'กรมที่ดิน' ชี้ช่อง ‘รฟท.’ ยื่นหลักฐาน ‘ส.ค.1’ เลขที่ เลขที่ 1180 บริเวณที่ดินรถไฟเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ออกเป็น ‘โฉนดที่ดิน’ ให้ครบทั้ง 5,083 ไร่ ระบุหลังได้แนวเขตที่ดินที่ชัดเจนแล้ว จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
................................
สืบเนื่องจากกรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ยื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ผ่านนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ขอให้เร่งรัดดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากออกทับซ้อนที่ดินของ รฟท. บริเวณเขากระโดง เนื้อที่ 5,083 ไร่ เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2564 ที่ผ่านมา นั้น (อ่านประกอบ : ‘กรมที่ดิน’ ย้ำให้ 'รฟท.' ฟ้องศาลฯเพิกถอน 'โฉนด' ที่ดินเขากระโดง 700 แปลง)
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2564 กรมที่ดิน โดยนายอำนวย พิณสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการออกหนังสือสำคัญ ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมที่ดิน ทำหนังสือที่ มท 0516.2/19328 ลงวันที่ 27 ก.ย.2564 ไปยังประธาน สร.รฟท. แจ้งผลดำเนินการของกรมที่ดิน กรณีที่ รฟท.ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ จากรายละเอียดของหนังสือฉบับดังกล่าว กรมที่ดิน ยอมรับว่าที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 และที่ 8027/2561 เป็นที่ดินของ รฟท. ตามแผนที่แสดงแนวเขตต์ที่ดินของการรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ และแผนที่แสดงเขตที่ดินรถไฟบริเวณเขากระโดง ตามพระราชโองการเมื่อปี 2462 ดังนั้น จึงอยู่ในกรอบอำนาจที่กรมที่ดินจะพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้
ซึ่งในส่วนการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 นั้น กรมที่ดิน ได้แจ้งไปยังจังหวัดบุรีรัมย์ให้ดำเนินการจำหน่าย ส.ค.1 เลขที่ 209 หมู่ที่ 1 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งใช้เป็นหลักฐานในการออกโฉนดที่ดินออกจากทะเบียนการครอบครองดินเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่การดำเนินการคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 กรมที่ดิน ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการกับที่ดิน น.ส.3 ข. เลขที่ 200 หมู่ที่ 9 (ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ 13) ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งศาลพิพากษาว่าบางส่วนออกทับที่ดินของการรถไฟตามมาตรา 61 วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการของคณะกรรมการสอบสวนฯ
อย่างไรก็ตาม ในกรณีการเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่ง รฟท.แจ้งให้กรมที่ดินตรวจสอบว่า เป็นการออกโฉนดที่คลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น กรมที่ดินชี้แจงว่า เนื่องจาก รฟท.ไม่สามารถหาแผนที่แนบท้าย พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.2464 มาประกอบการพิจารณาได้
จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินที่มีการสำรวจเสร็จแล้ว และมีการสงวนหวงห้ามเข้าไปใช้ประโยชน์ตามตามพ.ร.ฎ.กำหนดเขตต์สร้างรถไฟต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี พ.ศ.2462 กรมที่ดิน จึงไม่สามารถเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลงได้
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้เพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวนั้น กรมที่ดินได้หารือแนวทางปฏิบัติไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า กรณีดังกล่าวจะต้องให้หน่วยงานที่ดูแลรักษาที่ดินของรัฐ คือ การรถไฟฯฟ้องคดีต่อศาลขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลงเอง
อีกทั้งกรมที่ดิน ไม่สามารถนำแผนที่ที่ดินที่ใช้ในการพิจารณาของศาล ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 842-876/2560 และที่ 8027/2561 มาใช้ประกอบการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้ เนื่องจากคำพิพากษาทั้ง 2 คดี ไม่มีผลผูกพันบุคคลภายนอก รวมทั้งเจ้าของที่ดินไม่ได้ถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145
อย่างไรก็ตาม กรมที่ดิน มีข้อเสนอแนะยัง รฟท. ว่า ในกรณี รฟท. ไม่มีแผนที่แนบท้าย พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.2464 โดยกล่าวอ้างว่า ได้ใช้แผนที่แสดงเขตการรถไฟฯดังกล่าว เป็นเอกสารหลักฐานที่ใช้ยื่นต่อศาลในการสู้คดี นั้น หาก รฟท. ยืนยันว่า แผนที่ที่ใช้ในการพิจารณาของศาลดังกล่าว เป็นแผนที่ที่มีความถูกต้อง
รฟท.สามารถถ่ายทอดแนวเขตลงในระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศ ที่กรมที่ดินจัดส่งให้ รฟท. และรับรองความถูกต้องได้เช่นกัน เพื่อที่กรมที่ดินจะได้จัดส่งระวางแผนที่ดังกล่าวไปให้จังหวัดบุรีรัมย์ตรวจสอบว่า ที่ดินแปลงใดต้องดำเนินการเพิกถอนทั้งแปลงหรือบางส่วน
นอกจากนี้ กรมที่ดินยังมีข้อแนะนำเพิ่มเติมว่า จากการประสานงานกับสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นปรากฏว่า รฟท.ได้นำหลักฐาน ส.ค.1 เลขที่ 1180 หมู่ที่ - (กม.364+000 -376+500 ทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ-อุบลฯ ทางแยกเขากระโดง กม. 0-8+000) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ จำนวนเนื้อที่ 5,083 ไร่ - งาน 80 ตารางวา 1 ศอก
ซึ่งระบุการได้มาตาม พ.ร.ฎ. เกี่ยวกับสภาพที่ดินเป็นทางรถไฟมาดำเนินการยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินกับสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ในปี พ.ศ.2530 จำนวน 10 คำขอ (10 แปลง) ซึ่งเป็นการขอออกโฉนดที่ดินเฉพาะส่วน (ไม่เต็มตามหลักฐาน ส.ค.1) ผลการรังวัดได้เนื้อที่รวม 477 ไร่ 3 งาน 08.8ตารางวา คงเหลือเนื้อที่ตาม ส.ค.1 ประมาณ 4,605 ไร่ 1 งาน 71.2 ตารางวา ซึ่งสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากมีเหตุขัดข้องบางประการ
กรมที่ดิน จึงได้แจ้งให้จังหวัดบุรีรัมย์เร่งรัดสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์เร่งรัดในกรณีดังกล่าว และแจ้งให้การรถไฟฯ ไปดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวให้เป็นไปตามนัยระเบียบและกฎหมาย
"ในกรณีที่ รฟท. ไม่สามารถกำหนดแนวเขตลงในระวางแผนที่ได้นั้น ได้แจ้งให้การรถไฟฯ นำหลักฐาน ส.ค.1 เลขที่ 1180 หมู่ที่ 1 ต.ในเมือง ไปยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินในส่วนที่เหลือ 4,605 ไร่ 1 งาน 71.2 ตารางวา ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งนี้ เพื่อให้ครอบคลุมครบตามหลักฐาน ส.ค.1 เลขที่ 1180 ดังกล่าว และเมื่อได้แนวเขตที่ดินที่ชัดเจนกรมที่ดินจะได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป" หนังสือของกรมที่ดินระบุ
อ่านประกอบ :
'รฟท.'ยื่นโนติส'กรมที่ดิน'ฉบับที่ 2! ยันต้องเพิกถอนโฉนดเขากระโดง 5 พันไร่-ขู่ฟ้องศาล
เปิดหนังสือ‘เลขาฯคปต.’ ยื่น‘ป.ป.ช.’ไต่สวน‘ผู้ว่าฯรฟท.’ ผิด ม.157 กรณีที่ดินเขากระโดง
มหากาพย์ชิงกรรมสิทธิ์ที่ดิน 'เขากระโดง' ใครบ้างต้องรับผิดชอบ?
‘สร.รฟท.’จี้ ‘นิรุฒ’เร่งบังคับคดีผู้บุกรุกที่ดิน‘เขากระโดง’-หากอยู่ต่อให้ทำสัญญาเช่า
เปิดบันทึกเก่า 50 ปี! คลี่ปมกรรมสิทธิ์เขากระโดง 'ชัย ชิดชอบ' ขออาศัยที่ดิน 'รฟท.'
เก็บเรื่อง 9 ปี! 3 ผู้ว่าฯรฟท.ไม่สั่งฟ้องศาลถอนโฉนด ที่ดิน 'เขากระโดง' โยง 'ชิดชอบ'
‘กรมที่ดิน’ ย้ำให้ 'รฟท.' ฟ้องศาลฯเพิกถอน 'โฉนด' ที่ดินเขากระโดง 700 แปลง
แค่ผู้อยู่อาศัย-ปัดเอื้อญาติ! ‘ศักดิ์สยาม’ แจง 9 ประเด็นที่ดิน ‘เขากระโดง’ 5 พันไร่
อภิปรายไม่ไว้วางใจ : โยง'ศักดิ์สยาม'เอื้อ'ตัวเอง-ญาติ'ไม่สั่งขับไล่พวกรุกที่เขากระโดง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/