ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว คดี 'บีทีเอสซี' ฟ้องรฟม.แก้ไขทีโออาร์รถไฟฟ้า 'สายสีส้ม' ชี้น่าจะมีปัญหาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้การคัดเลือก 'ผู้ชนะประมูล' ต้องใช้หลักเกณฑ์ตามทีโออาร์เดิมไปก่อน จนกว่าศาลฯมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ด้านรฟม.เตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลฯภายใน 30 วัน
.................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) แม้คณะกรรมการคัดเลือกฯและ รฟม. ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีอำนาจที่จะสามารถกระทำได้ แต่ต้องไม่เกินขอบอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ประกอบกับในการแก้ไขหลักเกณฑ์ครั้งนี้สืบเนื่องมาจากมีข้อเรียกร้องจากเอกชนผู้ซื้อซองอีกราย ที่มีสิทธิที่จะเข้าแข่งขันในการเสนอราคาในครั้งนี้
ในชั้นนี้จึงเห็นว่า กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และการแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยใช้การประเมินซองที่ 2 และซองที่ 3 รวมกันแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน จึงเป็นคำสั่งที่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนกรณีที่ รฟม. ระบุว่า หากไม่สามารถดำเนินการลนามในสัญญากับผู้ร่วมลงทุนได้ภายในเดือนก.พ.2564 จะส่งผลให้รฟม.ไม่สามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ส่วนตะวันออก ได้ตามกำหนดเวลาเดิมในเดือนมี.ค.2567 ซึ่งจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการดูแลรักษาโครงสร้างงานโยรา (Care of works) การเสียโอกาสได้รับค่าโดยสาร การสูญเสียทางเศรษฐกิจ รวมมูลค่าความเสียหายต่อรฟม. และภาครัฐ ประมาณ 42,904 ล้านบาทต่อปีนั้น
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ขณะที่ผู้ฟ้องคดี (BTSC) ยื่นฟ้องคดีนี้ ยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (คณะกรรมการคัดเลือกฯและรฟม.) เริ่มดำเนินการคัดเลือกเอกชนตามหลักเกณฑ์ที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับผู้ฟ้องคดีอ้างว่ายังไม่มีการออกประกาศพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินและกำหนดเขตที่ดินที่เวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณที่จะดำเนินการก่อสร้าง ทำให้รฟม.ไม่สามารถออกหนังสือให้เริ่มต้นงานให้แก่เอกชนผู้ชนะการคัดเลือกและเข้าเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนกับรฟม.
ส่วนการดำเนินงานส่วนตะวันออกนั้น ผู้ฟ้องคดี (BTSC) อ้างว่า งานก่อสร้างงานโยธาของโครงการพิพาทส่วนตะวันออก ตั้งแต่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยไปยังมีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่รฟม. เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานีเองนั้น จะพร้อมส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนผู้ชนะการประมูลโครงการพิพาทประมาณเดือนต.ค.2565 ตามที่ระบุไว้ในเอกสารการคัดเลือกเอกชน ซึ่งหากสามารถออกหนังสือให้เริ่มต้นงานได้ภายในเดือนธ.ค.2564 ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเปิดให้บริการในส่วนสายสีส้มตะวันออกเนื่องจากสามารถออกแบบ จัดซื้อและติดตั้งงานระบบ รวมถึงสามารถผลิตและประกอบขบวนรถไฟฟ้าได้ทัน
เมื่อศาลชั่งน้ำหนักจากขัออ้างของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายแล้ว ในชั้นนี้จึงเห็นว่า การที่ศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดี (BTSC) ตามมาตรา 66 แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ประกอบกับข้อ 72 วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจรณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ไม่เป็นอุปรรคแก่การบริหารงานของรัฐ หรือแก่บริหารสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองแต่อย่างใด
"จึงมีคำสั่งให้ทุเลการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (รฟม.) ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ที่ให้ใช้การประเมินซองที่ 2 ข้อเสนอทางเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมกันแล้วแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น" คำสั่งศาลฯระบุ
ทั้งนี้ ผลจากคำสั่งศาลฯดังกล่าว หากคณะกรรมการคัดเลือกฯ เดินหน้าประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ต่อไป จะต้องใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะประมูลตามทีโออาร์เดิม โดยคณะกรรมการฯคัดเลือกจะเปิดให้ผู้ซื้อซองยื่นข้อเสนอการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มในวันที่ 9 พ.ย.2563
สำหรับคดีดังกล่าว บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ฟ้องว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชน และวิธีการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคและข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา ส่วนตะวันตก การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคีดซึ่งเป็นผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ให้สัมภาษณ์สื่อหลังการประชุมบอร์ด รฟม. ในวันนี้ (21 ต.ค.) ว่า รฟม.ได้รายงานให้บอร์ดรับทราบคำสั่งศาลปกครองกลางที่มีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะประมูลโครงการถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกฯได้มีการแก้ไขเอกสารประกวดราคา (RFP) เพิ่มเติม โดยรฟม.จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวภายใน 30 วัน
ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯและรฟม. ยืนยันว่าจะเดินหน้ากระบวนการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเส้นนี้ต่อไป แต่ในระหว่างนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะพิจารณาว่าจะเปิดให้เอกชนยื่นซองข้อเสนอตามกำหนดเดิม คือ ในวันที่ 9 พ.ย. หรือจะเลื่อนออกไปหรือไม่
อ่านประกอบ :
ศาลฯไต่สวนนัดแรก 14 ต.ค.!คดี BTSC ฟ้อง ‘รฟม.’ แก้กติกาประมูลรถไฟฟ้าสาย 'สีส้ม' มิชอบ
รื้อกติกาทำเสียเปรียบ! บีทีเอสห่วงประมูล ‘สายสีส้ม’ ใช้ดุลพินิจมาก-ฟ้องศาลฯใช้TORเดิม
รื้อเกณฑ์ตัดสินประมูล ‘สายสีส้ม’ 1.4 แสนล. 'รฟม.' แหวก ‘กติกา’ รัฐร่วมทุนเอกชน
ครม.ไฟเขียวรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘บางขุนนนท์-มีนบุรี’ 1.42 แสนล.
ปิดดีลรถไฟฟ้า ‘สีส้ม’ ตะวันตก ‘ศักดิ์สยาม’ ชงสัญญาเดียว รัฐอุ้ม 10 ปี 9.6 หมื่นล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/