สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 3/65 หดตัว -0.3% เซ่นผลกระทบโควิด-19 รุนแรงขึ้น คาดทั้งปี 64 เศรษฐกิจขยายตัวที่ 1.2% จากปัจจัยการส่งออกที่ขยายตัว 16.8% โควิดคลี่คลาย มองปี 65 จีดีพีเติบโต 3.5-4.5%
.............................
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ปี 2564 และแนวโน้มปี 2565 ว่า เศรษฐกิจไทย (GDP) ไตรมาส 3/64 หดตัว -0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลต้องออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด และประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจีดีพีไตรมาส 3/64 จะหดตัว -0.3% แต่มีปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสนี้หดตัวลงไม่มากนัก เช่น การส่งออกที่ขยายตัว 12.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ,การส่งออกบริการที่ขยายตัว 11.8% เนื่องจากมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้มาตรการ Phuket Sandbox กว่า 4.5 หมื่นคน ,การอุปโภคภาครัฐบาลที่ขยายตัว 2.5% ,ภาคเกษตรที่ขยายตัว 4.3% และสาขาการค้าที่ขยายตัว 3.3% เป็นต้น
ทั้งนี้ สศช.ประเมินว่าเศรษฐกิจทั้งปี 2564 จะขยายตัวที่ 1.2% โดยคาดว่าการส่งออกทั้งปี 2564 จะขยายตัวที่ 16.8% จากปริมาณการค้าโลกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 8% ,การลงทุนภาครัฐขยายตัว 4.8% ,การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.3% และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 1.2% เป็นต้น ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2564 คาดว่าจะมีจำนวน 2 แสนคน ซึ่งสร้างรายได้เข้าประเทศ 1.3 แสนล้านบาท
“ภาคการส่งออกยังเป็นภาคสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2564 แต่เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังเปราะบาง ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ในประเทศในช่วงต่อไปนั้น น่าจะอยู่ในวงจำกัด และศักยภาพของระบบสาธารณสุขจะมีเพียงพอที่จะบริหารจัดการได้ โดยเดือนนี้จะมีวัคซีนเข้ามาอีก 20 ล้านโดส และเดือนหน้าอีก 20 ล้านโดส ส่วนปีหน้าได้มีการเตรียมการจัดหาวัคซีนเข้ามาอีก 60 ล้านโดส เพื่อเป็นบูสเตอร์เข็มที่ 3 และเข็มที่ 4” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา กล่าวว่า สศช.ยังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวที่ 3.5-4.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวอุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ,การส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัว 4.9% ,การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคาดว่าในปี 2565 ไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน ที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศ 4.4 แสนล้านบาท และแรงขับเคลื่อนจากการเบิกจ่ายของภาครัฐ ทั้งงบลงทุนประจำปี เงินจากพ.ร.ก.กู้เงินฯ และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ
“คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัว 3.5-4.5% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้รับแรงส่งจากเศรษฐกิจโลกไปด้วย เศรษฐกิจสหรัฐ ยูโรโซน และญี่ปุ่น ยังขยายตัวได้ดี ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.3% ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 4.4 แสนล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน แม้ว่าจีนจะยังไม่ปล่อยให้นักท่องเที่ยวออกนอกประเทศก็ตาม” นายดนุชา กล่าว
ส่วนปัจจัยเสี่ยงในปี 2565 เช่น ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ,ปัญหาหนี้สินครัวเรือนและหนี้สินของภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ,ความยืดเยื้อของปัญหาห่วงโซ่อุปทาน จากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลก รวมถึงการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว และความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก
สำหรับประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2565 สศช.มองว่าควรให้ความสำคัญใน 7 ประเด็น ได้แก่
1.การป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด โดยการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรค การเร่งรัดกระจายวัคซีนให้เพียงพอและทั่วถึง การควบคุมดูแลกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และการเตรียมแผนการรองรับการกลับมาระบาดของโรค
2.การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดย การเร่งรัดติดตามมาตรการต่างๆ ทั้งด้านการเงินการคลังที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และพิจารณามาตรการเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือ การพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือแรงงานเพิ่มเติมสำหรับภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว และการประชาสัมพันธ์มาตรการของภาครัฐให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีความเข้าใจและสามารถใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ
3.การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยการติดตามและประเมินผลมาตรการต่าง ๆ ที่ดำเนินการไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ ควบคู่ไปกับการปรับมาตรการและดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ในระยะข้างหน้า การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน และการดูแลเกษตรกรโดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
4.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า โดยการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลักที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน และการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ การพัฒนาสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม การแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อระบบการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา
รวมทั้งการเร่งรัดกระบวนการพิจารณาในการตัดสินใจเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต
5.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่อการควบคุมการระบาดของโรคภายในประเทศ การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561-2563 ให้เกิดการลงทุนจริง การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต
การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และการพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้มข้นโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่
6.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
7.การติดตามและเฝ้าระวังความผันผวนของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
อ่านประกอบ :
‘สศช.’เผยจีดีพีสังคมไตรมาส 2 พบ‘ว่างงานสูง-หนี้เพิ่ม-รายได้หด-เงินออมลด-เครียดโควิด’
'สศช.’ หั่นเป้าเศรษฐกิจปี 64 เหลือ 0.7-1.2%-จีดีพีไตรมาส 2 โต 7.5% ส่งออกดี-ฐานต่ำ
จีดีพีไตรมาส 1 ลบ 2.6%! สศช.หั่นเป้าปี 64 โต 1.5-2.5%-คาดคุมโควิดระลอก 3 ได้มิ.ย.นี้
รายได้ลด-หนี้เพิ่ม! สศช.ห่วง 3 ปัจจัยกระทบแรงงาน-เกษียณ 60 ปีต้องมีเงินออม 2.8-4 ล.
เซ่นโควิดรอบใหม่! สศช.หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 2.5-3.5%-ศก.ปี 63 หดหนักสุดรอบ 22 ปี
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage