"...จากข้อมูลล่าสุด (ปีงบ 2566) รัฐบาลมีรายจ่ายประเภทเงินเดือน ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว ค่าจ้างลูกจ้างตามสัญญา และค่าตอบแทนพนักงานราชการ รวม 604,447.93 ล้านบาท จากงบประมาณปี 2566 ที่มีวงเงิน 3,185,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่อื่นๆที่ใช้เงินนอก พ.ร.บ.งบประมาณฯ..."
....................................
“เปล่าครับ ผมไม่ได้บอกว่าจะขึ้นเงินเดือน ผมให้มีการศึกษา ศึกษาไม่ได้หมายความว่า จะขึ้นทันที หรือยังไง” ก่อนจะย้ำว่า “ยังไม่ได้ขึ้นราคา (สินค้า) ครับ เรื่องนี้กรมการค้าภายในดูแลอยู่”
นี่เป็นคำให้สัมภาษณ์ล่าสุด (7 พ.ย.) ของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ที่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ที่สอบถามกรณีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้กับแรงงาน จะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าหรือไม่ อย่างไร
หลังจากเมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา เศรษฐา สั่งการในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการพลเรือน เร่งรัดให้สำนักงาน ก.พ. ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ แนวทาง กรอบระยะเวลา และผลกระทบของการปรับอัตราเงินดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ชัดเจน และรายงานผลให้ ครม. ทราบโดยเร็ว ภายในเดือน พ.ย.2566 (อ่านประกอบ : ครม.สั่ง‘ปานปรีย์-สำนักงาน ก.พ.’ ศึกษา‘ความเป็นไปได้-ผลกระทบ’ปรับขึ้นเดือน‘ขรก.-จนท.รัฐ’)
(เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังเป็นประธานการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่มาภาพ : ทำเนียบรัฐบาล)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำสาธารณชนย้อนกลับไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับ 'การปรับอัตราเงินเดือน' ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดย 5 รัฐบาล มีรายละเอียด ดังนี้
@รัฐบาล‘ทักษิณ’ ขึ้นเงินเดือน ขรก. 2 ครั้ง ปีละ 3-5%
ปี 2547 (รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร)
9 มี.ค.2547 ครม.มีมติเห็นชอบ ‘มาตรการปรับค่าตอบแทนภาคราชการ’ โดยให้ปรับเพิ่มค่าตอบแทนภาคราชการ สำหรับข้าราชการและลูกจ้างส่วนราชการ ในอัตรา 3% เท่ากันทุกอัตรา และให้กระทรวงการคลังพิจารณาปรับเพิ่มเงินช่วยเหลือการครองชีพให้แก่ข้าราชการบำนาญในอัตราเดียวกัน
และให้ข้าราชการพลเรือนระดับ 1-7 หรือเทียบเท่า ได้รับเงินเดือนในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่ปรับเพิ่ม 3% ตามบัญชีอัตราใหม่อีก 2 ขั้น
ส่วนข้าราชการพลเรือนระดับ 1-7 หรือเทียบเท่า ซึ่งได้รับเงินเดือนในอัตราขั้นสูงสุดของอันดับและขั้นก่อนสูงสุดของอันดับตามบัญชีอัตราเงินเดือนใหม่ ให้ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่ม 2–8% ของอัตราเงินเดือนที่ได้รับ
ทั้งนี้ ปรับเพิ่มค่าตอบแทนภาคราชการดังกล่าว ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2547 เป็นต้นไป โดยการปรับเงินเดือนข้าราชการตามแนวทางและวิธีการดังกล่าวจะใช้เงินงบประมาณ 11,000 ล้านบาท/ปี
ปี 2548 (รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร)
30 ส.ค.2548 ครม.เห็นชอบ ‘มาตรการปรับค่าตอบแทนภาคราชการ ปีงบประมาณ 2549' โดยให้มีการปรับอัตราเงินเดือนพื้นฐานเพิ่มขึ้นในอัตรา 5% ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐทุกประเภท
และให้คงหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนของข้าราชการ ระดับ 1-7 หรือตำแหน่งเทียบเท่า และลูกจ้างประจำส่วนราชการที่มีขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้างถึงขั้นสูงของอันดับหรือตำแหน่ง หรือมีขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้างน้อยกว่า 2 ขั้น จึงจะถึงขั้นสูงของอันดับหรือตำแหน่งในอัตรา 2% 4% 6% หรือ 8% ต่อไป
ทั้งนี้ การปรับค่าตอบแทนภาคราชการฯ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2548 ส่วนงบประมาณที่ใช้ในการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการตามแนวทางดังกล่าว จะใช้งบประมาณ จำนวน 16,400 ล้านบาท/ปี ไม่รวมงบประมาณที่เพิ่มขึ้น สำหรับข้าราชการตุลาการ อัยการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และข้าราชการส่วนท้องถิ่น
นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบปรับปรุงอัตราค่าตอบแทนเพื่อช่วยเหลือการครองชีพข้าราชการระดับต้น (ระยะเฉพาะหน้า) ปรับปรุงอัตรารายได้รวม (เงินเดือนรวมเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว) จากเดิม 7,000 บาท เป็น 7,350 บาท และปรับปรุงเพดานอัตราเงินเดือนรวมกับเงินเพิ่มดังกล่าวจาก 10,000 บาท เป็น 10,500 บาท
โดยจะใช้งบประมาณ 885 ล้านบาท/ปี สำหรับข้าราชการฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ และลูกจ้างประจำ และใช้งบประมาณจำนวน 1,430 ล้านบาท/ปี สำหรับพนักงานราชการ
@รัฐบาล‘พล.อ.สุรยุทธ์’ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ‘เท่ากัน’ 4%
ปี 2550 (รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์)
5 มิ.ย.2550 ครม. มีมติเห็นชอบ ‘การปรับปรุงค่าตอบแทนภาคราชการ’ โดย ครม. เห็นชอบแนวทางการปรับค่าตอบแทนภาคราชการ ดังนี้
-ปรับอัตราเงินเดือนเป็นร้อยละเท่ากันทุกตำแหน่งในอัตรา 4% สำหรับข้าราชการพลเรือน ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ตุลาการศาลปกครอง ข้าราชการอัยการ ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง ข้าราชการการเมือง ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นๆ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2550
-ปรับอัตราเงินเดือนขั้นสูงและขั้นต่ำของผู้มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว ซึ่งจะมีผลให้รายได้ขั้นสูงของผู้มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวให้ปรับเพิ่มเป็น 11,000 บาท และรายได้ขั้นต่ำปรับเพิ่มเป็น 7,700 บาท และปรับเงินช่วยเหลือการครองชีพข้าราชการบำนาญ ในอัตรา 4% เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ มีการประมาณการว่า งบประมาณที่ต้องใช้ในการปรับค่าตอบแทนภาคราชการครั้งนี้ อยู่ที่ 17,000 ล้านบาท/ปี
13 พ.ค.2551 ครม.มีมติเห็นชอบเรื่อง ‘การช่วยเหลือการครองชีพข้าราชการระดับต้น’
โดยเห็นชอบขยายเพดานเงินเดือนของข้าราชการเพื่อให้ได้รับค่าครองชีพเพิ่มขึ้น จากอัตราขั้นต่ำ 7,700 บาท เป็น 8,200 บาท และจากอัตราขั้นสูง 11,000 บาท เป็น 11,700 บาท รวมทั้งให้ปรับเงินช่วยเหลือการครองชีพของเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นที่ได้รับในลักษณะเช่นเดียวกับเงินค่าครองชีพของข้าราชการ และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2551
ปี 2551 (รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์)
19 พ.ย.2551 ครม.เห็นชอบ ‘หลักเกณฑ์และวิธีการปรับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญเข้าตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551’ โดยปรับปรุงบัญชีเงินเดือน ‘ขั้นต่ำ-ขั้นสูง’ ของข้าราชการพลเรือนสามัญ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทบริหาร ,ประเภทอำนวยการ ,ประเภทวิชาการ และประเภททั่วไป
ทั้งนี้ ในการปรับบัญชีเงินเดือน ‘ขั้นต่ำ-ขั้นสูง’ และเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญดังกล่าว แม้ว่า ครม.ให้หลักการว่า ต้องส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณน้อยที่สุด แต่เมื่อมีการปรับบัญชีจริง ผลปรากฏว่าอัตราเงินเดือนข้าราชการในภาพรวมปรับเพิ่มขึ้น 4%
@รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขึ้นเงินเดือน ขรก.-‘จบ ป.ตรี’รับ 1.5 หมื่น
ปี 2555 (รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
31 ม.ค.2555 ครม.มีมติเห็นชอบ ‘การปรับปรุงค่าตอบแทนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ’
โดยเห็นชอบปรับเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิการศึกษาของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐในปีที่ 1 โดยให้ผู้มีคุณวุฒิตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป ได้รับเงินเดือนแรกบรรจุรวมกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จะมีรายได้ไม่น้อยกว่า 15,000 บาท และผู้มีคุณวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี (ปวช. และ ปวส.) ได้รับการปรับรายได้เพิ่มขึ้นตามระดับคุณวุฒิการศึกษา
ทั้งนี้ การปรับเงินเดือนแรกบรรจุดังกล่าว ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2555 ส่วนวงเงินงบประมาณที่ใช้ในปรับปรุงค่าตอบแทนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐครั้งนี้อยู่ที่ 18,000 ล้านบาท/ปี
10 เม.ย.2555 ครม.เห็นชอบ ‘การปรับปรุงค่าตอบแทนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ’
โดยในส่วนข้าราชการพลเรือนสามัญนั้น กำหนดอัตราเงินเดือนแรกบรรจุให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาลในอีก 2 ปีถัดไป โดยให้อัตราเงินเดือนแรกบรรจุขั้นต่ำของวุฒิปริญญาตรีในปีที่ 2 เท่ากับ 15,000 บาท ปีที่ 1 เท่ากับ 13,000 บาท ส่วนวุฒิ ปวส. ปีที่ 2 เท่ากับ 11,500 บาท ปีที่ 1 เท่ากับ 10,200 บาท เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ให้มีการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ 2 ครั้ง โดยปรับเงินเดือนชดเชยให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับราชการในตำแหน่งระดับแรกบรรจุ ก่อนวันที่อัตราเงินเดือนแรกบรรจุที่ปรับใหม่มีผลใช้บังคับอย่างน้อย 10 ปี (มีอายุราชการตั้งแต่ 1 วัน ถึง 10 ปี โดยประมาณ)
ทั้งนี้ การปรับเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้มีผลใช้บังคับในปีที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2556 และปีที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2557
โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณดำเนินการในปีที่ 1 เพิ่มขึ้นประมาณ 5,010 ล้านบาท และสำหรับดำเนินการในปีที่ 2 เพิ่มขึ้นประมาณ 7,135 ล้านบาท
ส่วนข้าราชการประเภทอื่นและเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท นำเสนอคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นชอบในการปรับเงินเดือน เพื่อไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำกับข้าราชการพลเรือนสามัญ
@คสช. ขึ้นเงินเดือน ขรก. 4%-เพิ่มค่าตอบแทน‘พนง.ราชการ’
ปี 2557 (รัฐบาล คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ)
9 ธ.ค.2557 ครม.มีมติเห็นชอบ ‘การยกระดับรายได้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ’ โดยให้ข้าราชการ ได้แก่ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการรัฐสภาสามัญ และข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา
ได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่ม 1 ขั้น สำหรับระบบเงินเดือนแบบขั้น หรือ 4% ของอัตราเงินเดือน สำหรับระบบเงินเดือนแบบช่วง ณ วันที่บัญชีเงินเดือนข้าราชการมีผลใช้บังคับ ส่วนข้าราชการผู้ได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูง (เงินเดือนตัน) และได้รับค่าตอบแทนพิเศษ ให้นำ ‘ค่าตอบแทนพิเศษ’ มารวมเป็นเงินเดือน
ทั้งนี้ การปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการดังกล่าว ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2557 โดยให้ใช้งบประมาณเพื่อการปรับเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าว ประมาณ 22,900 ล้านบาท/ปี
(ที่มา : บัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558)
9 ธ.ค.2557 ครม.มีมติเห็นชอบ ‘การปรับค่าตอบแทนพนักงานราชการ’ โดยเห็นชอบให้ปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวให้พนักงานราชการที่ได้รับการจ้างวุฒิการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ที่มีค่าตอบแทนไม่ถึง 13,285 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเดือนละ 2,000 บาท แต่เมื่อรวมกับค่าตอบแทนแล้ว ต้องไม่เกินเดือนละ 13,285 บาท
และกรณีที่รวมกันแล้วมีค่าตอบแทนไม่ถึง 10,000 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเพิ่มขึ้นจากค่าตอบแทนอีกจนถึงเดือนละ 10,000 บาท โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 ต.ค.2557
ส่วนพนักงานราชการกลุ่มงานบริการ กลุ่มงานเทคนิคทั่วไป กลุ่มงานบริหารทั่วไป และกลุ่มงานวิชาชีพเฉพาะ ได้รับค่าตอบแทนเพิ่ม 4% โดยให้มีผลใช้บังคับ 1 ธ.ค.2557 และปรับเพดานบัญชีค่าตอบแทนขั้นสูง กลุ่มงานบริการ กลุ่มงานเทคนิคทั่วไป กลุ่มงานบริหารทั่วไป และกลุ่มงานวิชาชีพเฉพาะ 4% โดยให้มีผลใช้บังคับวันเดียวกับการปรับเพิ่มเพดานเงินเดือนขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนสามัญ
ทั้งนี้ การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว คาดว่าจะใช้งบประมาณ 240 ล้านบาท และการปรับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น 4% ณ เดือน ธ.ค.2557 ดังกล่าว คาดว่าจะใช้งบประมาณ 505 ล้านบาท หรือจะต้องใช้งบประมาณรวม 745 ล้านบาท
@งบปี 66 รัฐมีค่าใช้จ่ายเงินเดือน ขรก.-เจ้าหน้าที่รัฐ 6 แสนล.
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า หลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบการปรับเงินเดือนข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และพนักงานราชการ ในแต่ละครั้ง (รวม 6 ครั้ง) พบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทอื่นๆ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รับการปรับฐานเงินเดือนให้สอดคล้องกับ มติ ครม. แต่ละครั้ง ด้วย
ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด (ปีงบ 2566) รัฐบาลมีรายจ่ายประเภทเงินเดือน ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว ค่าจ้างลูกจ้างตามสัญญา และค่าตอบแทนพนักงานราชการ รวม 604,447.93 ล้านบาท จากงบประมาณปี 2566 ที่มีวงเงิน 3,185,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่อื่นๆที่ใช้เงินนอก พ.ร.บ.งบประมาณฯ
นอกจากนี้ เมื่อเปรียบกับรายจ่ายเงินเดือนของข้าราชการฯในปีงบ 2566 กับรายจ่ายเงินเดือนของข้าราชการฯในช่วงปีงบ 2546 ที่รัฐบาลมีรายจ่ายเงินเดือน ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว และค่าตอบแทน รวมทั้งสิ้น 306,531 แสนล้านบาทแล้ว พบว่ารายจ่ายดังกล่าวเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น
เหล่านี้เป็นข้อมูลการปรับขึ้นเงินเดือน ‘ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ’ ของ 5 รัฐบาล ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และต้องติดตามว่า ‘รัฐบาลเศรษฐา’ จะปรับขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการเท่าไหร่ และอย่างไร?
(ที่มา : รายงานผลการเบิกจ่ายภายใต้แผนงานบุคลากรภาครัฐ ปีงบ 2566 สำนักงบประมาณ)
(ที่มา : รายงานสถิติการคลัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2547 กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง)
อ่านประกอบ :
นายกยันขึ้นเงินเดือนขรก.เป็นการศึกษา ไม่ได้ให้เพิ่มทันที-ตั้งคกก.ย่อยแก้ปัญหา EEC
‘ปานปรีย์’ นัด 11 พ.ย. 66 ประชุมศึกษาขึ้นเงินเดือนข้าราชการนัดแรก
ครม.สั่ง‘ปานปรีย์-สำนักงาน ก.พ.’ ศึกษา‘ความเป็นไปได้-ผลกระทบ’ปรับขึ้นเดือน‘ขรก.-จนท.รัฐ’