“…อีก 2 วันถัดมา คือ วันที่ 14 ม.ค.2564 ‘คีรี’ ในฐานะประธาน BTSC มีหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ขอความเป็นธรรมและแจ้งปัญหาขัดข้องในการดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีชมพู เนื่องจากปัญหาขัดข้อง ในกระบวนการที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น ล้วนเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของภาครัฐฝ่ายเดียว…”
................
“…เดี๋ยวเขาก็เสนอแนวทางแก้ไขมาจนได้นั่นแหละ เป็นนายกฯก็ไม่ใช่ว่าสั่งได้ทุกเรื่อง…” เป็นคำพูดตอนหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ซึ่งกล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 19 ม.ค.2564
หลังสื่อซักถามกรณีการปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว และความคืบหน้าการต่อสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีก 30 ปี ระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ บริษัท ระบบขนส่งมวลขนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในเครือบีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ ‘บีทีเอส’ ที่ยังได้ข้อสรุปสุดท้าย
อย่างไรก็ดี หากจะว่าไปแล้ว การ ‘ต่อ' หรือ ไม่ต่อ’ สัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวล่วงหน้า 9 ปี ก่อนที่สัมปทานปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในปี 2572 นั้น
อาจเรียกได้ว่าเป็นศึก ‘ระลอกสอง’ บนวังวนความขัดแย้งระหว่าง 'กลุ่มบีทีเอส' ของเจ้าสัว ‘คีรี กาญจนพาสน์’ และ ‘พรรคภูมิใจไทย’ ที่กุมบังเหียนสั่งการงาน ‘กระทรวงคมนาคม’ แทบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หลังศึก ‘ระลอกแรก’ ปะทุขึ้นเมื่อเดือน ส.ค.2563 หรือเมื่อเกือบ 5 เดือนก่อนนี้
ย้อนไปเมื่อวันที่ 21 ส.ค.2563 คณะกรรมการตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีมติปรับเปลี่ยนประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน (RFP) ในส่วน ‘หลักเกณฑ์การพิจารณา’ คัดเลือกผู้ชนะการประมูล
หลัง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอให้มีการทบทวนวิธีการประเมินข้อเสนอ.ใหม่ (อ่านประกอบ : รื้อเกณฑ์ตัดสินประมูล ‘สายสีส้ม’ 1.4 แสนล. 'รฟม.' แหวก ‘กติกา’ รัฐร่วมทุนเอกชน)
ต่อมาวันที่ 31 ส.ค.2563 คณะกรรมการมาตรา 36 ออกเอกสารประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 (RFP Addendum 1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี หลังปิดขายเอกสารประมูลโครงการฯ วันที่ 24 ก.ค.2563
ทำให้กลุ่มบีทีเอส โดย BTSC ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองว่า การเปลี่ยนกติกาประมูลครั้งนี้ ‘ไม่ชอบด้วยกฎหมาย’ และยังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางกลุ่ม (อ่านประกอบ : รื้อกติกาทำเสียเปรียบ! บีทีเอสห่วงประมูล ‘สายสีส้ม’ ใช้ดุลพินิจมาก-ฟ้องศาลฯใช้TORเดิม)
เมื่อคดีพิพาทโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาลปกครอง พบว่าการต่อสู้เป็นไปอย่างเข้มข้น มีการร้องเปลี่ยนตัว ‘องค์คณะและตุลาการเจ้าของสำนวนคดี’ อย่างน้อย 2 ครั้ง (อ่านประกอบ : เบื้องลึก ‘รฟม.-บีทีเอส’ ร้องกันนัว เปลี่ยนตัว ‘ตุลาการ’ศาล ปค.คดีแก้ทีโออาร์สายสีส้ม)
กระทั่งวันที่ 4 พ.ย.2563 ‘คีรี’ ในฐานะประธาน BTSC ทูลเกล้าถวายฎีกาขอความเป็นธรรมกรณีประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เนื่องจากมีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคัดเลือก ซึ่งก่อให้เกิดการแข่งขันราคาอย่างไม่เป็นธรรมและเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายใดรายหนึ่ง (อ่านประกอบ : ทูลเกล้าถวายฎีกา! ‘ประธานบีทีเอส’ กรณีรฟม.แก้กติกาประมูลสาย ‘สีส้ม’)
(คีรี กาญจนพาสน์)
ทั้งนี้ มีกระแสข่าวว่า ‘บ้านใหญ่บุรีรัมย์’ รู้สึกโกรธต่อการเคลื่อนไหวของ ‘บีทีเอส’ ครั้งนี้อย่างมาก ส่งผลให้ปมขัดแย้งกรณีประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ขยายวงไปถึงการต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี (ปี 2572-2602) ระหว่าง กทม. กับกลุ่มบีทีเอส ในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา
สะท้อนจากการประชุมครม. เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 ซึ่งมีวาระพิจารณาที่สำคัญ คือ การพิจารณาเรื่อง ‘ผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ของกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกำกับดูแล กทม.
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มีหนังสือด่วนที่สุด ที่คค (ปคร) 0202/401 ลงวันที่ 16 พ.ย.2563 ส่งถึงครม. ให้ความเห็นทำนอง ‘โต้แย้ง’ การต่อสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง ‘อัตราค่าโดยสาร’ ที่แพงเกินไป และอัตราที่เหมาะสมควรต่ำกว่า 65 บาทตลอดสาย (อ่านประกอบ : ขย่ม 4 ปม 'คมนาคม' ค้านต่อสัมปทาน ‘บีทีเอส’ 30 ปี-รอ ‘บิ๊กตู่’ ชี้ชะตาผลประโยชน์ 2 แสนล.)
ส่งผลให้การพิจารณาเห็นชอบ 'ผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว' ต้อง 'เลื่อน' ออกไป
ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้น ศักดิ์สยาม เคยมีหนังสือ 3 ฉบับ ได้แก่ หนังสือด่วนที่สุด คค (คปร) 0208/321 ลงวันที่ 24 ต.ค.2562 ,หนังสือด่วนที่สุด ที่คค (คปร) 0208/97 ลงวันที่ 30 มี.ค.2563 และหนังสือด่วนที่สุด ที่ คค (คปร) 0208/199 ลงวันที่ 9 มิ.ย.2563 ไม่มีความเห็นในเชิง ‘คัดค้าน’ การต่อสัมปทานสายสีเขียวแต่อย่างใด
เนื่องจาก กระทรวงคมนาคมเห็นว่า กระทรวงมหาดไทยและกทม. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย.2562 แล้ว (อ่านประกอบ : เปิดเงื่อนไขขยายสัมปทาน ‘สายสีเขียว’ 30 ปี-‘คมนาคม’ ร่อนหนังสือหนุน 3 ฉบับ ก่อนกลับลำ ‘ค้าน’)
(ศักดิ์สยาม ชิดชอบ)
ต่อมาเมื่อ กทม. ประกาศอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นไม่เกิน 104 บาทตลอดสาย เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2563 กระทรวงคมนาคม ได้ออกมาคัดค้านการปรับอัตราค่าโดยสารในวันถัดมา โดยระบุว่า ก่อนที่กทม.จะปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าต้องหารือกับกทม.ก่อน
เพียงแต่ว่าคราวนี้ ศักดิ์สยาม ไม่ได้ ‘ออกหน้า’ คัดค้านด้วยตัวเอง แต่ให้กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กระทรวงคมนาคม ออกมาชี้แจงแทน (อ่านประกอบ : ต้องหารือกันก่อน! ‘คมนาคม’ค้าน 'กทม.' ขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาทตลอดสาย)
ก่อนที่ในเวลาต่อมา ‘กรมการขนส่งทางราง’ โดย กิตติพันธ์ ปานจันทร์ รองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการขนส่งทาง ได้ส่งหนังสือถึงปลัดกรุงเทพฯ ขอให้ กทม.ทบทวนการปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว และขอให้มีการดำเนินการตามมติครม.เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2561 ก่อน
ทว่าปมขัดแย้งระหว่าง บีทีเอส และ ‘ศักดิ์สยาม-ภูมิใจไทย’ ไม่ยุติแต่เพียง 2 โครงการนี้เท่านั้น และเกิดเป็นศึก ‘ระลอกที่สาม’
เพราะในการประชุมครม. เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2554 มีวาระพิจารณาที่สำคัญ คือ การพิจารณาโครงการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ซึ่งเป็นกลุ่มบีทีเอส ถือหุ้นในสัดส่วน 75%
แต่กลายเป็นว่า ศักดิ์สยาม ซึ่งเป็นผู้เสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายให้ ครม. พิจารณา เมื่อ 15 ธ.ค.2563 นั้น ได้ขอเลื่อนการพิจารณาวาระนี้ออกไปไม่มีกำหนด โดยให้เหตุผลว่า ‘เพื่อตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารอีกครั้ง’ (อ่านประกอบ : เบรกบีทีเอสขยายรถไฟฟ้าสีชมพูเข้าเมืองทอง! 'ศักดิ์สยาม' อ้างขอตรวจเอกสารอีกครั้ง)
อีก 2 วันถัดมา คือ วันที่ 14 ม.ค.2564 ‘คีรี’ ในฐานะประธาน BTSC มีหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ขอความเป็นธรรมและแจ้งปัญหาขัดข้องในการดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีชมพู เนื่องจากปัญหาขัดข้องในกระบวนการที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น ‘ล้วนเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของภาครัฐฝ่ายเดียว’
พร้อมทั้งขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ เร่งรัดนำโครงการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวและส่วนต่อขยายสายสีชมพู เข้าในการพิจารณาของครม.โดยเร็วต่อไป เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน (อ่านประกอบ : ไม่ชี้นำ! ‘บิ๊กตู่’ ปัดตอบปมสายสีเขียว-‘บอสใหญ่บีทีเอส’ ร่อนหนังสือขอความเป็นธรรม)
เหล่านี้เป็นภาพสะท้อนที่ตอกย้ำถึง ‘รอยร้าว’ ระหว่าง บีทีเอส และ พรรคภูมิใจไทย ที่ ‘ร้าวลึก’ ลงไปทุกที ทั้งๆที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ต้องเรียกว่าความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่าย อยู่ในระดับ ‘แนบแน่น’
อ่านประกอบ :
เบรกบีทีเอสขยายรถไฟฟ้าสีชมพูเข้าเมืองทอง! 'ศักดิ์สยาม' อ้างขอตรวจเอกสารอีกครั้ง
แบกขาดทุนปีละ 4 พันล.! กทม.ปรับค่าโดยสาร 'สายสีเขียว' ตลอดสายไม่เกิน 104 บาท
เปิดเงื่อนไขขยายสัมปทาน ‘สายสีเขียว’ 30 ปี-‘คมนาคม’ ร่อนหนังสือหนุน 3 ฉบับ ก่อนกลับลำ ‘ค้าน’
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage