“…คณะกรรมการฯ เห็นว่าโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน คือ การดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยควรมุ่งเน้นการรักษาสมดุลระหว่างมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาด และความสามารถในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ…”
..........................
หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 6/2564 วันที่ 29 กันยายน 2564
กรรมการที่เข้าร่วมประชุม
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ประธาน) ,นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) ,นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ,นายคณิศ แสงสุพรรณ ,นายรพี สุจริตกุล ,นายสมชัย จิตสุชน และนายสุภัค ศิวะรักษ์
ภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะตลาดการเงิน
การฟื้นตัวของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักและกลุ่มประเทศเอเชียแตกต่างกันมากขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มสูงขึ้นจากการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Delta ส่วนหนึ่งเพราะอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับสูง จึงสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดได้เร็ว ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมีไม่มาก
ขณะที่กลุ่มประเทศเอเชียได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Delta ที่รุนแรงขึ้น และใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนแผ่วลงหลังจากที่เร่งขึ้นมากในช่วงก่อนไวรัสกลายพันธุ์ระบาด
สำหรับการส่งออกสินค้ายังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แต่เริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทานในโลก (global supply disruption) เช่น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ ที่คาดว่าจะรุนแรงและยืดเยื้อถึงกลางปี 2565
ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนสูงขึ้นจากนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก (advanced economies: AEs) ที่มีแนวโน้มทยอยลดการผ่อนคลาย โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มสื่อสารแนวทางการลดปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล (tapering) ที่ชัดเจนขึ้น
รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป ภายหลังแนวโน้มเศรษฐกิจและการระบาดของ COVID-19 ในสหรัฐฯ ปรับดีขึ้น ส่งผลให้เงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้น
ขณะที่ค่าเงินและราคาสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets: EMs) ผันผวน จากความกังวลของนักลงทุนต่อสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทิศทางนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศ AEs รวมถึงความเสี่ยงจากมาตรการตรวจสอบและควบคุมบางภาคธุรกิจในประเทศจีน และความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่ม บริษัท Evergrande อย่างไรก็ดี กองทุนรวมของไทยลงทุนในหุ้นกู้ของกลุ่มบริษัทดังกล่าวค่อนข้างน้อย จึงมีผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยจำกัด
สำหรับค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนสูงขึ้น จากทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศ AEs และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่แน่นอน โดยเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวทั้งสองทิศทางตามตลาดการเงินโลกที่ผันผวน ดัชนีค่าเงินบาท (nominal effective exchange rate: NEER) อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากการประชุมครั้งก่อน
มองไปข้างหน้า ตลาดการเงินโลกยังมีแนวโน้มผันผวนสูง จากแนวโน้มการทยอยลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศ AEs และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มประเทศ AEs และ EMs รวมถึงระหว่างกลุ่มประเทศ EMs ด้วยกัน
ภาวะเศรษฐกิจไทย
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 0.7 และ 3.9 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ ใกล้เคียงกับประมาณการ ณ เดือนสิงหาคม โดยแม้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดและการส่งออกที่ชะลอลงกว่าคาด แต่พัฒนาการด้านวัคซีนที่ดีขึ้นชัดเจนและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปี 2564
สำหรับปี 2565 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นสำคัญ ตามความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ และการส่งออกจะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหา global supply disruption
ทั้งนี้ ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นมากเป็นสาเหตุสำคัญของประมาณการการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดชั่วคราวที่ -15.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2564 โดยการขาดดุลที่เพิ่มขึ้นเทียบกับประมาณการเดือนมิถุนายนมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผลจากรายจ่ายค่าระวางสินค้า (freight) ที่เร่งสูงขึ้นมาก
อย่างไรก็ดี ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเป็นบวกเล็กน้อยที่ 1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2565 ตามสถานการณ์การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ที่คาดว่าจะเริ่มคลี่คลายตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565
ด้านตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง แต่รายได้ของแรงงานในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นบ้างตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับลดลงในปี 2564 มาอยู่ใกล้ขอบล่างของกรอบเป้าหมาย จากราคาอาหารสดที่ปรับลดลงเป็นสำคัญและมาตรการลดค่าไฟฟ้าของภาครัฐเพิ่มเติมเพื่อช่วยค่าครองชีพ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะสูงขึ้นในระยะสั้นจากผลกระทบชั่วคราวของพายุเฮอริเคนไอดาในสหรัฐฯ เป็นสำคัญ
สำหรับในปี 2565 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ตามราคาอาหารสดที่จะเพิ่มขึ้นจากการคลี่คลายของปัญหาอุปทานสินค้าเกษตรส่วนเกินในประเทศหลังจากที่สามารถกลับมาส่งออกได้มากขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ยังไม่เข้มแข็ง สำหรับการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง โดยต้องติดตาม
(1) แนวโน้มการระบาดและการกลายพันธุ์ของไวรัส รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยว
(2) การฟื้นตัวของความเชื่อมั่นภาคเอกชนหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภคและการลงทุน
(3) ความต่อเนื่องของมาตรการของภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในระยะต่อไป และ
(4) ปัญหา supply disruption และต้นทุนค่าขนส่งสินค้าทางเรือ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกสินค้า
ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการฯ อภิปราย
คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ การฟื้นตัวของอุปสงค์ที่เลื่อนมาจากช่วงก่อนหน้า (pent-up demand) ในช่วงที่เหลือของปี 2564 จากพัฒนาการด้านวัคซีนที่ปรับดีขึ้นและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด ซึ่งส่งผลให้ประมาณการเศรษฐกิจใกล้เคียงกับการประเมินครั้งก่อน แม้การส่งออกชะลอลง
อย่างไรก็ดี ต้องติดตามพัฒนาการด้านวัคซีน ทั้งการนำเข้าและกระจายวัคซีนตามแผนของรัฐบาล รวมถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนที่อาจฟื้นตัวล่าช้ากว่าคาดหากการระบาดกลับมารุนแรงขึ้น ประกอบกับภาคส่งออกยังเผชิญปัญหา global supply disruption รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตามนโยบายการเปิดประเทศของไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการฟื้นตัวในแต่ละภาคเศรษฐกิจมีความแตกต่างกันมากขึ้น (uneven recovery) ทำให้ตลาดแรงงานยังเปราะบาง ซึ่งประเมินว่าจำนวนผู้ว่างงานและผู้เสมือนว่างงาน ณ สิ้นปี 2564 จะอยู่ที่ 3.4 ล้านคน โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ
ซึ่งสะท้อนจากจำนวนลูกจ้างในระบบประกันสังคมที่ขอรับสิทธิทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงเห็นสัญญาณแรงงานเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนาสูงขึ้นต่อเนื่อง ภาครัฐจึงควรดูแลภาคเศรษฐกิจและตลาดแรงงานในจุดที่เปราะบางอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวหลังการระบาดสิ้นสุดลง (scarring effects)
คณะกรรมการฯ เห็นว่าโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน คือ การดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยควรมุ่งเน้นการรักษาสมดุลระหว่างมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาด และความสามารถในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและครัวเรือน
ทั้งนี้ ในระยะต่อไปประเมินว่าการกระจายวัคซีนที่มีความคืบหน้าจะช่วยให้จำนวนผู้ป่วยวิกฤตปรับลดลงมาใกล้เคียงกับระดับศักยภาพของระบบสาธารณสุข ทำให้การใช้มาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด มีความจำเป็นน้อยลง และภาครัฐสามารถดำเนินมาตรการที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาใกล้เคียงปกติได้มากขึ้น
คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการการคลังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในปัจจุบันทั้งการเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจ โดยในระยะต่อไป ควรเน้นการสร้างรายได้และเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การระบาดคลี่คลาย
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯเห็นว่าการขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็นร้อยละ 70 จะเอื้อให้ภาครัฐสามารถผลักดันนโยบายเพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ลดลงในระยะต่อไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐที่จะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว
ทั้งนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐควรเน้นโครงการที่มีประสิทธิผลสูง เช่น มาตรการที่รัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายและภาคเอกชนมีส่วนร่วม (co-payment) เพื่อให้มีตัวทวีทางการคลังสูงและได้ผลในวงกว้างขึ้น รวมทั้งควรมีกระบวนการใช้จ่ายที่โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
โดยระยะต่อไป ภาครัฐควรเตรียมแนวทางที่ชัดเจนในการทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ปรับลดลงเพื่อรักษาวินัยทางการคลัง รวมทั้งสร้างพื้นที่ทางการคลังเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต อาทิ การหารายได้เพิ่มเติมจากการสร้างฐานรายได้ใหม่ การควบคุมสัดส่วนของรายจ่ายประจำ การเพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างและยกศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว
คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินต้องสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่ยังมีปัญหาในการกระจายสภาพคล่องที่มีอยู่มากไปสู่ธุรกิจ SMEs และครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูระยะที่ 1 ซึ่งเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนเมษายน – กันยายน 2564 ช่วยให้ธุรกิจ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นสูงกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้ในช่วง 6 เดือนแรก
สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อคืบหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่กระจายตัวดีทั้งด้านจำนวนและความเสี่ยงของลูกหนี้ แต่ควรเร่งผลักดันกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดและต่อเนื่อง อาทิ
(1) มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูระยะที่ 2 หลังจากที่ได้ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันให้สามารถรองรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น และขยายวงเงินสินเชื่อ สำหรับลูกหนี้ที่วงเงินเดิมน้อยหรือไม่เคยมีวงเงิน
(2) มาตรการพักทรัพย์พักหนี้
(3) มาตรการอื่นๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ อาทิ โครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง ให้แก่ธุรกิจ SMEs และลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด และ
(4) การผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เห็นผลในวงกว้าง เพื่อให้ลูกหนี้ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ อาทิ การให้ความยืดหยุ่นในการบังคับใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นหนี้และการกันเงินสำรอง เพื่อลดภาระต้นทุนของสถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ให้ยั่งยืนขึ้นมากกว่าการขยายเวลาชำระหนี้เพียงอย่างเดียว และการขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF เหลือร้อยละ 0.23ออกไปจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้สถาบันการเงินส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปในการบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง
การดำเนินนโยบายการเงิน
คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 และปี 2565 จะขยายตัวใกล้เคียงกับที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อน แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
โดยคาดว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะได้รับผลบวกจากการกระจายวัคซีนที่ปรับดีขึ้นและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด
ทั้งนี้ โจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน คือ การดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐต้องเร่งสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ด้านมาตรการด้านการเงินมีความคืบหน้ามากขึ้น แต่ยังต้องเร่งผลักดันการกระจายสภาพคล่องและปรับโครงสร้างหนี้ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้
คณะกรรมการฯ เห็นว่าในระยะที่ผ่านมาเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นตามปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ เงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวมากขึ้นทั้งสองทิศทาง โดยแข็งค่าขึ้นภายหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด แต่ปรับอ่อนค่าเร็วภายหลังธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรมหลักสื่อสารทิศทางนโยบายการเงินที่จะทยอยลดการผ่อนคลายลง รวมถึงนักลงทุนกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่มบริษัท Evergrande ที่อาจลุกลามกลายเป็นความเสี่ยงเชิงระบบ
คณะกรรมการฯจึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ และไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงเร่งผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับโครงสร้างของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทยให้สมดุลและยืดหยุ่นขึ้น
คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่องยังมีความสำคัญ มาตรการการคลังควรเร่งสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเน้นการสร้างรายได้และเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ นโยบายการเงินต้องสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง
สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูระยะที่ 2 มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่นๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการช าระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาวภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ พัฒนาการของมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศ รวมทั้งความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
อ่านประกอบ :
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5%-คาดศก.ไทยต่ำสุดไตรมาส 3 มองจีดีพีปีนี้โต 0.7%
ธปท.เผยเศรษฐกิจ ก.ค.ชะลอตัว จับตา ‘ส่งออกแผ่ว-โควิดกลับมาระบาด-กำลังซื้ออ่อนแอ’
‘ธปท.’ ยันไม่เคยบังคับแบงก์ ‘แฮร์คัต’ หนี้-พบสัญญาณสินเชื่อ ‘รายย่อย’ เปราะบางขึ้น
รื้อสินเชื่อฟื้นฟู-พีโลน! ‘กนส.’ไฟเขียวมาตรการช่วยลูกหนี้-ลดนำส่งเงิน FIDF ถึงปี 65
เปิดรายงาน กนง. : 3 ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจโตต่ำ-ห่วง 'ล็อกดาวน์' นาน ผลกระทบมากขึ้น
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ :'หลุมรายได้'อาจมีขนาด 2.6 ล้านล.-จำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้น
ทำตอนนี้ดีกว่าทำทีหลัง! ‘ผู้ว่าฯธปท.’หนุนรัฐบาลกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้าน แก้วิกฤติโควิด
แฮร์คัตหนี้-ลดดอกเบี้ย! ธปท.จ่อออกมาตรการจูงใจแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ ‘รายย่อย-SME’
มติ 4 ต่อ 2! ‘กนง.’ เสียงแตกคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%-หั่นจีดีพีปีนี้โตแค่ 0.7%
กำลังซื้ออ่อนแอ-ครัวเรือนไม่เชื่อมั่น! ธปท.เผยบริโภคเดือน มิ.ย.หด-เกาะติด'ล็อกดาวน์'
ฉุดจีดีพีร่วง 0.8-2%! ธปท.ประเมินผลกระทบ ‘ล็อกดาวน์’-เศรษฐกิจปีหน้าฟื้นช้ากว่าคาด
ธปท.เล็งหั่นจีดีพีปี 64 เซ่นล็อกดาวน์-เดลต้าระบาดหนัก ห่วง ‘ว่างงาน-หนี้ครัวเรือนสูง’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/