‘สภาพัฒน์’ ห่วงรายได้ ‘แรงงาน’ ลดลง หลังชั่วโมงการทำงานน้อยลง ขณะที่หนี้ครัวเรือนแตะ 86.6% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก จับตาหนี้อุปโภคบริโภคส่วนบุคคลค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน พุ่ง 2 เท่า เสี่ยงดันหนี้เสียทั้งระบบเพิ่ม พร้อมระบุไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี 76 หากเกษียณอายุ 60 ปี ต้องมีเงินออม 2.8-4 ล้านบาท
...................
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2563 ว่า ในช่วงไตรมาส 4/2563 การจ้างงานเพิ่มขึ้นและอัตราการว่างงานลดลง ส่งผลให้ภาพรวมในปี 2563 ไทยมีจำนวนผู้ว่างงาน 6.5 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.69% เทียบกับปี 2562 ที่มีจำนวนผู้ว่างงาน 3.71 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 0.98%
“จำนวนผู้ว่างงานในปี 2563 ที่เพิ่มมาอยู่ที่ 6.5 แสนคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ค่อนข้างมาก เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการใช้มาตรการล็อคดาวน์” นายดนุชากล่าว
นายดนุชา ระบุว่า แม้ว่าสถานการณ์การว่างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนได้จากจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานสะสมทั้งระบบ ณ ไตรมาส 4/2563 ที่ลดลงมาอยู่ที่ 3.95 แสนคน จากระดับเกิน 5 แสนคน ในช่วงไตรมาส 3/2563 และล่าสุดในเดือนธ.ค.2563 จำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนฯรายใหม่ลดลงมาอยู่ที่ 64,760 คน เทียบกับเดือนพ.ค.2563 ที่มีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนฯรายใหม่เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 171,987 คน
แต่ด้วยชั่วโมงการทำงานในปี 2563 ที่ลดลงมาอยู่ที่ 43.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จากปีก่อนที่อยู่ที่ 45.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และแรงงานที่ทำงานล่วงเวลาหรือทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ที่ลดลงเหลือ 5.6 ล้านคนในปี 2563 ลดลงจากปีก่อน 17.1% รวมถึงแรงงานที่ทำงานน้อยกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ที่เพิ่มขึ้นเป็น 1.24 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 135% ส่งผลให้รายได้ของแรงงานลดลง และอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
ขณะเดียวกัน จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในช่วงครึ่งปี 2563 พบว่าครัวเรือนมีรายได้ 23,615 บาท ปรับตัวลดลงจากปี 2562 ที่มีรายได้ 26,371 บาท หรือมีรายได้ลดลง 10.45%
สำหรับปัจจัยเสี่ยงด้านแรงงานในปี 2564 มี 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะต้องมีการกำกับดูแลให้ดี แม้ว่าอีกไม่กี่วันจะมีการเริ่มฉีดซีนแล้ว แต่กว่าวัคซีนล็อตใหญ่จะเข้ามาก็ต้องรอจนถึงเดือนพ.ย.-มิ.ย.ปีนี้ 2.สถานการณ์ภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคเกษตร และ3.การขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล จึงจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงทักษะแรงงานในระยะถัดไป ทั้งการรีสกิลและอัพสกิล
นายดนุชา กล่าวต่อว่า ในส่วนสถานการณ์หนี้ครัวเรือน พบว่า ณ สิ้นไตรมาส 3/2563 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 13.77 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ใกล้เคียงกับไตรมาส 2/2563 ที่มีอัตราขยายตัว 3.8% ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี ณ ไตรมาส 3/2563 เพิ่มขึ้นเป็น 86.6% ต่อจีดีพี ซึ่งผลจากเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19
ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้น โดยไตรมาส 3/2563 หนี้เสีย (NPLs) ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคมีมูลค่า 1.44 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.91% ของสินเชื่อรวม เทียบกับไตรมาส 2/2563 ที่ NPLs สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคมีมูลค่า 1.52 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3.21% ของสินเชื่อรวม ซึ่งเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อชะลอการด้อยคุณภาพของสินเชื่อ ทำให้ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังความสามารถในการชำระหนี้ เนื่องจากในไตรมาส 3/2563 สัดส่วนหนี้ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (Special Mention Loans: SM) ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีสัดส่วนสูงถึง 6.7% ของสินเชื่อรวม หรือคิดเป็น 2 เท่าของสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวม ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่สินเชื่อดังกล่าวจะกลายเป็น NPLs หากมีปัจจัยลบมากระทบต่อรายได้หรือความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน
ส่วนแนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในระยะถัดไป คาดว่าหนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ตามมาตรการกระตุ้นการบริโภคภาครัฐ รวมถึงกิจกรรมเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ที่จะทำให้ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น
“แนวโน้มหนี้ครัวเรือนไตรมาส 4/2563 ถ้าจะเพิ่มก็คงไม่ได้เพิ่มมากนัก เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆเริ่มขยับได้แล้ว ส่วนระดับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีนั้น แน่นอนว่าในจีดีพีปี 2563 ของเราติดลบ 6.1% แต่คงต้องดูว่าไตรมาส 4/2563 หนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ แต่ผมว่าคิดว่าคงเพิ่มไม่มากนัก”นายดนุชากล่าว
นายดนุชา กล่าวว่า ในระยะถัดไปผู้ที่เกี่ยวข้องอาจต้องพิจารณาใน 3 ประเด็น ได้แก่ การปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่เคยได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ควบคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้รายใหม่ 2.การจำแนกลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ ออกจากลูกหนี้กลุ่มอื่น เพื่อไม่ให้เกิดการที่กลุ่มลูกหนี้ที่ไม่มีปัญหาทางการเงินแต่เข้ารับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้
และ3.การให้ความช่วยเหลือกลุ่มครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยเป็นพิเศษ เนื่องจากการลดลงของรายได้อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีพ เพราะมีภาระหนี้สินและขัดสนด้านการเงินเดิมอยู่แล้ว
“ต้องพยายามทำให้หนี้ครัวเรือนที่มีอยู่ในระดับนี้ยังคงเป็นหนี้ที่มีคุณภาพ และต้องมีมาตรการช่วยเหลือที่ทำให้เขามีความสามารถที่จะใช้จ่ายต่อเดือนในระดับที่อยู่ได้ เพราะถ้าหนี้ครัวเรือนขึ้นสูงมาก จะมีผลต่อการใช้จ่ายของครัวเรือน” นายดนุชากล่าว
นายดนุชา กล่าวถึงการเบิกจ่ายเงินกู้จากพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ว่า ณ วันที่ 15 ก.พ. มีการอนุมัติกรอบวงเงินกู้ไปแล้วทั้งสิ้น 748,666.24 ล้านบาท คิดเป็น 74.9% ของวงเงินกู้ทั้งหมด ส่วนการเบิกจ่ายเงินกู้ตามแผนฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังเบิกจ่ายได้น้อยมากนั้น เนื่องจากเป็นโครงการที่ต้องมีการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ที่ผ่านมีข้อขัดข้องบางประการ ซึ่งขณะนี้ได้มีการแก้ไขแล้ว คาดว่าจะเห็นการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมี.ค.2564 เป็นต้นไป
ส่วนกรอบวงเงินจากพ.ร.ก.กู้เงินฯที่ยังเหลืออีกประมาณ 2 แสนล้านบาทนั้น นายดนุชา กล่าวว่า หากไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ เงินดังกล่าวน่าจะเพียงพอในการกระตุ้นให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ในระยะถัดไป แต่เงินจากพ.ร.ก.เงินกู้ฯ ไม่ใช่เงินเพียงก้อนเดียวของภาครัฐที่จะใช้ในการสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะยังมีงบส่วนอื่นๆอีก เช่น งบประมาณแผ่นดิน และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น
“การอนุมัติเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทอยู่บนหลักการว่า ต้องปล่อยเงินออกไปตามสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เราไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต แม้กระทั่งการที่เรามีวัคซีน และจะฉีดให้ประชาชนทั่วไปแล้ว เพราะฉะนั้นการอนุมัติเงินกู้ต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ซึ่งในก้อน 2 แสนล้านบาทที่เหลืออยู่นี้ ถ้าเหตุการณ์ปกติ ไม่มีการระบาดระลอกใหม่ เงินที่เหลืออยู่จะอนุมัติไปในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและกระจายเงินไประดับพื้นที่ในช่วงถัดไป” นายดนุชากล่าว
นอกจากนี้ สศช.ยังเผยแพร่รายงานพิเศษเรื่อง ‘หลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุ : เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น’ โดยระบุว่าไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Completely Aged Society) ในปี 2566 และสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ในปี 2576 หรือ 12 ปีข้างหน้า แต่การออมในผู้สูงอายุยังไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงในชีวิต โดยเสนอให้ภาครัฐดำเนินการใน 2 ประเด็น ได้แก่
1.การส่งเสริมการออมเพื่อสร้างหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงอายุโดยการสร้างการรับรู้และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงหลักประกันให้สะดวกและรวดเร็ว ทั้งการสมัครและการขอรับสิทธิประโยชน์และทบทวนฐานเงินเดือนสูงสุดในการคำนวณเงินสมทบประกันสังคมและปรับอัตราการออมเพื่อให้แรงงานสามารถออมได้มากขึ้น ขณะที่ภาคประชาชนสามารถเตรียมความพร้อมโดยการเก็บออมได้อีกทางหนึ่งด้วย
2.การเพิ่มรายได้โดยส่งเสริมการมีรายได้หลังเกษียณและความรู้ทางการเงิน การประกอบอาชีพตามความสามารถของผู้สูงวัย และเพิ่มความรู้ในการบริหารจัดการการเงิน (Financial literacy)
“เราเคยมีการศึกษาไว้ว่าเงินออมที่พึงมีหลังจากอายุ 60 ปีไปแล้ว ในเขตเมือง ต้องมีเงินออม 4 ล้านบาท เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ต่อไปหลังเกษียณ ส่วนในชนบท ต้องมีเงินออมประมาณ 2.8 ล้านบาท แต่ระบบบำนาญของเรา จะพบว่าคนที่มีรายได้เพียงพอหลังเกษียณไปแล้วอยู่ในระดับไม่ค่อยดีนัก และหากเราไม่ทำอะไรเลย ในอนาคตจะมีคน 14 ล้านคน ที่จะอยู่ได้หรือมีรายได้จากเบี้ยผู้สูงอายุเท่านั้น จึงต้องทำให้คนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบการออม” นายดนุชากล่าว
อ่านประกอบ :
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
ไฟเขียวแบงก์ปันผล! ‘ธปท.’ ให้จ่ายได้ไม่เกิน 50% ของกำไร-ต้องไม่มากกว่าปี 62
สร้างกันชน-รักษาภูมิคุ้มกันศก.! 'วิรไท' แจงเหตุขอแบงก์ 'งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน'
ช่วยลูกหนี้ระยะสอง! ธปท.ประกาศลดดบ. ‘บัตรเครดิต-พีโลน’ 2-4% พ่วงขยายวงเงินเป็น 2 เท่า
งดจ่ายปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน! ธปท.ให้แบงก์ รักษา 'เงินกองทุน' รองรับความเสี่ยง 1-3 ปี
ห่วงธุรกิจไปไม่รอด-เมินปล่อยกู้! 2 สมาคมฯท้วงธปท.ลดเพดานดบ. ‘พีโลน-จำนำทะเบียนรถ’
รับรู้รายได้ ดบ.ปกติ! เผยวิธีบันทึกงบฯ‘สถาบันการเงิน’ช่วงพักชำระหนี้-ทำให้ฐานะอ่อนแอ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/