“…สัดส่วนรายจ่ายบุคคลากรต่องบประมาณภาครัฐของไทย (รวมแผนงานบุคคลากรภาครัฐ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคลากรซ่อนไว้ในงบกลาง ได้แก่ เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ, เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ ฯลฯ) ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 อยู่ที่ร้อยละ 42 ซึ่งมีค่าสูงมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานโลกที่มีค่าเฉลี่ย ร้อยละ 19 ประเทศรายได้ปานกลางระดับบนที่มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 23.2 เท่านั้น…”
......................................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบ 'รายงานผลการศึกษา เรื่อง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567' ของ 'คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ' สภาผู้แทนราษฎร
ทั้งนี้ ครม.ได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณเป็น ‘หน่วยงานหลัก’ รับรายงานฯ พร้อมทั้งข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม
ก่อนส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอ ครม. ต่อไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายงานผลการการศึกษาฯฉบับดังกล่าว ในส่วน ‘ข้อสังเกตในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อคณะรัฐมนตรี’ รวมทั้งสิ้น 22 ข้อ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
@แนะแก้กม.กำหนดกรอบเวลา เสนอ‘ร่าง พ.ร.บ.งบฯ’
ข้อสังเกตในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)
1.ควรใช้กลไกการพิจารณาปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นและไม่สอดคล้องต่อนโยบายรัฐบาลได้ โดยอาศัยกระบวนการพิจารณาของรัฐสภา แทนที่การปรับปรุงงบประมาณประจำปี เพื่อลดความล่าช้าในการประกาศใช้งบประมาณประจำปี
ตามกำหนดการที่งบประมาณประจำปี พ.ศ.2567 จะประกาศใช้ล่าช้าไปถึง 8 เดือน และทำให้เกิดการใช้งบประมาณไปพลางก่อนนานถึง 8 เดือน สร้างผลกระทบต่อประชาชนและความเสียหายต่อเศรษฐกิจ เพราะการใช้งบประมาณไปพลางก่อน ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติราชการในการดูแลและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างทันต่อสถานการณ์ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากความล่าช้าในการลงทุนและเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ
รัฐบาลควรใช้กลไกการพิจารณาปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นและไม่สอดคล้องต่อนโยบายรัฐบาล โดยอาศัยในกระบวนการพิจารณาของรัฐสภา แทนที่การปรับปรุงงบประมาณประจำปี ซึ่งจะทำให้งบประมาณประจำปี พ.ศ.2567 สามารถประกาศใช้ล่าช้าลดลงได้ถึง 3 เดือน
ดังนั้น ควรมีการแก้ไข พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 กำหนดให้สำนักงบประมาณต้องจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี ให้เสร็จภายในเดือน พ.ค.ของทุกปี และให้คณะรัฐมนตรีเสนอ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อนเดือน มิ.ย.ของทุกปี หรือในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก ภายหลังจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพื่อให้งบประมาณรายจ่ายประจำปี สามารถนำมาใช้ได้ทันเวลาหรือเกิดความล่าช้าน้อยที่สุด
2.ควรมีกรอบหรือเพดานการตั้งคำของบประมาณสำหรับหน่วยรับงบประมาณ เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณสามารถจัดทำคำของบประมาณที่สอดคล้องกับการจัดสรรงบประมาณได้ใกล้เคียงที่สุด
หน่วยรับงบประมาณยื่นคำของบประมาณ สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รวมกันจำนวน 5.8 ล้านล้านบาท มากกว่ากรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่ 3.48 ล้านล้านบาท กล่าวคือ คำของบประมาณรายจ่ายประจำปีมีมากกว่ากรอบวงเงินอยู่ถึง 2.3 ล้านล้านบาทหรือร้อยละ 67 และเกิดขึ้นเป็นประจำในทุกปีงบประมาณ
การที่คำของบประมาณรวมกันมากกว่ากรอบวงเงินถึง 2.3 ล้านล้านบาท ทำให้การพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้มีประสิทธิภาพและความคุ้มค่า ต้องใช้ทรัพยากรและระยะเวลามากเกินความจำเป็น
การที่หน่วยรับงบประมาณไม่มีกรอบหรือเพดานงบประมาณ ทำให้หน่วยรับงบประมาณมีแนวโน้มที่จะยื่นคำของบประมาณมากเกินกว่าความจำเป็น เพื่อให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้เพิ่ม แทนที่จะพิจารณาทบทวนโครงการเดิมหรือลดการใช้งบประมาณที่ไม่มีความจำเป็นแล้วภายในหน่วยรับงบประมาณเอง
ดังนั้น หน่วยงานระดับบริหาร เช่น สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ควรบูรณาการร่วมกัน
เพื่อกำหนดกรอบหรือเพดานงบประมาณ สำหรับหน่วยรับงบประมาณที่ใช้ในการยื่นคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ หรืออาจจะกำหนดกรอบในเชิงประเด็นภาพกว้างในแต่ละด้านและให้สอดคล้องกับแผนและเป้าหมายระดับชาติ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น
@ให้‘ระดับนโยบาย’ ชง‘ยุบ-เลิก’หน่วยรับงบประมาณ‘ซ้ำซ้อน’
3.ควรให้ความสำคัญในการจัดทำแผนและเป้าหมายระดับชาติ เพื่อให้สามารถกำหนดกรอบการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้สอดคล้องต่อแผนและเป้าหมายระดับชาติได้แม่นยำขึ้น และใช้เป็นกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีสำหรับหน่วยรับงบประมาณต่อไปได้
4.ควรเพิ่มความสำคัญและการทบทวนกระบวนการขอรับการจัดสรรงบประมาณในโครงการ เพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ (โครงการ Flagship)
5.ควรทบทวนเหตุผลและความจำเป็นของการมีหน่วยรับงบประมาณในปัจจุบัน เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และสอดคล้องต่อการทิศทางการพัฒนาระดับชาติ
ระบบราชการไทยมีการจัดตั้งหน่วยรับงบประมาณเพิ่มขึ้นตามบริบทเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ในขณะเดียวกัน มีการยุบหรือควบรวมหน่วยรับงบประมาณที่ไม่มีความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องต่อบริบทการพัฒนาประเทศน้อยกว่า ส่งผลให้การจัดสรรงบประมาณยังคงเป็นการแยกส่วน มีความซ้ำซ้อน และทำให้การจัดสรรงบประมาณไม่สอดคล้องต่อแผนและเป้าหมายระดับชาติ
ดังนั้น หน่วยงานระดับนโยบาย เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ควรร่วมกันพิจารณาถึงเหตุผลและความจำเป็น ในการยุบ ยกเลิก หรือควบรวมหน่วยรับงบประมาณ ที่ไม่ได้เป็นหน่วยงานเจ้าภาพระดับเป้าหมายแผน แม่บทย่อย (จ.3)
และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้มีการตัดสินใจในระดับนโยบาย เพื่อให้การพิจารณาจัดสรรงบประมาณพุ่งเป้าไปที่หน่วยรับงบประมาณที่เป็นเจ้าภาพ และสอดคล้องต่อทิศทางการพัฒนาประเทศตามแผนและเป้าหมายระดับชาติได้มากขึ้น
6.ควรกำหนดตัวชี้วัดของหน่วยรับงบประมาณและผู้บริหารหน่วยรับงบประมาณ ร่วมกับการพิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปีให้สอดคล้องกับเป้าหมายระดับชาติ
@กำหนด‘ตัวชี้วัด’ผลลัพธ์โครงการฯ ปูทางทำ‘งบฐานศูนย์’
7.ควรเพิ่มความสำคัญตัวชี้วัด ประสิทธิภาพ หรือความคุ้มค่าในกระบวนการจัดทำงบประมาณ เพื่อนำไปสู่การจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ (Zero-Based Budgeting) ที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากขึ้น
กระบวนการสำคัญของการจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ คือ การจัดสรรงบประมาณ โดยไม่ยึดติดกับงบประมาณหรือโครงการที่เคยได้รับอนุมัติในปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดโครงการใหม่ที่เหมาะสมมากกว่ามาทดแทนโครงการเดิมได้รวดเร็วกว่า และทำให้งบประมาณมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากขึ้น จึงเป็นกระบวนการจัดทำงบประมาณที่ใช้กันในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว
ปัจจัยสำคัญในการจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ คือ ทุกโครงการจะต้องพิสูจน์ถึงความคุ้มค่าในการจัดทำงบประมาณประจำปีได้ (เพราะเริ่มจากศูนย์และไม่ยึดติดโครงการที่เคยได้รับอนุมัติไปแล้ว) ดังนั้น ทุกโครงการจะมีการวัดผลในเชิงประสิทธิภาพหรือความคุ้มค่าเป็นสำคัญ
ตัวชี้วัดของทุกโครงการ และรวมถึงตัวชี้วัดของทุกหน่วยรับงบประมาณ จะต้องวัดผลในรูปแบบผลลัพธ์ (Outcome) ต่องบประมาณที่ใช้ (ทรัพยากรที่ใช้) มากกว่าการวัดผลหรือกำหนดตัวชี้วัดที่ผลผลิต (Output) หรือผลลัพธ์ (Outcome) โดยที่ไม่มีการเปรียบเทียบทรัพยากรที่ใช้ลงไปด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดการเปรียบเทียบและปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณไปยังโครงการใหม่ที่มีประสิทธิภาพหรือคุ้มค่ามากกว่าและแทนที่โครงการเดิมได้เร็วกว่า
ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสำนักงบประมาณ ควรเพิ่มความสำคัญในการแนะนำและตรวจสอบให้หน่วยรับงบประมาณกำหนดตัวชี้วัดเชิงประสิทธิภาพ สำหรับทุกโครงการงบประมาณ เพื่อให้มีการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณต่อไป
8.ควรกำหนดตัวชี้วัดเชิงประสิทธิภาพ โดยแยกแผนงานพื้นฐานและแผนงานยุทธศาสตร์/บูรณาการ และทบทวนถึงความจำเป็นของภารกิจแผนงานพื้นฐานอย่างสม่ำเสมอ
9.ควรมีการวัดผลให้มีสัดส่วนโครงการใหม่ (New Project) โดยแยกเป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) เพื่อทดสอบวัดผลความคุ้มค่า และเพิ่มขนาดในโครงการใหม่ (Scale Project) ที่พิสูจน์แล้วว่ามีความคุ้มค่ามากกว่าแทนที่โครงการเดิม เพื่อสร้างผลลัพธ์และผลกระทบที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
@ทบทวนอัตรา‘ข้าราชการ’ หลัง‘รายจ่ายฯ’มีสัดส่วน 42%
10.ควรพิจารณากรอบอัตรากำลังพร้อมกับการพิจารณาจัดสรรงบประมาณแผนงานบุคคลากรภาครัฐ
สัดส่วนรายจ่ายบุคคลากรต่องบประมาณภาครัฐของไทย (รวมแผนงานบุคคลากรภาครัฐ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคลากรซ่อนไว้ในงบกลาง ได้แก่ เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ, เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ, เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ, เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ ตลอดจนงบกลางที่เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งถูกตั้งในงบกลาง) ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 อยู่ที่ร้อยละ 42 ซึ่งมีค่าสูงมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานโลกที่มีค่าเฉลี่ย ร้อยละ 19 ประเทศรายได้ปานกลางระดับบนที่มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 23.2 เท่านั้น
ดังนั้น หน่วยงานระดับบริหาร สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสำนักงบประมาณ ควรมีการวัดผลปริมาณงานและผลงานในทุกตำแหน่ง เพื่อให้มีพลวัตในการพิจารณาปรับปรุงอัตรากรอบอัตรากำลังให้มีเหมาะสมได้รวดเร็ว โดยที่ไม่เป็นการเพิ่มสัดส่วนงบประมาณแผนงานบุคลากรต่องบประมาณรวมให้เพิ่มขึ้น
ในขณะเดียวกัน ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนแสดงว่า จำนวนข้าราชการพลเรือน 403,706 ตำแหน่ง (ไม่รวมข้าราชการครู ,ทหาร และตำรวจ) เทียบกับกรอบอัตรากำลัง 470,356 ตำแหน่ง ณ วันที่ 15 พ.ย.2566 ซึ่งหมายถึงระบบราชการไทยมีกรอบอัตราบุคลากรภาครัฐที่ไม่ได้รับการบรรจุเป็นจำนวนมากถึงร้อยละ 14
สะท้อนการพิจารณาจัดสรรงบประมาณแผนงานบุคลากรภาครัฐที่รับผิดชอบหลักโดยสำนักงบประมาณ และการพิจารณากรอบอัตรากำลังบุคลากรภาครัฐรับผิดชอบหลักโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ไม่ได้สอดคล้องกัน
ดังนั้น หน่วยงานระดับบริหาร สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และสำนักงบประมาณ ควรมีกระบวนการทำงานร่วมกันในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ แผนงานบุคลากรและปรับปรุงกรอบอัตรากำลังบุคลากรภาครัฐในกระบวนการพร้อมกัน เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจตามกฎหมายและแผนงานระดับชาติ และการจัดสรรงบประมาณในภาคการศึกษา ควรคำนึงถึงการสร้างบุคลากรในตำแหน่งที่ภาครัฐต้องการและขาดแคลนควบคู่กันไปด้วย เช่น บุคคลากรด้านสาธารณสุข เป็นต้น
@ต้องเปิดเผยรายละเอียด‘รายจ่ายเงินนอกงบฯ’ทุกประเภท
11.ควรกำหนดให้หน่วยรับงบประมาณเปิดเผยและชี้แจงการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณทุกประเภท ในรายละเอียดกิจกรรมหรือโครงการที่ใช้เงินนอกงบประมาณ เพื่อประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปีด้วย
หน่วยรับงบประมาณไม่ได้เปิดเผยและชี้แจงการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณในรายละเอียดกิจกรรม หรือโครงการที่ใช้เงินนอกงบประมาณ ทำให้การพิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปี ไม่มีข้อมูลที่รอบด้านเพียงพอ ในการพิจารณาว่าหน่วยรับงบประมาณ สามารถนำเงินนอกงบประมาณมาช่วยลดงบประมาณแผนงานพื้นฐานอย่างไรได้บ้าง
หน่วยรับงบประมาณไม่ได้รวมรายได้จากเงินนอกงบประมาณ ประเภทสวัสดิการภายในส่วนราชการหรือสวัสดิการเชิงธุรกิจ เช่น ธุรกิจสนามกอล์ฟ โรงแรม ของกระทรวงกลาโหมเป็นต้น ในการรายงานเงินนอกงบประมาณ ทำาให้สูญเสียโอกาสในการเพิ่มเงินงบประมาณประจำปี และไม่มีข้อมูลเงินนอกงบประมาณมาพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี
ดังนั้น สำนักงบประมาณควรปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการรายงานเงินนอกงบประมาณ ตามมาตรา 25 วรรคสอง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 17(2) เพื่อให้มีการเปิดเผยและชี้แจงการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ ในรายละเอียดกิจกรรมหรือโครงการที่ใช้เงินนอกงบประมาณในปีก่อนหน้า ประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปีสำหรับหน่วยรับงบประมาณด้วย
และสำนักงบประมาณควรเคร่งครัดให้หน่วยรับงบประมาณรวมเงินนอกงบประมาณทุกประเภท ซึ่งควรรวมถึงเงินนอกงบประมาณประเภทสวัสดิการภายในส่วนราชการ และสวัสดิการเชิงธุรกิจในการรายงานเงินนอกงบประมาณมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปีด้วย
@เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้-ทบทวน‘ภาษีทรัพย์สิน’
12.ควรหารายได้ภาครัฐใหม่ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ เพื่อยกระดับคุณภาพบริการสาธารณะให้ทัดเทียมกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว
ปีงบประมาณ พ.ศ.2567 สัดส่วนรายได้ภาครัฐต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ร้อยละ 14.61 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วใน OECD ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 34 สะท้อนข้อจำกัดของงบประมาณประจำปีของประเทศไทย ที่ทำให้คุณภาพบริการสาธารณะยังคงไม่สามารถยกระดับคุณภาพให้ทัดเทียมกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว
ดังนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดเก็บรายได้ให้กับหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ควรพิจารณาถึงการเพิ่มรายได้ภาครัฐใหม่ๆ อย่างภาษีทรัพย์สิน เช่น ภาษีที่ดินรวมแปลง หรือภาษีสิ่งแวดล้อม เช่น ภาษีคาร์บอน, ภาษีการใช้ถ่านหิน เป็นต้น
รวมถึงการพิจารณาเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ ด้วยมาตรการเพิ่มแรงจูงใจในการเข้าระบบภาษี เช่น ให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าระบบภาษี เพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐและสนับสนุนการใช้ E-Payment มากขึ้น เป็นต้น
13.ควรจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อภาระทางการเงินที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ และภาระทางการเงิน เพื่อชดเชยต้นทุนการดำเนินการโครงการตาม มาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินกำรคลัง พ.ศ.2561
การพิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปี ยังไม่ได้จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อภาระทางการเงินที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 144 (3) และมาตรา 20 (4) พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 เช่น รัฐบาลยังมีเงินสมทบกองทุนประกันสังคมค้างชำระอยู่ถึง 70,895 ล้านบาท เป็นต้น
และตามมาตรา 20 (5) พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 กำหนดให้การจัดสรรงบประมาณประจำปี ต้องตั้งงบประมาณชดเชยให้ภาระการดำเนินงานโครงการที่รัฐบาลมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐ ดำเนินการโดยที่รัฐบาลจะรับภาระค่าใช้จ่ายให้ (โครงการตามมาตรา 28) ในโอกาสแรกที่จะกระทำได้
แต่หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการโครงการตาม มาตรา 28 เสร็จสิ้นแล้ว ยังคงไม่ได้รับการพิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปีชดเชยให้ตามที่กฎหมายกำหนด
การจัดทำงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ควรแยกรายจ่ายที่ไม่ใช่รายการค่าใช้จ่ายที่สำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็นออกจาการตั้งงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ตามมาตรา 20 (6) พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561
@เร่งถ่ายโอนภารกิจให้‘ท้องถิ่น’-ให้‘ปชช.’มีส่วนร่วมจัดทำงบฯ
14.ควรเร่งการกระจายอำนาจ ถ่ายโอนภารกิจและเพิ่มสัดส่วนงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากสัดส่วนรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลคงที่อยู่ที่ ร้อยละ 29 มา 7 ปีติดต่อกันแล้ว ซึ่งยังคงน้อยกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ 35 ตามกฎหมายกำหนด
15.ควรกำหนดกรอบวงเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้มีความชัดเจน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดทำบริการสาธารณะ โดยปัจจุบันการพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่มีกรอบวงเงินที่ชัดเจน ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและเหลื่อมล้ำในการพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจฯ
16.ควรเพิ่มความสำคัญในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณโครงการในระดับพื้นที่ เพื่อลดความซ้ำซ้อน และเพิ่มบทบาทท้องถิ่นในการกำหนดลำดับความสำคัญในการยื่นคำของบประมาณจังหวัด
17.ควรเพิ่มบทบาทสำนักงานปลัดกระทรวง ในการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญโครงการคำของบประมาณภายในกระทรวงให้ไปในทิศทางสอดคล้องกัน
18.ควรเร่งรัดให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการให้การบริการประชาชน และการติดต่อประสานงานระหว่างส่วนราชการด้วยกัน โดยการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลกลางตามที่กฎหมายกำหนด
19.ควรปรับปรุงนโยบายการจัดเก็บข้อมูลภาครัฐบนคลาวด์เป็นหลัก (Cloud-first Policy) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูลภาครัฐ
20.ควรศึกษาและทดลองมาตรการใหม่ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณประจำปีในแผนงานพื้นฐาน เช่น สนับสนุนการใช้ทรัพย์สินร่วมกันระหว่างหน่วยรับงบประมาณ เปลี่ยนการวัดผลจากสัดส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นสัดส่วนการไม่ดำเนินการแทน
21.ควรจัดสรรงบประมาณในการแก้ไขปัญหาสิทธิและบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น การพิสูจน์สิทธิที่ดิน พิสูจน์สัญชาติ น้ำประปาสะอาด ฯลฯ
22.ควรเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการจัดทำงบประมาณประจำปี ด้วยการเปิดเผยรายละเอียดคำของบประมาณและเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบที่นำไปวิเคราะห์ต่อได้ง่าย ในการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี
เหล่านี้เป็นสรุปรายละเอียดของ ‘22 ข้อสังเกต’ ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร เสนอให้ ครม. ‘เศรษฐา ทวีสิน’ รับทราบ และต้องติดตามว่าในการจัดทำงบประมาณ ปี 2568 ‘ครม.เศรษฐา’ จะรับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯไปดำเนินการกี่ข้อ ?
อ่านประกอบ :
ครม.รับทราบ‘สภาฯ’เลื่อนถกร่าง พ.ร.บ.งบปี 67 เร็วขึ้น 2 สัปดาห์-คาดนำขึ้นทูลเกล้าฯ 3 เม.ย.
รัฐปรับแผนฯควักงบปี 67 จ่ายหนี้‘เงินต้น-ดบ.’ 3.46 แสนล.-‘สศช.’ห่วงภาระดอกเบี้ยเพิ่มเร็ว
ครม.ไฟเขียวปรับปรุง‘แผนบริหารหนี้สาธารณะ’ปีงบ 67 เผย‘ก่อหนี้ใหม่’เพิ่มขึ้น 5.6 แสนล้าน
ย้อนดู 5 รัฐบาล จาก‘ทักษิณ-ประยุทธ์’ ขึ้นเงินเดือน‘ขรก.’ 6 ครั้ง-รายจ่ายขยับแตะ 6 แสนล.
ก่อหนี้ใหม่ 1.94 แสนล้าน! ครม.อนุมัติ ‘แผนบริหารหนี้สาธารณะ’ ปีงบ 67
เปิดรายละเอียดกรอบงบ 67 รัฐลงทุน 7.19 แสนล. มองGDPปีหน้าโต 3.2%-หลายปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า
ขาดดุลฯ 6.93 แสนล.! ครม.ไฟเขียวเพิ่ม'กรอบวงเงิน'งบประมาณรายจ่ายปี 67 เป็น 3.48 ล้านล้าน
เปิดยุทธศาสตร์งบ 67 รบ.'เศรษฐา'ดัน 28 เรื่องด่วน-คาดทูลเกล้าฯ'ร่างพ.ร.บ.งบฯ'เม.ย.ปีหน้า
ขาดดุลเพิ่มแสนล.! รบ.เคาะกรอบงบปี 67 เป็น 3.48 ล้านล้าน-‘เศรษฐา’ย้ำแจก‘หมื่นบาท’ไม่กู้