรัฐ แต่หลักของกรมที่ดินก็คือ เมื่อที่ดินเป็นของ รฟท. ก็ต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ เมื่อเริ่มมีหนังสือส่งมา ก็ถือว่ากระบวนการเริ่มนับหนึ่งแล้ว ขอยืนยันว่า เราไม่ได้นิ่งนอนใจและจะดำเนินการให้เป็นขั้นตอนตามกฎหมายบัญญัติเอาไว้” นายนิพนธ์ กล่าว
อ่านประกอบ :
-
‘รฟท.’ จ่อยื่นฟ้อง ‘ศาลปกครอง’ สั่ง ‘กรมที่ดิน’ เพิกถอนโฉนดที่ดินแยก ‘เขากระโดง’
-
‘กรมที่ดิน’ชี้ช่อง ‘รฟท.’ ยื่นหลักฐาน ‘ส.ค.1’ ออกโฉนดที่ดินรถไฟ‘เขากระโดง’ 5 พันไร่
-
'รฟท.'ยื่นโนติส'กรมที่ดิน'ฉบับที่ 2! ยันต้องเพิกถอนโฉนดเขากระโดง 5 พันไร่-ขู่ฟ้องศาล
-
เปิดหนังสือ‘เลขาฯคปต.’ ยื่น‘ป.ป.ช.’ไต่สวน‘ผู้ว่าฯรฟท.’ ผิด ม.157 กรณีที่ดินเขากระโดง
-
มหากาพย์ชิงกรรมสิทธิ์ที่ดิน 'เขากระโดง' ใครบ้างต้องรับผิดชอบ?
-
‘สร.รฟท.’จี้ ‘นิรุฒ’เร่งบังคับคดีผู้บุกรุกที่ดิน‘เขากระโดง’-หากอยู่ต่อให้ทำสัญญาเช่า
-
เปิดบันทึกเก่า 50 ปี! คลี่ปมกรรมสิทธิ์เขากระโดง 'ชัย ชิดชอบ' ขออาศัยที่ดิน 'รฟท.'
-
เก็บเรื่อง 9 ปี! 3 ผู้ว่าฯรฟท.ไม่สั่งฟ้องศาลถอนโฉนด ที่ดิน 'เขากระโดง' โยง 'ชิดชอบ'
-
‘กรมที่ดิน’ ย้ำให้ 'รฟท.' ฟ้องศาลฯเพิกถอน 'โฉนด' ที่ดินเขากระโดง 700 แปลง
-
แค่ผู้อยู่อาศัย-ปัดเอื้อญาติ! ‘ศักดิ์สยาม’ แจง 9 ประเด็นที่ดิน ‘เขากระโดง’ 5 พันไร่
-
อภิปรายไม่ไว้วางใจ : โยง'ศักดิ์สยาม'เอื้อ'ตัวเอง-ญาติ'ไม่สั่งขับไล่พวกรุกที่เขากระโดง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/