"...มีเหตุอันไม่สมควรตามกฎหมายที่องค์คณะและตุลาการเจ้าของสำนวนคดีนี้จะพิจารณาคดีหรือมีคำสั่งใดๆในคดีนี้ต่อไป อีกทั้งองค์คณะและตุลาการเจ้าของสำนวนคดียังมีสภาพร้ายแรง ซึ่งอาจทำให้การพิจารณารคดีไม่เป็นกลาง เสียความยุติธรรม และไม่สามารถให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณี..."
..................
ยังคงร้องกันวุ่น
สำหรับประเด็นการแก้ไขเอกสารประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน (RFP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งเปลี่ยน ‘หลักเกณฑ์การพิจารณา’ เป็นให้นำซองเทคนิค (ซองที่ 2) และซองราคา (ซองที่ 3) มาพิจารณาให้คะแนนรวมกัน 30 :70 หลังจากปิดขายซองประมูลไปแล้ว
แต่ว่าคราวนี้ เป็นการร้องเรียนที่เกิดขึ้นที่ศาลปกครอง
เพราะหลังจากเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2563 บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในเครือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต่อศาลปกครองกลาง
โดย BTSC ฟ้องว่าการแก้ไข RFP โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับและกำหนดมาตรการชั่วคราวก่อนพิพากษานั้น (อ่านประกอบ : ศาลฯไต่สวนนัดแรก 14 ต.ค.!คดี BTSC ฟ้อง ‘รฟม.’ แก้กติกาประมูลรถไฟฟ้าสาย 'สีส้ม' มิชอบ)
แต่ทว่าเพียง 5 วัน หลัง BTSC ยื่นฟ้องศาลปกครอง รฟม. ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทำหนังสือถึงประธานศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2563 เรื่องขอคัดค้านตุลาการศาลปกครองกลาง และขอให้มีการเปลี่ยน 'องค์คณะ' ในการตัดสินคดีพิพาทดังกล่าว
รฟม. ให้เหตุว่า เนื่องจากคำร้องขอทุเลาฯของ BTSC ที่มีการบรรยายว่า
“ยิ่งไปกว่านั้น ในการยื่นฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีได้เรียนต่อท่านอธิบดีศาลปกครองและท่านตุลาการเจ้าของสำนวนคดีแล้วว่า คดีของผู้ฟ้องคดีมีคำฟ้องสมบูรณ์ครบถ้วน และเป็นเรื่องที่มีเหตุตามกฎหมาย เหตุสมควร และความจำเป็นที่ศาลปกครองต้องพิจารณาและพิพากษาคดีโดยเร่งด่วน” นั้น
“หากข้อความตามคำร้องนี้เป็นความจริงย่อมมีผลกระทบต่อความเป็นกลางของตุลาการเจ้าของสำนวนคดีและอธิบดีศาลปกครองกลาง และย่อมกระทบต่อการอำนวยความยุติธรรมในการพิจารณาคดีของศาล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงขอคัดค้านตุลาการศาลปกครองที่พิจารณาคดีดังกล่าว”
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาศาลปกครองได้พิจารณาเปลี่ยนตัว ‘องค์คณะ’ ในการตัดสินคดีในศาลปกครองชั้นต้นตามที่ รฟม. ยื่นคำร้อง
กระทั่งในวันที่ 20 ต.ค.2563 ศาลปกครองกลางมีคำสั่ง ‘ทุเลา’ การบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของ รฟม. ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสาร RFP โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น (อ่านประกอบ : ห้ามใช้หลักเกณฑ์ใหม่ประมูลชั่วคราว! ศาลปค.สั่งคุ้มครองคดีรฟม.แก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า 'สีส้ม')
(ที่มา : คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 คดีพิพาทแก้ไข RFP โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี อ่านเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2563)
แต่ทว่าการร้องขอเปลี่ยนตัว 'องค์คณะ' ในการพิจารณาตัดสินคดีแก้ไขทีโออาร์รถไฟฟ้าสายสีส้ม กลับมาเป็นประเด็นในชั้นการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง
เพราะหลังจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ และรฟม.ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และต่อมาเมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 ศาลปกครองสูงสุดได้ไต่สวนคำขอระงับคำสั่งทุเลาของศาลปกครองชั้นต้น โดยตุลาการเจ้าของสำนวนคดีและองค์คณะได้ไต่สวนผู้ว่าการรฟม. และพนักงานอัยการนั้น
ปรากฏว่าในวันเดียวกัน คือ วันที่ 17 พ.ย.2563 ทาง BTSC ยื่นคำร้องคัดค้าน ‘องค์คณะและตุลาการเจ้าของสำนวนคดีในศาลปกครองสูงสุด' ต่อศาลปกครองสูงสุด
BTSC ระบุว่า “มีเหตุอันไม่สมควรตามกฎหมายที่องค์คณะและตุลาการเจ้าของสำนวนคดีนี้จะพิจารณาคดีหรือมีคำสั่งใดๆในคดีนี้ต่อไป อีกทั้งองค์คณะและตุลาการเจ้าของสำนวนคดียังมีสภาพร้ายแรง ซึ่งอาจทำให้การพิจารณารคดีไม่เป็นกลาง เสียความยุติธรรม และไม่สามารถให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณี...”
BTSC ยังขอให้องค์คณะและตุลาการเจ้าของสำนวนคดีในศาลปกครองสูงสุด คืนคดีกลับไปยังประธานศาลปกครองสูงสุด เพื่อแต่งตั้งองค์คณะและตุลาการเจ้าของสำนวนคดีใหม่ พร้อมระบุข้อเท็จจริงที่เป็นข้อพิรุธและข้อสงสัยที่ทำให้เกิดความเคลือบแคลงในองค์คณะและตุลาการเจ้าของสำนวนคดี สรุปได้ 2 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 (คณะกรรมการ ม.36 และรฟม.) ยื่นเอกสารประกอบการอุทธรณ์เข้ามาเกือบ 400 หน้า และศาลปกครองสูงสุดมีประเด็นให้ BTSC ชี้แจงเพิ่มเติมเพื่อประกอบการไต่สวน ซึ่งมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณามาก แต่ให้เวลา BTSC ทำคำแก้อุทธรณ์ คำคัดค้าน และคำชี้แจงฯในเวลาไม่ถึง 2 วันทำการ
ประเด็นที่ 2 BTSC ขอให้ศาลปกครองสูงสุด เลื่อนวันนัดไต่สวนออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 17 พ.ย.2563 เนื่องจากหัวหน้าคณะทำงานของคดีพิพาทนี้ของ BTSC ซึ่งเป็นพยานผู้เบิกความและให้ถ้อยคำหลักในสำนวนคดี ติดนัดไต่สวนคดีอื่น จึงไม่สามารถเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาและไต่สวนได้
แต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดี (BTSC) ขยายเวลายื่นคำคู่ความและเอกสารต่างๆ โดยระบุว่า “ไม่อนุญาต เนื่องจากศาลได้ให้เวลาเพียงพอและเหมาะสมกับรูปคดีแล้ว”
ศาลฯยังมีคำสั่งว่า “หมายนัดไต่สวนส่งให้คู่กรณีตามข้อ 16 ของระเบียบที่ประชุมใหญ่ฯ โดยมีผู้รับไว้โดยชอบแล้ว และกำหนดเวลานัดไต่สวนดังกล่าวเพียงพอและเหมาะสมแล้ว จึงไม่อนุญาต” ทั้งๆที่ BTSC ชี้แจงถึงความจำเป็นที่มีเหตุผลและมีเอกสารหลักฐานประกอบการชี้แจงโดยชอบ แต่ศาลปกครองสูงสุดก็ไม่รับฟัง
“คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดจึงเป็นจึงเป็นการกระทำที่ผิดปกติ ไม่เป็นธรรม และปิดกั้นสิทธิโดยชอบของผู้ฟ้องคดี โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีมีเวลาในการเตรียมการ ต่อสู้คดี แสดงพยานหลักฐานและเอกสารโต้แย้งคัดค้านของฝ่ายผู้ฟ้องคดีอย่างเต็มที่
ซึ่งเมื่อกรณีเป็นเช่นนี้แล้ว ย่อมก่อให้เกิดผลเสียแก่ผู้ฟ้องคดีในการต่อสู้คดีนี้ จนทำให้เสมือนว่าคู่กรณีที่แท้จริงไม่มีโอกาสเข้าต่อสู้คดี และทำให้คดีมีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีและทำให้ผลแห่งคดีอาจไม่เป็นธรรมหรือเกิดความอยุติธรรมได้” คำร้องคัดค้านองค์คณะและตุลาการเจ้าของสำนวนคดีในศาลปกครองสูงสุดของ BTSC เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 ระบุ
(ที่มา : คำร้องคัดค้านองค์คณะและตุลาการเจ้าของสำนวนคดีในศาลปกครองสูงสุดของ BTSC เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563)
ต่อมาวันที่ 18 พ.ย.2563 ทาง BTSC ยังยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง 1 ฉบับ และถึงประธานศาลปกครองสูงสุด 1 ฉบับ
โดย BTSC ร้องว่า ตุลาการเจ้าของสำนวนและองค์คณะ (ตุลาการเจ้าของสำนวนคดี 1 ราย และองค์คณะ 1 ราย) กระทำผิดวินัย โดยขอให้คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงตุลาการทั้ง 2 ราย และขอให้เปลี่ยนแปลงตุลาการเจ้าของสำนวนคดีและองค์คณะดังกล่าว และ/หรือขอให้ตุลาการเจ้าของสำนวนคดีและองค์คณะท่านดังกล่าวถอนตัวและคืนสำนวนคดี
ล่าสุดวันที่ 25 พ.ย.2563 BTSC ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ จากการดำเนินการกระบวนการไต่สวนคดีเมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 ของตุลาการทั้ง 2 รายทั้งหมด เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง
พร้อมทั้งขอให้ศาลพิจารณาดำเนินการให้ตุลาการเจ้าของสำนวนคดีกับองค์คณะ หยุดปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาคดีนี้โดยทันทีเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับการคัดค้านตุลาการ การร้องเรียน และการสอบสวนวินัยของตุลาการทั้ง 2 ราย (อ่านประกอบ : ศึกชิงสายสีส้ม 1.4 แสนล.เดือด! ‘บีทีเอส’ ร้องสอบวินัย 2 ตุลาการ-เพิกถอนกระบวนพิจารณา)
เหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ศาลปกครอง ในระหว่างการพิจารณาไต่สวนคดีพิพาทแก้ไขทีโออาร์รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี มูลค่า 1.42 แสนล้านบาท ระหว่าง 'บีทีเอส' และ 'รฟม.' ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
(ที่มา : คำร้องขอเพิกถอนกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบในศาลปกครองสูงสุดของ BTSC เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2563)
อ่านประกอบ :
ศึกชิงสายสีส้ม 1.4 แสนล.เดือด! ‘บีทีเอส’ ร้องสอบวินัย 2 ตุลาการ-เพิกถอนกระบวนพิจารณา)
'ศาลปกครองสูงสุด' นัดไต่สวนคำร้อง คดี 'รฟม.' แก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’
ยื่นซองข้อเสนอ 2 ราย! ‘BEM-กลุ่มบีเอสอาร์’ แข่งประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ 1.4 แสนล.
ห้ามใช้หลักเกณฑ์ใหม่ประมูลชั่วคราว! ศาลปค.สั่งคุ้มครองคดีรฟม.แก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า 'สีส้ม'
ศาลฯไต่สวนนัดแรก 14 ต.ค.!คดี BTSC ฟ้อง ‘รฟม.’ แก้กติกาประมูลรถไฟฟ้าสาย 'สีส้ม' มิชอบ
รื้อกติกาทำเสียเปรียบ! บีทีเอสห่วงประมูล ‘สายสีส้ม’ ใช้ดุลพินิจมาก-ฟ้องศาลฯใช้TORเดิม
รื้อเกณฑ์ตัดสินประมูล ‘สายสีส้ม’ 1.4 แสนล. 'รฟม.' แหวก ‘กติกา’ รัฐร่วมทุนเอกชน
ครม.ไฟเขียวรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘บางขุนนนท์-มีนบุรี’ 1.42 แสนล.
ปิดดีลรถไฟฟ้า ‘สีส้ม’ ตะวันตก ‘ศักดิ์สยาม’ ชงสัญญาเดียว รัฐอุ้ม 10 ปี 9.6 หมื่นล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/