‘บีทีเอส’ ยื่นคำร้องต่อ ‘คณะกรรมการตุลาการ’ ตั้งกก.สอบสวนวินัยร้ายแรง ‘2 ตุลาการ’ เจ้าของสำนวนคดีแก้ทีโออาร์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.4 แสนล้านบาท หลังพบทำผิดระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองฯ-ทำผิดวินัยข้าราชการตุลาการศาลปกครอง พร้อมยื่นศาลปกครองสูงสุดขอเปลี่ยนตัว ‘องค์คณะ-ตุลาการ’-เพิกถอนกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ
.................
สำนักงานข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในเครือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ซึ่งเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 142,789 ล้านบาท ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ศาลฯสั่งเพิกถอนกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ
พร้อมทั้งขอให้เปลี่ยนแปลงองค์คณะและตุลาการเจ้าของสำนวนคดี ในคดีพิพาทระหว่าง BTSC (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับการยื่นคำร้องในคดีนี้ BTSC ร้องว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 บริษัทฯได้ยื่นหนังสือคัดค้านองค์คณะและตุลาการเจ้าของสำนวนคดีต่อประธานศาลปกครองสูงสุด พร้อมกับคำร้องคัดค้านองค์คณะและตุลาการเจ้าของสำนวนคดีฯ เนื่องจากมีพฤติการณ์และข้อเท็จริงที่ทำให้เห็นได้ว่า องค์คณะและตุลาการเจ้าของสำนวนคดี อาจพิจารณาหรือพิพากษาคดีไม่เป็นกลาง เสียความยุติธรรม และไม่สามารถให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณีได้
ซึ่งเมื่อประธานศาลปกครองสูงสุด และ/หรือองค์คณะและตุลาการเจ้าของสำนวนคดีฯ ได้รับหนังสือคัดค้านและคำร้องคัดค้านเอาไว้แล้ว องค์คณะและตุลาการเจ้าของสำนวนคดีฯ จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีโดยทันทีเป็นการชั่วคราว และต้องงดไต่สวนคำขอของผู้ถูกฟ้องคดีทันที จนกว่าจะมีการพิจารณาหรือมีคำสั่งเกี่ยวกับการคัดค้านดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ฯ ว่าด้วยการคัดค้านตุลาการศาลปกครอง พ.ศ.2544
แต่ปรากฎว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดเจ้าของสำนวนคดี 1 ราย และองค์คณะอีก 1 ราย ยังคงออกนั่งไต่สวนคดี แม้ว่า BTSC ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดี ยืนยันว่าไม่เข้าร่วมการพิจารณาคดี เพราะกระบวนการไต่สวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอรอฟังคำสั่งคำร้องคัดค้านองค์คณะและตุลาการเจ้าของสำนวนคดีก่อน แต่ตุลาการเจ้าของสำนวนคดี แจ้งว่าจะทำการไต่สวนผู้ถูกฟ้องคดีฝ่ายเดียวไปพรางก่อน เนื่องจากเห็นว่าคดีเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะจึงจะไม่หยุดหรืองดการไต่สวน
อย่างไรก็ตาม BTSC โต้แย้งว่า แม้คดีดังกล่าวจะเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ แต่ไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งรีบพิจารณา และไม่มีข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า หากจะต้องชะลอการพิจารณาออกไปเพื่อรอผลคำสั่งเกี่ยวกับการคัดค้านองค์คณะและตุลาการเจ้าของสำนวนคดี จะทำให้เกิดความเสียหายที่ยากจะเยียวยาได้อย่างไร และไม่มีความจำเป็นที่ต้องเร่งรีบไต่สวนฯ
นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นั้น ก็ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างหรือเริ่มการเวนคืนที่ดิน และการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ยังไม่แล้วเสร็จ ขณะที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และรฟม. ได้เลื่อนกำหนดวันเปิดซองข้อเสนอที่ 1 ซองคุณสมบัติออกไปอย่างไม่มีกำหนด อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีเองก็ไม่ได้ขอให้ศาลปกครองสูงสุดเร่งรัดกระบวนการพิจารณาหรือไต่สวนฯโดยเร่งด่วนแต่อย่างใด
ดังนั้น การที่ตุลาการเจ้าของสำนวนคดี มีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนการพิจารณาคดี โดยไม่คำนึงถึงระเบียบที่ประชุมใหญ่ฯ ว่าด้วยการคัดค้านตุลาการศาลปกครอง พ.ศ.2544 ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับ BTSC ตามสมควรอย่างเหมาะสม จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ BTSC และยังเป็นการปฏิบัติหน้าที่ขัดประกาศ ก.ศป. เรื่องวินัยแห่งการเป็นข้าราชการตุลาการศาลปกครอง จึงเห็นว่าตุลาการศาลปกครองทั้ง 2 ราย สมควรที่จะถอนตัวจากการพิจารณาและพิพากษาในคดีนี้
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. BTSC ขอให้คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ดำเนินการทางวินัยกับตุลาการทั้ง 2 ราย โดยขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงตุลาการทั้ง 2 รายด้วย ดังนั้น เมื่อตุลาการทั้ง 2 ราย เป็นคู่พิพาทกับ BTSC ดังนั้น จึงไม่มีเหตุอันสมควรจะที่องค์คณะและตุลาการเจ้าของสำนวนคดี จะดำเนินกระบวนการพิจารณาและไต่สวนคดีนี้ จนกว่าจะมีคำสั่งเกี่ยวกับการคัดค้านตุลาการ และการสอบวินัยตุลาการทั้ง 2 ราย
พร้อมกันนั้น ขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาออกคำสั่งเพิกถอนกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ จากกระบวนการพิจารณาไต่สวนคดีเมื่อวันที่ 17 ต.ค.2563 ของตุลาการทั้ง 2 รายทั้งหมด
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า BTSC ทำหนังสือที่ BTSC.GAR.111909.P4010.18.11.2020 ลงวันที่ 18 พ.ย.2563 ถึงประธานศาลปกครองสูงสุด เรื่อง ขอร้องเรียนตุลาการเจ้าของสำนวนคดีกับองค์คณะ ที่กระทำผิดวินัย และขอให้หยุดดำเนินกระบวนพิจารณาในคดี และขอให้เปลี่ยนแปลงตุลาการเจ้าของสำนวนคดีและองค์คณะดังกล่าว และ/หรือขอให้ตุลาการเจ้าของสำนวนคดีและองค์คณะท่านดังกล่าวถอนตัวและคืนสำนวนคดี
โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า ตามที่เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 บริษัท BTSC ได้ยื่นหนังสือคัดค้านองค์คณะและตุลาการเจ้าของสำนวนคดีต่อประธานศาลปกครองสูงสุด พร้อมกับคำร้องคัดค้านองค์คณะตุลาการเจ้าของสำนวนคดีแล้ว ซึ่งประธานศาลปกครองสูงสุด และตุลาการเจ้าของสำนวนคดีและองค์คณะได้รับทราบคำร้องคัดค้านของบริษัทฯแล้ว
แต่ปรากฎว่าตุลาการเจ้าของสำนวนและองค์คณะ ยังคงออกนั่งไต่สวนคดีดังกล่าวต่อไป โดยเห็นว่าคดีนี้เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ จึงจะไม่หยุดหรืองดการไต่สวนนั้น ทั้งๆที่ตามขั้นตอนแล้ว หากตุลาการเจ้าของสำนวนเห็นว่าไม่เหตุตามที่ BTSC คัดค้าน ตุลาการเจ้าของสำนวนจะต้องเรื่องให้ประธานศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคำสั่งต่อไป พร้อมทั้งหยุดหรืองดกระบวนการพิจารณาไว้ก่อนโดยทันที
ดังนั้น การที่ตุลาการทั้ง 2 ราย ดำเนินการไต่สวนผู้ถูกฟ้องคดีไปฝ่ายเดียวพรางก่อน จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่คำนึงถึงระเบียบประชุมใหญ่ฯ ว่าด้วยการคัดค้านตุลาการศาลปกครอง พ.ศ.2544 อีกทั้ง ไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนหรือเหตุสมควรใดๆที่ต้องรีบเร่งหรือเร่งรัดพิจารณาหรือดำเนินการไต่สวนคดีโดนไม่ชักช้า
นอกจากนี้ ตุลาการทั้ง 2 ราย ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่ BTSC ตามสมควรเหมาะสม จนกว่าให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทฯ เช่น ไม่อนุญาตให้บริษัทฯ ขยายระยะเวลายื่นคำคู่ความและเอกสารต่างๆ ตลอดจนไม่อนุญาตให้เลื่อนนัดไต่สวนออกไปก่อน ทั้งๆที่ได้ชี้แจงถึงเหตุลผล ความจำเป็น และแสดงเอกสารหลักฐานต่างๆโดยถูกต้องครบถ้วนแล้ว ซึ่งเป็นการกระทำหน้าที่ขัดต่อข้อ 5 ข้อ 10 และข้อ 15 ของประกาศ ก.ศป. เรื่องวินัยแห่งการเป็นข้าราชการตุลาการ ประกอบกับจริยธรรมตุลาการศาลปกครอง ได้กำหนดให้ตุลาการศาลปกครองต้องวางตัวเป็นกลาง ปราศจากอคติ และต้องรับฟังคู่กรณีอย่างเสมอภาค และมีเมตตาธรรม
จากเหตุผลดังกล่าว BTSC จึงได้ยื่นหนังสือขอร้องเรียนท่านตุลาการเจ้าของสำนวนคดีและองค์คณะ และขอให้ท่านคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองได้โปรดพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงตุลาการทั้ง 2 ราย และในระหว่างการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงดังกล่าว บริษัทฯของให้ท่านประธานศาลปกครองสูงสุดได้โปรดมีคำสั่งให้ตุลาการเจ้าของสำนวนคดีและองค์คณะหยุดปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาคดีนี้โดยทันทีเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับการสอบสวนตุลาการทั้ง 2 ราย และการคัดค้านองค์คณะและตุลาการเจ้าของสำนวนคดีในศาลปกครองสูงสุด
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2563 BTSC ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และรฟม. ต่อศาลปกครองกลาง เนื่องจากมีการแก้ไขทีโออาร์โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในส่วนวิธีการให้คะแนนหลังจากเปิดขายซองไปแล้ว และ BTSC ได้ยื่นคำร้องขอทุเลาและให้ศาลกำหนดมาตรการชั่วคราวก่อนพิพากษา
ต่อมาวันที่ 20 ต.ค.2563 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และรฟม. ที่กำหนดแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
จากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกฯ และรฟม. ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งทุเลาฯ ต่อศาลปกครองสูงสุด และเมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 องค์คณะและตุลาการเจ้าของสำนวนคดีได้นัดคู่กรณีไต่สวนในคดีพิพาทดังกล่าว
อ่านประกอบ :
'ศาลปกครองสูงสุด' นัดไต่สวนคำร้อง คดี 'รฟม.' แก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’
ยื่นซองข้อเสนอ 2 ราย! ‘BEM-กลุ่มบีเอสอาร์’ แข่งประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ 1.4 แสนล.
ห้ามใช้หลักเกณฑ์ใหม่ประมูลชั่วคราว! ศาลปค.สั่งคุ้มครองคดีรฟม.แก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า 'สีส้ม'
ศาลฯไต่สวนนัดแรก 14 ต.ค.!คดี BTSC ฟ้อง ‘รฟม.’ แก้กติกาประมูลรถไฟฟ้าสาย 'สีส้ม' มิชอบ
รื้อกติกาทำเสียเปรียบ! บีทีเอสห่วงประมูล ‘สายสีส้ม’ ใช้ดุลพินิจมาก-ฟ้องศาลฯใช้TORเดิม
รื้อเกณฑ์ตัดสินประมูล ‘สายสีส้ม’ 1.4 แสนล. 'รฟม.' แหวก ‘กติกา’ รัฐร่วมทุนเอกชน
ครม.ไฟเขียวรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘บางขุนนนท์-มีนบุรี’ 1.42 แสนล.
ปิดดีลรถไฟฟ้า ‘สีส้ม’ ตะวันตก ‘ศักดิ์สยาม’ ชงสัญญาเดียว รัฐอุ้ม 10 ปี 9.6 หมื่นล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/