‘สภาพัฒน์’ แถลงจีดีพีสังคมไตรมาส 2/64 พบตกงานแตะ 7.4 แสนคน ว่างงานเกิน 1 ปีพุ่ง 1.47 แสนคน ขณะที่หนี้ครัวเรือนแตะ 90.5% ของจีดีพี เงินออมลดลง ชี้มาตรการ ‘ล็อกดาวน์’ ฉุดรายได้อาชีพอิสระ 7.3 ล้านคน ประชาชนเครียดเพิ่มขึ้น
...............................
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/2564 ว่า ในช่วงไตรมาส 2/2564 การจ้างงานเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบด้วย การจ้างงานในภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 2.4% เนื่องจากแรงงานกลับภูมิลำเนาและเข้าสู่ภาคเกษตร และการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.8% โดยเพิ่มขึ้นเกือบทุกสาขา ยกเว้นภาคการผลิตและภาคค้าส่งค้าปลีกที่การจ้างงานลดลง
อย่างไรก็ตาม การจ้างงานในภาคการผลิตที่ลดลง 2.2% นั้น ไม่ได้ลดลงทุกสาขา โดยการจ้างงานในสาขาการผลิตเพื่อส่งมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ยาง และอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนสาขาที่การจ้างงานลดลง ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น
สำหรับอัตราการว่างงานไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 1.89% ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 1/2564 ที่มีอัตราว่างงาน 1.96% โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 7.3 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนหรือผู้จบการศึกษาใหม่ 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้น 10.04% และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 4.4 แสนคน รวมทั้งพบว่าจำนวนผู้ว่างงานนานกว่า 12 เดือน มีจำนวน 1.47 แสนคน หรือคิดเป็น 20.1% ของผู้ว่างงาน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2564 ที่มีสัดส่วน 11.7% ของผู้ว่างงาน
นายดนุชา กล่าวถึงแนวโน้มอัตราการว่างงานในไตรมาส 3/2564 ว่า ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ชัดเจนว่าอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่หากพิจารณามาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าจะทำให้จำนวนผู้เสมือนว่างงานหรือผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 24 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้นแน่นอน
นอกจากนี้ มาตรการควบคุมโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพอิสระ 7.3 ล้านคน ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพราะแม้ว่าแรงงานกลุ่มนี้ยังประกอบอาชีพได้ตามระยะเวลาที่กำหนด แต่ความกังวลของประชาชนจากการแพร่ระบาด จะกระทบการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบอาชีพอิสระ ขณะที่ลูกจ้างในภาคเอกชนที่สามารถทำงานที่บ้านได้มีเพียง 5.6 แสนคน หรือ 5.5% จากลูกจ้างทั้งหมด 10.2 ล้านคน
ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้แรงงานมีความเปราะบางเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการระบาดระลอกแรก โดยแรงงานต้องนำเงินที่เก็บออมไว้มาใช้มากขึ้น สะท้อนจากข้อมูลยอดคงค้างเงินฝากต่อบัญชีที่มีมูลค่าต่ำกว่า 50,000 บาท ในเดือน มิ.ย.2564 ลดลง 4.14% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.2562 และยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
นายดนุชา กล่าวต่อว่า ส่วนหนี้สินครัวเรือนไตรมาส 1/2564 มีจำนวน 14.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็น 90.5% ของจีดีพี
ทั้งนี้ หนี้สินเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต โดยในช่วงไตรมาส 1/2564 สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นเพิ่มขึ้น 6.5% สูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 1/2563 และสินเชื่อบัตรเครดิตที่ขยายตัวเร่งขึ้น โดยขยายตัว 6% จากที่หดตัว 1.3% ในช่วงไตรมาส 1/2564 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และบัตรกดเงินสด
ด้านสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ขยายตัว 6% เพิ่มขึ้นจากขยายตัว 5.3% ในช่วงไตรมาสก่อน จากมาตรการกระตุ้นการขายของผู้ประกอบการ และมาตรการลดคําโอนจำนองของภาครัฐ ส่วนสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น 6% ขณะที่สินเชื่อเพื่อยานยนต์ขยายตัว 2.3% ชะลอตัวต่อเนื่องจากที่ขยายตัว 3.3% ในช่วงไตรมาสก่อน
ส่วนคุณภาพสินเชื่อด้อยลงเล็กน้อย และสินเชื่อหลายประเภทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 1/2564 สัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.92% เพิ่มขึ้น จาก 2.84% ในไตรมาสก่อน เช่นเดียวกับความสามารถในการชำระหนี้ในภาพรวมที่ด้อยลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนมีความสามารถในการหารายได้ลดลงหรือสถานะทางการเงินเปราะบางมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันสถาบันการเงินได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ลดภาระทางการเงิน และชะลอการเสื่อมถอยคุณภาพของสินเชื่อ ซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันการเป็น NPLs การติดเครดิตบูโร รวมทั้งการฟ้องร้องคดีในศาล
“หนี้สินครัวเรือน ถ้าดูในแง่มูลค่าจะพบว่าเพิ่มขึ้นประมาณ 1% มาโดยตลอด แต่ไตรมาสที่ 1/2564 มูลค่าเพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2563 …ส่วนในระยะถัดไปหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแน่ เพราะเรายังอยู่ในวิกฤติอยู่ แต่ถ้าเราสามารถผ่อนคลายได้เร็ว มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยับได้เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ประชาชนมีรายได้”นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา ยังระบุว่า ในส่วนสถานการณ์ด้านสุขภาพและความเจ็บป่วย แม้ว่าการเจ็บป่วยในภาพรวมมีแนวโน้มลดลง แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชนในพื้นที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรง และพื้นที่ที่มีล็อกดาวน์ 29 จังหวัด เนื่องจากผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีเริ่มภาวะความเครียดมากขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า ภาครัฐจึงต้องมีมาตรการในการบรรเทาความเครียดของประชาชนด้วย
นายดนุชา กล่าวถึงข้อเสนอของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เสนอให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาหลุมรายได้แรงงานที่หายไป 2.6 ล้านล้านบาท ว่า รัฐบาลจะดำเนินนโยบายการคลังที่เหมาะสมเพื่อสร้างรายได้ให้กับแรงงาน การดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา รวมถึงการปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีในอนาคต โดยรัฐบาลยังไม่มีแผนกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท แต่จะบริหารเงินกู้ที่มีอยู่ 5 แสนล้านบาท ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
อ่านประกอบ :
'สศช.’ หั่นเป้าเศรษฐกิจปี 64 เหลือ 0.7-1.2%-จีดีพีไตรมาส 2 โต 7.5% ส่งออกดี-ฐานต่ำ
จีดีพีไตรมาส 1 ลบ 2.6%! สศช.หั่นเป้าปี 64 โต 1.5-2.5%-คาดคุมโควิดระลอก 3 ได้มิ.ย.นี้
รายได้ลด-หนี้เพิ่ม! สศช.ห่วง 3 ปัจจัยกระทบแรงงาน-เกษียณ 60 ปีต้องมีเงินออม 2.8-4 ล.
เซ่นโควิดรอบใหม่! สศช.หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 2.5-3.5%-ศก.ปี 63 หดหนักสุดรอบ 22 ปี
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage