ครม.เห็นชอบปรับปรุง ‘แผนการบริหารหนี้สาธารณะ’ ปีงบ 2567 ครั้งที่ 1 เผย ‘ก่อหนี้ใหม่’ เพิ่มขึ้น 5.6 แสนล้าน ด้าน ‘เศรษฐา’ สั่งกลาง ครม. ไม่อนุญาตให้เสนอ ‘วาระจร’ อีกแล้ว เว้นแต่มีเหตุจำเป็น-หลีกเลี่ยงไม่ได้-นายกฯต้องอนุมัติก่อน
.......................................
เมื่อวันที่ 13 ก.พ. นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 1 ตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เสนอ ขณะที่การปรับปรุงเผนการบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าว สอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
สำหรับการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 1 ประกอบด้วย 1.แผนการก่อหนี้ใหม่ มีจำนวน 754,710.63 ล้านบาท จากเดิม 194,434.53 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 560,276.10 ล้านบาท 2.แผนการบริหารหนี้เดิม มีจำนวน 2,008,893.74 ล้านบาท จากเดิม 1,621,135.22 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 387,758.52 ล้านบาท และ 3.แผนการชำระหนี้ มีจำนวน 399,613.70 ล้านบาท จากเดิม 390,538.63 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9,075.07 ล้านบาท
นายชัย ระบุว่า ภายหลังการปรับปรุงเผนการบริหารหนี้สาธารณะฯครั้งนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 61.29% ไม่เกินกรอบฯที่กำหนดไว้ 70% ,สัดส่วนหนี้รัฐบาลต่อประมาณรายได้ประจำปีงบประมาณอยู่ที่ 33.06% ไม่เกินกรอบฯ 35% ,สัดส่วนหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดอยู่ที่ 1.5% ไม่เกินกรอบฯ 10% และสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้การส่งออกสินค้าและบริการอยู่ที่ 0.04% ไม่เกินกรอบฯ 5%
นายชัย กล่าวว่า ครม.ยังอนุมัติให้บรรจุโครงการพัฒนา และรายการเพิ่มเติมในการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะฯ เพิ่มขึ้น 56 โครงการ พร้อมทั้งอนุมัติให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ซึ่งมีรายได้ต่อภาระหนี้ไม่เกิน 1 เท่า กู้เงินเพื่อมาใช้บริหารกิจการได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามแผนหรือคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายฯ
ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2566 มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1 โดยมีรายละเอียด เช่น 1.การปรับเพิ่มวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไปพลางก่อน) จำนวน 424,000 ล้านบาท
2.การปรับเพิ่มวงเงินปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ.2568-2571 จำนวน 399,000 ล้านบาท 3.การปรับเพิ่มวงเงินกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องในรูปแบบ Credit Line เพื่อต่ออายุเงินกู้ระยะสั้นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำนวน 30,000 ล้านบาท
และ 4.การปรับเพิ่มวงเงินกู้ระยะยาวเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 20,000 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกสูงขึ้นและการสิ้นสุดมาตรการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ทำให้กองทุนต้องชดเชยมากขึ้น เป็นต้น
โดยในการปรับปรุงแผนฯ ในครั้งนี้มีโครงการพัฒนาโครงการ และรายการที่ขอบรรจุเพิ่มเติมและต้องเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี จำนวน 56 โครงการ/รายการ ในขณะที่คณะกรรมการฯ ได้ปรับลดโครงการตามแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2571) ลง 42 โครงการ
นายชัย กล่าวด้วยว่า ในการประชุม ครม. วันนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง ระบุว่า ในการประชุม ครม. ตั้งแต่ปี 2566 ถึงสัปดาห์ที่แล้ว ปรากฏว่ามีวาระจรเสนอมามากพอสมควร นายกฯจึงให้นโยบายว่า นับตั้งแต่ประชุมครั้งหน้า จะไม่อนุญาตให้มีวาระจร เพราะวาระเข้า ครม. สมควรจะต้องส่งมาก่อน เพื่อให้ ครม. ทุกคนมีเวลาพิจารณาศึกษาอย่างดี เว้นไว้แต่เป็นกรณีจำเป็นจริงๆหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็เสนอได้ แต่นายกฯ ต้องเป็นผู้อนุมัติเข้า ครม. ด้วยตัวเอง
“จากนี้ไปจะไม่เห็นวาระจรแล้ว ถ้านายกฯไม่อนุมัติ” นายชัย กล่าว
อ่านประกอบ :
ก่อหนี้ใหม่ 1.94 แสนล้าน! ครม.อนุมัติ ‘แผนบริหารหนี้สาธารณะ’ ปีงบ 67
เปิดรายละเอียดกรอบงบ 67 รัฐลงทุน 7.19 แสนล. มองGDPปีหน้าโต 3.2%-หลายปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า
ขาดดุลฯ 6.93 แสนล.! ครม.ไฟเขียวเพิ่ม'กรอบวงเงิน'งบประมาณรายจ่ายปี 67 เป็น 3.48 ล้านล้าน
เปิดยุทธศาสตร์งบ 67 รบ.'เศรษฐา'ดัน 28 เรื่องด่วน-คาดทูลเกล้าฯ'ร่างพ.ร.บ.งบฯ'เม.ย.ปีหน้า
ขาดดุลเพิ่มแสนล.! รบ.เคาะกรอบงบปี 67 เป็น 3.48 ล้านล้าน-‘เศรษฐา’ย้ำแจก‘หมื่นบาท’ไม่กู้