‘ศาลปกครองสูงสุด’ นัดไต่สวนคำร้อง ‘บีทีเอสซี’ ฟ้อง ‘คกก.มาตรา 36-รฟม.’ คดีแก้ทีโออาร์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 17 พ.ย.นี้
....................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในวันที่ 17 พ.ย. ศาลปกครองสูงสุดนัดไต่สวนคำร้องที่ 189/2563 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา)
สำหรับคดีนี้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ฟ้องว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชน และวิธีการประเมินข้อสนอด้านเทคนิคและข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน การออกแบบและก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย
ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ที่ให้ใช้การประเมินซองที่ 2 ข้อเสนอทางเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนรวมกันแล้วแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุดว่า คำสั่งทุเลาการบังคับดังกล่าว เป็นคำสั่งที่ส่งผลกระทบและเป็นอุปสรรคแค่การบริหารงานของรัฐ และการบริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง เพราะทำให้เกิดความลำใช้ในการคัดเลือกเอกชน ซึ่งส่งผลกระทบให้การเปิดบริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มดังกล่าวต้องล่าช้าออกไปกว่าแผนงานของรัฐบาลที่กำหนด ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนส่งผลให้รัฐเกิดภาระค่าใช้จ่ายและความเสียหายที่ตามมาอย่างมากทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของเอกชนในการลงทุนร่วมกับภาครัฐ
อ่านประกอบ :
ยื่นซองข้อเสนอ 2 ราย! ‘BEM-กลุ่มบีเอสอาร์’ แข่งประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ 1.4 แสนล.
ห้ามใช้หลักเกณฑ์ใหม่ประมูลชั่วคราว! ศาลปค.สั่งคุ้มครองคดีรฟม.แก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า 'สีส้ม'
ศาลฯไต่สวนนัดแรก 14 ต.ค.!คดี BTSC ฟ้อง ‘รฟม.’ แก้กติกาประมูลรถไฟฟ้าสาย 'สีส้ม' มิชอบ
รื้อกติกาทำเสียเปรียบ! บีทีเอสห่วงประมูล ‘สายสีส้ม’ ใช้ดุลพินิจมาก-ฟ้องศาลฯใช้TORเดิม
รื้อเกณฑ์ตัดสินประมูล ‘สายสีส้ม’ 1.4 แสนล. 'รฟม.' แหวก ‘กติกา’ รัฐร่วมทุนเอกชน
ครม.ไฟเขียวรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘บางขุนนนท์-มีนบุรี’ 1.42 แสนล.
ปิดดีลรถไฟฟ้า ‘สีส้ม’ ตะวันตก ‘ศักดิ์สยาม’ ชงสัญญาเดียว รัฐอุ้ม 10 ปี 9.6 หมื่นล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/