ผู้บริหาร BTSC เข้ายื่นหนังสือถึง ‘องค์การต่อต้านคอรัปชั่น’ ขอให้ติดตามการแก้ไขทีโออาร์รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ ชี้หลักเกณฑ์การให้คะแนนใหม่ โดยนำคะแนนเทคนิคมาพิจารณา 30% ทำให้เกิดการได้เปรียบ-เสียเปรียบ เพราะเป็นการใช้ ‘ดุลพินิจ’ ค่อนข้างมาก พร้อมเผยทีโออาร์กำหนดให้สร้างอุโมงค์ 5 เมตรลอดแม่น้ำ แต่พบมีบริษัทไทย 2 แห่งเท่านั้นที่ทำได้ ด้าน ‘ดร.มานะ’ ห่วงเปลี่ยนกติกาหลังเปิดประมูลแล้ว ทำนักลงทุนเสียความเชื่อมั่น
............
เมื่อวันที่ 24 ก.ย. นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เข้ายื่นหนังสือต่อดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์การต่อต้านคอรัปชั่น เพื่อขอให้ติดตามการแก้ไขทีโออาร์โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.42 แสนล้านบาท ของคณะกรรมการตามมาตรา 36 โครงการไฟฟ้าสายสีส้ม
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยร่างทีโออาร์ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะประกาศทีโออาร์และเปิดขายซองประมูลในเวลาต่อมา โดย BTSC เป็น 1 ใน 10 บริษัทเอกชนที่เข้ามาซื้อซองประมูลโครงการรถไฟฟ้าเส้นนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังปิดการขายซองประมูลไปแล้ว ปรากฏว่าคณะกรรมการตามมาตรา 36 ได้มีมติแก้ไขทีโออาร์ในส่วนหลักเกณฑ์ที่เป็นสาระสำคัญของทีโออาร์ จากเดิมที่กำหนดให้ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติซองเทคนิค และเสนอผลตอบแทนให้แก่ภาครัฐสูงสุดจะเป็นผู้ชนะประมูล แต่หลักเกณฑ์ใหม่ให้นำซองเทคนิคและซองราคามาพิจารณาร่วมกัน โดยกำหนดสัดส่วนซองคะแนนเทคนิคที่ 30 คะแนน และซองราคาที่ 70 คะแนน ทำให้ได้เกิดการได้เปรียบและเสียเปรียบ
“เมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเส้นนี้ผ่านความเห็นชอบจากครม. ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์อะไรที่เป็นสาระสำคัญจะต้องเสนอให้ครม.พิจารณาก่อนหรือไม่ และยังมีคำถามว่าการปรับเปลี่ยนกติกาการประมูลหลังจากประกาศทีโออาร์และปิดขายซองประมูลไปแล้ว อย่างนี้ทำได้หรือไม่ เพราะทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ เนื่องจากบางบริษัทไม่สามารถหาพันธมิตรใหม่มาเพิ่มได้ทัน” นายสุรพงษ์กล่าว
นายสุรพงษ์ ยังกล่าวถึงเงื่อนไขทีโออาร์ ที่รฟม.สงวนสิทธิ์ในการแก้ไขทีโออาร์ โดยย้ำว่า เมื่อครม.เป็นผู้อนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และเมื่อพิจารณาจากทีโออาร์ในข้อ 35.2 ซึ่งระบุว่า รฟม.สงวนสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติมรายละเอียด รวมถึงลดหรือขยายระยะเวลาของการคัดเลือก ตามเอกสารแนะนำผู้อื่นข้อเสนอ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรฟม. ได้ก็จริง แต่เมื่อมีการเขียนคำว่า “และของมติครม.” เอาไว้ด้วย
ดังนั้น เมื่อมีการแก้ไขหลักเกณฑ์ที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งจะมีผลต่อโครงการฯ รฟม.จะต้องเสนอให้ครม.เห็นชอบก่อน นอกจากนี้ ในการประชาพิจารณ์ร่างทีโออาร์และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนที่จบไปแล้วนั้น มีเอกชนบางรายได้เสนอว่าการคัดเลือกผู้ชนะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ให้ใช้คะแนนซองเทคนิค 30 คะแนน และคะแนนซองราคา 70 คะแนน ซึ่งในครั้งนั้นคณะกรรมการฯได้ตีตกข้อเสนอนี้ไป แต่มาคราวนี้กลับนำข้อเสนอที่เคยถูกตีตกไปแล้วกลับมาทำใหม่
อย่างไรก็ดี นายสุรพงษ์ ระบุว่า การเปลี่ยนกติกาการคัดเลือกผู้ชนะประมูล โดยนำซองเทคนิคมาคิดเป็นคะแนนในสัดส่วน 30% หรือ 30 คะแนนจาก 100 คะแนนนั้น จะทำให้มีคนได้เปรียบและเสียเปรียบ โดยเฉพาะการพิจารณาซองเทคนิคที่เป็นการให้คะแนนตาม ‘ดุลพินิจ’ ค่อนข้างมาก ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วภาครัฐอาจไม่ได้ประโยชน์สูงสุดก็ได้ ที่สำคัญขณะนี้เอกชนที่เข้าร่วมประมูลได้เปิดหน้าออกมาหมดแล้ว ทำให้รู้ว่าเอกชนแต่ละรายมีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร
“โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงนี้ กำหนดให้สร้างอุโมงค์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งในประเทศไทย มีบริษัทที่เคยสร้างอุโมงค์และเป็นอุโมงค์ที่ลอดแม่น้ำ ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท แค่ 2 บริษัท ถ้าใครไม่ได้จับมือกับรายใดรายหนึ่ง และนำเป็นพันธมิตรจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งทำได้ แต่จะเสียเปรียบในการให้คะแนน เพราะทีโออาร์กำหนดเงื่อนไขว่า หากการก่อสร้างใช้ผู้รับเหมาไทยจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ” นายสุรพงษ์ระบุ
(สุรพงษ์ เลาหะอัญญา)
นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา BTSC ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง โดยขอให้ศาลฯมีคำสั่งให้ รฟม.กลับไปใช้ทีโอออาร์เดิม โดยล่าสุดศาลฯยังไม่ได้นัดผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าไปไต่สวนฯ รวมทั้งยังไม่มีคำสั่งใดๆออกมา อย่างไรก็ตาม หากถึงกำหนดให้นต้องยื่นข้อเสนอการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มในวันที่ 6 พ.ย.2563 ทาง BTS และพันธมิตร ยังคงเดินหน้ายื่นซองประมูลตามเดิม แม้จะไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์การให้คะแนนตามทีโออาร์ที่แก้ไขไป
นายสุรพงษ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการต่ออายุสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีก 30 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2572 และเริ่มนับอายุสัมปทานใหม่ตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค.2572 ถึงวันที่ 4 ธ.ค. 2602 ว่า เรื่องนี้คงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของครม. ซึ่งผลจากการต่ออายุสัมปทานดังกล่าว ทาง BTS จะต้องเข้าไปรับภาระหนี้และดอกเบี้ยการลงทุนงานโยธา แทนกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นเงินกว่า 1 แสนล้านบาท และจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กทม.ด้วย
ด้าน ดร.มานะ กล่าวว่า องค์การต่อต้านคอรัปชั่นฯ ติดตามการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง และที่ผ่านมาไม่เคยพบว่ามีโครงการใดที่เปิดประมูลไปแล้ว แต่มาเปลี่ยนกติกาในภายหลัง ซึ่งขัดต่อหลักธรรมาภิบาล โดยกรณีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขทีโออาร์นั้น ตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ กำหนดให้ต้องยกเลิกการประมูล และเริ่มต้นประมูลกันใหม่
“ถ้าเรายอมให้เป็นอย่างนั้น คือ ยอมรับการเปลี่ยนกติกาหลังจากที่ได้เปิดประมูลไปแล้ว จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน อย่างนักลงทุนในประเทศ เขาคงจะหันรีหันขวางว่ามีการใช้เส้นสายหรือไม่ แต่ถ้าเปิดประมูลนานาชาติ (International Bidding) นักลงทุนต่างชาติคงเสียความมั่นใจ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีส้มเส้นนี้ เป็นรถไฟฟ้าที่มีผลประโยชน์สูงสุดเมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆที่เคยสร้างมา โดยมูลค่าสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท” ดร.มานะกล่าว
นอกจากนี้ ดร.มานะ ระบุว่า แม้ว่าองค์การต่อต้านคอรัปชั่น จะไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) แต่อยากเรียกร้องให้ รัฐบาล กระทรวงคมนาคม และรฟม. นำโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเส้นนี้ เข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งที่ผ่านมามีโครงการที่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม 122 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท
อ่านประกอบ :
รื้อเกณฑ์ตัดสินประมูล ‘สายสีส้ม’ 1.4 แสนล. 'รฟม.' แหวก ‘กติกา’ รัฐร่วมทุนเอกชน
ครม.ไฟเขียวรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘บางขุนนนท์-มีนบุรี’ 1.42 แสนล.
ปิดดีลรถไฟฟ้า ‘สีส้ม’ ตะวันตก ‘ศักดิ์สยาม’ ชงสัญญาเดียว รัฐอุ้ม 10 ปี 9.6 หมื่นล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/