‘บีทีเอส’ เตรียมฟ้อง 'ศาลปกครอง' ให้มีคำสั่งเพิกถอนประกาศ รฟม. ยกเลิกการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม-เปิดรับฟังความเห็นเอกชนรอบใหม่ เหตุรฟม.ไม่มีอำนาจ พร้อมย้ำจุดยืนเดิมค้านเกณฑ์คัดเลือกเอกชนใหม่ ชี้เปิดช่องใช้ดุลพินิจ
...................
เมื่อวันที่ 10 มี.ค. นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส แถลงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ว่า บีทีเอสอยู่ระหว่างพิจารณาเกี่ยวกับการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนประกาศองการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 2 ฉบับ ได้แก่ การออกประกาศยกเลิกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564
และประกาศ รฟม. เรื่อง การเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง (Opinion Hearing) เพื่อจัดทำร่างประกาศเชิญชวนและร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) รอบใหม่ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2564 เนื่องจากบีทีเอสเห็นว่า การออกประกาศทั้ง 2 ฉบับของ รฟม.ดังกล่าว เป็นการดำเนินการโดยไม่มีกฎหมายรองรับ ทั้งนี้ บีทีเอสมีเวลาในยื่นฟ้องต่อศาลปกครองภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ รฟม. ออกประกาศ
พร้อมกันนั้น บีทีเอสเตรียมยื่นอุทธรณ์กรณีศาลปกครองมีคำสั่งฉบับลงวันที่ 5 มี.ค.2564 จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม หลัง รฟม.ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์คำสั่งต่อศาล ซึ่งเป็นไปตามสิทธิที่บีทีเอสทีตามกฎหมาย โดยจะยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน
“สิ่งที่บริษัททำวันนี้ เราเหนื่อยพอสมควร และการที่เรามาทำ ไม่ได้หมายความว่า เราจะได้โครงการนี้ เพียงแต่เราต้องการให้เกิดความถูกต้อง เป็นธรรม และยุติธรรมในการประมูลโครงการ อีกทั้งโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่มูลค่าเป็นแสนล้าน มีนักลงทุนต่างชาติ ผู้รับเหมา และซัพพลายเออร์ ต่างจับตาดูโครงการนี้ ถ้ามีความถูกต้อง เป็นธรรม ก็จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประเทศ เราต้องการทำให้เกิดบรรทัดฐานที่ดีในการประมูลของบ้านเรา” นายสุรพงษ์กล่าว
นายสุรพงษ์ กล่าวถึงกรณีที่ รฟม.เปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนเพื่อจัดทำ RFP โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนเป็นให้พิจารณาซองที่ 2 (ซองเทคนิค) และซองที่ 3 (ซองราคา) ร่วมกัน โดยให้คะแนนเทคนิค 30 คะแนน และคะแนนราคา 70 คะแนน ว่า บีทีเอส ไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนดังกล่าว เพราะวิธีการดังกล่าวอาจทำให้รัฐได้ประโยชน์น้อยลง
“วันนี้มีประเด็นเรื่อง Price-Performance (พิจารณาคุณภาพควบคู่กับราคา) กับเรื่องราคา ซึ่งต้องเรียนว่าที่ผ่านมาโครงการร่วมทุนขนาดใหญ่ที่เป็น PPP นั้น เอกชนที่ชนะประมูลต้องอยู่กับโครงการ อยู่กับรัฐเป็นสิบๆปี อย่างโครงการนี้ก็ 30 ปี จึงเป็นไปไม่ได้ที่เอกชนจะเสนอของที่ไม่มีคุณภาพ เพราะถ้าเสนอของที่ไม่มีคุณภาพมา ในที่สุดปัญหาจะตกอยู่กับเอกชน โดยเฉพาะโครงการนี้ที่เป็นโครงการที่เอกชนรับความเสี่ยงการลงทุน (PPP Net Cost) ถ้าทำไม่ดีก็โดนปรับ ที่สำคัญ ถ้าคุณภาพไม่ดี การให้บริการไม่ดี คนไม่มาใช้ ปัญหาก็ตกอยู่ที่ผู้ร่วมทุนอยู่ดี
และถามว่าทำไมโครงการ PPP ที่ผ่านมา จึงใช้วิธีนี้มาโดยตลอด เพราะต้องดูคุณสมบัติก่อน แล้วก็ดูข้อเสนอ ซึ่งเกณฑ์การให้คะแนนค่อนข้างเข้มข้น อย่างหลักเกณฑ์เดิมเขากำหนดว่าต้องผ่านคะแนนเทคนิคแต่ละหัวข้อไม่ต่ำกว่า 80 คะแนน และรวมทั้งหมดต้องไม่ต่ำกว่า 85 คะแนน ซึ่งค่อนข้างสูง แล้วจึงไปดูเรื่องราคา ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของรัฐ ใครที่ให้ผลประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ ก็ควรได้รับโครงการไป และสอดคล้องกับความเห็นของผู้แทนสำนักงบประมาณว่า เมื่อคุณผ่านเกณฑ์ประเมินแล้ว ใครที่ทำให้รัฐประหยัดด้านงบมากที่สุด ก็คือผู้ให้ผลประโยชน์แก่รัฐดีที่สุด” นายสุรพงษ์กล่าว
นายสุรพงษ์ ยังเห็นว่า การพิจารณาคัดเลือกเอกชนโดยใช้เกณฑ์พิจารณาคะแนนเทคนิคร่วมกับคะแนนราคา เป็นการเปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลพินิจ ซึ่งทำให้เกิดความเป็นห่วงในเรื่องความยุติธรรม
“เมื่อคุณผ่านการพิจารณาด้านเทคนิคมาแล้วก็ควรใช้ราคา ไม่ควรใช้ดุลพินิจ ใครดีกว่าก็ได้ไปเลย และรัฐได้ประโยชน์แน่ๆ…และโครงการนี้ตัวเลขมันสูงมาก การที่ให้มีการใช้ดุลพินิจได้ อีกทั้งถ้าดูหลักเกณฑ์เก่า มันไม่มีความชัดเจนเลยว่าวิธีการให้คะแนนเป็นอย่างไร เพียงแต่บอกว่าหมวดนั้นหมวดนี้ให้กี่คะแนน และเนื่องจากเดิมพันมันสูง เป็นแสนล้าน ผมจึงเป็นห่วงว่าเมื่อเปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจได้
ยิ่งถ้าให้เปิดซอง 2 และซอง 3 พร้อมกันอีก ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะปกติไม่เห็นมีใครทำ มันน่าจะเปิดซอง 2 ก่อนให้รู้ว่าใครได้คะแนนเทคนิคเท่าไหร่ แล้วจึงเปิดราคา อันนี้แปลว่า จะรู้เลยว่าใครยื่นราคามาเท่าไหร่ จะให้คะแนนเท่าไหร่ก็ได้ ทำให้มีความเป็นห่วงในเรื่องความยุติธรรม” นายสุรพงษ์กล่าว
ส่วนบีทีเอสจะเข้าประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่ รฟม.กำหนดหรือไม่นั้น นายสุรพงษ์ ระบุว่า ขอรอดู RFP ที่จะประกาศออกมาก่อน จากนั้นจะเสนอให้บอร์ดพิจารณาต่อไป ดังนั้น ในขณะนี้จึงยังตอบไม่ได้ว่าจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่ พร้อมทั้งระบุว่า กรณีพิพาทกรณีเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มดังกล่าว เป็นคนละเรื่องกับกรณีการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องพิจารณาก็ตาม
พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ รฟม.ยกเลิกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำ RFP รอบใหม่นั้น ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน พ.ศ.2563 ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2563
ทั้งนี้ เนื่องจากการยกเลิกการประมูลหรือการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ในการประมูลรอบใหม่นั้น จะทำได้เมื่อเข้าเงื่อนไขตามข้อ 9 ของประกาศฯ คือ ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอหรือไม่มีผู้ผ่านการประเมินข้อเสนอในการดำเนินโครงการ จึงจะให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของเอกชนอีกครั้ง และหากจำเป็นต้องทบทวนเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนที่อาจส่งผลกระทบต่อหลักการของโครงการร่วมทุน จะต้องเสนอให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งผู้มีอำนาจ คือ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และครม.
พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวว่า ในวันที่ 15 มี.ค. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จะมีคำสั่งว่าจะรับฟ้องคดีที่ทาง BTSC ฟ้องผู้บริหาร รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ฐานะกระทำผิดต่อหน้าที่หรือไม่ ซึ่ง BTSC มีหลักฐานเด็ดที่จะนำเสนอต่อศาลฯ หากศาลฯรับคำฟ้องไว้พิจารณา
อ่านประกอบ :
ศาลปค.จำหน่ายคดีฟ้องเพิกถอน TOR สายสีส้ม-'คีรี' ร้อง'บิ๊กตู่'สั่งระงับประมูลรอบใหม่
วรวรรณ ธาราภูมิ : รถไฟฟ้าสายสีส้ม เอกชนซื้อซอง TOR แล้ว รัฐเปลี่ยนเงื่อนไขได้ด้วยหรือ?
เปิดคำฟ้องศาลทุจริตฯ! ‘บีทีเอส’กล่าวหา ‘ผู้ว่าฯรฟม.-พวก’ ผิดม.157-165 แก้TORสายสีส้ม
ชำแหละสายสีส้ม! ‘จิรายุ’ ร่าย 16 วันทันใจนาย-‘ศักดิ์สยาม’ถาม‘เอื้อประโยชน์ใคร’
โชว์ชัดๆ ‘ข้อดี-ข้อเสีย’! ก่อนรฟม.ล้มประมูล ‘สายสีส้ม’ โยน 'บิ๊กตู่' ชี้ขาดกติกาใหม่
รฟม.คาดประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ รอบใหม่ ใช้เวลา 6-8 เดือน
หวั่นโครงการล่าช้า! บอร์ดคัดเลือกฯ ล้มประมูล ‘สายสีส้ม’-รฟม.เร่งร่างทีโออาร์ใหม่
ชี้ขาดวันนี้! จับตาบอร์ดคัดเลือกฯล้มประมูล ‘สายสีส้ม’-ชงครม.รับทราบใช้กติกาใหม่
ร้าวลึก! 'บีทีเอส-ภูมิใจไทย' ขัดแย้ง 'สีส้ม' ลามสัมปทาน ‘สีเขียว’-เบรกต่อขยาย 'สีชมพู'
ทูลเกล้าถวายฎีกา! ‘ประธานบีทีเอส’ กรณีรฟม.แก้กติกาประมูลสาย ‘สีส้ม’
เบื้องลึก ‘รฟม.-บีทีเอส’ ร้องกันนัว เปลี่ยนตัว ‘ตุลาการ’ศาล ปค.คดีแก้ทีโออาร์สายสีส้ม
ศึกชิงสายสีส้ม 1.4 แสนล.เดือด! ‘บีทีเอส’ ร้องสอบวินัย 2 ตุลาการ-เพิกถอนกระบวนพิจารณา)
'ศาลปกครองสูงสุด' นัดไต่สวนคำร้อง คดี 'รฟม.' แก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’
ยื่นซองข้อเสนอ 2 ราย! ‘BEM-กลุ่มบีเอสอาร์’ แข่งประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ 1.4 แสนล.
ห้ามใช้หลักเกณฑ์ใหม่ประมูลชั่วคราว! ศาลปค.สั่งคุ้มครองคดีรฟม.แก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า 'สีส้ม'
ศาลฯไต่สวนนัดแรก 14 ต.ค.!คดี BTSC ฟ้อง ‘รฟม.’ แก้กติกาประมูลรถไฟฟ้าสาย 'สีส้ม' มิชอบ
รื้อกติกาทำเสียเปรียบ! บีทีเอสห่วงประมูล ‘สายสีส้ม’ ใช้ดุลพินิจมาก-ฟ้องศาลฯใช้TORเดิม
รื้อเกณฑ์ตัดสินประมูล ‘สายสีส้ม’ 1.4 แสนล. 'รฟม.' แหวก ‘กติกา’ รัฐร่วมทุนเอกชน
ครม.ไฟเขียวรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘บางขุนนนท์-มีนบุรี’ 1.42 แสนล.
ปิดดีลรถไฟฟ้า ‘สีส้ม’ ตะวันตก ‘ศักดิ์สยาม’ ชงสัญญาเดียว รัฐอุ้ม 10 ปี 9.6 หมื่นล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/