‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจไทยเดือน มี.ค.66 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน หลัง ‘ส่งออก-ลงทุนเอกชน’ หดตัว ขณะที่ ‘ดุลบัญชีเดือนสะพัด’ เกินดุล 4.8 พันล้านดอลลาร์
.............................................
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน มี.ค.2566 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค.2566 ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำปรับลดลง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม และเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของธุรกิจยังปรับดีขึ้น
ส่วนการบริโภคภาคเอกชนหดตัวเล็กน้อยที่ 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากการบริโภคหมวดสินค้าคงทนลดลงตามยอดจำหน่ายรถยนต์ที่เร่งได้ส่งมอบไปไปในช่วงก่อนหน้า ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อยังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภาคบริการปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ สำหรับการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
“ถ้าดูจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเห็นว่านักท่องเที่ยวต่างชาติยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยในเดือน มี.ค.2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 2.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่มีจำนวน 2.1 ล้านคน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีน หลังจากทางการจีนได้ผ่อนคลายมาตรการการเดินทาง รวมทั้งมีนักท่องเที่ยวยุโรปที่ไม่รวมรัสเซีย และนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่ยังฟื้นต่อเนื่อง
แต่ในช่วงปลายเดือนที่มีเทศกาลถือศีลอด ทำให้นักท่องเที่ยวตะวันออกกลางหดตัวในเดือน มี.ค. ขณะที่ไตรมาสที่ 1/2566 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 6.5 ล้านคน แต่ถ้านับจนถึงวันที่ 25 เม.ย.2566 ก็ถือ 8 ล้านคนไปแล้ว ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อการผลิตในภาคบริการ โดยธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารยังปรับดีขึ้น ส่วนภาคการค้าและการขนส่งอาจหดตัวบ้าง เนื่องจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง” น.ส.ชญาวดี กล่าว
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจนั้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อน โดยราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และราคาหมวดอาหารสดลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ด้านตลาดแรงงานโดยรวมฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว สะท้อนได้จากจำนวนผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ที่กลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดแล้ว แต่การจ้างงานในภาคการผลิตเริ่มชะลอลงบ้าง โดยเฉพาะการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน มี.ค.2566 เกินดุลเพิ่มขึ้นจากดุลการค้าเป็นสำคัญ โดยดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนดุลบริการ รายได้และเงินโอนเกินดุลเพิ่มขึ้น จากรายรับจากดุลบริการที่กลับมาเกินดุล ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเฉลี่ยในเดือน มี.ค.2566 อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และมีการเคลื่อนไหวที่ผันผวนตามทิศทางของนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักที่มีความไม่แน่นอนสูง แต่ในเดือน เม.ย. ค่าเงินบาทเฉลี่ยแข็งค่าขึ้น หลังจากตลาดมองว่าธนาคารกลางสหรัฐจะเข้มงวดน้อยลงในระยะข้างหน้า
น.ส.ชญาวดี ระบุว่า ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2566 เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเป็นแรงส่งสำคัญ ทำให้ภาคบริการและเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง ส่วนการลงทุนรัฐวิสาหกิจหดตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อนเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้น ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียงไตรมาสก่อน
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือน เม.ย.2566 และเดือนต่อๆไป น่าจะยังปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคการค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว รวมถึงการส่งออกสินค้าที่ค่อยๆทยอยปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนอยู่ และการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในระยะต่อไป
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค.2566 และไตรมาสแรกของปี 2566 มีดังนี้
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูป และเครื่องจักรไปสหรัฐฯ ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกบางหมวดปรับเพิ่มขึ้น อาทิ การส่งออกหมวดอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปสหรัฐฯ ที่ปรับดีขึ้นตามรอบการผลิตและส่งมอบสินค้าของผู้ประกอบการ และการส่งออกหมวดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนไปยังประเทศจีน
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่ม หลังจากเร่งผลิตไปในช่วงก่อนหน้า และหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ลดลง ประกอบกับปริมาณสินค้าคงคลังยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี การผลิตในบางหมวดปรับดีขึ้น โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ จากการผลิตรถกระบะเป็นสำคัญ และหมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ จากการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่มีความจุขนาดใหญ่ สอดคล้องกับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อนตามการนำเข้าน้ำมันดิบ หลังจากเร่งไปในช่วงก่อนหน้า และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติลดลงจากผลของด้านราคาเป็นสำคัญ ขณะที่การนำเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภค สินค้าทุน และวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับลดลงจากยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์เป็นสำคัญ สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลง ตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่แผ่วลงทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุด ขณะที่ยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้น
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายในหมวดบริการปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนปรับลดลง ตามยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หลังจากเร่งส่งมอบไปในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนยังคงปรับดีขึ้น จากทั้งการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ หลังทางการจีนอนุญาตให้นักท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์เดินทางมาไทยได้ ประกอบกับนักท่องเที่ยวสัญชาติยุโรปที่ไม่รวมรัสเซีย และมาเลเซียฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติหดตัว โดยเฉพาะตะวันออกกลาง เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลถือศีลอด (รอมฎอน)
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายของรัฐบาลกลาง โดยรายจ่ายประจำขยายตัว ตามการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนบุคลากรและค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการเลือกตั้ง สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมเป็นสำคัญ ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวจากผลของฐานสูงในปีก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงทั้งในหมวดพลังงานและอาหารสด จากผลของฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับราคาอาหารสดลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงตามราคาอาหารสำเร็จรูปจากผลของฐานสูงในปีก่อนเช่นกัน ด้านตลาดแรงงานโดยรวมปรับเข้าสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากดุลการค้า ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลเล็กน้อย ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอ่อนค่า เนื่องจากตลาดเพิ่มการคาดการณ์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือน มี.ค. ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของเดือน เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนจากความกังวลต่อปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก
ในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเป็นแรงส่งสำคัญ ทำให้ภาคบริการและเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อนเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้น ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียงไตรมาสก่อน
อ่านประกอบ :
'ธปท.'ชี้เศรษฐกิจ ก.พ. ดีขึ้นจากเดือนก่อน-'ดุลบัญชีเดินสะพัด'พลิกบวก 1.3 พันล้านดอลล์
‘ธปท.’ชี้เศรษฐกิจ ม.ค.66 ดีขึ้น ลุ้นครึ่งปีหลัง‘ส่งออก’ฟื้น-ยันดูแล‘ค่าบาท’ไม่ให้ผันผวน
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ ธ.ค.65 ฟื้นต่อเนื่อง-คาด‘เงินเฟ้อทั่วไป’กลับสู่กรอบฯครึ่งหลังปี 66
‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจไทย พ.ย.65 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตาผลกระทบ 4 ปัจจัย
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66