“…การเขียนข้อกำหนดต่างๆ รฟม.ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าอยากได้อะไร และการที่เขียนอย่างนั้นๆ เป็นการปิดกั้นคนอื่นหรือไม่ เปิดกว้างให้หลายๆเจ้าเข้ามาได้หรือไม่ ต้องเขียนให้ชัดเจนไปเลย ถ้าทุกอย่างออกมาชัดเจนก็ตอบคำถามสังคมได้หมดว่า เหตุผลที่เขียนอย่างนั้นอย่างนี้ มาจากอะไร…”
................
แม้จะประกาศล้มประมูลไปแล้ว และเดินหน้าเปิดประมูล ‘รอบใหม่’ ไปแล้ว สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ไม่สามารถประเมินได้ว่าคดีพิพาทกรณีเปลี่ยน ‘กติกา’ การคัดเลือกผู้ประมูล หลังปิดขายซอง จนมีการฟ้องร้องในศาลปกครองนั้น จะได้สรุปเมื่อใด ส่งผลโครงการล่าช้า (อ่านประกอบ : หวั่นโครงการล่าช้า! บอร์ดคัดเลือกฯ ล้มประมูล ‘สายสีส้ม’-รฟม.เร่งร่างทีโออาร์ใหม่)
ที่สำคัญเมื่อชั่งน้ำหนัก ‘ข้อดี-ข้อเสีย’ ระหว่าง 2 ทางเลือก คือ ทางเลือกแรก ‘ไม่ยกเลิกการประมูล’ กับ ทางเลือกที่สอง ‘ยกเลิกการคัดเลือกและเริ่มกระบวนการคัดเลือกใหม่’ คณะกรรมการคัดเลือกฯ เห็นพ้องกับข้อเสนอแนะของที่ปรึกษาฯที่เสนอให้เลือกแนวทางที่สอง คือ ยกเลิกการคัดเลือกและเริ่มกระบวนประมูลใหม่ เพราะมีข้อดี 6 ข้อ ได้แก่
1.สามารถเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายใน 6-8 เดือน
2.ลดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดจากการดูแลบำรุงรักษาโครงสร้างโยธาส่วนตะวันออกที่แล้วเสร็จและลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ โดยอาจจะสามารถเจรจาให้ผู้ชนะการคัดเลือกเร่งรัดการดำเนินการงานได้อีก
3.สร้างความเชื่อมั่นของเอกชนในการร่วมลงทุนกับโครงการของรัฐ
4.ลดความเสี่ยงทางคดีที่จะเกิดขึ้น โดยสามารถถอนอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับตามเกณฑ์การประเมินใหม่ในชั้นศาลปกครองสูงสุด และขอยุติคดีหรือจำหน่ายคดีหลักในชั้นศาลปกครองกลางได้ ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อการคัดเลือกใหม่
5.เกิดความชัดเจนในการดำเนินงานของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ เนื่องจากได้รายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบก่อนการดำเนินการแล้ว
6.ลดความเสี่ยงในการถูกร้องเรียน หรือการคัดค้านในกระบวนการคัดเลือกและเสนอผลคัดเลือก
ขณะที่ข้อเสียมีเพียงข้อเดียว คือ ‘ต้องยกเลิกการคัดเลือก’
ส่วนกรณี ‘ไม่ยกเลิกการประมูล’ ที่ปรึกษาฯระบุว่า มีข้อเสีย 5 ข้อ ได้แก่
1.การคัดเลือกเอกชนจะต้องล่าช้าออกไปไม่น้อยกว่า 21-26 เดือน ขึ้นอยู่กับผลการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเมื่อทราบผลการพิจารณาฯแล้ว จึงจะสามารถดำเนินการให้สอดคล้องต่อไปได้
2.มีความเสี่ยงทางคดี โดยเฉพาะในกรณีที่แพ้คดีในศาลปกครองสูงสุด คณะกรรมการฯ จะต้องยกเลิกการคัดเลือกและเริ่มการคัดเลือกใหม่ ทำให้โครงการล่าช้า เกิดความเสียหายแก่รัฐ
3.ความล่าช้าที่เกิดขึ้นจะทำให้การเปิดให้บริการส่วนตะวันออกล่าช้าออกไปจากเดือนมี.ค.2567 เป็นเดือนมี.ค.2569 ทำให้ รฟม. มีค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษางานโยธาส่วนตะวันออกที่แล้วเสร็จ (Care of Works) เพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลาประมาณ 24 เดือน คิดเป็นประมาณ 990 ล้านบาท และทำให้การเปิดให้บริการล่าข้าออกไปทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าประมาณ 81,288 ล้านบาท
4.การเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯล่าช้าออกไป จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของเอกชนในการร่วมลงทุนกับโครงการของรัฐ
5.มีภาระในการชี้แจงหน่วยงานตรวจสอบและสังคมที่สืบเนื่องมาจากข้อพิพาทและความล่าช้าที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ แนวทางที่สองมีข้อดีเพียง ‘ข้อเดียว’ คือ ‘ไม่ต้องยกเลิกการคัดเลือก’
ที่มา : วาระพิจารณาแนวทางการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการคัดเลือกฯยังมีมติเห็นชอบในหลักการการ ‘คัดเลือกเอกชน’ โดยคัดเลือกผู้ชนะจากคะแนนข้อเสนอทางด้านเทคนิค (ซองที่ 2) ร่วมกับข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน (ซองที่ 3) ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ ได้เคยเห็นชอบไว้แล้ว
พร้อมทั้งมอบให้ รฟม. พิจารณาจัดทำร่างประกาศเชิญชวน และร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนตามหลักการดังกล่าว เพื่อเสนอให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ พิจารณา และให้ รฟม. รายงานกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอให้คณะรัฐนตรี (ครม.) รับทราบการใช้เกณฑ์การประมินข้อเสนอดังกล่าวเพื่อให้เกิดความ ‘ชัดเจน’ ก่อนที่จะดำเนินการคัดเลือกเอกชนตามขั้นตอนต่อไป
แต่ทว่ามติของคณะกรรมการคัดเลือกฯที่ให้การ ‘ล้มประมูล’ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และเริ่มต้น ‘นับหนึ่ง’ กระบวนการประมูลรอบใหม่ ทำให้ ‘กลุ่มบีทีเอส’ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยน ‘กติกา’ การคัดเลือกผู้ชนะระหว่างการเปิดประมูลรอบที่แล้ว กำลังรอดูว่าเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) จะเป็นอย่างไร
“ขอดูทีโออาร์ก่อน” สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กล่าวเพียงสั้นกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงที่ท่าทีของกลุ่มบีทีเอสในการเข้าร่วมการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รอบใหม่
ขณะที่ สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจีสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า แม้ว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯจะมีมติเห็นชอบหลักการคัดเลือกผู้ชนะประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่ โดยนำซองเทคนิคมาพิจารณาร่วมกับซองราคา แต่อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าจะเป็นเช่นนั้น
“อย่าเพิ่งไปด่วนสรุป เพราะการกำหนดประกาศเชิญชวนและเงื่อนไขการคัดเลือกใหม่ ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นกัน ซึ่งความเห็นมีร้อยแปดพันเก้า ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย…
และถ้าสุดท้ายเขา (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) สรุปมาอย่างนั้น เขาต้องตอบได้ว่าเพราะอะไร และคำตอบพวกนี้ต้องเผยแพร่ต่อสาธารณะระดับหนึ่ง ในขณะที่การรับฟังความเห็นมีการบันทึก มีข้อมูล และรับฟังหลายส่วน ไม่ใช่รวบหัวรวบหางแล้วทำตามอำเภอใจได้ เพราะกระบวนการที่ออกแบบไว้มีความรัดกุมระดับหนึ่ง” สุเมธกล่าว
(สุเมธ องกิตติกุล)
สุเมธ ให้ความเห็นว่า การคัดเลือกผู้ชนะประมูล โดยนำซองเทคนิคมาพิจารณาให้คะแนนร่วมกับซองราคานั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ อย่างงานอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเป็นงานก่อสร้างที่ต้องใช้เทคนิคก่อสร้างสูง หากปล่อยให้ฟันราคากันเละเทะ แล้วก่อสร้างไม่ได้ หรือสร้างแล้วอุโมงค์รั่ว จึงต้องนำคะแนนเทคนิคมาพิจารณาร่วมกับซองราคา เพื่อให้ก่อสร้างสำเร็จและงานมีคุณภาพดี
แต่สิ่งที่น่าแปลกใจ คือ สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งเป็นการรวมสัญญาสัมปทานเดินรถ และสัญญาก่อสร้างงานโยธาเข้าไว้ด้วยกันนั้น แต่กลับมีการกำหนดสัดส่วนคะแนนเทคนิคไว้ที่ 30 คะแนนจาก 100 คะแนน จึงเป็นคำถามว่าสัดส่วนของคะแนนเทคนิคที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่
“การเอาเรื่องราคาบวกเทคนิค ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้าจะแปลก คือ การเอาซองเทคนิคมาพิจารณารวมกันทั้งโครงการ ซึ่งประกอบด้วยสัมปทานเดินรถ และการก่อสร้าง เพราะถ้าโครงการนี้แยกการก่อสร้างและเดินรถออกจากกัน ก็ไม่น่าจะไม่มีปัญหาอะไร ถ้าเป็นการเดินรถก็ดูราคาอย่างเดียว ส่วนการก่อสร้างก็มาดูเรื่องเทคนิคด้วย” สุเมธกล่าว
สุเมธ ตั้งข้อสังเกตว่า “รถไฟฟ้าที่เป็นสัญญาสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) น่าจะเป็นโครงการแรกๆที่เอาเทคนิคมาร่วมพิจารณาทั้งโครงการ ต่างจากสัมปทานที่ผูกสัญญาก่อสร้างและเดินรถโครงการอื่น เช่น รถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีเหลือง และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ใช้ราคาเป็นตัวตัดสินเพียงอย่างเดียว"
(ที่มา : สุเมธ องกิตติกุล)
ด้าน อังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ ระบุว่า การใช้เกณฑ์คุณภาพ (เทคนิค) มาพิจารณาร่วมกับราคา หรือที่ในต่างประเทศเรียกว่า ‘Price Performance’ นั้น หากเอาใช้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รฟม.ต้องกำหนดกติกาให้ชัดเจน และลดการใช้ดุลพินิจลง
“สายสีส้มไม่ใช่ก่อสร้างธรรมดา เพราะมีการให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐด้วย ดังนั้น จึงต้องดูกติกาและข้อกำหมดของ รฟม.ว่า จะเป็นอย่างไร ขณะที่การนำเกณฑ์ Price performance มาใช้นั้น การให้คะแนนเทคนิค จะต้องมีสิ่งที่พิสูจน์หรือสัมผัสได้ และหากให้มีการใช้ดุลพินิจอะไรอย่างนี้ คงจะไม่ค่อยดีนัก เพราะมีข้อครหาได้” อังสุรัสมิ์กล่าว
อังสุรัสมิ์ เสนอว่า “การเขียนข้อกำหนดต่างๆ รฟม.ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าอยากได้อะไร และการที่เขียนอย่างนั้นๆ เป็นการปิดกั้นคนอื่นหรือไม่ เปิดกว้างให้หลายๆเจ้าเข้ามาได้หรือไม่ ต้องเขียนให้ชัดเจนไปเลย ถ้าทุกอย่างออกมาชัดเจนก็ตอบคำถามสังคมได้หมดว่า เหตุผลที่เขียนอย่างนั้นอย่างนี้ มาจากอะไร”
(อังสุรัสมิ์ อารีกุล)
อังสุรัสมิ์ ยังให้ความเห็นว่า ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยที่จะภาครัฐสนับสนุนผู้รับเหมาไทยให้เป็นผู้ดำเนินการหลักในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯสายนี้ แต่หากการก่อสร้างบางอย่างผู้รับเหมาไทยทำไม่ได้ หรือผู้รับเหมาที่ทำงานนั้นๆได้มีเพียงกลุ่ม และต้องนำผู้รับเหมาจากต่างประเทศเข้ามา เช่น งานอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยานั้น รฟม.ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี
“ต้องถามกันตรงๆว่า รฟม.ต้องการแข่งขันหรือเปล่า ถ้าต้องการให้มีการแข่งขัน ก็ต้องมีแต้มต่อให้กับคนที่ไม่มี และยอมให้มีต่างชาติเข้ามา แต่คนไทยต้องเป็นเมเจอร์ (หลัก) นะ แล้วก็กำหนดเลยว่าถ้ามีต่างชาติเข้ามาคะแนนจะเป็นเท่าไหร่ ถ้าไม่ต้องการก็เขียนไปเลย หรือถ้าต้องการให้มีการแข่งขัน ก็ต้องมีอะไรที่ตอบสังคมได้” อังสุรัสมิ์กล่าว
จากนี้ไปคงต้องติดตามกันต่อว่า เอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะออกมารูปร่างหน้าตาอย่างไร
แต่ที่แน่ๆการตัดสินอนาคต 'สัมปทาน' รถไฟฟ้าสายสีส้มฯ มูลค่าหลายแสนล้านบาท จะถูกโยนไปให้ที่ประชุม ครม. และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ตัดสินใจว่าจะเอาด้วยกับ 'กติกา' การประมูลตามแนวทางใหม่ที่ รฟม. เสนอหรือไม่
อ่านประกอบ :
รฟม.คาดประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ รอบใหม่ ใช้เวลา 6-8 เดือน
หวั่นโครงการล่าช้า! บอร์ดคัดเลือกฯ ล้มประมูล ‘สายสีส้ม’-รฟม.เร่งร่างทีโออาร์ใหม่
ชี้ขาดวันนี้! จับตาบอร์ดคัดเลือกฯล้มประมูล ‘สายสีส้ม’-ชงครม.รับทราบใช้กติกาใหม่
ร้าวลึก! 'บีทีเอส-ภูมิใจไทย' ขัดแย้ง 'สีส้ม' ลามสัมปทาน ‘สีเขียว’-เบรกต่อขยาย 'สีชมพู'
ทูลเกล้าถวายฎีกา! ‘ประธานบีทีเอส’ กรณีรฟม.แก้กติกาประมูลสาย ‘สีส้ม’
เบื้องลึก ‘รฟม.-บีทีเอส’ ร้องกันนัว เปลี่ยนตัว ‘ตุลาการ’ศาล ปค.คดีแก้ทีโออาร์สายสีส้ม
ศึกชิงสายสีส้ม 1.4 แสนล.เดือด! ‘บีทีเอส’ ร้องสอบวินัย 2 ตุลาการ-เพิกถอนกระบวนพิจารณา)
'ศาลปกครองสูงสุด' นัดไต่สวนคำร้อง คดี 'รฟม.' แก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’
ยื่นซองข้อเสนอ 2 ราย! ‘BEM-กลุ่มบีเอสอาร์’ แข่งประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ 1.4 แสนล.
ห้ามใช้หลักเกณฑ์ใหม่ประมูลชั่วคราว! ศาลปค.สั่งคุ้มครองคดีรฟม.แก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า 'สีส้ม'
ศาลฯไต่สวนนัดแรก 14 ต.ค.!คดี BTSC ฟ้อง ‘รฟม.’ แก้กติกาประมูลรถไฟฟ้าสาย 'สีส้ม' มิชอบ
รื้อกติกาทำเสียเปรียบ! บีทีเอสห่วงประมูล ‘สายสีส้ม’ ใช้ดุลพินิจมาก-ฟ้องศาลฯใช้TORเดิม
รื้อเกณฑ์ตัดสินประมูล ‘สายสีส้ม’ 1.4 แสนล. 'รฟม.' แหวก ‘กติกา’ รัฐร่วมทุนเอกชน
ครม.ไฟเขียวรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘บางขุนนนท์-มีนบุรี’ 1.42 แสนล.
ปิดดีลรถไฟฟ้า ‘สีส้ม’ ตะวันตก ‘ศักดิ์สยาม’ ชงสัญญาเดียว รัฐอุ้ม 10 ปี 9.6 หมื่นล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/