‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจไทย ม.ค.66 ดีขึ้นจากเดือนก่อน หลัง ‘การบริโภค’ ปรับเพิ่มขึ้น จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐ ขณะที่ ‘นักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอ-นำเข้าเพิ่ม’ ทำไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 2 พันล้านดอลล์ พร้อมย้ำหน้าที่ดูแล ‘ค่าเงินบาท’ ไม่ให้ผันผวนสูงเกินไป
......................................
เมื่อวันที่ 28 ก.พ. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)และโฆษก ธปท. แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน ม.ค.2566 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค.2566 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ขณะที่มูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชน
ส่วนกิจกรรมในภาคบริการปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากภาคการค้าและตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทย ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอลงบ้าง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียที่ลดลงจากผลของมาตรการตรวจ RT-PCR ก่อนกลับจากประเทศไทย ที่บังคับใช้ชั่วคราวในเดือน ม.ค.ถึงกลางเดือน ก.พ.2566 ด้านการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
ในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจนั้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงทั้งในหมวดพลังงานและหมวดอาหารสด ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสูงในปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงแต่ยังอยู่ในระดับสูง ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุลฯ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากดุลการค้าที่กลับมาขาดดุลตามการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามรายได้จากภาคการท่องเที่ยว
น.ส.ชญาวดี กล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจเดือน ก.พ.2566 นั้น ยังเห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ส่วนในระยะต่อไปยังคงต้องติดตามใน 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลต่อการส่งออก 2.ผลการเปิดประเทศและมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของจีน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวจีนที่จะกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทย และ3.การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องติดตามเงินเฟ้อในระยะต่อไปด้วย
น.ส.ชญาวดี ระบุว่า เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการส่งออกที่ได้จากฐานข้อมูลการชำระเงินของ ธปท. พบว่ามูลค่าการส่งออกในเดือน ม.ค.2566 ขยายตัวได้ 0.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (ธ.ค.2565) แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ม.ค.2565) พบว่ามูลค่าการส่งออกติดลบ 3.4% และหากเป็นมูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำพบว่ามูลค่าจะติดลบ 3.3% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังได้รับแรงกดดันจากการดำเนินนโยบายต่างๆ
“แม้ว่ามูลค่าการส่งออกในเดือน ม.ค.2566 ยังติดลบเมื่อเทียบเป็น YoY (ช่วงเดียวกันของปีก่อน) ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกยังได้รับแรงกดดัน แต่เมื่อมองไปข้างหน้า ผลกระทบจากนโยบายต่างๆอาจไม่ได้แรงเท่าที่คาด ซึ่งเราจะเห็นว่ามันค่อยๆฟื้น แม้จะยังไม่หวือหวา ตอนนี้เข้าใจว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 และที่ 4 น่าจะเห็นภาวะเศรษฐกิจโลกจะกลับมาดีขึ้นกว่านี้ จึงต้องมาดูว่าการส่งออกเทียบกันแบบเดือนต่อเดือน (MoM) ปรับดีขึ้นจากก่อนหน้าหรือเปล่า และมีแรงส่งว่าจะฟื้นได้มากแค่ไหน” น.ส.ชญาวดี กล่าว
ส่วนกรณีที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงจีดีพีไตรมาส 4/2565 และทั้งปี 2565 ซึ่งตัวเลขจีดีพีออกมาต่ำกว่าที่คาด นั้น น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ในช่วงสิ้นเดือน มี.ค.2566 ธปท.จะปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ โดยจะมีการนำปัจจัยต่างๆมาพิจารณา ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณา คือ ข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4/2565 ที่จีดีพีออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม ในเดือน ม.ค.2566 การฟื้นตัวต่างๆมีสัญญาณที่ดีขึ้น
น.ส.ชญาวดี กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่มีผันผวนสูงเมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาค ว่า ในส่วนค่าเงินบาทที่มีความผันผวนนั้น เป็นหน้าที่ที่ ธปท. ต้องดูแลไม่ให้ค่าเงินมีความผันผวนมากเกินไปอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันหรือการส่งออกของผู้ส่งออก แต่ต้องยอมรับว่าขณะนี้มีปัจจัยภายนอกที่ค่อนข้างมีความผันผวนมากเช่นกัน เช่น มุมมองของตลาดที่ปรับเปลี่ยนไปในช่วงเวลาเพียงข้ามเดือน
ทั้งนี้ ในเดือน ม.ค.2566 ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐมีการแข็งค่าขึ้น โดยมีปัจจัยหลักๆจากมุมมองที่ดีของนักลงทุนต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย เนื่องจากจีนเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับขณะนั้นมีสัญญาณการชะลอตัวของเงินเฟ้อในสหรัฐ ทำให้มีการคาดการว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรงเท่ากับที่ตลาดคาดไว้ ซึ่งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ทำให้เงินบาทแข็งค่ามากกว่าค่าเงินของคู่ค้าและคู่แข่ง
อย่างไรก็ตาม ในเดือน ก.พ.2566 แนวโน้มค่าเงินบาทกลับข้างกัน โดยในเดือน ก.พ.2566 ตลาดได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ เนื่องจากตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐออกมาค่อนข้างดี และเงินเฟ้อที่ปรับลดลงมาก่อนหน้านั้น ไม่ได้ปรับลดลงต่อ จึงทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าและเงินบาทอ่อนค่า ขณะที่ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) โดยรวมในเดือน ก.พ.2566 อ่อนค่าลงเช่นกัน
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค.2566 มีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวดจาก 1.หมวดบริการ ตามการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทย 2.หมวดสินค้าคงทน จากการทยอยส่งมอบรถยนต์ตามคำสั่งซื้อในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และ 3.หมวดสินค้าไม่คงทน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ ส่วนการใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทนปรับลดลงบ้าง
ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อยังคงปรับดีขึ้นจากทั้งการจ้างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับดีขึ้นตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ จากการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนหมวดก่อสร้างลดลงจากทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง และยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวดปิโตรเลียม ตามการกลับมาดำเนินการผลิตหลังจากปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในช่วงก่อนหน้า และหมวดอาหารที่ปรับดีขึ้นตามการผลิตน้ำมันปาล์ม เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม การผลิตหมวดวัสดุก่อสร้างปรับลดลงตามการผลิตคอนกรีต และปูนซีเมนต์
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลปรับลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อยตามจำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียที่ลดลงจากผลของมาตรการตรวจ RT-PCR ก่อนกลับจากประเทศไทย ที่บังคับใช้ชั่วคราวในเดือน ม.ค.ถึงกลางเดือน ก.พ.2566 อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นชัดเจนหลังทางการจีนยกเลิกการกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2566 นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวสัญชาติอื่น อาทิ มาเลเซีย และยุโรปเพิ่มขึ้นเช่นกัน
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษา พยาบาลข้าราชการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อใช้ในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านสาธารณูปโภค
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ทั้งในหมวดพลังงานและหมวดอาหารสดที่ลดลงตามราคาเนื้อสัตว์ ส่วนหนึ่งจากผลของฐานสูงในปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงตามราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ แต่ยังอยู่ในระดับสูง ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นเข้าใกล้ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลการค้าที่ขาดดุลตามการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลเพิ่มขึ้นตามดุลภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยแข็งค่าขึ้นตามมุมมองที่ดีของนักลงทุนต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย จากการเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าคาด
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจไทย พ.ย.65 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตาผลกระทบ 4 ปัจจัย
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66