‘จิรายุ’ ชำแหละประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เผยใช้เวลาแค่ 16 วันแก้กติกาประมูลเอื้อเอกชนบางกลุ่ม แม้มีเสียงค้านจากสำนักงบฯ เตือนข้าราชการระวัง 'ติดคุก' แทนนาย ขณะที่ ‘ศักดิ์สยาม’ ถามกลับเอื้อประโยชน์ เพราะยังไม่รู้เลยว่าใครชนะประมูลเลย แจงแก้ไข RFP พิจารณาซองเทคนิคคู่ซองราคา หวั่นเกิดเหตุซ้ำรอยน้ำรั่วเข้าสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
........................
เมื่อวันที่ 18 ก.พ. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กรณีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และต่อมาคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมทุนโครงการฯ ประกาศยกเลิกการประมูลเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564
นายจิรายุ อภิปรายว่า การเปลี่ยนแปลงเอกสารประกวดราคา (RFP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เรียกว่าเป็น ‘ปฏิบัติการ 16 วันทันใจนาย’ เพราะคณะกรรมการคัดเลือกฯ 8 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่กระทรวงคมนาคมส่งมา มีมติเห็นชอบแก้ไข RFP โดยเปลี่ยนหลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกผู้ชนะประมูล เป็นการพิจารณาซองเทคนิคร่วมกับซองราคา จากเดิมที่เป็นการพิจารณาซองเทคนิคก่อน แล้วค่อยมาเปิดซองราคา และยังเป็นการแก้ไข RFP หลังปิดขายซองไปแล้ว
ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลง RFP ดังกล่าว ใช้เวลาเพียง 16 วัน หรือนับตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค.2563 ซึ่งบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ยื่นหนังสือขอเปลี่ยนแปลงวิธีการคัดเลือกเอกชน และต่อมาวันที่ 21 ส.ค.2563 ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติเห็นชอบเปลี่ยนแปลง RFP แม้ว่าหนึ่งในคณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งเป็นผู้แทนจากสำนักงบประมาณ จะไม่เห็นด้วยและลงมติไม่เห็นชอบกับการเปลี่ยนแปลง RFP ดังกล่าว
เนื่องจากเห็นว่าการประมูลโครงการขนาดใหญ่ที่ผ่านมา เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ก็ใช้วิธีเปิดซองเทคนิคก่อนแล้วจึงเปิดซองราคา และหากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ โดยเฉพาะงานอุโมงค์เป็นการก่อสร้างที่ต้องใช้เทคนิคสูง ก็สามารถใช้วิธีกำหนดเกณฑ์คะแนนเทคนิคไว้สูงๆ เช่น กำหนด 85 คะแนน เป็นต้น รวมทั้งมีการตั้งคำถามว่าการแก้ไข RFP หลังจากเปิดประมูลไปแล้วจะขัดกฎหมายหรือไม่ และจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางรายหรือไม่
แต่ปรากฎว่านายภคพงษ์ ศิริกันธรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ซึ่งเข้ามามาร่วมประชุมกับคณะกรรมการคัดเลือกฯในวันที่ 21 ส.ค.2563 ด้วย บอกว่าการแก้ไข RFP ทำได้ RFP เพราะสงวนสิทธิ์ให้มีการแก้ไข RFP ได้ และขอให้บริษัทที่ปรึกษาโครงการ (BMTO) ให้ความเห็น ซึ่งนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาฯ บอกว่า เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ต้องขุดอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำ ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผ่านห้างรัชดา และผ่านใต้โทลเวย์ จึงควรเปลี่ยนเงื่อนไข
“ท่านภคพงษ์ ซึ่งไม่ใช่คณะกรรมการคัดเลือกฯ บอกว่าแก้เกณฑ์ใหม่ จะทำให้รถไฟฟ้าสายสีส้มมีคุณภาพสูงสุด เพราะอยู่ได้ 30 ปี พี่เพิ่งรู้เหรอ มันเพิ่งมีเมื่อวานนี้หรือโครงการนี้ จะทำรถไฟฟ้าใต้ดินเขาศึกษา 10 ปี แต่ผู้แทนสำนักงบฯบอกว่า รฟม.เคยสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินลอดใต้แม่น้ำมาแล้ว หากจะให้มีคุณภาพและมาตรฐานสูงก็กำหนดเกณฑ์ให้สูงขึ้น แต่ผู้ว่าฯรฟม.บอกว่าแนวคิดที่เสนอสร้างความมั่นใจระดับหนึ่ง แต่เปลี่ยนตามที่ปรึกษาฯเสนอจะดีกว่า” นายจิรายุกล่าว
นายจิรายุ กล่าวว่า ที่สุดแล้วคณะกรรมการคัดเลือกฯมีมติเห็นชอบเปลี่ยนแปลง RFP โดยผู้แทนจากสำนักงบฯลงมติไม่เห็นด้วย และมีหนังสือยืนยันอีกครั้งว่าไม่เห็นด้วยกับมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ขณะที่นายกีรติ ซึ่งเป็นตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาฯ ต่อมาได้ลาออกจากบริษัทที่ปรึกษาฯ และได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เป็นรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. สายงานวิศกรรมการก่อสร้าง
“นักลงทุนที่ไหนจะกล้าเข้ามา ถ้าไทยยังทำแบบนี้ นี่ขนาดคนไทยด้วยกัน ถ้าประมูลตรงไปตรงมา ใช้กฎเกณฑ์ที่เป็นธรรม ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง ผมไม่สนใจหรอก แต่ถ้าเขียนกติกาแบบนี้ พี่น้องประชาชนฟังแล้วเป็นอย่างไร ท่านนายกฯ ท่านรัฐมนตรี บริหารโดยเห็นแก่ประโยชน์พวกพ้อง โดยไม่คำนึงผลเสียหายที่เกิดกับประเทศชาติและประชาชนเลยแม้แต่น้อย ท่านยังกล้าทำ” นายจิรายุกล่าว
จากนั้นนายศักดิ์สยาม ได้ชี้แจงถึงความเป็นมาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และชี้แจงถึงที่มาของการแก้ไข RFP ว่า เนื่องจากในการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินบางโครงการ คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เกิดมีปัญหาน้ำรั่วเข้าไปสถานี และสิ่งปลูกสร้างตามแนวก่อสร้างเกิดรอยแตกร้าว ดังนั้น เทคนิคการก่อสร้างจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯต้องผ่านย่านชุมชนที่หนาแน่น จึงต้องความสำคัญกับเรื่องเทคนิคก่อสร้าง
ขณะเดียวกัน การแก้ไข RFP สามารถทำได้ เพราะ RFP ได้มีการสงวนสิทธิให้ รฟม.สามารถแก้ไข RFP รวมทั้งให้สิทธิในการยกเลิกการประมูลได้
“มีการกล่าวหาว่าผมดำเนินการ โดยการเอื้อประโยชน์ ก็ต้องถามท่านให้ชัดๆว่าเอื้อประโยชน์ใคร ใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์ เพราะโครงการนี้ ยังไม่มีการที่จะตัดสินว่าใครชนะการประกวดราคา ยังไม่ได้เปิดซองเลย สิ่งเหล่านี้ทางกระทรวงคมนาคม ได้พยายามดำเนินการตามระเบียบ กฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่ และท่านนายกรัฐมนตรี ก็สั่งการในเรื่องดำเนินการสิ่งเหล่านี้มาตลอดแล้ว
ซึ่งผมก็ต้องถามว่า สิ่งที่สมาชิกผู้ทรงเกียรติอภิปรายมานั้น ผิดกฎหมายตรงไหน แล้วเกี่ยวข้องกับรมว.คมนาคมอย่างไร ที่ไม่ไปกำกับดูแล และสิ่งที่สำคัญ ผมต้องเรียนว่า สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ท่านเอาข่าวมาปะติดปะต่อ ใช้จินตนาการของท่านหรือเปล่า” นายศักดิ์สยามกล่าว
นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า หลังยกเลิกการประมูลโครงการฯแล้ว รฟม.จะจัดทำมาเก็ตซาวดิ้งในเดือนก.พ.นี้ หลังจากเสร็จสิ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และในเดือนมี.ค.2564 จะออกประกาศเชิญชวน (RFP) และเปิดเอกชนจัดทำและยื่นซองข้อเสนอในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.2564 จากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกฯจะประเมินข้อเสนอและคัดเลือกเอกชน โดยจะเจรจาต่อรองให้แล้วเสร็จในเดือนพ.ค.-ก.ค. และเสนอเข้าครม.ในเดือน ก.ค.2564 หรือใช้เวลาทั้งหมด 6 เดือน
นอกจากนี้ นายศักดิ์สยาม ยังชี้แจงถึงการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเฉพาะกรณีที่กระทรวงคมนาคมมีความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับต่อสัญญา โดยระบุว่า เนื่องจากกรมการขนส่งทางรางได้หารือกับ รฟม. และผู้เกี่ยวข้อง และมีความเห็นเพิ่มเติมใน 4 ประเด็น กระทรวงคมนาคมจึงนำเรื่องเสนอครม.รับทราบ ส่วนการปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว กระทรวงฯกำลังรอกรุงเทพมหานคร (กทม.) เชิญเข้าไปหารือ
อย่างไรก็ตาม นายจิรายุ ได้ลุกขึ้นอภิปรายเพิ่มเติมว่า “ถ้าไม่มีการร้องเกิดขึ้นมา ไม่มีศาลปกครอง ไม่มีการยื่นอุทธรณ์ มันจะเกิดการคว่ำหรือไม่ ถ้าทำตามครรลองคลองธรรม และรมว.คมนาคมก็ไม่ได้เพิ่งมา ท่านมาตั้งแต่ปี 2562 มันไม่ใช่เพิ่งเริ่ม ผมจึงสงสัยว่าตกลงแล้ว ท่านเพิ่งมาคิดได้หรืออย่างไร ชื่อเสียงของท่านดี แต่ไม่อยากให้คนของท่าน ลูกน้องของท่านไปติดคุกแทนท่าน มีกฎหมายหลายฉบับที่เอาผิดข้าราชการที่ทำผิดกฎหมายต่างๆ และถ้าท่านเปิดประมูลใหม่ และใช้เกณฑ์ใหม่ แสดงว่าความผิดสำเร็จ เป็นไปตามเป้าหมาย 16 วัน ปฏิบัติการเอาใจนายได้สำเร็จ”
วันเดียวกัน สภาองค์กรของผู้บริโภคออกแถลงการณ์ข้อเสนอด้านราคาในการต่อสัมปทานสายสีเขียว โดยระบุว่าจากการติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เรื่องรถไฟฟ้าและการต่อสัญญาสัมปทาน เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องต่อสัญญา สภาองค์กรของผู้บริโภคมีข้อเสนอแนะและข้อสังเกต ดังนี้
1.ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีเขียวสามารถลดเหลือเพียง 25 บาทต่อเที่ยวได้ รัฐยังมีกำไรและสามารถนำเงินส่งรัฐได้มากถึง 23,200 ล้านบาท และหากคิดค่าบริการ 49.83 บาท ตามข้อมูลที่กระทรวงคมนาคมเสนอ จะสามารถนำเงินส่งรัฐได้สูงถึง 380,200 ล้านบาท
สภาองค์กรของผู้บริโภค มีโอกาสได้รับทราบข้อมูลของกระทรวงคมนาคม ที่ถูกนำเสนอในการประชุมกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่า กรุงเทพมหานครสามารถคืนหนี้สินได้ทั้งหมด แถมยังมีเงินเหลือนำส่งรัฐบาลได้มากถึง 380,200 ล้านบาท ในปี 2602 โดยใช้การคำนวณค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ผู้บริโภคต้องจ่ายในราคา 49.83 บาท สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงได้ทดลองทำข้อมูลเปรียบเทียบ หากลดราคาค่าโดยสารลงร้อยละ 50 เหลือเพียง 25 บาท ยังสามารถทำได้และมีกำไรอีกด้วย
2.มูลค่าหนี้ที่แท้จริงของกรุงเทพมหานคร ไม่มีความชัดเจน สร้างความสับสน
กรุงเทพมหานคร ใช้ตัวเลขหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวให้เกินจริง โดยผนวกรวมหนี้ใน 8 ปีข้างหน้าที่ยังไม่เกิดรวมเป็นหนี้สินในปัจจุบัน เพื่อเป็นข้ออ้างต่ออายุสัมปทานสายสีเขียวอีก 30 ปี รวม 38 ปีอย่างไม่โปร่งใส ไม่มีข้อมูล ไม่มีที่ไปที่มาของค่าโดยสารรถไฟฟ้า
จากตัวเลขหนี้จำนวน 148,716.2 ล้านบาท (อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ 14 กุมภาพันธ์ 2564) ที่ กทม. อ้างขึ้นมาเพื่อแลกกับการต่ออายุสัมปทานแล้วคิดค่าโดยสารตลอดสาย 15 - 65 บาท หรือ 130 บาท ในการเดินทางไปกลับ เป็นการสร้างภาระให้กับผู้บริโภคล่วงหน้า 38 ปี
โดยตัวเลขที่กรุงเทพมหานคร ค้างจ่ายจริง ณ ปัจจุบัน มีเพียง 34,837.00 ล้านบาทเท่านั้น แบ่งเป็นหนี้การลงทุนโครงสร้าง 18,145.00 ล้านบาท เงินชดเชยส่วนต่อขยาย 7,090.00 ล้านบาท หนี้ค้างชำระเดินรถ 3 ปี 9 เดือน 9,602.00 ล้านบาท
ทั้งนี้ มูลค่าหนี้ที่แตกต่างกันถึง 113,879.2 ล้านบาท โดยคิดรวมจากค่าใช้คืนดอกเบี้ยและค่างานระบบในอนาคต จนถึงปี 2572 ถึงหมดอายุสัมปทานเป็นเงิน 88,904 ล้านบาท และหนี้ค้างเดินรถส่วนต่อขยาย ตั้งแต่ปี 2562 - 2572 อีก 21,132 ล้านบาท ฯลฯ ทั้งหมดนี้ได้ถูกนำมาเป็นยอดหนี้รวมปัจจุบันของกทม. เพื่อแลกกับการต่ออายุสัมปทานไปอีก 30 ปี
3.สภาขององค์กรผู้บริโภคเสนอให้กรุงเทพมหานคร ยุติการดำเนินการต่อสัญญาสัมปทาน และรอการตัดสินใจจากผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่กำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น พร้อมเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่น หนี้สิน ดอกเบี้ย การคิดค่าจ้างเดินรถ รายได้จากการเดินรถ รายได้จากการพัฒนาสถานี การโฆษณา เป็นต้น
ราคา 15 - 65 บาท ตลอดสายไปกลับ 130 บาทต่อวัน เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงถึงร้อยละ 39.27 ของค่าแรงขั้นต่ำ 331 บาท ในกรุงเทพมหานคร เป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนยาวนานถึง 38 ปี จนถึงปี 2602 ทำให้บริการรถไฟฟ้าไม่สามารถเป็นบริการขนส่งมวลชนได้จริง ไม่สามารถลดปัญหารถติดในกรุงเทพมหานครได้ ดังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคาดหวังและชี้แจงในสภาผู้แทนราษฎร
สภาองค์กรของผู้บริโภค หวังว่า จะได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูล ภาระหนี้ การคิดราคาค่าบริการ การจ้างบริการเดินรถ หรือการสร้างทางเลือกของแหล่งรายได้อื่นของกรุงเทพมหานคร ในการสนับสนุนบริการรถไฟฟ้าให้เป็นบริการขนส่งมวลชนและให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ตรวจสอบสัญญาที่จะสร้างภาระให้กับผู้บริโภค
อ่านประกอบ :
โชว์ชัดๆ ‘ข้อดี-ข้อเสีย’! ก่อนรฟม.ล้มประมูล ‘สายสีส้ม’ โยน 'บิ๊กตู่' ชี้ขาดกติกาใหม่
รฟม.คาดประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ รอบใหม่ ใช้เวลา 6-8 เดือน
หวั่นโครงการล่าช้า! บอร์ดคัดเลือกฯ ล้มประมูล ‘สายสีส้ม’-รฟม.เร่งร่างทีโออาร์ใหม่
ชี้ขาดวันนี้! จับตาบอร์ดคัดเลือกฯล้มประมูล ‘สายสีส้ม’-ชงครม.รับทราบใช้กติกาใหม่
ร้าวลึก! 'บีทีเอส-ภูมิใจไทย' ขัดแย้ง 'สีส้ม' ลามสัมปทาน ‘สีเขียว’-เบรกต่อขยาย 'สีชมพู'
ทูลเกล้าถวายฎีกา! ‘ประธานบีทีเอส’ กรณีรฟม.แก้กติกาประมูลสาย ‘สีส้ม’
เบื้องลึก ‘รฟม.-บีทีเอส’ ร้องกันนัว เปลี่ยนตัว ‘ตุลาการ’ศาล ปค.คดีแก้ทีโออาร์สายสีส้ม
ศึกชิงสายสีส้ม 1.4 แสนล.เดือด! ‘บีทีเอส’ ร้องสอบวินัย 2 ตุลาการ-เพิกถอนกระบวนพิจารณา)
'ศาลปกครองสูงสุด' นัดไต่สวนคำร้อง คดี 'รฟม.' แก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’
ยื่นซองข้อเสนอ 2 ราย! ‘BEM-กลุ่มบีเอสอาร์’ แข่งประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ 1.4 แสนล.
ห้ามใช้หลักเกณฑ์ใหม่ประมูลชั่วคราว! ศาลปค.สั่งคุ้มครองคดีรฟม.แก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า 'สีส้ม'
ศาลฯไต่สวนนัดแรก 14 ต.ค.!คดี BTSC ฟ้อง ‘รฟม.’ แก้กติกาประมูลรถไฟฟ้าสาย 'สีส้ม' มิชอบ
รื้อกติกาทำเสียเปรียบ! บีทีเอสห่วงประมูล ‘สายสีส้ม’ ใช้ดุลพินิจมาก-ฟ้องศาลฯใช้TORเดิม
รื้อเกณฑ์ตัดสินประมูล ‘สายสีส้ม’ 1.4 แสนล. 'รฟม.' แหวก ‘กติกา’ รัฐร่วมทุนเอกชน
ครม.ไฟเขียวรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘บางขุนนนท์-มีนบุรี’ 1.42 แสนล.
ปิดดีลรถไฟฟ้า ‘สีส้ม’ ตะวันตก ‘ศักดิ์สยาม’ ชงสัญญาเดียว รัฐอุ้ม 10 ปี 9.6 หมื่นล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/