เปิด ‘แผนบริหารหนี้สาธารณะฯ’ ฉบับใหม่ พบรัฐบาลควักงบปี 67 ชำระหนี้ ‘เงินต้น-ดอกเบี้ย’ เพิ่มเป็น 3.46 แสนล้าน ด้าน ‘สศช.’ ห่วง 'ภาระดอกเบี้ย' เพิ่มขึ้นเร็ว ขณะที่ ‘แบงก์ชาติ’ แนะให้ความสำคัญจัดสรรงบคืน ‘เงินกู้’-ปรับโครงสร้างหนี้ฯ
...................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 1 ประกอบด้วย 1.แผนการก่อหนี้ใหม่ มีจำนวน 754,710.63 ล้านบาท จากเดิม 194,434.53 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 560,276.10 ล้านบาท 2.แผนการบริหารหนี้เดิม มีจำนวน 2,008,893.74 ล้านบาท จากเดิม 1,621,135.22 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 387,758.52 ล้านบาท
และ 3.แผนการชำระหนี้ มีจำนวน 399,613.70 ล้านบาท จากเดิม 390,538.63 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9,075.07 ล้านบาท นั้น (อ่านประกอบ : ครม.ไฟเขียวปรับปรุง‘แผนบริหารหนี้สาธารณะ’ปีงบ 67 เผย‘ก่อหนี้ใหม่’เพิ่มขึ้น 5.6 แสนล้าน)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สำหรับแผนการชำระหนี้ ที่มีจำนวน 399,613.70 ล้านบาท นั้น ประกอบด้วย 1.แผนการชำระหนี้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบฯ 2567 จำนวน 346,380.07 ล้านบาท จากเดิม 336,807 ล้านบาท หรือปรับเพิ่มขึ้น 9,673.07 ล้านบาท แบ่งเป็นแผนการชำระหนี้เงินต้น 118,320 ล้านบาท และแผนการชำระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 228,060.07 ล้านบาท
และ 2.แผนการชำระหนี้จากแหล่งเงินอื่นๆ มีจำนวน 53,233.63 ล้านบาท จากเดิม 53,731.63 ล้านบาท หรือปรับลดลง 498 ล้านบาท โดยเป็นการปรับลดแผนการชำระหนี้ของหน่วยงานอื่นของรัฐ ในส่วนดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม เนื่องจากกรุงเทพมหานครยังไม่ได้รับโอนหนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
(ที่มา : การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 1 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี)
รายงานข่าวแจ้งว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นประกอบการพิจารณา เรื่อง การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 1 โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า จากการที่ระดับหนี้สาธารณะที่ปรับเพิ่มขึ้นมาภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลควรให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้และดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ในโอกาสที่เหมาะสม เพื่อรักษาเสถียรภาพการคลังในระยะต่อไป
ในการนี้ ธปท. จะประสานงานกับกระทรวงการคลังในการบริหารหนี้สาธารณะอย่างใกล้ชิดเช่นที่เคยเป็นมา เพื่อให้การระดมทุนผ่านตลาดการเงินเป็นไปได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูงสุด
ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ความเห็นตอนหนึ่งว่า การบริหารจัดการหนี้สาธารณะในระยะต่อไป จะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังมีแนวโน้มของความผันผวนอยู่ในเกณฑ์สูง และอาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินของประเทศ
รวมทั้งแรงกดดันทางการคลังที่เพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของภาระหนี้สาธารณะ และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของภาระดอกเบี้ย ซึ่งจะต้องบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อมิให้กระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ตลอดจนเป็นข้อจำกัดต่อกรอบงบประมาณสำหรับการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป
อ่านประกอบ :
ครม.ไฟเขียวปรับปรุง‘แผนบริหารหนี้สาธารณะ’ปีงบ 67 เผย‘ก่อหนี้ใหม่’เพิ่มขึ้น 5.6 แสนล้าน
ก่อหนี้ใหม่ 1.94 แสนล้าน! ครม.อนุมัติ ‘แผนบริหารหนี้สาธารณะ’ ปีงบ 67
เปิดรายละเอียดกรอบงบ 67 รัฐลงทุน 7.19 แสนล. มองGDPปีหน้าโต 3.2%-หลายปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า
ขาดดุลฯ 6.93 แสนล.! ครม.ไฟเขียวเพิ่ม'กรอบวงเงิน'งบประมาณรายจ่ายปี 67 เป็น 3.48 ล้านล้าน
เปิดยุทธศาสตร์งบ 67 รบ.'เศรษฐา'ดัน 28 เรื่องด่วน-คาดทูลเกล้าฯ'ร่างพ.ร.บ.งบฯ'เม.ย.ปีหน้า
ขาดดุลเพิ่มแสนล.! รบ.เคาะกรอบงบปี 67 เป็น 3.48 ล้านล้าน-‘เศรษฐา’ย้ำแจก‘หมื่นบาท’ไม่กู้