“…สนับสนุนการลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม การใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 5G เพื่อลดต้นทุนการผลิต ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ…”
....................................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ครม.เห็นชอบการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณ พร้อมทั้งแนวทางการจัดทำงบประมาณและยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (อ่านประกอบ : ขาดดุลเพิ่มแสนล.! รบ.เคาะกรอบงบปี 67 เป็น 3.48 ล้านล้าน-‘เศรษฐา’ย้ำแจก‘หมื่นบาท’ไม่กู้)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปรายละเอียดของ ‘ยุทธศาสตร์’ การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่มีทั้งสิ้น 7 ด้าน โดยมีประเด็นเร่งด่วนจำนวน 28 ประเด็น ดังนี้
1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
ประเด็นเร่งด่วน
(1) เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เสริมสร้างความรักและความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยและชาติไทยส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของคนในชาติอย่างสันติ และเคารพในความแตกต่างหลากหลายบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน
(2) พัฒนาความรู้และการปรับตัวรับมือกับภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พัฒนาเครือข่ายในการจัดการภัยพิบัติ สร้างระบบประกันภัยและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องพัฒนาระบบเตือนภัย ระบบข้อมูล ควบคู่กับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาท้องถิ่น
(3) เสริมสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดในเด็ก เยาวชน ผู้ใช้แรงงานและประชากรกลุ่มเสี่ยง กำหนดมาตรการปราบปรามจับกุมผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้นำเข้ายาเสพติด เครือข่ายการค้ายาเสพติด สกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ พัฒนาระบบการบำบัด รักษา และฟื้นฟูผู้ที่ติดยาเสพติดอย่างเป็นระบบ
เสริมสร้างความปลอดภัยและขจัดเงื่อนไขความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ แก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง ขยายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ส่งเสริมการเรียนรู้และการใช้ภาษาที่หลากหลาย
(5) เสริมสร้างการบริหารจัดการคดีค้ามนุษย์ และการกระทำผิดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในสถานศึกษาเพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถป้องกันตนเองจากการค้ามนุษย์
(6) พัฒนาระบบป้องกันความสี่ยงด้านไซเบอร์ของประเทศที่สอดคล้องกับหลักสากล ป้องกันรับมือ และลดความเสี่ยงภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่กระทบต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศพัฒนาการสืบสวนอาชญากรรมทางไซเบอร์
ป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย โดยยับยั้งแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง ต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ส่งเสริมความร่วมมือกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย
(7) พัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศในการบริหารจัดการความมั่นคงและภัยธรรมชาติ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ และนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย สร้างจุดยืนในบริบทโลกใหม่ โดยรักษาสมดุลกับมิตรประเทศ สนับสนุนบทบาทประเทศไทยเป็นผู้นำกลุ่ม CLMVT บูรณาการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทุกระดับ
พัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุน การสร้างฐานเศรษฐกิจในบริบทโลกใหม่ พัฒนากฎหมายและแนวปฏิบัติที่ยกระดับไทยสู่มาตรฐานระหว่างประเทศทุกด้าน ขับเคลื่อนนโยบายความเป็นเจ้าของอธิปไตยทางข้อมูลจากเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มที่ทำธุรกิจจากคนไทย
การดำเนินการตามแผนแม่บท
มุ่งเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การพัฒนาและเสริมสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตย การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์แบบบูรณาการ การบูรณาการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางไชเบอร์ การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และในพื้นที่ชายแดน การป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่เป้าหมายระดับตำบลให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
พัฒนาศักยภาพของประเทศให้พร้อมเผชิญภัยคุกคามที่กระทบต่อความมั่นคง พัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติและระบบจัดการภัยพิบัติ การป้องกันอธิปไตยทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศบูรณาการกลไกการบริหารจัดการความมั่นคง ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น
2.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
ประเด็นเร่งด่วน
(1) ส่งเสริมการทำเกษตรยั่งยืนที่ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน สนับสนุนปัจจัยการผลิตที่จำเป็น ลดต้นทุนการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขอรับรองมาตรฐานต่างๆ สนับสนุนเอกชนในการเชื่อมโยงผลผลิตที่ได้มาตรฐาน เพื่อเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรสร้างมูลค่า
ส่งเสริมให้เกษตรกรประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม กระบวนการผลิตที่หลากหลาย พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ ทักษะ ในการบริหารจัดการฟาร์ม การดำเนินธุรกิจการเกษตรในยุคดิจิทัล เพื่อยกระดับให้เป็นเกษตรกรอัจฉริยะ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาพันธุ์พืชเฉพาะถิ่น สัตว์น้ำ และปศุสัตว์ เป็นต้น
(2) พัฒนาอุตสาหกรรมและบริการตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตที่มุ่งเน้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน สนับสนุนเอกชนให้มีส่วนร่วมในการยกระดับบริการทางการแพทย์บนฐานนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง
ปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพ ส่งเสริมการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจไทยด้วยดิจิทัล พัฒนาต่อยอดฐานอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล พัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ให้เป็นศูนย์กลางการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนที่สำคัญของอาเซียน
สนับสนุนการลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม การใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 5G เพื่อลดต้นทุนการผลิต ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า การสร้างฐานการผลิตแบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญ สนับสนุนสุดยอดผลิตภัณฑ์ของไทย และรักษาความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่สามารถพัฒนาไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าได้ในระยะเวลาอันสั้น
ส่งเสริมการลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมบริการดิจิทัล พัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการปรับตัวทางเทคโนโลยีในอนาคต แก้ไขกฎหมาย ระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดึงดูดนักลงทุน และแรงงานทักษะสูง เป็นต้น
(3) ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนบนฐานความหลากหลายและวัฒนธรรม สนับสนุนผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม เทคโนโลยีนวัตกรรม โดยใช้ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ เป็นตัวขับเคลื่อน พัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการท่องเที่ยว
ส่งเสริมความมือระหว่างเอกชนและธุรกิจรายย่อยในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบให้เอื้อต่อการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการลงทุนและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวร่วมกับชุมชนและภาครัฐ พัฒนาเมืองสุขภาพแบบครบวงจร พัฒนาการท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง เป็นต้น
(4) พัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาชน และประชาสังคม รวมทั้งสนับสนุนการเพิ่มบทบาท การขยายเครือข่ายของวิสาหกิจเพื่อสังคมในการพัฒนาพื้นที่และเมือง ยกระดับความสามารถทางการเงินการคลังและการจัดการการลงทุนในระดับพื้นที่ ส่งเสริมการเข้าถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานของเมือง เป็นต้น
(5) พัฒนาระบบขนส่งทางรางเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพระบบขนส่งทางน้ำ พัฒนาข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งทางด้านกายภาพและการบริหารจัดการ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและศูนย์โลจิสติกส์รองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น
(6) พัฒนาผู้ประกอบการในประเทศให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล รวมถึงนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ พร้อมทั้งให้สิทธิประโยชน์และสิ่งจูงใจให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เครื่องจักรกลและระบบอัตโนมัติในการบริหารจัดการ เป็นต้น
(7) พัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อเป็นฐานอุตสาหกรรมและบริการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง โดยส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง บริการขนส่งและเครือข่ายโลจิสติกส์ ส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงานในพื้นที่
ส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงท่าเรือและสะพานเศรษฐกิจ ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อให้ไทยเป็นประตูการค้าที่สำคัญ ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการท่องเที่ยว และบริการในกลุ่มจังหวัดที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวอันดามัน บริเวณจังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา ตรัง และสตูล
(8) สนับสนุนการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตและแปรรูปแบบมุ่งเป้า ส่งเสริมและขยายผลงานวิจัยจากหน่วยงานวิจัย ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไร้คนขับ ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เป็นต้น
การดำเนินการตามแผนแม่บท
พัฒนาการเกษตร ได้แก่ เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูป เกษตรอัจฉริยะ และการพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร
ส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการพัฒนาระบบคมนาคม อุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ และการพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต
ส่งเสริมการท่องเที่ยว ได้แก่ ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม เชิงธุรกิจ เชิงสุขภาพ ความงาม และแพทย์แผนไทย ท่องเที่ยวสำราญทางน้ำท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูมิภาค รวมทั้งพัฒนาระบบนิเวศและปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการท่องเที่ยว การพัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ เป็นต้น
3.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
ประเด็นเร่งด่วน
(1) ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมและเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง รวมถึงการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ค่านิยมไทย ให้เป็นพื้นฐานของสังคมไทยและเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในการนำเสนอความเป็นไทยสู่สากล
(2) พัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาเด็กให้มีพัฒนาการรอบด้านพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ การดำรงชีวิต และการทำงานในอนาคต พัฒนาระบบสนับสนุนการเรียนรู้ และส่งเสริมให้ผู้มีความต้องการพิเศษได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษา ปฏิรูประบบอุดมศึกษา เป็นต้น
(3) พัฒนาระบบบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่นำไปสู่การสร้างสังคมสูงวัย และผลิตภัณฑ์ที่เอื้อต่อวิถีชีวิตปกติใหม่ ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศมาใช้สนับสนุนบริการทางการแพทย์ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลให้ครอบคลุมทั่วถึง โดยเฉพาะระบบการแพทย์ทางไกล
ส่งเสริมการผลิต พัฒนาและนำเข้าบุคลากรทางการแพทย์ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรในพื้นที่ห่างไกล มีมาตรการจูงใจบุคลากรทางการแพทย์ให้คงอยู่ในระบบสุขภาพ พัฒนากลไกและแนวทางกำกับดูแลค่าบริการทางการแพทย์ พัฒนาระบบบริหารการจ่ายค่าบริการของระบบประกันสุขภาพให้ประชาชน เป็นต้น
การดำเนินการตามแผนแม่บท
ปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรมด้วยการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม การมีจิตสาธารณะ และการเป็นพลเมืองที่ดี เสริมสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมที่พึงประสงค์จากภาคธุรกิจ การใช้สื่อและสื่อสารมวลชนในการปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมของคนในสังคม พัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต
เน้นสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ตั้งแต่ช่วงการตั้งครรภ์/ปฐมวัย วัยเรียน/วัยรุ่น วัยแรงงาน และวัยสูงอายุ การพัฒนาการเรียนรู้ โดยการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 และตระหนักถึงพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย การเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี เป็นต้น
4.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
ประเด็นเร่งด่วน
(1) เพิ่มการเข้าถึงบริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง พัฒนาที่พักอาศัยให้ผู้สูงอายุได้อยู่อาศัยในบ้านพักตนเอง พัฒนาผู้สูงอายุให้เป็นพลังของสังคม เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ ภูมิปัญญาเพื่อให้เกิดการสืบสานและต่อยอดการพัฒนาสังคม สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุแก่คนวัยอื่นๆ
(2) ส่งเสริมการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร ขยายโอกาสในการเข้าถึงที่ดินทำกินและคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมที่มีศักยภาพ ขยายผลแบบอย่างความสำเร็จในการบริหารจัดการ เพื่อผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับทรัพยากรของชุมชน ส่งเสริมการพัฒนาโมเดลธุรกิจที่เฉพาะเจาะจงและยั่งยืนของวิสาหกิจเพื่อสังคม
การให้สิทธิประโยชน์และสิ่งจูงใจให้เกิดการร่วมทุนกับวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อดึงดูดบริษัทเอกชนรายใหญ่ สนับสนุนเทคโนโลยีในการกระจายสินค้าและบริการและส่งเสริมนวัตกรรมการจัดการห่วงโซ่อุปทานในระดับพื้นที่ กระตุ้นการบริโภคให้สมดุลกับการผลิตในท้องถิ่น เป็นต้น
(3) พัฒนาระบบกลไกกำกับดูแลและบริหารจัดการค่าบริการทางการแพทย์ และระบบบริหารการจ่ายค่าบริการของระบบประกันสุขภาพ สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศในการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดภาระงาน และแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร รวมทั้งจัดทำข้อมูลกลางด้านสุขภาพเพื่อจัดบริการและวางแผนกำลังคนในอนาคต
สนับสนุนทรัพยากรในการเลี้ยงดูเด็กในครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นและยกระดับความคุ้มครองทางสังคมสำหรับเด็กผ่านทางศูนย์เลี้ยงเด็ก สำหรับวัยแรงงานผ่านทางระบบการออมภาคสมัครใจ การคุ้มครองสวัสดิการแรงงานรูปแบบใหม่และการจ้างงานระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์มและสำหรับวัยสูงอายุผ่านระบบสวัสดิการทางเลือก เป็นต้น
การดำเนินการตามแผนแม่บท
เสริมสร้างพลังทางสังคมในชุมชน เพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาการพึ่งตนเอง การจัดการตนเอง ส่งเสริมศักยภาพ บทบาทสตรี และสิทธิมนุษยชนให้ทุกเพศสภาพเป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม ต่อยอดการพัฒนาบนฐานทุนทางสังคมและวัฒนธรรม การรองรับสังคมสูงวัยเชิงรุก ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เป็นต้น
5.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ประเด็นเร่งด่วน
(1) ปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และโลจิสติกส์ ให้นำแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว มาใช้เป็นมาตรฐาน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในเมือง พัฒนาระบบและกลไกสร้างแรงจูงใจการเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจเพื่อเศรษฐกิจชุมชน เป็นต้น
(2) ส่งเสริมมาตรการจูงใจทั้งทางด้านภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า พัฒนายานยนต์ ชิ้นส่วน และอุปกรณ์สำหรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ให้สอดคล้องกับมาตรฐานของประเทศปลายทางที่ส่งออก กำหนดมาตรฐานการผลิตสินค้าและบริการ ระบบตลาดคาร์บอนเพื่อการสร้างรายได้ เป็นต้น
(3) เพิ่มรายได้ชุมชนจากแนวทางขยะสุทธิเป็นศูนย์ ทั้งจากขยะและวัสดุทางการเกษตร สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบตลอดห่วงโซ่ในระดับชุมชน ส่งเสริมให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น
(4) ส่งเสริมและผลักดันการเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำ ป่าเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืช เพิ่มปริมาณน้ำตามธรรมชาติให้เพียงพอต่อการใช้ทั้งระบบ การใช้มาตรการเชิงป้องกันก่อนเกิดภัยในพื้นที่สำคัญ เป็นต้น
การดำเนินการตามแผนแม่บท
สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจภาคทะเล สังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ การจัดการมลพิษที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการขยะและคุณภาพอากาศให้ดีขึ้น การยกระดับกระบวนทัศน์ โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เป็นต้น
6.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
ประเด็นเร่งด่วน
(1) พัฒนาแพลตฟอร์มการค้าแห่งชาติ และระบบการเงินดิจิทัล รองรับบริการธุรกรรมทางการเงินสำหรับการลงทุนระหว่างประเทศ ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง พัฒนาบริการและแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัลเต็มรูปแบบ
นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการสาธารณะของภาครัฐ ใช้เครื่องมือทางการเงินการคลังที่เหมาะสม เพื่อดึงดูดผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของโลก ปรับเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐทั้งหมดและกระบวนการทำงานภาครัฐให้เป็นดิจิทัล เป็นต้น
(2) สร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาลภาครัฐ โดยเปิดเผยข้อมูลผ่านเทคโนโลยีและช่องทางต่างๆ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ความคิดเห็น และตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ
(3) ยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นและพัฒนากฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งจัดให้มีการพัฒนาและบูรณาการฐานข้อมูลกลางด้านกฎหมายของประเทศที่มีการจำแนกประเภท ตามการใช้งานของประชาชนและผู้ประกอบการที่มีความสะดวก เข้าถึงได้ และเข้าใจง่าย
การดำเนินการตามแผนแม่บท
พัฒนาระบบการให้บริการประชาชนและพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ ปรับวิธีการทำงานเป็นการให้บริการที่ให้ความสำคัญกับผู้รับบริการ เร่งสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐนำยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ
ถ่ายทอดสู่การปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ การบูรณาการเชื่อมโยงภารกิจภาครัฐและการบริหารจัดการการเงินการคลังให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะ
พัฒนาระบบบริหารงานภาครัฐให้เป็นรัฐที่ทันสมัย เปิดกว้าง และเป็นองค์กรขีดสมรรถนะสูง รวมทั้งการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยเร่งสร้างจิตสำนึกการเป็นพลเมืองที่ดี มีความซื่อสัตย์ สุจริต พัฒนาการบริหารจัดการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเป็นระบบแบบบูรณาการ เป็นต้น
7.รายการค่าดำเนินการภาครัฐ ประกอบด้วย รายจ่ายเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง
เหล่านี้เป็น ‘ประเด็นเร่งด่วน’ ภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปีงบฯ 2567 กรอบวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ในขณะที่ตามปฏิทินการจัดทำงบประมาณปีงบ 2567 ฉบับปรับปรุง คาดว่าสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จะนำ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปีงบฯ 2567 ขึ้นทูลเกล้าฯได้ ในวันที่ 17 เม.ย.2567! (อ่านรายละเอียดปฏิทินงบปี 2567 ฉบับปรับปรุง ด้านล่าง)
อ่านรายละเอียด : การปรับปรุงปฏิทินงบประมาณ พร้อมทั้งแนวทางการจัดทำงบประมาณและยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567
อ่านประกอบ :
ขาดดุลเพิ่มแสนล.! รบ.เคาะกรอบงบปี 67 เป็น 3.48 ล้านล้าน-‘เศรษฐา’ย้ำแจก‘หมื่นบาท’ไม่กู้