สศช.เผยไตรมาส 3/64 มีผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน คิดเป็นอัตราว่างงาน 2.25% สูงสุดนับตั้งแต่เกิดโควิด ขณะที่มี ‘คนว่างงานชั่วคราว’ อีก 9 แสนคน กว่า 7.8 แสนคน ไม่ได้รับค่าจ้าง ส่วน ‘หนี้สินครัวเรือน’ ยังเพิ่มขึ้น จับตา ‘หนี้เสีย’ บัตรเครดิตเร่งตัว
.................................
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2564 ว่า ในช่วงไตรมาส 3/2564 มีจำนวนผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานที่ 2.25% เพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีจำนวนผู้ว่างงานชั่วคราวสูงถึงเกือบ 9 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเพียง 4.7 แสนคน โดยมีผู้ว่างงานชั่วคราว 7.8 แสนคน ที่ไม่ได้รับค่าจ้าง
ทั้งนี้ แรงงานที่มีอายุ 15-19 ปี มีอัตราการว่างงานสูงสุดที่ 9.74% รองลงมาเป็นอายุ 20-24 ปี มีอัตราว่างงาน 8.35% ซึ่งสะท้อนว่าโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องนั้น ทำให้ผู้ประกอบการที่เคยชะลอการเลิกจ้างบางส่วนไม่สามารถรับภาระต่อได้และจำเป็นต้องเลิกจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ขณะที่เด็กจบใหม่ยังไม่มีตำแหน่งรองรับ เพราะผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบและรอดูสถานการณ์ จึงชะลอการขยายตำแหน่งงาน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนแรงงานในระบบ พบว่าสัดส่วนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานต่อผู้ประกันตนอยู่ที่ 2.47% ลดลงจากช่วงไตรมาสก่อนหน้าและปีก่อน เนื่องจากช่วงเดือนก.ค.-ส.ค.2564 รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและผู้ประกันตนในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ขณะที่จำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย 2.1 แสนคน ในเดือน ก.ย.2564 เพิ่มขึ้นจาก 0.9 แสนคน ณ สิ้นไตรมาสก่อน
สำหรับจำนวนผู้มีงานทำอยู่ที่ 37.7 ล้านคน ลดลง 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรโดยรวมลดลง 1.3% จากการจ้างงานที่ลดลงในอุตสาหกรรมก่อสร้างและโรงแรม ซึ่งเป็นผลจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะที่ภาคการผลิตมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2.1% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ส่วนภาคเกษตรมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1% เนื่องจากเป็นฤดูเพาะปลูก
นายดนุชา ระบุว่า หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว รวมทั้งมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ สิ่งที่จะต้องติดตามต่อไป คือ การควบคุมการแพร่ระบาดที่ยังต้องมีความเข้มข้น เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดขนาดใหญ่อีกในระยะถัดไป และยังต้องดูแลธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็กที่ยังไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการเปิดประเทศในขณะนี้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือในเรื่องการรักษาระดับการจ้างงานไปแล้ว
นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องมีมาตรการกระตุ้นการจ้างงานและช่วยเหลือผู้ว่างงาน โดยเฉพาะผู้ว่างงานชั่วคราว 7.8 แสนคนที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพเพิ่มขึ้น จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่กว่า 70 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
นายดนุชา กล่าวว่า ส่วนหนี้สินครัวเรือน ณ ไตรมาส 2/2564 มีมูลค่า 14.27 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทีบบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 4.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนคิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อ GDP ลดลงจาก 90.6% ต่อ GDP ในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-1
ทั้งนี้ หนี้สินครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีสาเหตุจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ 1.ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถขยายตัวได้ในระดับปกติ แม้ว่าทั้งปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว แต่เป็นการขยายตัวจากฐานต่ำ สะท้อนว่ารายได้ครัวเรือนยังคงไม่ฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะกระทบต่อสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน และ 2.ผลกระทบของอุทกภัยทำให้ครัวเรือนต้องก่อหนี้เพื่อนำมาซ่อมแซมบ้านเรือนและเครื่องใช้
นายดนุชา ระบุว่า ในส่วนของคุณภาพสินเชื่อยังต้องเฝ้าระวังหนี้บัตรเครดิตที่มีหนี้เสีย (NPLs) เพิ่มขึ้น เพราะแม้ว่าสัดส่วน NPLs ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมจะอยู่ที่ 2.92% ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่สัดส่วน NPLs ของสินเชื่อบัตรเครดิตต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน จากระดับ NPLs ที่อยู่ที่ 3.04% ในไตรมาสก่อน เพิ่มมาเป็น 3.51% ขณะที่ลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เสียจากบัตรเครดิต 1 ใน 3 เป็นผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี
"คงต้องจับตามองในแง่ของคุณภาพสินเชื่อเพิ่มขึ้น เพราะถ้าไปดูการเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือนจะเห็นว่า หนี้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นหนี้จากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ และประกอบธุรกิจ แต่หนี้สินกลุ่มอื่นๆยังทรงตัว และแม้ว่าคุณภาพสินเชื่อในภาพรวม จะพบว่า NPLs ต่อสินเชื่อรวมจะทรงตัวอยู่ในระดับ 2.92% แต่ที่ต้องจับตามมอง คือ สินเชื่อบัตรเครดิตที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นจาก 3.04% เป็น 3.51% นี่เป็นสัญญาณที่ต้องเข้าไปดูแลมากขึ้น" นายดนุชา กล่าว
อ่านประกอบ :
‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 3 หด 0.3% คาดทั้งปี 64 เติบโต 1.2%-มองปีหน้าขยายตัว 3.5-4.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีสังคมไตรมาส 2 พบ‘ว่างงานสูง-หนี้เพิ่ม-รายได้หด-เงินออมลด-เครียดโควิด’
'สศช.’ หั่นเป้าเศรษฐกิจปี 64 เหลือ 0.7-1.2%-จีดีพีไตรมาส 2 โต 7.5% ส่งออกดี-ฐานต่ำ
จีดีพีไตรมาส 1 ลบ 2.6%! สศช.หั่นเป้าปี 64 โต 1.5-2.5%-คาดคุมโควิดระลอก 3 ได้มิ.ย.นี้
รายได้ลด-หนี้เพิ่ม! สศช.ห่วง 3 ปัจจัยกระทบแรงงาน-เกษียณ 60 ปีต้องมีเงินออม 2.8-4 ล.
เซ่นโควิดรอบใหม่! สศช.หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 2.5-3.5%-ศก.ปี 63 หดหนักสุดรอบ 22 ปี
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage