ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยเดือน เม.ย.66 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยมี ‘ภาคบริการ-ภาคบริโภค’ เป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก จับตาความไม่แน่นอนในการจัดตั้ง ‘รัฐบาลใหม่’-เศรษฐกิจโลก
......................................
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน เม.ย.2566 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน เม.ย.2566 ยังคงอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยมีภาคบริการและภาคการบริโภคเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำปรับลดลง ซึ่งสอดคล้องกับที่ ธปท.เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ในขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง สำหรับการใช้จ่ายของภาครัฐหดตัวเล็กน้อยจากรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางที่เร่งเบิกจ่ายไปแล้วในช่วงก่อนหน้า และรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจจากผลของฐานสูงในปีก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากผลของฐานสูงในหมวดอาหารสด และหมวดเงินเฟ้อพื้นฐาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านตลาดแรงงานโดยรวมฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน เม.ย.2566 ขาดดุล 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเป็นสำคัญ
นายสักกะภพ กล่าวต่อว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค.2566 และในระยะต่อไป ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมถึงตลาดแรงงานกลับเข้าสู่ระดับปกติแล้ว และคาดว่าน่าจะมีทิศทางที่ดีอยู่ ส่วนความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1.เศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนและผันผวนสูง 2.การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และ 3.ความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาล
“ถ้าดูตัวเลขไตรมาส 1 ที่เราได้รับจากสภาพัฒน์ ซึ่งออกมาที่ 2.7% นั้น ใกล้เคียงกับที่เราประเมินไว้ก่อนหน้านี้ และตัวเลขเดือน เม.ย.ที่เข้ามา ก็เป็นไปตามที่เราประเมินไว้เป็นส่วนใหญ่ แต่ต้องยอมรับว่าในอนาคตยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างเยอะ ทั้งในแง่ upside และ downside ของเศรษฐกิจโลก เรื่องนักท่องเที่ยว เรายังมี upside อยู่ และมีปัจจัยที่จะมากระทบอีกปัจจัยหนึ่ง คือ นโยบายของรัฐบาลใหม่ด้วย” นายสักกะภพ กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง
นายสักกะภพ กล่าวถึงกรณีที่พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ มีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ ว่า ขณะนี้คงต้องรอความชัดเจนก่อนว่า มาตรการการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นอย่างไร และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐเป็นอย่างไร แต่เรื่องนี้จะถูกนำไปรวมไว้เป็นความเสี่ยงที่จะมีในอนาคต
ส่วนกรณีปัญหาการขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯ นั้น นายสักกะภพ สถานการณ์ค่อนข้างชัดเจนว่าจะคลี่คลาย รอเพียงการตกลงของสภาฯสหรัฐ ซึ่ง ธปท.คิดว่าปัจจัยดังกล่าวไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายมากนัก แต่หลักๆจะมาจากความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายของสหรัฐ การเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งไทยพึ่งพาค่อนข้างสูง และปัจจัยภายในประเทศ
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย เดือน เม.ย.2566 มีดังนี้
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวในกลุ่มเอเชีย โดยเฉพาะจีนและมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติ อาทิ กลุ่มยุโรปไม่รวมรัสเซีย ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ ชะลอลงบ้างหลังเร่งไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายในภาคบริการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามหมวดโรงแรมและภัตตาคารเป็นสำคัญ สอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว สำหรับการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนทรงตัวตามยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนปรับลดลงจากทั้งยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์และยอดจำหน่ายรถยนต์ หลังเร่งซื้อไปมากในช่วงก่อนหน้า
ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนยังปรับดีขึ้นจากทั้งการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ดี ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง โดยเฉพาะการส่งออก (1) ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปสหรัฐฯ หลังหมดรอบการส่งมอบสินค้าของผู้ประกอบการ (2) น้ำตาลไปอินโดนีเซีย และ (3) เครื่องปรับอากาศไปสหรัฐฯ และยุโรป อย่างไรก็ตาม การส่งออกบางหมวดปรับเพิ่มขึ้น อาทิ การส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนไปจีน
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะการผลิตในหมวด (1) ยานยนต์ จากการรอระบายสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง หลังเร่งผลิตไปมากในช่วงก่อนหน้า (2) อาหารและเครื่องดื่มตามการผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูป น้ำมันปาล์ม และอาหารทะเลกระป๋องเป็นสำคัญ และ (3) หมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ลดลงตามรอบการผลิต อย่างไรก็ดี การผลิตหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับดีขึ้น จากอุปสงค์สำหรับใช้ในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับลดลงในทุกองค์ประกอบย่อย ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างเพิ่มขึ้นตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง โดยเฉพาะเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่ออุตสาหกรรม
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าและโทรศัพท์มือถือจากจีน ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมหมวดเชื้อเพลิงลดลงจากเดือนก่อน อาทิ การนำเข้าเหล็กรีดแผ่นและพลาสติกจากจีนและญี่ปุ่น
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการเร่งเบิกจ่ายรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางไปแล้วในช่วงก่อนหน้า และรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีผลของฐานสูงในปีก่อน จากรายจ่ายในโครงการโทรคมนาคมและระบบรถไฟชานเมือง หากไม่รวมผลของฐาน รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวจากโครงการลงทุนด้านโทรคมนาคมและสาธารณูปโภค ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัวตามการเบิกจ่ายของกรมชลประทาน และกรมโยธาธิการและผังเมือง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากผลของฐานสูงในหมวดอาหารสดและหมวดเงินเฟ้อพื้นฐาน อีกทั้งราคาในหมวดอาหารสดลดลง โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกร จากอุปทานในตลาดที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น และกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเป็นสำคัญ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเฉลี่ยแข็งค่า เนื่องจากตลาดปรับลดการคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมทั้งตลาดมีมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
อ่านประกอบ :
'แบงก์ชาติ' เผยเศรษฐกิจไทย มี.ค.66 ชะลอตัวจากเดือนก่อน หลัง 'ส่งออก-ลงทุนเอกชน' ลดลง
'ธปท.'ชี้เศรษฐกิจ ก.พ. ดีขึ้นจากเดือนก่อน-'ดุลบัญชีเดินสะพัด'พลิกบวก 1.3 พันล้านดอลล์
‘ธปท.’ชี้เศรษฐกิจ ม.ค.66 ดีขึ้น ลุ้นครึ่งปีหลัง‘ส่งออก’ฟื้น-ยันดูแล‘ค่าบาท’ไม่ให้ผันผวน
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ ธ.ค.65 ฟื้นต่อเนื่อง-คาด‘เงินเฟ้อทั่วไป’กลับสู่กรอบฯครึ่งหลังปี 66
‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจไทย พ.ย.65 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว-จับตาผลกระทบ 4 ปัจจัย
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66