‘สศช.’ เผยจีดีพีไตรมาส 2/64 โต 7.5% เหตุส่งออกโตพุ่ง-ฐานปีที่แล้วต่ำ พร้อมหั่นเป้าเศรษฐกิจทั้งปี 64 เหลือเติบโต 0.7-1.2% เซ่นโควิดระลอก 3 ชี้หากคุมโควิดไม่ได้ภายในไตรมาส 3 อาจเห็นจีดีพีทั้งปีโตต่ำกว่า 0.7%
..........................
เมื่อวันที่ 16 ส.ค. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 และแนวโน้มปี 2564 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2564 ขยายตัวได้ 7.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2563 ซึ่งเศรษฐกิจไทยหดตัว -12.1% โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ การส่งออกที่ขยายตัวได้ 27.5% การลงทุนรวมที่ขยายตัว 8.1% และการบริโภคเอกชนขยายตัว 4.6% เป็นต้น ส่วนภาคบริการยังคงหดตัวที่ระดับ -1.9%
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ขยายตัวได้ 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องการส่งออกที่ขยายตัวสูงขึ้น และฐานการคำนวณที่ต่ำผิดปกติในช่วงปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยดังกล่าว เป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจในบางสาขา คือ เป็นการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และภาคส่งออกเป็นหลัก ส่วนภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม และร้านอาหาร ยังไม่ฟื้นตัว
นายดนุชา ระบุว่า หากเปรียบเทียบอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นรายไตรมาส พบว่าตั้งแต่ไตรมาส 3/2563 จนถึงไตรมาส 2/2564 เศรษฐกิจไทยยังมีการขยายตัวอยู่ แต่ขยายตัวเพียงเล็กน้อย โดยไตรมาส 4/2563 เศรษฐกิจขยายตัว 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่วนไตรมาส 1/2564 เศรษฐกิจขยายตัวได้ 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และไตรมาสที่ 2/2564 เศรษฐกิจขยายตัวได้ 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
“ในทางเทคนิค เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัว ไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยเหมือนที่พูดกัน แต่เศรษฐกิจไทยเริ่มมีโมเมนตัมการขยายตัวที่ลดลง ซึ่งเป็นผลจากผลของการระบาดค่อนข้างรุนแรงและเป็นวงกว้าง ตั้งแต่ในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา” นายดนุชากล่าว
นายดนุชา กล่าวว่า สศช.ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็นขยายตัวที่ 0.7-1.2% โดยมีค่ากลาง 1% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.5-2.5% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง และการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) จำนวน 29 จังหวัด ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงอย่างชัดเจน
สำหรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ที่คาดว่าจะขยายตัว 0.7-1.2% นั้น อยู่ภายใต้สมมติฐานว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในประเทศถึงจุดสูงสุดและควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้ตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค.2564 โดยจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างช้าๆในเดือน ก.ย.2564 ก่อนเริ่มผ่อนคลายมาตรการและทยอยเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/2564 เป็นต้นไป รวมทั้งไม่เกิดการระบาดที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นฐานการผลิตและท่องเที่ยวที่สำคัญ
ขณะที่การกระจายวัคซีนเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ จัดหาและกระจายวัคซีนได้ 85 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 และการแพร่ระบาดของโควิดในต่างประเทศมีความรุนแรง จนนำไปสู่การใช้มาตรการล็อกดาวน์และการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก
ส่วนสมมติฐานทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจโลกขยายตัว 6% ,การค้าโลกขยายตัว 8.5% ,อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31.3-32.3 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ,ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 62-72 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ,จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย 1.5 แสนคน ซึ่งจะสร้างรายได้ 1.2 แสนล้านบาท ลดลงจากประมาณการครั้งที่แล้วที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 5 แสนคน และการส่งออกไทยขยายตัวที่ 16.3% เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยปี 2564 อาจขยายตัวต่ำกว่า 0.7% ได้ หากไทยไม่สามารถควบคุมการระบาดในประเทศได้ในช่วงไตรมาสที่ 3/2564 และไม่สามารถทยอยเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ในช่วงไตรมาสที่ 4/2564 ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิดในต่างประเทศมีความรุนแรงจนกระทั่งมีการล็อกดาวน์ และส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักสำคัญ
นายดนุชา ระบุว่า สำหรับปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจปี 2564 ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก 2.แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่าย ลงทุน และมาตรการเศรษฐกิจของภาครัฐ 3.การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของรายได้ภาคเกษตร และ 4.ฐานการขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ
ด้านปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ 1.การแพร่ระบาดโควิดที่ยังรุนแรง รวมถึงการกลายพันธุ์ของไวรัส 2.ฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจภายใต้ภาวะแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการใช้จ่าย 3.ความไม่แน่นอนในการขยายตัวของภาคส่งออก เช่น การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์หรือชิปในตลาด ปัญหาโลจิสติกส์จากค่าระวางเรือที่สูงขึ้น และ 4.ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก
ส่วนประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2564 สศช. เสนอว่าควรให้สำคัญใน 7 เรื่อง ได้แก่ 1.การควบคุมสถานการณ์การระบาดให้อยู่ในวงจำกัด 2.การช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจในช่วงที่การระบาดของโรคมีความรุนแรงและมีการดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด 3.การดำเนินมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเมื่อสถานการณ์การระบาดผ่อนคลายลง
4.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า 5.การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 6.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน และ7.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
อ่านประกอบ :
จีดีพีไตรมาส 1 ลบ 2.6%! สศช.หั่นเป้าปี 64 โต 1.5-2.5%-คาดคุมโควิดระลอก 3 ได้มิ.ย.นี้
รายได้ลด-หนี้เพิ่ม! สศช.ห่วง 3 ปัจจัยกระทบแรงงาน-เกษียณ 60 ปีต้องมีเงินออม 2.8-4 ล.
เซ่นโควิดรอบใหม่! สศช.หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 2.5-3.5%-ศก.ปี 63 หดหนักสุดรอบ 22 ปี
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/