สศช.เผยเศรษฐกิจไตรมาส 1/64 หดตัว -2.6% จากผลกระทบการระบาดโควิดเมื่อต้นปี พร้อมปรับลดคาดการณ์จีดีพีทั้งปี 64 เหลือโต 1.5-2.5% หลังประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 5 แสนคน คาดโควิดระลอก 3 ควบคุมได้เดือนมิ.ย.นี้
....................
เมื่อวันที่ 17 พ.ค. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสหนึ่งปี 2564 และแนวโน้มปี 2564 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2564 หดตัว -2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวหดตัว -63.5% และการบริโภคเอกชนหดตัว -0.5% โดยเฉพาะสาขาที่พักโรงแรมหดตัว 35% เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 1/2564 การส่งออกของไทยขยายตัวได้ 3.2% การลงทุนรวมขยายตัว 7.3% และการอุปโภคภาครัฐขยายตัวได้ 2.1% เป็นต้น
“แม้ว่าสาขาเศรษฐกิจหลายๆตัวจะปรับตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การลงทุนรวม และการอุปโภคภาครัฐ แต่ยังไม่สามารถชดเชยกับสาขาที่หดตัว เช่น ภาคบริโภคภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลการระบาดตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา แม้ว่าเราจะสามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่งในช่วงปลายเดือนมี.ค. แต่ก็มีการระบาดเพิ่มเติมอีกในช่วงเดือนเม.ย. ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน” นายดนุชากล่าว
นายดนุชา ระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1/2564 จะหดตัว -2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่หากเปรียบเทียบไตรมาสต่อไตรมาส จะพบว่าเศรษฐกิจไตรมาส 1/2564 ขยายตัว 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2563
@หั่นเป้าจีดีพีปี 64 โต 1.5-2.5%-นทท.ต่างชาติเหลือ 5 แสนคน
นายดนุชา ยังกล่าวว่า สศช.ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 โดยคาดว่าขยายตัวที่ 1.5-2.5% มีค่ากลางที่ 2% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 2.5-3.5% เนื่องจากคาดว่าการบริโภคเอกชนจะขยายตัว 1.6% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2% การลงทุนภาครัฐขยายตัว 9.3% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 10.7% และนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 5 แสนคน จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.2 ล้านคน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สศช.ปรับเพิ่มคาดการณ์การส่งออกในปี 2564 โดยคาดว่าการส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 10.3% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 5.8%
สำหรับปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจปี 2564 ได้แก่ 1.การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ซึ่งเป็นผลจากการที่สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในวงเงินค่อนข้างสูง รวมถึงความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนของประเทศเศรษฐกิจหลักที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และ2.แรงขับเคลื่อนจากการเบิกจ่ายภาครัฐ โดยรัฐบาลต้องเบิกจ่ายงบประมาณปี 2564 ให้ได้ตามเป้า คือ อย่างน้อย 92% ของวงเงินงบประมาณ
ส่วนปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ 1.ความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความล่าช้าในการกระจายวัคซีน โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ รวมถึงการกลายพันธุ์ของไวรัส 2.แนวโน้มความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากประเทศต้นทางยังไม่มีมาตรการปล่อยนักท่องเที่ยวออกมา ทำให้ สศช.คาดว่าในปี 2564 ไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 5 แสนคน และมีรายรับที่ 1.7 แสนล้านบาทเท่านั้น
3.ฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยไตรมาสที่ 4/2563 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 89.3% 4.ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก ไม่ว่าจะเป็นทิศทางการดำเนินนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น นโยบายการค้าของสหรัฐและจีนที่จะมีผลต่อการส่งออกไทย การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ซึ่งได้รับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น
@แนะ 7 ประเด็นบริหารเศรษฐกิจ-หวังปชช.ร่วมฉีดวัคซีน
ทั้งนี้ สศช.มีข้อเสนอแนะแนวทางการบริหารเศรษฐกิจปี 2564 ใน 7 ประเด็น ได้แก่
1.การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศเพื่อให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงและอยู่ในวงจำกัดโดยเร็ว และการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงในระลอกใหม่
2.การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดและมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
3.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า เพื่อสร้างรายได้จากต่างประเทศและสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง
4.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน
5.การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
6.การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ทันทีที่มีการกระจายวัคซีนทั้งในและต่างประเทศที่เป็นแหล่งต้นทางของนักท่องเที่ยวครอบคลุมเป็นวงกว้างและเพียงพอต่อการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ
7.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
“การระบาดรอบนี้น่าจะควบคุมได้ช่วงเดือนมิ.ย. แต่เรื่องวัคซีนจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในระยะต่อไป ดังนั้น อยากขอความร่วมมือจากประชาชนในการรับฟังข้อมูลจากบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญ เพื่อให้การฉีดวัคซีนและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เป็นได้โดยเร็ว ขณะที่การดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขต้องทำต่อเนื่อง และไม่นำตัวเองไปอยู่ในพื้นที่มีคนแออัด ซึ่งนอกจากจะดูแลบุคคลใกล้ตัวแล้ว ยังทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้” นายดนุชากล่าว
อ่านประกอบ :
รายได้ลด-หนี้เพิ่ม! สศช.ห่วง 3 ปัจจัยกระทบแรงงาน-เกษียณ 60 ปีต้องมีเงินออม 2.8-4 ล.
เซ่นโควิดรอบใหม่! สศช.หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 2.5-3.5%-ศก.ปี 63 หดหนักสุดรอบ 22 ปี
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
ไฟเขียวแบงก์ปันผล! ‘ธปท.’ ให้จ่ายได้ไม่เกิน 50% ของกำไร-ต้องไม่มากกว่าปี 62
สร้างกันชน-รักษาภูมิคุ้มกันศก.! 'วิรไท' แจงเหตุขอแบงก์ 'งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน'
ช่วยลูกหนี้ระยะสอง! ธปท.ประกาศลดดบ. ‘บัตรเครดิต-พีโลน’ 2-4% พ่วงขยายวงเงินเป็น 2 เท่า
งดจ่ายปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน! ธปท.ให้แบงก์ รักษา 'เงินกองทุน' รองรับความเสี่ยง 1-3 ปี
ห่วงธุรกิจไปไม่รอด-เมินปล่อยกู้! 2 สมาคมฯท้วงธปท.ลดเพดานดบ. ‘พีโลน-จำนำทะเบียนรถ’
รับรู้รายได้ ดบ.ปกติ! เผยวิธีบันทึกงบฯ‘สถาบันการเงิน’ช่วงพักชำระหนี้-ทำให้ฐานะอ่อนแอ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/