‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจไทย ธ.ค.65 ฟื้นต่อเนื่อง ได้รับแรงส่งจาก ‘ภาคบริการ-การบริโภคเอกชน’ ที่ขยายตัว ตาม 'นักท่องเที่ยว' ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ ‘ส่งออก’ หดตัวตามเศรษฐกิจ ‘คู่ค้า’ ที่ชะลอลง มอง ‘เงินเฟ้อทั่วไป’ กลับสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งปีหลัง
............................................
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะโฆษก ธปท. แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือน ธ.ค.2565 ว่า ในเดือน ธ.ค.2565 เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยมีแรงส่งจากภาคบริการที่ขยายตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ซึ่งสนับสนุนให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น
ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ธ.ค.2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดและพลังงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานโดยรวมฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลตามดุลการค้า ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลเล็กน้อย จากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4/2565 นั้น เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหลักๆมาจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลดีไปยังการบริโภคภาคเอกชน ส่วนมูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งไตรมาส ปรับตัวลดลง ตามอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานที่ลดลง อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ
น.ส.ชญาวดี กล่าวต่อว่า ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค.2566 จากการที่ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการนั้น ธปท. มองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่มีปัจจัยที่ต้องติดตามใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.แนวโน้มเศรษฐกิจโลก 2.การเปิดประเทศของจีน และมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจจีนจะไปได้ต่อเนื่องหรือไม่ แล้วจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร และ 3.การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการไปยังราคาสินค้าที่อาจจะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป
น.ส.ชญาวดี ระบุว่า เมื่อมองไปข้างหน้า การขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่มาจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและจากอุปสงค์ที่ขยายตัวนั้น จะมีสัดส่วนหรือน้ำหนักเพิ่มขึ้น และเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องมีการค่อยๆปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อช่วยดูแลเงินเฟ้อไม่ให้เร่งตัวจนเกินไป ซึ่งก่อนหน้านี้ ธปท.ได้ประเมินว่า น่าจะเห็นเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับทรงตัวต่อไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะกลับสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566
น.ส.ชญาวดี ยังกล่าวว่า แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ จากการที่จีนเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาด แต่เนื่องจากการส่งออกของไทยยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งหน้า จะมีการประเมินภาพเศรษฐกิจในปี 2566 อีกครั้ง ส่วนเศรษฐกิจปี 2565 นั้น คงต้องรอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขออกมา
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ธ.ค.2565 และไตรมาส 4/2565 มีดังนี้
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายสัญชาติ โดยเฉพาะมาเลเซียและรัสเซีย ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมในภาคบริการ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากการใช้จ่ายหมวดบริการที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนยังดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งรายได้เกษตรกรในบางภูมิภาคที่ชะลอลงเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน แต่ยังหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับดีขึ้นในเดือนนี้ ได้แก่ (1) หมวดสินค้าเกษตร อาทิ มันสำปะหลัง และทุเรียน (2) หมวดยานยนต์เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตทยอยคลี่คลาย และ (3) หมวดอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับดีขึ้นบ้างตามรอบการส่งมอบสินค้าของผู้ผลิต
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า และหมวดเคมีภัณฑ์ ที่ลดลงตามอุปสงค์โลกที่ชะลอลง ขณะที่หมวดยานยนต์ปรับลดลงหลังจากได้ผลิตไปมากแล้วในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี การผลิตบางหมวดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดปิโตรเลียมหลังจากได้ปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นครั้งใหญ่ในช่วงก่อนหน้า
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในทุกหมวด โดยหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง ขณะที่หมวดก่อสร้างปรับลดลงจากทั้งยอดขายวัสดุก่อสร้างและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นตามการกลับมาผลิตปิโตรเลียมหลังการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน และสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าโทรศัพท์มือถือและรถยนต์ไฟฟ้า
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนทรงตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางหดตัวจากผลของฐานสูงในปีก่อนเป็นสำคัญ สำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายโครงการลงทุนด้านพลังงานและสาธารณูปโภค
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากผลของฐานต่ำในปีก่อนทั้งในหมวดอาหารสดและหมวดพลังงาน รวมทั้งราคาผักที่เพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อย ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เป็นบวกต่อเนื่อง
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่กลับมาเกินดุลเล็กน้อยตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยแข็งค่าขึ้นตามการเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าตลาดคาด ส่งผลให้ตลาดมีมุมมองที่ดีต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย รวมทั้งตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่ชะลอลง
ส่วนไตรมาสที่ 4 ปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวจากไตรมาสก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นแรงส่งสำคัญ ทำให้ภาคบริการและเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับลดลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐของรัฐบาลกลางขยายตัวจากรายจ่ายประจำเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ การลงทุนรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายด้านพลังงานและสาธารณูปโภค ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลตามการเกินดุลการค้า ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลง
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจไทย พ.ย.65 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตาผลกระทบ 4 ปัจจัย
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66