‘จุลพันธ์’ เผยผลหารือ นายกฯ วานนี้ (5 ก.พ. 67) ลุยต่อดิจิทัลวอลเลต ไม่รอความเห็นทางการ ป.ป.ช. เตรียมตั้งอนุ 2 ชุด ‘ตรวจสอบใช้เงินผิดประเภท-รับฟังความเห็น’ แย้มยังไม่ทิ้งการใช้ พ.ร.ก. ส่วนไทม์ไลน์เลื่อนนออกจาก พ.ค.67 แล้ว แต่ยังไม่มีไทม์ไลน์ใหม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กาหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วานนี้ (5 ก.พ.67) มีการหารือหลายเรื่อง เรื่องที่สื่อมวลชนสนใจน่าจะเป็นเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลวอลเลต
ในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขทางเศรษฐกิจมีความหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องเรียนว่า เป็นภาวะที่ประชาชนขาดความมั่นใจในการใช้จ่าย ภาคการลงทุนจากเอกชนไม่กล้าลงทุน การลงทุนจากต่างชาติ แม้รัฐบาลจะพยายามดึงหลายๆประเทศเข้ามา แต่กว่าจะมีผลในเรื่องของเม็ดเงินลงทุนต้องใช้เวลา ในขณะที่ภาคการบริโภคก็ดูชะลอตัวลง โดยเฉพาะเรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่อง 4 เดือน ปัจจัยหนึ่งอาจจะมาจากการที่รัฐบาลลดราคาพลังงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำ เพื่อให้ประชาชนประคับประคองในภาวะเศรษฐกิจวิกฤติได้ แต่ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบ ก็มาจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ขึ้นสูงด้วยถึง 2.5% ซึ่งดูโซับสภาพคล่องออกไปจากระบบพอสมควร
“สถานการณ์ของประเทศไทยในขณะนี้ เหมือนปลาในบ่อ ประชาชนคือปลา พอน้ำในบ่อมันน้อย มันก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่ามันไม่มีน้ำเพียงพอ สิ่งสำคัญคือการเติมน้ำลงไปในบ่อให้เพียงพอกับจำนวนปลาและขนาดของบ่อ ซึ่งต้องการเม็ดเงินใหม่ นั่นคือการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเลต ซึ่งเรามองว่ากลไกในการสร้างเม็ดเงินใหม่ นั่นคือการออก พ.ร.บ.กู้เงิน แต่แน่นอนครับว่าเมื่อมีข้อท้วงติงมา ในขณะที่เราพิจารณาเมื่อเกือบเดือนที่แล้ว อาจจะต้องรอความเห็นของ ป.ป.ช. เพราะมีเอกสารหลุดออกมาก่อนหน้านี้ เราก็รับฟัง แต่รอมาถึงขนาดนี้ ความชัดเจนก็ยังไม่มี เมื่อเป็นเช่นนั้น สิ่งที่ ป.ป.ช.เสนอมาเป็นข้อเสนอแนะและข้อห่วงใย ไม่สามารถที่จะมากำหนดทิศทางและนโยบายของเราได้ รัฐบาลจะทำคู่ขนานไปเลย ซึ่งได้เรียนนายกฯและหารือกันแล้วว่า จะนัดหมายการประชุมคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเลตในต้นสัปดาห์หน้า” รมช.คลังกล่าว
@ตั้ง 2 อนุกรรมการ ‘ทุจริต-รับฟังความเห็น’
นายจุลพันธ์ เปิดเผยต่อว่า สิ่งที่จะนำหารือมี 2-3 ประเด็น คือ 1.ข้อห่วงใยด้านการทุจริตคอร์รัปชั่นหรืออะไรก็ตาม ซึ่งยังไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น เพราะยังไม่ได้เดินหน้าโครงการนี้อย่างเป็นทางการ เพราะฉะนั้นไม่มีเหตุใดๆที่จะทุจริตคอร์รัปชั่น สิ่งที่จะทำคือ จะตั้งคณะอนุกรรมการติดตามการใช้อย่างผิดประเภท โดยจะให้คณะอนุกรรมการวางแผนกำหนดกฎเกณฑ์และรูปแบบในการทำงาน เพื่อยืนยันให้มั่นใจว่า ดิจิทัลวอลเลตจะต้องไม่มีการทุจริต ไม่มีการใช้เงินผิดประเภท หรือแลกซื้อสินค้าใหญ่ อาทิ รถยนต์ เป็นต้น
ประเด็นที่ 2 ข้อห่วงใยด้านสถานการณ์เศรษฐกิจ ข้อห่วงใยรูปแบบการกระตุ้น ต้องเรียนโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ที่มีในปัจจุบัน ไม่มีโมเดลไหนชี้ชัดได้ว่า ด้วยรูปแบบที่มี สุดท้ายมันจะมีผลการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับใด มันเป็นเพียงการคาดเดา กะเกณฑ์ สิ่งที่จะให้ชัดเจนคือ ความต้องการของประชาชน ความต้องการของภาคประชาชน ความต้องการของเอกชน รวมถึงความคิดเห็นส่วนงานใหม่ละอื่นๆ ซึ่งจะตั้งอนุกรรมการอีกชุดหนึ่ง เพื่อรับฟังความเห็นและเก็บข้อมูลต่างๆมาให้เห็นเป็นที่ประจักษ์
และสุดท้าย รัฐบาลได้รับฟังความเห็นเอกชนจำนวนมาก ภาคธนาคารต่างๆทุกคนมองเห็นประโยชน์ในการเดินหน้าโครงการนี้และต้องการเข้ามามีส่วนร่วม คำว่ามีส่วนร่วมคือ การสร้างแอปพลิเคชั่นกลางที่จะมีระบบการแลกเปลี่ยนกลางของภาครัฐ ซึ่งจะเชื่อมต่อกับภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะมา โดยรัฐบาลอาจจะหารือเพื่อที่จะมอบหมายคณะกรรมการสักกลุ่มหรือท่านใด ไปหารือกับภาคธนาคาร เพื่อหาหนทางสร้างการเชื่อมต่อระหว่างธนาคารพาณิชย์กับระบบดิจิทัลวอลเลตด้วย เพื่อที่กลไกดิจิทัลวอลเลตสามารถใช้ได้ครอบคลุม กว้างขวางขึ้น และเป็นประโยชน์กับประชาชนผู้ใด และเชื่อมโยงระบบชำระจ่ายเงินของประเทศให้สมบูรณืมากขึ้น
ส่วนความเห็นหน่วยงานอื่นๆ เช่น คณะกรรมการกฤษฎีกา นายจุลพันธ์กล่าวว่า ทางคณะกรรมการก็ต้องให้คำตอบกับข้อห่วงใยและข้อคิดเห็นต่างๆ ในส่วนของข้อเสนอแนะที่ยังมาไม่ถึง เช่น ของ ป.ป.ช. หากออกมาเป็นทางการเมื่อไหร่ ก็คงต้องประชุมเพื่อนำข้อคิดเห็นเหล่านั้นเข้าสู่ที่ประชุม และหาหนทางในการหาคำตอบต่อไป
@พ.ร.ก.ยังเป็นเครื่องมือหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ไทม์ไลน์โครงการขยับไหม นายจุลพันธ์ ตอบว่า ขยับออกไปแล้ว ส่วนไทม์ไลน์ใหม่ ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่หนักหน่วง เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งทำ จะหยุดรอไม่ได้ถึงแม้จะมีอุปสรรค ข้อติดขัดใด ก็ต้องทำคู่ขนานไป และจะทำให้เร็วที่สุด
เมื่อถามอีกว่า ทำไมไม่ออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) นายจุลพันธ์ตอบว่า ยังเป็นเครื่องมือของรัฐบาลตลอดเวลา และที่สำคัญรัฐบาลมีกลไกที่จะเดินหน้ามากกว่า 1 ตัวเลือกอยู่ตลอดเวลา พ.ร.ก.ยังไม่ได้คิดและหารือ แต่หากสถานการณ์เศรษฐกิจมีความจำเป็นจริงๆ ก็ต้องปรึกษาหารือกันก่อน และยังไม่ได้มีแนวคิดที่จะลดวงเงินจาก 500,000 ล้านบาทแต่อย่างใด
เมื่อถามว่า หาก ป.ป.ช. ยังไม่ส่งความเห็นจะกระทบกับไทม์ไลน์หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่ รัฐบาลเราจะเดินหน้าแล้ว จะมีการพูดคุยกันสัปดาห์หน้า และเดินหน้าพัฒนาแอปพลิเคชั่น และเตรียมกลไกลต่างๆ ที่มีความจำเป็นให้พร้อมที่เดินหน้าเลย ส่วนในไตรมาส 3 ปีนี้จะได้เห็นการใช้เงินผ่านโครงการดังกล่าวหรือไม่ ขอไม่ให้คำตอบ แต่ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินยกร่างไว้แล้ว และข้อเสนอเดิมที่จะให้มีการใช้แอปเป๋าตัง ก็ยังเป็นไปตามนั้น จะได้ประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ต้องไปพูดคุยให้มีการเชื่อมต่อ ซึ่งไม่ใช่การทำแอปขึ้นมาใหม่
ขณะที่กรอบการทำงานของคณะอนุกรรมการ ได้มีการกำหนดเวลาหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า จะตั้งอนุกรรมการในสัปดาห์หน้า ซึ่งคณะอนุกรรมการติดตามการใช้เงินอย่างผิดประเภท จะไม่มีกรอบระยะเวลา เพราะต้องอยู่ยาวจนเสร็จภารกิจ ส่วนอนุรับฟังความเห็น จะมีการกำหนดระยะ ซึ่งกำหนดไม่ยาวมากนักประมาณ 2-3 สัปดาห์ต้องจบ
เมื่อถามว่า การประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ต้องได้ข้อสรุปก่อนเสนอ ครม.เมื่อไหร่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า หวังใจไว้ว่าระยะ 2 เดือนข้างหน้า น่าจะต้องเรียบร้อยพอสมควร ตรงนี้เป็นการกะประมาณ
อ่านประกอบ
นัดถกบอร์ดิจิทัลวอลเลตเร็วที่สุด นายกฯกระทุ้ง ‘แบงก์ชาติ’ ช่วยแก้เงินเฟ้อติดลบ
แก้เนื้อหา 3 ประเด็น! ป.ป.ช.เคาะข้อเสนอแนะฯ‘ดิจิทัลวอลเลต’ร่างสุดท้าย-ส่ง‘ครม.’รับทราบ
เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(จบ) ธปท.ย้ำ‘ดิจิทัลวอลเลต’ต้องไม่สร้าง‘เงินใหม่’-เตือนเสี่ยงทุจริต
เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(2) สศช.ห่วง‘ดิจิทัลวอลเลต’ดันหนี้สูง ฉุดเครดิตปท.-ชี้ศก.ไม่วิกฤติ
เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(1) ‘คลัง’เตือน‘ดิจิทัลวอลเลต’กระตุ้นศก.ระยะสั้น-หนี้ปท.พุ่ง 66.65%
เปิด 9 ข้อเสนอแนะฯป้องกันทุจริต‘ดิจิทัลวอลเลต’ ชง‘บอร์ด ป.ป.ช.’เคาะอีกครั้งใน 2 สัปดาห์
‘จุลพันธ์’ รับ ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ส่อหลุด พ.ค. 67 ยืนยันเศรษฐกิจตอนนี้วิกฤติ
‘เลขากฤษฎีกา’ แนะรัฐบาลควรรับฟังความเห็น ป.ป.ช. ก่อนทำดิจิทัลวอลเลต
‘ภูมิธรรม’ เลื่อนถกบอร์ดดิจิทัลวอลเลต เหตุรอความเห็น ป.ป.ช. 1-2 สัปดาห์นี้
'เศรษฐา'ขอถก'บอร์ดนโยบายฯ'ก่อนกู้แจก'หมื่นดิจิทัล'-เผย'กฤษฎีกา'ไม่บอก'ทำได้หรือไม่ได้'
เปิดคำสั่ง‘ผู้ว่าฯสตง.’ ตั้ง‘คณะทำงานฯ’ศึกษา‘ความเสี่ยง-ผลกระทบ’แจก‘เงินหมื่นดิจิทัล’
‘รมช.คลัง’เผย‘กฤษฎีกา’ชี้รัฐบาลออก‘พ.ร.บ.กู้เงินฯ’ 5 แสนล.ได้-ยันแจก‘หมื่นดิจิทัล’พ.ค.67
อธิบายแค่ข้อกม.! ‘กฤษฎีกา’ตอบ‘คลัง’ ไม่ฟันธงออกพ.ร.บ.กู้ 5 แสนล.แจก 1 หมื่น ทำได้หรือไม่
ย้อนดู‘กม.กู้เงิน’ 9 ฉบับ ก่อน'รบ.เศรษฐา'จ่อชง'พ.ร.บ.กู้ฯ’5 แสนล.แจก‘เงินหมื่นดิจิทัล’
เป็นกลาง-รอบด้าน-ไม่ก้าวล่วงฝ่ายบริหาร! ป.ป.ช.เผยชื่อบอร์ดศึกษาฯ 'ดิจิทัลวอลเลต'
เบื้องหลัง! ‘ป.ป.ช.’ตั้งบอร์ดศึกษาฯ‘ดิจิทัลวอลเลต’-ขีดเส้น 60 วันชงข้อเสนอสกัดทุจริต
‘สุภา’นั่งประธาน! ‘ป.ป.ช.’มีมติตั้งบอร์ดศึกษาฯ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ชงข้อเสนอป้องกันทุจริต
นโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทในมุมมองการเมือง
ย้อนดู‘หนี้ประเทศ-ภาระผูกพัน’ ก่อน‘รบ.เศรษฐา’เร่งหาแหล่งเงิน 5.6 แสนล.โปะ‘ดิจิทัลวอลเลต’