“…การประเมินข้อเสนอจะมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน แบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และคะแนนข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน 70 คะแนน ทั้งนี้ รฟม.จะนำคะแนนซองที่ 2 และซองที่ 3 ของผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายมารวมกัน และผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุด จะเป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด…”
นับเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้ง
สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.42 แสนล้านบาท เมื่อคณะกรรมการตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่มี กิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นประธาน
ได้มีมติปรับเปลี่ยนประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน (RFP) โครงการรถไฟฟ้าสายนี้ โดย ‘รื้อ’ หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ หลังจาก รฟม. ปิดการขายซองเอกสารประมูลไปแล้วเกือบ 1 เดือน หรือตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2563 (อ่านประกอบ : ‘BEM-BTSC-BTS-ซิโนไทย’ ตบเท้าซื้อซองรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘บางขุนนนท์-มีนบุรี’ 1.4 แสนล.)
หากไล่เลียงลำดับเหตุการณ์การปรับเปลี่ยน RFP โครงการนี้ พบว่าเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2563 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอให้ทบทวน ‘วิธีการประเมินข้อเสนอ’ การร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยระบุตอนหนึ่งว่า
“...ไม่ควรให้พิจารณาให้ผู้ชนะการคัดเลือกเป็นผู้ที่เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดเท่านั้น แต่ควรพิจารณาผู้ที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในภาพรวม ที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จได้ โดยพิจารณาถึงปัจจัยและผลประโยชน์ด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อเสนอด้านเทคนิคการดำเนินงาน ความน่าเชื่อถือ ศักยภาพและความสามารถของผู้ยื่นข้อเสนอ...” (อ่านเอกสารประกอบ)
อย่างไรก็ดี หลังจากได้รับหนังสือเพียง 6 วัน ในวันที่ 13 ส.ค.2563 ประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร. แทงหนังสือหนังสือ ที่ กค 0820.1/4810 ถึงผู้ว่าการ รฟม. โดยมีเนื้อหาว่า ขอให้คณะกรรมการตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ โครงการฯ นำข้อเสนอของบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย กฎ และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป (อ่านเอกสารประกอบ)
ต่อมาคณะกรรมการตามมาตรา 36 ประชุมกันเมื่อวันที่ 21 ส.ค.2563 และมีมติเห็นชอบให้ปรับเปลี่ยน ‘หลักเกณฑ์’ ในการพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอฯ ก่อนที่ รฟม. จะทำการจัดส่งเอกสารประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน เพิ่มเติม ครั้งที่ 1 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (RFP Addendum 1) ให้ผู้ซื้อซองเอกสารประมูลทั้ง 10 ราย ในวันที่ 31 ส.ค.2563
สำหรับสาระสำคัญของ RFP โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งปรับเปลี่ยน ‘หลักเกณฑ์การพิจารณา’ มีสาระสำคัญ ดังนี้
เดิมระบุว่า “…(2) การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 รฟม.จะพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ตามเกณฑ์การประเมินที่กำหนด โดยผู้ยื่นข้อเสนอต้องผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติตามที่เกณฑ์กำหนด มิฉะนั้นจะถือว่าผู้ยื่นข้อเสนอไม่ผ่านการพิจารณาข้อเสนอของที่ 1 และจะไม่เปิดข้อเสนอซองที่ 2 โดยจะส่งข้อเสนอซองที่ 2 ,3 และ 4 คืน
(3) การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และ 3 ผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 จะได้รับการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และซองที่ 3 โดย รฟม.จะกำหนดเกณฑ์ในการประเมินข้อเสนอ และผู้ยื่นข้อสนอที่เป็นประโยชน์ต่อ รฟม. สูงที่สุด จะเป็นผู้ผ่านการประเมินสูงสุด…
"ผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซอง 2 ประกอบกับ รฟม. ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า รายละเอียดข้อเสนอซองที่ 3 มีความน่าเชื่อถือตามเงื่อนไขข้างต้น จะได้รับการประเมินข้อเสนอซองที่ 3 โดยผู้ยื่นข้อเสนอที่มี NPV ของผลประโยชน์สุทธิ (เงินตอบแทนที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะให้แก่ รฟม.หักด้วยจำนวนเงินสนับสนุนที่ผู้ยื่นข้อสนอจะขอรับจาก รฟม.) สูงที่สุด จะเป็นผู้ที่ผ่านการประมินสูงสุด…” เอกสารประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน (RFP) โครงการฯ ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2563 ระบุ
(ที่มา : เอกสารประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน (RFP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี)
ส่วนหลักเกณฑ์ใหม่ มีเนื้อหาที่แตกต่างออกไป คือ “…29.3 การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการตรวจสอบตามข้อ 29.2 แล้ว จะได้รับการพิจารณาข้อเสนอในซองที่ 1 ต่อไป ในการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีคุณสมบัติตามที่ได้กำหนดไว้ในเอกสารข้อ 10. และสอดคล้องตามข้อกำหนดของข้อแนะนำการจัดทำข้อเสนอนี้ทุกประการ
การประเมินข้อเสนอด้านคุณสมบัติจะเป็นการประเมินแบบ ‘ผ่าน/ไม่ผ่าน’ ซึ่งต้องมีความครบถ้วนและความถูกต้องของเอกสารตามข้อ 19.1.2 (ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ) มิฉะนั้นจะถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 และจะไม่เปิดข้อเสนอซองที่ 2 และซองที่ 3 โดยจะส่งข้อเสนอซองที่ 2, 3 และ 4 คืน
29.4 การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค และข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน
ผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 1 ตามข้อ 29.3 จะได้รับการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และซองที่ 3 ต่อไป
การประเมินข้อเสนอจะมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน แบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และคะแนนข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน 70 คะแนน
ทั้งนี้ รฟม.จะนำคะแนนซองที่ 2 และซองที่ 3 ของผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายมารวมกัน และผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุด จะเป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด…”
(ที่มา : เอกสารประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 (RFP Addendum 1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2563)
พร้อมกันนั้น คณะกรรมการตามมาตรา 36 ได้ขยายเวลาการยื่นเอกสารประมูลออกไป 45 วัน หรือจากเดิมที่กำหนดให้ยื่นเอกสารประมูลวันที่ 23 ก.ย.2563 ให้เลื่อนเป็นวันที่ 6 พ.ย.2563 เพื่อให้เอกชนที่ซื้อเอกสารประมูลทั้ง 10 ราย มีเวลาปรับปรุงข้อเสนอให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ใหม่
“การนำคะแนนข้อเสนอเทคนิคมาเป็นเกณฑ์ประเมินร่วมกับข้อเสนอด้านการเงินและผลตอบแทนในสัดส่วน 30:70 จากเดิมที่ รฟม.พิจารณาเฉพาะข้อเสนอด้านการเงินเป็นหลัก จะทำให้ได้ข้อเสนอที่ดีและรัฐได้ประโยชน์สูงสุด…อีกทั้งโครงการนี้เป็นการก่อสร้างที่ใช้เทคนิคขั้นสูง” ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่า รฟม.ให้สัมภาษณ์สื่อหลายสำนักเมื่อวันที่ 21 ส.ค.2563
ส่วนสาเหตุที่ต้องปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกหลังประกาศ RFP และปิดขายซองเอกสารไปแล้วเกือบ 1 เดือน ภคพงษ์ บอกว่า “..เดิมเราอาจจะคิดไม่ครบถ้วน และมีการสงวนสิทธิ์ให้สามารถปรับเปลี่ยนเงื่อนไขหรือยกเลิกได้ แม้ว่าจะเปิดขายซองทีโออาร์ไปแล้ว…”
อย่างไรก็ตาม บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ได้ทำหนังสืออย่างน้อย 3 ฉบับ สอบถามข้อเท็จจริงและทักท้วงเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอฯ ของ รฟม. ดังกล่าว เมื่อวันที่ 20 ,26 และ 28 ส.ค.2563 แต่ปรากฎว่าจนถึงปัจจุบัน BTSC ยังไม่ได้รับคำตอบอย่างเป็นทางการจาก รฟม. แต่อย่างใด
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าการปรับเปลี่ยน ‘หลักเกณฑ์’ การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอฯ โครงการไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นั้น เรียกได้ว่ามีความ 'แตกต่าง' จากโครงการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชนในอดีตพอสมควร
เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง สายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ,โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน , โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการท่าเทียบเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3
‘ผู้ชนะประมูล’ จะเป็นผู้เสนอให้ ‘ผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุด’ และเสนอ ‘ใช้เงินลงทุนของภาครัฐน้อยที่สุด’ ในขณะที่กระบวนการพิจารณาและเปิด ‘ซองประมูล’ จะทำเป็นขั้นตอน คือ เมื่อเปิดซองที่ 1 หรือ ‘ซองคุณสมบัติ’ แล้วผ่าน ก็จะเปิดซองที่ 2 คือ ‘ซองเทคนิค’ และเมื่อซองเทคนิคผ่านแล้ว จึงจะเปิดซองที่ 3 ซึ่งเป็นซองข้อเสนอราคาและผลตอบแทน
ในขณะที่ ภคพงศ์ ระบุว่า ไม่สามารถนำหลักเกณฑ์การเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนฯก่อนหน้านี้ มาใช้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เพราะโครงการนี้ รฟม. ต้องการคัดเลือก 'ผู้ที่มีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์กับรัฐมากที่สุด'
“คงไม่สามารถนำการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มเส้นนี้ไปเทียบกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่เสนอขอเงินอุดหนุนค่างานโยธาจากรัฐต่ำสุด และเสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงสุด เป็นผู้ชนะประมูล เพราะโครงการนี้เน้นภาพรวม คือ ผู้ที่มีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์กับรัฐมากที่สุด’ ภคพงศ์ เผยกับสื่อเมื่อวันที่ 21 ส.ค.2563
จากที่มาที่ไปข้างต้น แม้ว่าการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะมีเหตุผลและมีที่มาที่ไป แต่การที่ ผู้ว่ารฟม. ระบุว่า สาเหตุที่ต้องปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาเพราะ 'อาจจะคิดไม่ครบถ้วน' นั้น ทำให้เอกชนตั้งข้อสงสัยว่ามี ‘ใบสั่ง’ หรือไม่
เพราะหลังจากบริษัท อิตาเลียนไทยฯ หนังสือถึง สคร. ขอให้ทบทวน ‘วิธีการประเมินข้อเสนอ’ ในวันที่ 7 ส.ค.2563 เพียง 14 วัน หรือ 2 สัปดาห์ หรือในวันที่ 21 ส.ค.2563 คณะกรรมการตามมาตรา 36 ก็มีมติปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอโครงการฯ ตามมา
หากจำกันได้ในช่วงเดือนก.ย.2562 โครงการรถไฟฟ้าสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เคยสร้าง ‘รอยร้าว’ ในพรรคร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาแล้ว หลัง อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม สั่งการ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ให้แยกสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายนี้ เป็น 2 สัญญา จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘เอื้อประโยชน์’ เอกชนบางรายหรือไม่
สุดท้ายต้องกลับมารวมเป็น ‘สัญญาเดียว’ เช่นเดิม หลังมีการทักท้วงจากกระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. (อ่านประกอบ : ปิดดีลรถไฟฟ้า ‘สีส้ม’ ตะวันตก ‘ศักดิ์สยาม’ ชงสัญญาเดียว รัฐอุ้ม 10 ปี 9.6 หมื่นล.)
มาคราวนี้ กระบวนการปรับเปลี่ยน RFP การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เกิดขึ้นในช่วง 'รอยต่อ' ของการเปลี่ยนผ่าน 'ทีมเศรษฐกิจ' ของรัฐบาลพอดี จึงต้องติดตามต่อไปว่าเอกชนรายใดจะคว้าโครงการนี้ไปได้
แต่เมื่อทุกอย่างเปิด ‘ทางโล่ง’ อะไรๆ ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
อ่านประกอบ :
ครม.ไฟเขียวรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘บางขุนนนท์-มีนบุรี’ 1.42 แสนล.
ปิดดีลรถไฟฟ้า ‘สีส้ม’ ตะวันตก ‘ศักดิ์สยาม’ ชงสัญญาเดียว รัฐอุ้ม 10 ปี 9.6 หมื่นล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/