เปิดหนังสือ ‘เลขาฯคปต.’ ยื่น ป.ป.ช. ไต่สวน ‘นิรุฒ มณีพันธ์’ ผู้ว่าฯรฟท. กล่าวหากระทำผิด ม.157 ไม่ดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินรถไฟฯเขากระโดง-ฟ้องเพิกถอนโฉนดที่ 2 แปลง เกี่ยวพัน 'ชิดชอบ'
...........................
จากกรณีที่นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ไต่สวนนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยละเว้นไม่ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้บุกรุกครอบครองที่ดินของ รฟท. บริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สำหรับหนังสือที่นายวีระ ยื่นต่อ ป.ป.ช. ยื่นไต่สวนผู้ว่าฯรฟท. ฐานกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีไม่ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้บุกรุกครอบครองที่ดินของ รฟท. บริเวณเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
จากกรณีประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ) ได้มีหนังสือที่ ปช. 0018/1085 ถึงผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 14 กันยายน 2554 เรื่องให้ดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ (ตามหนังสือที่ส่งมาด้วย 1) ของโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 (นายชัย ชิดซอบ เป็นผู้ขอออกโฉนด) และโฉนดเลขที่ 8564 (นางกรุณา ชิดชอบ) ถือกรรมสิทธิ์ ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่า “การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 เป็นการออกโฉนดในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดิน จึงเป็นการออกโดยมิชอบด้ายกฎหมาย ให้แจ้งกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว ตามประมาลกภูหมายที่ดินมาตรา 61 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 99 (ตามที่ส่งมาด้วยลำดับที่ 1) จนถึงปัจจุบันก็ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟ ฯ แต่ประการใด
ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งเป็นคดีระหว่างราษฎรจำนวน 35 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นจำเลยที่ 1 และกรมที่ดินเป็นจำเลยที่ 2 เพื่อขอออกโฉนดที่ดิน และตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 เป็นคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องการรถไฟฯเป็นจำเลย เพื่อรังวัดขอออกโฉนดที่ดินที่ซื้อมาจากนายชัย ชิดชอบ ซึ่งการรถไฟฯทำหนังสือคัดค้านและต่อสู้คดีอ้างว่าที่ดินที่ขอออกโฉนดเป็นที่ดินของการรถไฟฯทั้งแปลง
ซึ่งทั้ง 2 คดี ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องและวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทในพื้นที่เขากระโดง ตามแผนที่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของการรถไฟ ฯ พิพากษาให้ขับไล่ รื้อถอน และให้ราษฎรชดใช้ค่าเสียหายให้กับการรถไฟฯ เนื่องจากแนวของคำพิพากษาเป็นการพิจารณาในครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟฯ ทั้งแปลงมีจำนวนเนื้อที่ 5,083 ไร่ 80 ตารางวา อันเป็นที่หวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน เข้าลักษณะเป็นที่ดินรถไฟมาตรา 3(2) ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติจัดวางทางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6(1) (2)
กล่าวคือ ห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นต่อสู้สิทธิของแผ่นดินเหนือที่ดินรถฟหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นของรถไฟ ห้ามไม่ให้เอกชนหรือบริษัทใดๆ ถือกรรมสิทธิ์ เข้าครอบครองทำประโยชน์ด้วยวิธีใดๆ ตราบใดที่ยัง “ไม่มีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเป็นพิเศษว่าทรัพย์นั้นๆขาดจากเป็นที่ดินรถฟ และมีการเพิกถอนหรือแก้ไขพระราชกฤษฎีภาสงวนที่ดินของการรถไฟฯ” (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 2 และ 3)
เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากศาลฎีกาได้แจ้งผลคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 62 โดยกรมที่ดินต้องมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย
แต่ระยะเวลาได้ล่วงเลยมาพอสมควร กรมที่ดินยังไม่ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ศาลมีคำพิพากษา ตลอดรวมทั้งกรณีการครอบครองอ้างกรรมสิทธิ์บริเวณพื้นที่เขากระโดงที่ดินโฉนดเลขที่ 3466 ,8564 ทั้ง 2 แปลง ซึ่งนายชัย ชิดชอบและ นางกรุณา ชิดชอบ ที่ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีหนังสือที่ ปช. 0083/1085 ลงวันที่ 14 กันยายน 2554 แจ้งมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า
“การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 เป็นการออกโฉนด์ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดิน จึงเป็นการออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้แจ้งกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว ตามประมาลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 99”
จากกรณีดังกล่าวได้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2564 และ 31 สิงหาคม-3 กันยายน 2564 ได้กระทำการจงใจบริหารราชการแผ่นดินโดยเห็นแก่ประโยชน์ของตนเอง เครือญาติและพวกพ้องไม่คำนึงถึงผลเสียแก่ประเทศชาติและประชาชน ไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทุจริตต่อหน้าที่และปล่อยปละละเลย สมคบกันเพื่อปิดบังการทุจริตไม่ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารบ้านเมืองที่ดี ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
โดยเฉพาะ “ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเองและผู้อื่น” และกระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีมีการบุกรุก ครอบครอง ทำประโยชน์ ตลอดจนออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ของการรถไฟโดยมิชอบ อีกทั้งจงใจละเว้นไม่บังคับคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย
ซึ่งข้อเท็จจริงยังได้ปรากฏว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้แจ้งที่อยู่ต่อรัฐสภาเมื่อครั้นได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าตนเองอยู่บ้านเลขที่ 30/2 หมู่ที่ 15 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งบ้านเลขที่ดังกล่าวนั้นได้ตั้งอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 8564 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ในที่ดินของการรถไฟฯ
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีบรรดาเครือญาติ และบุคคลใกล้ชิด ได้บุกรุกครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟฯ โดยมิชอบด้วยกฎหมายจำนวนมาก พฤติกรรมดังกล่าวเป็นที่สนใจของประชาชนและสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นเรื่องของนักการเมืองที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนทุจริตต่อหน้าที่
หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ปรากฎเป็นข่าวทางสื่อออนไลน์และสื่อโทรทัศน์ประเด็นของนักการเมืองพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยร่วมแถลงข่าวชี้แจงประเด็นที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ โดยชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า
“จากการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีการพิจารณาที่ดินแปลงหนึ่งในบริเวณเขากระโดง และมีความเห็นว่าที่แปลงนั้นออกโฉนดโดยมีชอบ ไม่ได้บอกว่าคนที่ถือโฉนดนั้นไม่ชอบ จึงมีหนังสือแจ้งไปกรมที่ดินขอให้เพิกถอนโฉนด แต่กรมที่ดินไม่เพิกถอน โดยมีหนังสือถึง รฟท.และหารือไปยัง อสส. โดย อสส.ตอบว่ากรมที่ดินให้ รฟท.เป็นผู้ฟ้อง เพราะเป็นเจ้าของที่ดิน ด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยของ อสส.
ประกอบกับ รฟท. ยึดหลักว่าการไปฟ้องประชาชนในพื้นที่กว่า 900 ราย อาจจะไม่เหมาะสม เพราะประชาชนถือเอกสารสิทธิ์ของทางราชการ เรายังมีทางเลือกอื่นที่สามารถค้นหาข้อเท็จจริงได้ คือ กรมที่ดิน จึงเป็นที่มาของหนังสือที่ลงนามไปถึงกรมที่ดิน เพื่อขอพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง ถึงที่มาที่ไปในการออกเอกสารสิทธิ์” (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 4)
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 ซึ่งทราบดีถึงเรื่องของมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2554 เรื่องให้ดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ ของโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 (นายชัย ชิดชอบ) และโฉนดเลขที่ 8546 (นางกรุณา ชิดชอบ) ถือกรรมสิทธิ์ ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ออกทับที่ดินของการรถฟแห่งประเทศไทย
นอกจากนั้น ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 และตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งเป็นคดีที่ราษฎร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นจำเลย เพื่อขอออกโฉนดที่ดิน ซึ่งการรถไฟฯทำหนังสือคัดค้านและต่อสู้คดีอ้างว่าที่ดินที่ขอออกโฉนดเป็นที่ดินของการรถไฟ
ซึ่งทั้ง 2 คดี ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องและวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทในพื้นที่เขากระโดง ตามแผนที่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของการรถไฟ ฯ พิพากษาให้ขับไล่ รื้อถอน และให้ราษฎรชดใช้ค่าเสียหายให้กับการรถไฟฯ เนื่องจากแนวของคำพิพากษาเป็นการพิจารณาในลักษณะการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟฯ ทั้งแปลงมีจำนวนเนื้อที่ 5,083 ไร่ 80 ตารางวา อันเป็นที่หวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน
ในการออกมาแถลงข่าวดังกล่าวของผู้ว่าการรถไฟฯ เป็นการไม่ทำหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ให้กับการรถไฟฯ ในฐานะเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา ทั้งที่มีมติ ป.ป.ช. และคำพิพากษาศาลฎีการับรอง แต่กลับละเว้นไม่ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่มาบุกรุกครอบครองที่ดินของการรถไฟฯ อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการรถไฟฯ (รัฐ)
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 53 บัญญัติว่า “รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด”
ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2543 (อ้างถึง 1) บัญญัติว่า
มาตรา 8 ทวิ ให้ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจไม่มีฐานะเป็นพนักงานของรัฐวิสาหกิจ ในกรณีที่กฎหมายจัดตั้งของรัฐวิสาหกิจใดบัญญัติให้พนักงานเป็นเจ้าพนักงานตามประมาลกฏหมายอาญา ให้ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นเจ้าพนักงานตามประมาลกฎหมายอาญา
ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 (อ้างถึง 2) บัญญัติว่า...
มาตรา 9 ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจหน้าที่กระทำการต่างๆภายในขอบวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 6 อำนาจเช่นว่านั้นให้รวมถึง
(1) …….
(2) ซื้อ จัดหา เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครอง อาศัย ให้อาศัย จำหน่ายแลกเปลี่ยน และดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินใดๆ
มาตรา 18 ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้ว่าการและพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา
มาตรา 33 ผู้ว่าการเป็นผู้บริหารกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยทุกตำแหน่งผู้ว่าการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการจัดการและดำเนินงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ซึ่งประเด็นดังกล่าว ข้าพเจ้านายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รับชัน ซึ่งรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวจากพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ติดตามการดำเนินการในเรื่องนี้มาโดยตลอด เนื่องจากมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป ป. ช.) เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2554 ได้พิจารณา และมีความเห็นว่าที่แปลงนั้นออกโฉนดโดยมิชอบ
และในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาทั้ง 2 คดี มีคำพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทในพื้นที่เขากระโดง ตามแผนที่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของการรถไฟฯ พิพากษาให้ขับไล่ รื้อถอน และให้ราษฎรชดใช้ค่าเสียหายให้กับการรถไฟฯ
แต่นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยละเว้นไม่ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้บุกรุกครอบครองที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการรถไฟฯ (รัฐ) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 53 บัญญัติว่า “รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด”
การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และการไม่บังคับใช้กฎหมายนั้น เป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่การรถไฟฯ (รัฐ) เมื่อกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐแล้ว หากมีการเพิกเฉย ประชาชนอาจฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 51 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ดังนั้น ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น จึงขอกล่าวหามายังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามกรทุจริตแห่งชาติ เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงตามกฎหมายต่อไป
อ่านประกอบ :
มหากาพย์ชิงกรรมสิทธิ์ที่ดิน 'เขากระโดง' ใครบ้างต้องรับผิดชอบ?
‘สร.รฟท.’จี้ ‘นิรุฒ’เร่งบังคับคดีผู้บุกรุกที่ดิน‘เขากระโดง’-หากอยู่ต่อให้ทำสัญญาเช่า
เปิดบันทึกเก่า 50 ปี! คลี่ปมกรรมสิทธิ์เขากระโดง 'ชัย ชิดชอบ' ขออาศัยที่ดิน 'รฟท.'
เก็บเรื่อง 9 ปี! 3 ผู้ว่าฯรฟท.ไม่สั่งฟ้องศาลถอนโฉนด ที่ดิน 'เขากระโดง' โยง 'ชิดชอบ'
‘กรมที่ดิน’ ย้ำให้ 'รฟท.' ฟ้องศาลฯเพิกถอน 'โฉนด' ที่ดินเขากระโดง 700 แปลง
แค่ผู้อยู่อาศัย-ปัดเอื้อญาติ! ‘ศักดิ์สยาม’ แจง 9 ประเด็นที่ดิน ‘เขากระโดง’ 5 พันไร่
อภิปรายไม่ไว้วางใจ : โยง'ศักดิ์สยาม'เอื้อ'ตัวเอง-ญาติ'ไม่สั่งขับไล่พวกรุกที่เขากระโดง
'สพ.รฟ.' ยื่นปธ.กรรมาธิการป.ป.ช. ตรวจสอบละเลยเพิกถอนโฉนด ‘เขากระโดง’ 5 พันไร่
'กรมที่ดิน' ย้อน 'รฟท.' ทำไมไม่ฟ้องถอนโฉนดตามคำแนะนำ อสส.-ขอยืนยันแผนที่'เขากระโดง'
นับหนึ่งเพิกถอนโฉนด 'เขากระโดง' 5พันไร่! 'กรมที่ดิน' โยน 'รฟท.' ไล่ฟ้องเอง
'กรมที่ดิน' สั่งตรวจสอบเพิ่ม-ให้ 'รฟท.' ฟ้องศาลเองเพิกถอนโฉนด 'เขากระโดง’
มูลนิธิต้านโกง จี้ 'ป.ช.ช.'ทำตามคำพิพากษา-ฟันผู้ที่เกี่ยวข้อง กรณีเขากระโดง”
โฉนด 'เขากระโดง’ 5พันไร่! เผือกร้อนในมือ 'กรมที่ดิน' หลัง รฟท. จี้เพิกถอน
‘ผู้ว่าฯรฟท.’ แจ้ง ‘กรมที่ดิน’ เพิกถอนโฉนด'เขากระโดง' บุรีรัมย์ 5 พันไร่
คนรถไฟโรงงานมักกะสัน ร่อนแถลงการณ์ปลุกพนักงาน ร่วมทวงคืนที่ดิน ‘เขากระโดง’
ขึ้นป้ายทวงที่ดินเขากระโดง! พนง. 2.3 พันคน ลงชื่อร้อง ‘ผู้ว่าฯรฟท.’ เร่งฟ้องถอนโฉนด
โชว์สัญญาจัดจ้าง! หจก.รับเหมาฯคดีเขากระโดง ใช้ที่อยู่‘ศักดิ์สยาม’คว้างานรัฐ 1.2 พันล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/