‘อัยการ’ ยัน ‘ก.ดีอีเอส’ ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อ THAC ขอให้ ‘อนุญาโตตุลาการ’ ชี้ขาดกรณีให้ ‘บมจ.ไทยคม-บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง’ ชดใช้ค่าเสียหาย ‘ดาวเทียมไทยคม 5’ แก่รัฐ 7.8 พันล้าน เป็นการยื่นคำเสนอข้อพิพาทที่ถูกต้องตามสัญญา ข้องใจ ‘เอกชนคู่สัญญา’ ยื่นคำเสนอข้อพิพาทซ้ำซ้อน
...................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งห้ามมิให้มีการดำเนินกระบวนการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการของสถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม (THAC) ในข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 (คดีพิพาทดาวเทียมไทยคม 5) เป็นการชั่วคราว ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น (อ่านประกอบ : รอชี้ขาดอำนาจใคร! 'ศาลปค.'สั่งคณะอนุญาโตฯ'คดีไทยคม 5' ระงับกระบวนการพิจารณาชั่วคราว)
แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) โดยตั้งข้อสังเกตว่า การที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ระงับกระบวนการพิจารณาของ THAC อาจเป็นการเปิดโอกาสให้ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม (TAI) ซึ่ง บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับคดีพิพาทดาวเทียมไทยคม 5 (ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563) เป็นสถาบันเดียว ที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีพิพาทดาวเทียมไทยคม 5
“การที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ระงับกระบวนการพิจารณาของ THAC อาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้ TAI ซึ่ง บมจ.ไทยคม เลือกโดยเฉพาะเจาะจง พิจารณาข้อพิพาทฯไปแต่สถาบันเดียว และมีข้อน่าพิจารณาว่า เหตุใด บมจ.ไทยคม จึงต้องเลือกที่จะพิจารณากระบวนการอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 5 ที่ TAI โดยเฉพาะเจาะจง” แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุดตั้งข้อสังเกต
นอกจากนี้ ในการพิจารณาวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง กรณีที่ว่าระหว่าง THAC และ TAI สถาบันอนุญาโตตุลาการแห่งใด จะเป็นสถาบันที่มีอำนาจในการดำเนินกระบวนการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการฯ ในข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 5 นั้น กว่าคดีจะถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจะต้องใช้เวลา และอาจทำให้ TAI ดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการฯในข้อพิพาทนี้เสร็จสิ้นไปแล้ว ตามความประสงค์ของไทยคม
แหล่งข่าวรายเดิม ยังระบุว่า ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลงวันที่ 11 ก.ย.2534 ระบุว่า กรณีที่เกิดข้อพิพาท สัญญากำหนดว่า กระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการให้กระทำในกรุงเทพมหานคร ซึ่งกรณีพิพาทดาวเทียมไทยคม 5 ดังกล่าว กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อ THAC ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ จึงเป็นการยื่นคำเสนอที่ถูกต้องตามสัญญา และเป็นการยื่นคำเสนอข้อพิพาทก่อนที่ บมจ.ไทยคมและ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง จะไปยื่นคำเสนอข้อพิพาทเดียวกัน (คดีดาวเทียมไทยคม 5) ต่อ TAI ซึ่งเป็นยื่นที่ซ้ำซ้อนกัน
แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุดรายนี้ ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยการพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ข้อ 72 วรรคสาม กำหนดว่า “ในกรณีที่ศาลเห็นว่าคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้น น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งได้ตามที่เห็นสมควร”
แต่การที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ระงับการพิจารณาของ THAC อันเป็นการมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของ THAC ที่ให้รับข้อพิพาทที่ A 27/2020 (คดีพิพาทดาวเทียมไทยคม 5) ไว้พิจารณา โดยมิได้พิเคราะห์เลยว่า การที่ THAC มีคำสั่งดังกล่าวที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้น น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างไร
รายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ได้เกิดกรณีการขัดข้องของดาวเทียมไทยคม 5 และเป็นเหตุให้ต้องปลดระวางดาวเทียมไทยคม 5 เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2563 ทำให้ต่อมากระทรวงดีอีเอส ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อ สถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม (THAC) เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ A27/2020 โดยเรียกร้องให้ บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง ดำเนินการ ดังนี้
1.สร้างและส่งมอบดาวเทียมทดแทนดาวเทียมไทยคม 5 หรือ ‘ให้ใช้’ ราคาดาวเทียม จำนวน 7,790.09 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค.2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
2.ชำระค่าปรับเป็นเงิน 4.98 ล้านบาท (คำนวนจากวันที่ 25 ก.พ.2563 ถึงวันที่ 30 ต.ค.2563) พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี
3.ค่าปรับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะส่งมอบดาวเทียมทดแทนดาวเทียมไทยคม 5 หรือชำระเงินค่าเสียหายครบถ้วน
ทั้งนี้ ปัจจุบัน คณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ A27/2020 ประกอบด้วย ศ.พิเศษ สุชาติ ธรรมาพิทักษ์กุล เป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการ , นางสุรางค์ นาสมใจ รองอัยการสูงสุด เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส และ ศ.พิเศษ ดร.กมลชัย รัตนสกวงศ์ เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายบมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง
อย่างไรก็ดี หลังจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม (THAC) เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ A27/2020 แล้ว บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม (TAI) เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563 ซึ่งเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับดาวเทียมไทยคม 5 เช่นกัน
ต่อมา บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง เห็นว่า สถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม (THAC) ไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนการพิจารณาและชี้ขาดข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 และกระบวนการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการของสถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม (THAC) เป็นกระทำที่ไม่ชอบด้วยข้อสัญญาสัมปทานและข้อกฎหมาย รวมทั้งเห็นว่าการพิจารณาคดีพิพาทดาวเทียมไทยคม 5 เป็นอำนาจของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม (TAI) จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลฯมีคำวินิจฉัยในเรื่องนี้
กระทั่งต่อมาในวันที่ 11 มี.ค.2565 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งห้ามมิให้มีการดำเนินกระบวนการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการของสถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม (THAC) ในข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 (คดีพิพาทดาวเทียมไทยคม 5) เป็นการชั่วคราว ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
อ่านประกอบ :
รอชี้ขาดอำนาจใคร! 'ศาลปค.'สั่งคณะอนุญาโตฯ'คดีไทยคม 5' ระงับกระบวนการพิจารณาชั่วคราว
ฟ้องนัว 4 คดี! ‘ไทยคม-ดีอีเอส’ ยื่น ‘ศาลปค.กลาง’ ชี้ขาดข้อพิพาทดาวเทียม-ตั้งอนุญาโตฯ
‘พฤฒิพร เนติโพธิ์’ แจ้งถอนตัว ‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม-ยันคู่กรณีไม่คัดค้าน 'ความเป็นกลาง’
อธิบดีอัยการสำนักอนุญาโตฯ ระบุชัด ‘ก.ดีอีเอส’ ตั้ง 'พฤฒิพร' คดีไทยคม ขัดระเบียบ-กม.
เปิดละเอียดข้อกล่าวหา!ยื่น ป.ป.ช.สอบ ‘รมว.ดีอีเอส- อสส.’ แทรกแซงตั้งอนุญาโตฯคดีไทยคม
‘ก.อ.’ ถกปมตั้ง ‘อนุญาโตฯ’ คดีดาวเทียมไทยคม ส่อมีปัญหา-แนะ ‘พฤฒิพร’ ถอนตัว
‘ดีอีเอส’ โยน ‘อสส.'ทบทวนตั้ง ‘พฤฒิพร’เป็นอนุญาโตฯคดีไทยคม หลังมีข้อครหาไม่เป็นกลาง
โชว์คำสั่ง‘บิ๊กตู่’! ตั้ง‘พล.อ.วิทวัส’นั่งปธ.ตรวจสอบสัมปทานดาวเทียม-ถกนัดแรก 13 ก.ย.
‘บอร์ด กสทช.’ ไฟเขียว NT เข้าใช้วงโคจรดาวเทียม หลังสิ้นสุดสัมปทาน 'ไทยคม'
ย้อนปมแก้สัญญาดาวเทียม! ก่อนครม.ไล่เบี้ยหาคนผิด ลดหุ้น'ไทยคม’-ไม่ประมูล‘ไอพีสตาร์’
ครม.ไฟเขียวแก้สัญญาดาวเทียม ให้‘อินทัช’ ถือหุ้น‘ไทยคม’ไม่ต่ำกว่า 51%-ผนวก'ไอพีสตาร์'
แกะคู่มืออนุญาโตฯ เปิดช่อง ‘ไทยคม’ ได้เปรียบคดีดาวเทียม เดิมพันค่าโง่ 2.5 หมื่นล้าน
อภิปรายไม่ไว้วางใจ : ชำแหละมหากาพย์ 'ดาวเทียม’ เอื้อกลุ่มทุน-‘ชัยวุฒิ’ ปัดอุ้ม‘ไทยคม’
‘อสส.’ ส่งชื่อ ‘พฤฒิพร เนติโพธิ์’ เป็น ‘อนุญาโตฯ’ ชี้ขาดคดีไทยคม 2 ข้อพิพาท
ผู้ตรวจอัยการฯ VS ปลัดดีอีเอส : ขอให้ยึดถือความสัตย์จริง ตรงไปตรงมา
เสี่ยงถูกครอบงำ! ‘ผู้ตรวจอัยการ’ ค้านตั้ง ‘อนุญาโตฯ’ คนเดียว รวบคดีไทยคม
อ้างผิดพลาด! 'ปลัดดีอีเอส'ขออภัย 'ผู้ตรวจอัยการ’ ยันไม่เปลี่ยน‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม 5
'รมว.ดีอีเอส' ยันเสนอชื่อ ‘อนุญาโตฯ’ คดี 'ไทยคม' ใหม่อีกรอบ ขึ้นอยู่กับ ‘อสส.’
‘ดีอีเอส’ ตีกลับ‘เลขาฯอสส.’! แจ้งขอเปลี่ยน 'อนุญาโตฯ' คดีพิพาทไทยคมอีกรอบ
4 ปมปัญหา! เบื้องหลังเปลี่ยน ’อนุญาโตฯ’คดีไทยคม หลังผลัดเก้าอี้ 'รมว.ดีอีเอส'
ปมขัดแย้งเปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ ฝ่ายอัยการ คดีข้อพิพาท ‘ไทยคม’ เดิมพันผล ปย.หมื่นล้าน