‘ศักดิ์สยาม’ แจงกรณีที่ดินเขากระโดง 9 ประเด็น ยันไม่เคยเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินเขากระโดง เป็นแค่ ‘ผู้อยู่อาศัย’ ยันไม่เอื้อ ‘เครือญาติ’ ชี้ได้โฉนดมาเหมือนคนปกติทั่วไป-เอกสารสิทธิ์ถูกต้อง
............................
เมื่อวันที่ 3 ก.ย. เวลา 13.50 น. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ชี้แจงกรณีที่นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ กล่าวในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยกล่าวหาว่านายศักดิ์สยาม บุกรุกครอบครองที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ เพื่อนำมาเป็นของตนและเครือญาติ ว่า กรณีที่มีการกล่าวหาตนเองเกี่ยวกับที่ดินเขากระโดงนั้น ตนขอชี้แจงข้อกล่าวหาเป็น 9 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นแรก ที่มีการอภิปรายว่าบ้านพักของตน เป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งตนและเครือญาติทราบข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้น แต่ต้องขอชี้แจงว่า ตนเองเป็นเพียงผู้อยู่อาศัยในที่ดิน ซึ่งเป็นที่ดินที่ออกเป็นโฉนดเลขที่ 3466 ตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค.2515 ซึ่งขณะนั้นตนเองอายุเพียง 10 ปี ขณะที่เอกสารสิทธิ์ดังกล่าวเป็นเอกสารสิทธิ์ที่ออกตามกระบวนการกฎหมายของกรมที่ดิน และออกตามขั้นตอนปกติทั่วไป
ประเด็นที่สอง ที่มีการอภิปรายว่าภายหลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว ตนไม่สั่งการให้การรถไฟฯ เร่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ขอชี้แจงว่าตั้งแต่ตนเข้ามารับตำแหน่ง รมว.คมนาคม ในเดือน ก.ค.2562 ก็ดำเนินการเพื่อให้มีการบริหารที่ดินของการรถไฟฯ มีการแต่งตั้งคณะทำงานในการกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารพื้นที่ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆตามนโยบายของรัฐบาล
นอกจากนี้ ตนยังติดตามและกำกับนโยบายการจัดการรายได้ จัดการทรัพย์สินให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ของการรถไฟฯ และปี 2564 ตนมีหนังสือสั่งการไปเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2564 เรื่อง การมอบหมายนโยบายให้ปลัดกระทรวงคมนาคม อธิบดี และผู้บริหารรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐและยุทธศาสตร์ชาติ
ประเด็นที่สาม ที่มีการตั้งประเด็นว่าเมื่อการรถไฟฯทำหนังสือลงวันที่ 23 มิ.ย.2564 ถึงกรมที่ดิน เป็นเพียงการแสดงเพื่อเตรียมการตอบในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเท่านั้น ขอชี้แจงว่า ที่ดินหรือพื้นที่มีข้อพิพาท และประชาชนมีเอกสารสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดิน ส.ค.1 น.ส.3 และ น.ส.3 ก จะต้องให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ให้เรียบร้อยก่อน ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 มีการกำหนดว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลผูกพันเฉพาะคู่กรณี ไม่มีผลผูกพันบุคคลอื่น
ดังนั้น เรื่องนี้ การรถไฟฯมีความจำเป็นต้องพิสูจน์สิทธิ์ให้ทราบ ส่วนการยกคำพิพากษามานั้น เป็นกรณีที่ดินของประชาชน 35 ราย ซึ่งฟ้องการรถไฟฯ เพราะฉะนั้นผู้ครอบที่ดินบริเวณเขากระโดงที่มีกว่า 1,000 รายนั้น การรถไฟฯต้องดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายให้เรียบร้อยก่อน
ประเด็นที่สี่ กรณีที่กรมที่ดินมีคำถามว่า เหตุใดการรถไฟฯจึงไม่ฟ้องขับไล่ ตามความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุด ขอชี้แจงว่า การรถไฟฯต้องไปพิจารณาว่า ในกรณีที่ประชาชนมีเอกสารสิทธิ์อยู่ และเป็นเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยชอบ และโดยหน่วยงานของรัฐ สิ่งที่การรถไฟฯต้องดำเนินการ คือ ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่มีอำนาจในการออกเอกเอกสารสิทธิ์ ซึ่งก็คือกรมที่ดิน
“เรื่องนี้ปรากฏว่าจากคำพิพากษาศาลฎีกา การรถไฟฯมีความเชื่อว่าการออกเอกสารสิทธิ์ของกรมที่ดินมีความคลาดเคลื่อน จึงมีความจำเป็นที่ต้องให้กรมที่ดินพิจารณาดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่ โดยพิจารณาเพิกถอนโฉนดที่ออกทับที่ดินของการรถไฟฯตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 ต่อไป ซึ่งการรถไฟฯได้มีหนังสือประสานงานไปยังกรมที่ดินแล้ว” นายศักดิ์สยาม กล่าว
ประเด็นที่ห้า ทำไมการรถไฟฯจึงไม่เรียกเก็บค่าเสียหายในรูปแบบค่าเช่า โดยคำนวณเป็นเงินประมาณ 20 ล้านบาท จากโจทก์ 35 ราย ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ขอชี้แจงว่า พื้นที่บริเวณเขากระโดง เป็นพื้นที่ที่มีข้อพิพาทระหว่างการรถไฟฯ กับประชาชนมายาวนาน การจัดเก็บค่าเช่าของการรถไฟฯนั้น จะดำเนินการได้ ก็ต่อเมื่อได้ผ่านกระบวนการพิสูจน์ตามขั้นตอนกฎหมายให้ได้ข้อยุติก่อน ซึ่งปัจจุบันการรถไฟฯมีหนังสือถึงกรมที่ดินเพื่อพิจารณาดำเนินการแล้ว
ประเด็นที่หก ที่มีการตั้งคำถามว่า ตนควรแสดงสปิริตให้การรถไฟฯฟ้องร้องกรณีที่ดินเขากระโดง ขอชี้แจงว่า ตนเองเป็นเพียงผู้อาศัยอยู่ในที่ดินโดยสุจริต บนที่ดินโฉนดเลขที่ 3466 ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยราชการตั้งแต่ปี 2515
ประเด็นที่เจ็ด ที่มีการระบุว่าที่ดินอีกแปลงมีนาย A เป็นเจ้าของ รมว.คมนาคม ไม่สั่งการให้การรถไฟฯเร่งรัดบังคับคดี เพราะมีความสัมพันธ์กับ รมต.หรือไม่ ขอชี้แจงว่า เมื่อการรถไฟฯได้รับคำพิพากษาจากศาลฎีกา ก็ได้ส่งคำพิพากษาไปบังคับตามพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ.2477 มาตรา 275 และได้ดำเนินการสืบหาหลักทรัพย์หรือทรัพยสินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายในกรอบเวลาที่กำหนด ตรงนี้กำลังดำเนินการอยู่
ประเด็นที่แปด ที่มีการระบุว่าที่ดินในการครอบครองของตนเองมีราคา 20 ล้านบาท และถ้าคำนวณมูลค่าที่ดินเขากระโดง 5,000 ไร่ ทั้งแปลงจะมีมูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท การที่การถไฟฯล่าช้าถือว่าทำให้ประเทศเสียประโยชน์ ขอชี้แจงว่า กรณีนี้ ตนไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน ไม่ได้เป็นผู้ครอบครอง ซึ่งที่ดินตรงนี้ การรถไฟฯจะดำเนินการสำรวจ โดยจะสำรวจทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะที่ดินเขากระโดง แต่การจะสำรวจได้นั้น การรถไฟฯต้องพิสูจน์สิทธิ์ให้เรียบร้อยก่อน ไม่เช่นนั้นจะกระทบสิทธิ์ของประชาชนที่ได้เอกสารสิทธิ์มาโดยชอบ ดังนั้น เรื่องนี้จึงต้องดำเนินการตามกฎหมาย
ประการที่เก้า ที่มีการตั้งประเด็นว่า การดำเนินการของการรถไฟฯนั้นขาดความเท่าเทียมในการบังคับใช้ เพราะเวลารื้อย้ายผู้บุกรุกพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีการฟ้องร้องรวดเร็ว และถ้าเทียบกับกรณีที่ที่ดินจ.ยะลา จะเห็นถึงความไม่เท่าเทียมชัดเจน ขอชี้แจงว่า ตนในฐานะรมว.คมนาคม ได้มอบนโยบายให้การรถไฟฯดำเนินการตามระเบียบและกฎหมาย รวมทั้งปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและโปร่งใส
โดยตนมีหนังสือข้อสั่งการที่ คค 0202/กม 689 ลงวันที่ 21 ก.ค.2564 เน้นย้ำให้การรถไฟฯติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการของกรมที่ดินในการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ออกในที่ดินที่เชื่อว่าเป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟฯ โดยให้ตรวจสอบและสั่งการตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด รวมทั้งปฏิบัติด้วยความเท่าเทียมเสมอภาค และให้รายงานความคืบหน้าประจำทุกเดือน
สำหรับผู้บุกรุกที่ดินการรถไฟฯกรณีอื่นๆ กระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และตั้งอนุกรรมการแก้ไขที่ดินที่เกี่ยวข้องกับที่ดินของกระทรวงคมนาคม โดยมีตนเองเป็นประธาน
"ในฐานะที่ผมเอง พาร์ทหนึ่งก็เป็นประชาชน เป็นบุคคลธรรมดา ผมไม่ได้ถือ มีชื่อในกรรมสิทธิ์ และเป็นผมอาศัยในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยหน่วยงานราชการที่ถูกต้องตามกฎหมายและสุจริต ในส่วนของประชาชนที่เข้ามาในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ 2502 แล้วในญัตติระบุว่า ผมเป็นนำการบุกรุกและใช้กระบวนการกฎหมาย ผมว่าญัตตินี้อาจจะเข้าใจผิดอะไรหรือไม่
ส่วนประเด็นญาติพี่น้องของผม การได้มาก็ถือว่า เป็นการเข้ามาครอบครองโฉนดเหมือนคนปกติทั่วไป และเป็นเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยหน่วยราชการที่ถูกต้องตามกฎหมายโดยสุจริต และหากท่านผู้อภิปรายมีหลักฐานที่ชี้ชัดได้ว่า การที่เครือญาติหรือผม ถือครอบครองเอกสารโฉนดที่กล่าวอ้าง และดำเนินการโดยวิธีการที่ฉ้อฉล จึงอยากให้ผู้ยื่นญัตติอภิปรายไปยื่นฟ้องหรือไปดำเนินการเพื่อเพิกถอนโฉนดที่ออกโดยทางราชการให้ทั่วทั่วประเทศ อย่าทำเฉพาะที่เขากระโดง
และการที่ผมเป็นผู้อาศัยอยู่ในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยกรมที่ดิน การถูกกล่าวหาว่าผิดจริยธรรม ถือเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรง ซึ่งผมก็เชื่อว่า ส.ส.ที่อยู่ในสภาแห่งนี้ ทุกท่านมีที่อยู่อาศัยในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ที่มีโฉนด แค่การกล่าวหาว่าโฉนดที่ดินไม่ชอบ เป็นความผิดจริยธรรม พวกเราก็คงถูกกล่าวหาและผิดจริยธรรมทั้งหมดแล้ว ส่วนในฐานะ รมว.คมนาคม ผมยืนยันว่าไม่เคยแทรกแซงการดำเนินการใดๆของการรถไฟฯ ด้านการมอบนโยบายที่ดินให้การรถไฟฯกฌ้ให้ยึดระเบียบกฎหมาย และธรรมาธิบาลมาโดยตลอด” นายศักดิ์สยาม กล่าว
ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แถลงชี้แจงประเด็นที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ โดยนายนิรุฒ กล่าวว่า กรณีที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์นั้น สิ่งที่ ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายอาจสร้างความเข้าใจผิด เนื่องจากได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน คลาดเคลื่อน
นายนิรุฒ ระบุว่า ปัจจุบัน รฟท.มีที่ดินประมาณ 2.45 แสนไร่ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.ที่ดินที่ใช้งานปัจจุบัน ประมาณ 1.9 แสนไร่ กับที่ดินที่ยังไม่ได้ใช้งานคือยังไม่ได้ใช้เดินรถ ประมาณ 5.5 หมื่นไร่ ปัจจุบันนำไปจัดสรรหารายได้เชิงพาณิชย์ด้วยการให้เช่า จำนวน 5 พันไร่ และอยู่ระหว่างดำเนินการ 4.9 หมื่นไร่ ซึ่งมีบริษัทลูกขึ้นมาบริหารจัดการหารายได้ให้การรถไฟเพิ่มเติม
และ2.ที่ดินที่ไม่ได้ใช้เดินรถ และไม่สามารถหารายได้เชิงพาณิชย์ได้ หมายถึง พื้นที่ที่ยังมีปัญหา มีประชาชนบุกรุกโดยที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์แต่เข้ามาอยู่ในที่ดิน ประมาณ 1.88 หมื่นราย ส่วนนี้ รฟท. ก็ได้บริหารจัดการโดยเข้าไปเจรจาดูแลให้ประชาชนมาเช่า ทำให้เกิดการอยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนที่ดินที่ รฟท. สันนิษฐานหรือเชื่อว่าเป็นของ รฟท. แต่มีการออกโฉนดที่ดิน น.ส.3 และเอกสารประเภทอื่น ขึ้นมาทับบนที่ของรฟท. ซึ่งมีหลายพื้นที่ รวมถึงพื้นที่เขากระโดงด้วย โดยรฟท.ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาแก้ไขปัญหา และมีการเจรจากับผู้บุกรุกนำไปสู่การเช่าอย่างถูกกฎหมาย
“ในส่วนของที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ก็มีปัญหาทั้งมีผู้บุกรุก และผู้ที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่สันนิษฐานหรือเชื่อว่าเป็นของรฟท. ซึ่งมีการบริหารจัดการที่ดินเหมือนที่อื่นๆ โดยรฟท.ได้เชิญชวนให้มาเช่าที่ดิน ส่วนปัญหาออกเอกสารสิทธิ์ที่เป็นของ รฟท. หรือเชื่อว่าเป็นของรฟท. จากการสำรวจเมื่อต้นปี 2564 มีการออกเอกสารสิทธิ์ของหน่วยงานราชการ คือ กรมที่ดิน ประมาณ 900 ราย ซึ่ง รฟท.มีความเชื่อว่าที่ดินตรงนั้น เป็นของรฟท.
อย่างไรก็ตาม รฟท. ถือหลักว่าจะไม่ฟ้องประชาชน ที่ถือเอกสารสิทธิ์ของทางราชการ แต่เมื่อมีคำพิพากษาศาลออกมา รฟท.จึงมีหนังสือไปหารือกรมที่ดินว่าการออกเอกสารสิทธิ์มีความคลาดเคลื่อนหรือไม่” นายนิรุฒกล่าว
นายนิรุฒ กล่าวว่า กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีพิจารณาที่ดินแปลงหนึ่งในบริเวณเขากระโดง และมีความเห็นว่าที่แปลงนั้นออกโฉนดโดยมิชอบ แต่ ป.ป.ช.ไม่ได้บอกว่าคนที่ถือโฉนดนั้นไม่ชอบ จึงมีหนังสือแจ้งไปกรมที่ดินขอให้เพิกถอนโฉนด แต่กรมที่ดินไม่เพิกถอน และมีหนังสือถึงรฟท. ให้ รฟท.เป็นผู้ฟ้องเพิกถอนโฉนด ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.)
อ่านประกอบ :
อภิปรายไม่ไว้วางใจ : โยง'ศักดิ์สยาม'เอื้อ'ตัวเอง-ญาติ'ไม่สั่งขับไล่พวกรุกที่เขากระโดง
'สพ.รฟ.' ยื่นปธ.กรรมาธิการป.ป.ช. ตรวจสอบละเลยเพิกถอนโฉนด ‘เขากระโดง’ 5 พันไร่
'กรมที่ดิน' ย้อน 'รฟท.' ทำไมไม่ฟ้องถอนโฉนดตามคำแนะนำ อสส.-ขอยืนยันแผนที่'เขากระโดง'
นับหนึ่งเพิกถอนโฉนด 'เขากระโดง' 5พันไร่! 'กรมที่ดิน' โยน 'รฟท.' ไล่ฟ้องเอง
'กรมที่ดิน' สั่งตรวจสอบเพิ่ม-ให้ 'รฟท.' ฟ้องศาลเองเพิกถอนโฉนด 'เขากระโดง’
มูลนิธิต้านโกง จี้ 'ป.ช.ช.'ทำตามคำพิพากษา-ฟันผู้ที่เกี่ยวข้อง กรณีเขากระโดง”
โฉนด 'เขากระโดง’ 5พันไร่! เผือกร้อนในมือ 'กรมที่ดิน' หลัง รฟท. จี้เพิกถอน
‘ผู้ว่าฯรฟท.’ แจ้ง ‘กรมที่ดิน’ เพิกถอนโฉนด'เขากระโดง' บุรีรัมย์ 5 พันไร่
คนรถไฟโรงงานมักกะสัน ร่อนแถลงการณ์ปลุกพนักงาน ร่วมทวงคืนที่ดิน ‘เขากระโดง’
ขึ้นป้ายทวงที่ดินเขากระโดง! พนง. 2.3 พันคน ลงชื่อร้อง ‘ผู้ว่าฯรฟท.’ เร่งฟ้องถอนโฉนด
โชว์สัญญาจัดจ้าง! หจก.รับเหมาฯคดีเขากระโดง ใช้ที่อยู่‘ศักดิ์สยาม’คว้างานรัฐ 1.2 พันล.
สพ.รฟ. ยื่นหนังสือถึง ‘อนุพงษ์’ สั่งเพิกถอนโฉนด ‘เขากระโดง’-กรมที่ดินรับเรื่องแล้ว
‘สร.รฟท.’ จี้ ‘นิรุฒ’ ฟ้องเพิกถอน 'โฉนด-เอกสารสิทธิ์’ ทับที่ดินรถไฟ ‘เขากระโดง’
‘ศุภวัฒน์-หจก.บุรีเจริญฯ’ 2 ตัวละครมหากาพย์ ‘เขากระโดง’ บริจาค ภท. ปี 62 รวม 7.5 ล.
เปิดละเอียด! ข้อกล่าวหา’ศักดิ์สยาม-อนุพงษ์’ เอื้อพวกพ้อง-ไม่ถอนโฉนดรุก ‘เขากระโดง’
ฝ่ายค้านยื่น ป.ป.ช.สอบอีก 2 รมต. ที่ดินเขากระโดง ‘ศักดิ์สยาม’-‘นิพนธ์’โดนนิคมฯจะนะ
ออกไปนานแล้ว! 'ศักดิ์สยาม' แจงสัมพันธ์ หจก.บุรีเจริญฯ ปมที่ดิน ‘เขากระโดง’
‘ศุภวัฒน์-หจก.บุรีเจริญฯ’ 2 ตัวละครมหากาพย์ ‘เขากระโดง’ บริจาค ภท. ปี 62 รวม 7.5 ล.
คำพิพากษาศาลฎีกาชี้ชัด! ‘เขากระโดง’ที่ดินรถไฟ สะเทือน‘ช้างอารีน่า-บุรีรัมย์คาสเซิล’
23 ปียังไม่เพิกถอนโฉนด! เปิดบันทึกกฤษฎีกาชี้ชัด ‘เขากระโดง’ 5 พันไร่ ที่ดินรถไฟ
พลิกแฟ้มป.ป.ช.! สั่งถอนโฉนดตระกูล ‘ชิดชอบ’ ทับที่ดินรถไฟ ‘เขากระโดง’
ได้งาน คค.7 ปีหลังสุด 1.9 พันล.! หจก.บุรีเจริญฯของ‘ตัวละครสำคัญ’มหากาพย์‘เขากระโดง’
เปิดตัว ‘ศุภวัฒน์’ คู่พิพาทที่รถไฟ ‘เขากระโดง’-บริจาค ภท.-‘ศักดิ์สยาม’ เคยเป็นกุนซือ
ควันหลงซักฟอก! 'ประเสริฐ'ร้อง ป.ป.ช.10 มี.ค.เอาผิด'บิ๊กตู่-จุรินทร์'คดีถุงมือยาง
มหากาพย์ที่ดิน ‘เขากระโดง’ โยง ‘ศักดิ์สยาม-ญาติ’ มีบ้านพักบน ‘ที่หลวง’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/