รัฐบาลเคาะเพิ่มกรอบวงเงินงบปี 67 เป็น 3.48 แสนล้านบาท จากเดิม 3.35 ล้านบาท ดัน ‘ขาดดุลงบฯ’ เพิ่มอีก 1 แสนล้าน เป็น 6.93 แสนล้าน ด้าน ‘เศรษฐา’ เข้า ‘คลัง’ มอบนโยบายขรก. ย้ำแจก ‘เงินดิจิทัล’ ไม่ต้อง ‘กู้’ ขอเวลา 1 เดือน ชี้แจงแหล่งเงิน
.....................................
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานประชุมพิจารณาทบทวนวงเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบฯ 2567 ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยที่ประชุมมีมติให้เพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบฯ 2567 เป็น 3.48 ล้านล้านบาท จากเดิม 3.35 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.3 แสนล้านบาท
นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ แถลงว่า ที่ประชุม 4 หน่วยงาน ที่มี นายกฯและรมว.คลัง เป็นประธาน มติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบ 2567 เป็น 3.48 แสนล้านบาท จากเดิมที่ ครม.เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2566 มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบ 2567 ไว้ที่ 3.35 ล้านล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) ฉบับทบทวน ที่ ครม.มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กรอบวงเงินงบประมาณเพิ่มขึ้น 1.3 แสนล้านบาทดังกล่าว มาจากประมาณการรายได้ที่เพิ่มขึ้น 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะนำไปจ่ายเป็นเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ส่วนอีก 1 แสนล้านบาท จะมาจากการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาล ส่งผลให้หลังจากทบทวนตัวเลขแล้ว ในปีงบ 2567 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณ 6.93 แสนล้านบาท ขณะที่ประมาณรายได้รัฐบาลสุทธิอยู่ที่ 2.787 ล้านล้านบาท
“งบประมาณรายจ่ายปีงบ 2567 ยังคงเป็นการดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณ เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง” นายเฉลิมพลกล่าว
นายเฉลิมพล ระบุด้วยว่า สำนักงบประมาณจะเสนอที่ประชุม ครม.ให้ความเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ได้มีการทบทวนแล้ว ในวันที่ 18 ก.ย.นี้ จากนั้นจะให้ทุกกระทรวงจัดทำคำของบประมาณมายังสำนักงบประมาณในวันที่ 6 ต.ค.นี้ จากนั้นสำนักงบประมาณจะใช้เวลาพิจารณา 35 วัน ก่อนเสนอให้ ครม. และที่ประชุมสภาฯพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งคาดว่าจะนำขึ้นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปีงบ 2567 ทูลเกล้าฯ ได้ในวันที่ 17 เม.ย.2567
ก่อนหน้านี้ ครม. เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2566 มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบ 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท โดยขณะนั้นรัฐบาลคาดว่าจะมีรายได้สุทธิ 2.757 ล้านล้านบาท ซึ่งทำให้การจัดทำงบปี 2567 เป็นงบประมาณขาดดุล 593,000 ล้านบาท (อ่านประกอบ : เพิ่มขึ้น 5.18%! ครม.ไฟเขียวกรอบวงเงินงบปี 2567 แตะ 3.35 ล้านล้าน-รายจ่ายลงทุน 6.9 แสนล.)
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบ 2567-2570) ฉบับทบทวน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ และเพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐ
สำหรับสาระสำคัญของแผนการคลังระยะปานกลางฯ ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่
1.สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ
ในปี 2567 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.2 และ GDP Deflator อยู่ที่ร้อยละ 1.8 สำหรับปี 2568 คาดว่า GDP จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.6 และขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ในปี 2569 - 2570 ในส่วนของ GDP Deflator ในปี 2568-2570 อยู่ที่ร้อยละ 2.0
2.สถานะและการประมาณการการคลัง
2.1 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2567-2570 เท่ากับ 2,787,000 2,899,000 2,985,000 และ 3,074,000 ล้านบาท ตามลำดับ
2.2 ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567-2570 เท่ากับ 3,480,000 3,591,000 3,706,000 และ 3,825,000 ล้านบาท ตามลำดับ
2.3 จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวในปีงบประมาณ 2567-2570 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณจำนวน 693,000 ,692,000 ,721,000 และ 751,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.63 3.43 3.40 และ 3.36 ต่อ GDP ตามลำดับ
2.4 ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2567-2570 เท่ากับร้อยละ 64.00 ,64.65 ,64.93 และ 64.81 ตามลำดับ
3.เป้าหมายและนโยบายการคลัง
การดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลางยังมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวผ่านการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุล เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในขณะเดียวกันจะมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีภูมิคุ้มกันของภาคการคลัง เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต โดยยึดหลัก “Sound Strong Sustained” ที่มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายการคลังที่สมเหตุสมผล
สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังในทุกด้าน ทั้งในส่วนของการฟื้นฟูการจัดเก็บรายได้ การจัดสรรงบประมาณรายจ่าย และการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สามารถรองรับการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล และคำนึงถึงการรักษาระดับเครื่องชี้ทางการคลังให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการคลัง (Fiscal Discipline) เพื่อมุ่งสู่ภาคการคลังที่ยั่งยืนและมีศักยภาพในการรองรับความเสี่ยงที่ประเทศอาจต้องเผชิญอีกในอนาคต
สำหรับเป้าหมายของแผนการคลังระยะปานกลางฉบับนี้จะมุ่งเน้นการควบคุมขนาดการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการคลังที่เปลี่ยนแปลงไป และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในระยะปานกลาง เพื่อมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม ดยมีประมาณการสถานะการคลังในระยะปานกลางภายใต้สมมติฐานทางเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน ดังนี้
ทั้งนี้ ในระยะยาวหากภาวะเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม
วันเดียวกัน นายเศรษฐา ยังเป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการดำเนินงานแก่ผู้บริหารกระทรวงการคลัง โดยมีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมว.คลัง ,นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ผู้บริหารกระทรวงการคลัง ,ผู้บริหารส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง ,ผู้บริหารหน่วยงานอิสระและหน่วยงานในกำกับ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมการประชุม
นายเศรษฐา แถลงหลังการมอบนโยบายว่า ขณะนี้เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ในภาวะถดถอย และพี่น้องประชาชนเดือดร้อนมาก ซึ่งเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วว่านโยบายรัฐบาลมีอะไรบ้าง จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่ต้องสนับสนุนรัฐบาลในทุกๆเรื่อง
นายเศรษฐา ระบุว่า ได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารกระทรวงการคลังไป 2 เรื่อง คือ 1.เนื่องจากการทำนโยบายต่างๆต้องใช้งบประมาณสูงมาก จึงต้องตอบประชาชนให้ได้ว่างบประมาณดังกล่าวเอาไปใช้ทำอะไรบ้าง และระยะยาวส่งผลต่อ GDP อย่างไร และหนี้สาธารณะควรมีสัดส่วนที่เหมาะสมอย่างไร
และ 2.เรื่องวิธีการทำงานและเรื่องความเป็นธรรม ซึ่งรัฐบาลนี้จะให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารจัดการข้าราชการ โดยเฉพาะระบบเส้นสาย ระบบการโยกย้ายไม่เป็นธรรม และระบบการปูนบำเหน็จ
“วิธีการที่มีการโยกย้ายไม่เป็นธรรม มีการใช้เส้นสาย หรือมีผู้มีอำนาจทั้งหลายเข้าไปใช้อิทธิพล ผมในฐานะ รมว.คลัง จะช่วยเหลือเขา และเป็นเกราะกำบังให้ เพื่อให้ข้าราชการทั้งหมดทำงานได้ด้วยความสบายใจ มีประสิทธิภาพ และถ้าทำงานดี ก็จะได้รับการปูนบำเหน็จตามความเหมาะสม” นายเศรษฐากล่าว
นายเศรษฐา กล่าวถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท โดยยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีการกู้เงิน พร้อมระบุว่า “เรื่องนี้เกิดขึ้นแน่นอน 1 หมื่นบาท ทำได้แน่นอน แหล่งเงินมีแน่นอน แต่ขอเวลาอีกหนึ่งแล้วจะชี้แจงให้ทราบว่าเงินทั้งหมดมาจากไหน วันนี้เพิ่งเข้ากระทรวงการคลังครั้งแรก คงไม่เกิน 1 เดือนทราบแน่นอน ตอนนี้พูดไป เดี๋ยวมีความไม่ชัดเจน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ก็หาว่าผมเปลี่ยนไปเปลี่นมาอีก เรามีหลายออปชั่น แต่กำลังดูว่าออปชั่นไหนเหมาะสมที่สุด และมีผลกระทบในวงกว้างน้อยที่สุด”
นายเศรษฐา ยังระบุว่า “การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะถ้ามีการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ GDP เองก็จะขึ้น ถ้า GDP ขึ้นแล้วหนี้ขึ้น สัดส่วนของ GDP มากกว่าหนี้ หนี้สาธารณะก็อาจจะไม่เพิ่ม แต่จะคงที่ไว้ ตรงนี้เรามีความตั้งใจที่อยากจะให้เป็นอย่างนั้น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องมีทั้งระยะสั้น และระยะยาว บางนโยบาย เช่น เรื่องพักหนี้ ผมเรียนไปแล้วว่า หนี้เกษตรกรพักมาแล้ว 13 หนภายใน 9 ปี แต่ต้องพักไปเรื่อยๆ
อันนี้เราก็ตระหนักดี ถ้าการพักหนี้ไม่ควบคู่ไปกับการเพิ่มรายได้ มันก็ไม่เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว เราเองอยากจะเพิ่มรายได้ให้พี่น้องเกษตรกร ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ใหญ่มาก ตรงนี้เป็นแค่มาตรการอันแรกที่เราออกมาช่วยเหลือเกษตรกร และรมช.คลัง ทั้งสองคน กำลังช่วยดูว่า ในระยะอันใกล้ เราจะมีมาตรการใหม่ออกมา เพื่อช่วยเหลือพี่น้องในแง่การบรรเทาเรื่องหนี้ เพื่อให้มีขวัญกำลังใจในการทำหน้าที่ ไปทำงานเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับทุกคน”