“…นักสังเกตุการณ์การเมือง วิเคราะห์ตรงกันว่า หมากเกมนี้ – เดินตาเดียว ‘ทักษิณ’ ได้ ‘สางแค้น’ ทั้ง ‘ชวน หลีกภัย’ ปูชนียบุคคลของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะถึงพรรคไม่แตกก็เหมือน และ ‘พลเอก ประวิตร’ ที่โดน ‘ตัดกำลัง’ หั่นแขน-ขา ‘ผ่าครึ่ง’ พรรคพลังประชารัฐ …”
การเมืองไทยรอบปี 2567 นับเป็นปีที่กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง หลังจากการปรากฏกายของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ นอกเรือนจำ เกิด ‘ดุลอำนาจใหม่’ ใน ‘สภาสูง’ และ เริ่มมีการเคลื่อนไหวของมวลชนบนท้องถนน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ประมวลเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในรอบปี 2567 เพื่อเป็นกระจกสะท้อนสถานการณ์การเมืองในอีก 12 เดือนข้างหน้า
@ ทักษิณ ‘พักโทษ’ – ‘พ้นโทษ’ โคจรทั่วกระดานการเมือง
ชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ผู้ทรงอิทธิพลแห่งปี – โคจรทั่วกระดานการเมือง ทั้งก่อนโดนจองจำใน ‘ห้องวีไอพี’ ชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา โรงพยาบาลตำรวจ – ระหว่าง ‘พักโทษ’ และหลัง ‘พ้นโทษ’
ภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาจำคุก 3 คดี รวม 8 ปี แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ‘ลดโทษ’ เหลือ 1 ปี เริ่มต้องโทษจำคุกตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566
หลังการประกาศระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 นายทักษิณ ได้รับการ ‘พักโทษ’ ภายหลัง ‘รับโทษ’ ครบ 6 เดือน เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ก่อนออกจาก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ไปพักโทษ ‘นอกเรือนจำ’ ที่ ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’
18 สิงหาคม 2567 นายทักษิณ ‘พ้นโทษ’ ภายหลังมีพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พ.ศ.2567
เป็น 331 วันของ ‘ทักษิณ’ ถูกควบคุมตัวอยู่บนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ และ ‘คุมประพฤติ’ อยู่ที่ ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวทางการเมือง
@ อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง ทักษิณ ‘คดี ม.112’
ทว่า การปลดเปลื้องพันธนาการของ ‘ทักษิณ’ ที่เหมือน ‘พยัคฆ์ติดปีก’ กลับไม่สามารถ ‘สยายปีก’ ได้สุดแขวน เพราะยัง ‘ติดบ่วง’ คดี ‘มาตรา 112’
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 นายวิพุธ บุญประสาท อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ในฐานะหัวหน้าพนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดให้เป็นผู้รับผิดชอบคดีได้ส่งฟ้อง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อศาลอาญาในข้อกล่าวหา อาทิ การกระทำผิด ‘มาตรา 112’ โดยศาลประทับรับฟ้องไว้ตามหมายเลขคดีดำที่ อ.1860/2567 ซึ่งคดีได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลอาญาแล้ว
สืบเนื่องจากนายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้องนายทักษิณ ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาญาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา 112 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 มาตรา 14 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8
ทั้งนี้ ศาลอาญา อนุญาตให้ ‘ปล่อยตัวชั่วคราว’ นายทักษิณ ตีราคาหลักทรัพย์ 500,000 บาท ยึดหนังสือเดินทางและห้ามเดินทางไปต่างประเทศ เป็นชนักปักหลัง ‘ทักษิณ’ ไม่ให้แผลงฤทธิ์นอกประเทศได้จนถึงปัจจุบันนี้
@ ป.ป.ช.ตั้ง ‘องค์คณะไต่สวน’ เอื้อ ‘ทักษิณ’ รักษาตัว ‘ชั้น14’
มิหนำซ้ำ ‘ทักษิณ’ ยังโดน ‘ติดเบรก’ เมื่อ ‘องค์กรอิสระ’ ที่เปรียบเสมือนเป็น ‘ไม้เบื่อไม้เมา’ ของ ‘รัฐบาลชินวัตร’ ตั้งแต่ใน ‘ยุคคดีซุกหุ้น’ และ ‘ยุคจำนำข้าว’
เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลุกขึ้นมา ‘ตั้งลูก’ สอบข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ เอื้อประโยชน์ให้ ‘ทักษิณ’ พักรักษาตัวบน ‘ชั้น14’ โรงพยาบาลตำรวจ แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย
โดยเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ ‘เอกฉันท์’ ให้กรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะ เป็น ‘องค์คณะไต่สวน’ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ กรมราชทัณฑ์ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลตำรวจ จำนวน 12 ราย กรณีเอื้อประโยชน์ให้กับนายทักษิณ เข้าพักรักษาตัวที่ ห้องพิเศษ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ
สำหรับข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ 12 ราย ที่จะถูกไต่สวน ประกอบด้วย 1.นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ 2.นายสิทธิ สุธีวงศ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ 3.นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ 4.นายนัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 5.พลตำรวจโท โสภณรัชต์ สิงหจารุ เมื่อครั้งนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ 6.พลตำรวจโท ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ
7.พันตำรวจเอก ชนะ จงโชคดี นายแพทย์ (สบ 5) โรงพยาบาลตำรวจ แพทย์เจ้าของไข้ และผู้ออกใบความเห็นแพทย์ 8.พลตำรวจตรี สามารถ ม่วงศิริ แพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ผู้ออกใบความเห็นแพทย์ 9.นายแพทย์ วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ 10.แพทย์หญิง รวมทิพย์ สุภานันท์ แพทย์ผู้ตรวจร่างกายขณะรับตัวผู้ต้องขังใหม่ 11.นายสัญญา วงค์หินกอง พัศดีเวร เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และ 12.นายธัญพิสิษฐ์ ขบวน พยาบาลเวร เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
แม้ว่าจะไม่ใช่การไต่สวน ‘ทักษิณ’ หรือ ‘รัฐมนตรี’ ในรัฐบาลแพทองธาร แต่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า ผลของการไต่สวนของ ป.ป.ช.จะขยายผลไปถึงใคร หรือ การกระทำในอดีตหรือไม่
@ ยุบพรรคก้าวไกล-ตัดสิทธิการเมือง 10 ปี
อีกหนึ่งเหตุการณ์ทางการเมืองที่กลับมา ‘ฉายหนังม้วนเดิม’ เป็น ‘ภาคสอง’ ต่อจากคดียุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2563 แต่ในปี 2567 เป็นการ ‘ยุบพรรคก้าวไกล’ ใน ‘คดีล้มล้างการปกครอง’
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ‘เอกฉันท์’ 9 ต่อ 0 วินิจฉัยให้ ‘ยุบพรรคก้าวไกล’ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง และมีมติ ‘เสียงข้างมาก’ 8 ต่อ 1 ยุบพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสอง
- มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
- มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติ ‘เอกฉันท์’ วินิจฉัยให้ ‘เพิกถอนสิทธิ’ สมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในระหว่างช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรค (25 มี.ค.64-31 ม.ค.67) มีกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรค
รวมถึงมีมติ ‘เอกฉันท์’ วินิจฉัย ห้ามไม่ให้คณะกรรมการบริหารพรรคที่ถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัครการเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ภายในกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค
ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรค สส.อดีตพรรคก้าวไกล จำนวน 143 ชีวิต ได้ย้ายไป ‘บ้านหลังใหม่’ ที่ชื่อว่า ‘พรรคประชาชน’ โดยมี ‘ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ’ สส.บัญชีรายชื่อ เป็น ‘หัวหน้าพรรคสีส้ม’ ต่อจาก ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล
@ ถอนถอน ‘เศรษฐา’ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
เหตุการณ์ที่เป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ทางการเมืองในฝ่ายบริหาร คือ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ชนิด ‘หักปากกาเซียน’ ทั้งฝ่ายการเมือง-ฝ่ายความมั่นคง
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ‘เสียงข้างมาก’ 5 ต่อ 4 วินิจฉัย ให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5)
เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) แล้ว รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 วรรคหนึ่ง (1) โดยให้นำมาตรา 168 วรรคหนึ่ง (1) มาใช้บังคับกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่พ้นตำแหน่งต่อไป
เมื่อสิ้นเสียงคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ‘เศรษฐา’ โบกมือลาข้าราชการในทำเนียบรัฐบาล ออกจากตึกไทยคู่ฟ้า ‘ศูนย์กลางอำนาจ’ พร้อมกับ ‘วรรคทอง’ ที่ออกมาจากปาก ว่า “เขาไม่ให้อยู่แล้ว”
ปิดตำนาน ‘เซลส์แมนประเทศไทย’ หลังจากใช้เวลา ‘ปิดการขาย’ เมกะโปรเจ็กต์ลงทุน ในฐานะนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ด้วยเวลา 11 เดือน 23 วัน
@ แพทองธาร ‘นายกฯชินวัตรคนที่สาม’
พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญลงมติ ‘ถอดถอน’ นายเศรษฐา พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ‘ตกเย็น’ ปรากฏความเคลื่อนไหวของในการจัดตั้งรัฐบาลใน ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’
เมื่อมีภาพแกนนำ ‘พรรคร่วมรัฐบาลเดิม’ อาทิ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา เดินทางเข้าไปภายในบ้านพักอดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ที่อยู่ระหว่าง พักโทษ-คุมประพฤติ
ก่อนที่จะมีกระแสข่าวออกมาว่า พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อ ‘ชัยเกษม นิติสิริ’ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจจะเข้าข่ายบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ‘ครอบงำ’ และอาจจะถูก ‘นักร้อง’ นำไปร้องเรียนเรื่อง ‘ยุบพรรค’ ได้
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นเพียงวันเดียว-วันที่ 15 สิงหาคม 2567 พรรคเพื่อไทย ‘กลับลำ’ จากเดิมที่มีกระแสข่าวว่าจะเสนอชื่อนายชัยเกษม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยการ ‘แก้เกม’ ในช่วงเช้าให้มีการเรียกประชุม สส.ของพรรคเพื่อไทยที่รัฐสภา เพื่อเสนอชื่อ ‘แพทองธาร’ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ‘ลูกคนสุดท้อง’ ของนายทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี
ก่อนที่ในช่วงบ่าย คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยได้มีมติเสนอชื่อ ‘แพทองธาร’ ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมติในที่ประชุม สส.จากนั้นในช่วงเย็นหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรค และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ตั้งโต๊ะแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาล โดยมี ‘หัวหน้าพรรคเพื่อไทย’ เป็น ‘ผู้นำรัฐบาล’
วันที่ 16 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติ ‘เห็นชอบ’ ให้ ‘แพทองธาร’ เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ด้วยคะแนนเสียง 319 เสียง ไม่เห็นชอบ 149 เสียง งดออกเสียง 27 เสียง ทั้งนี้ เสียงให้ความเห็นชอบมีคะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 วรรคสาม
‘แพทองธาร’ ใช้เวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมง กลายเป็น ‘นายกฯดีเอ็นเอชินวัตร’ คนที่สาม ต่อจาก ‘นายกฯผู้เป็นพ่อ’ และ ‘ยิ่งลักษณ์-นายกฯ ผู้เป็นอา’
@ เพื่อไทย ‘จูบปาก’ ประชาธิปัตย์ - ‘ผ่าครึ่ง’ พลังประชารัฐ
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เป็น ‘บันทึกบทใหม่’ บนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือ การ ‘จูบปาก’ ระหว่างพรรคการเมือง ที่เป็น ‘คู่แข่ง-คู่กัด-คู่แค้น’ ทางการเมืองมายาวนาน กว่า 2 ทศวรรษ
หลังจาก ‘พรรคประชาธิปัตย์’ เข้าร่วมรัฐบาล โดยได้ตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี ถึง 2 เก้าอี้ คือ 1 เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ 1 เก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
แม้ว่า 25 สส.ของพรรค จะ ‘งดออกเสียง’ ในการลงมติให้ ‘แพทองธาร’ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็มี ‘ต้นทุน’ ที่ต้องจ่าย เพราะมี สส.อย่างน้อย 4 คน ที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ได้แก่ นายชวน หลีกภัย - นายบัญญัติ บรรทัดฐาน - นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ และนายสรรเพชญ บุญญามณี
เอฟเฟ็กต์จากการดึง ‘พรรคเก่าแก่’ มาเข้าร่วมงานกับ ‘รัฐบาลเพื่อไทย’ ทำให้พรรคพลังประชารัฐ ต้อง ‘ถูกเขี่ย’ ตกขบวน ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ ส่งผลให้เหลือ สส.เพียง ‘ครึ่งพรรค’ จาก 40 คน เหลือ 20 คน
เมื่อ ‘ร.อ.ธรรมนัส พหรมเผ่า’ นำ สส.พรรคพลังประชารัฐ รวม 20 คน ประกาศอิสรภาพ-ปลดแอกจาก ‘พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก่อนที่จะถูก ‘ขับออก’ และไปสังกัด ‘พรรคกล้าธรรม’ ในเวลาต่อมา ท่ามกลางกระแสข่าวเคลียร์กัน ‘ลงตัว’ คดีรุกที่ดิน ส.ป.ก.ที่อำเภอ มวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ที่โยงไปถึง ‘หวานใจ’ ของ ‘คนบ้านป่า’
นักสังเกตุการณ์การเมือง วิเคราะห์ตรงกันว่า หมากเกมนี้ – เดินตาเดียว ‘ทักษิณ’ ได้ ‘สางแค้น’ ทั้ง ‘ชวน หลีกภัย’ ปูชนียบุคคลของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะถึงพรรคไม่แตกก็เหมือน และ ‘พลเอก ประวิตร’ ที่โดน ‘ตัดกำลัง’ ตัดแขน-ขา ‘ผ่าครึ่ง’ พรรคพลังประชารัฐ
@ คว่ำ ‘กฎหมายนิรโทษกรรม’ ปิดประตู ‘ปรองดอง’
ข้ามฟากมาที่ฝ่ายนิติบัญญัติ-สภาผู้แทนราษฎร หลังจากพรรคเพื่อไทย ปลุกบิ๊กอีเวนต์ ‘นิรโทษกรรม’ ตั้งแต่ไก่โห่ ด้วยความหวังว่าจะสร้างความสมานฉันท์ - ปรองดอง โดยการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่มี นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธานคณะกรรมาธิการ เสนอโดย ‘ขัตติยา สวัสดิผล’ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเพื่อไทย สุดท้ายก็ต้องพับเก็บใส่ลิ้นชัก กลับไปเริ่มจับสัญญาณทางการเมือง-กระแสสังคมอีกครั้งว่าจะเอาด้วยหรือไม่
หลังจากเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎร ลงมติ ‘รับทราบ’ รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ
แต่ที่ประชุมมีมติ ‘ไม่เห็นด้วย’ กับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ จำนวน 269 เสียง เห็นด้วย 151 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ไม่ลงคะแนน 68 เสียง
ส่งผลให้ทั้งข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการนิรโทษกรรม ฯ ไม่ถูกส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อ โดยเฉพาะ ครม. อย่างไรก็ตามเป็นเพียง ‘โยนหินถามทาง’ หยั่งกระแสสังคม หลังจาก รายงานการศึกษาการนิรโทษกรรรมฯ โดน ‘ปัดตก’ เพราะยังมีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ‘ค้างท่อ’ อยู่ในสภาผู้แทนราษฎรอีก 4 ฉบับ
1.ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชาชน พ.ศ. .... ที่เสนอโดย นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ กับคณะผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อกันเสนอ
2.ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. .... เสนอโดย นายชัยธวัช ตุลาธน สส.กับคณะ สส.พรรคประชาชน (อดีตสส.พรรคก้าวไกล)
3.ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... เสนอโดย นายปรีดา บุญเพลิง สส.พรรคครูไทยเพื่อประชาชน กับคณะ สส.รวม 6 พรรค
4.ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... เสนอโดย นายวิชัย สุดสวาดิ์ สส.กับคณะ สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ
รวมถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับของพรรคเพื่อไทย ที่ยังกล้าๆ-กลัวๆ คิดยังไม่ตกว่า จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาเพื่อประกบอีก 4 ฉบับหรือไม่
@ แขวน ‘ประชามติ’ 180 วัน เตะถ่วง รื้อ ‘รัฐธรรมนูญ’
รวมถึงแคมเปญ ‘แก้ไขรัฐธรรมนูญ’ ที่พรรคเพื่อไทยโหมโรงมาตั้ง ‘ยุครัฐบาลเศรษฐา’ เมื่อเดือนตุลาคม 2566 โดยตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ที่มี ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ เป็นประธาน
ทว่า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎร ลงมติ ‘ไม่เห็นด้วย’ กับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันระหว่าง สส.กับ สว. พิจารณายืนยันตามที่ ร่างพ.ร.บ.ประชามติ ฉบับแก้ไขของ สว. เพื่อเป็นการ ‘ยืนยัน’ ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ของ สส. ส่งผลให้ ร่างพ.ร.บ.ประชามติ ‘ถูกแขวน’ ไว้ 180 วัน
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ฉบับที่คณะกรรมาธิการร่วมกันของ สส.และ สว. พิจารณาและได้เแก้ไขเพิ่มเติมร่างของสภาผู้แทนราษฎรในมาตรา 7 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 13) การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น หรือ ‘ประชามติเสียงข้างมากสองชั้น’
ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของสภาผู้แทนราษฎร ที่ลงมติเห็นชอบในวาระที่สาม ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 13 ที่กำหนดให้การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามติ หรือ ‘ประชาชามติเสียงข้างมากชั้นเดียว’
เมื่อ ‘กฎหมายประชามติ’ ยังไม่คลอดออกมา การเริ่มต้นนับ 1 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ‘ทั้งฉบับ’ ไม่สามารถไปต่อได้ กลายเป็นการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ‘ซื้อเวลา’ ก้อนจะมาโดน สว.- สส.สีน้ำเงิน ‘ดีเลย์’ ออกไปอีก 180 วัน
@ ‘สว.สีน้ำเงิน’ ยึด ‘สภาสูง’
จากสภาล่าง-ปิดท้ายที่ ‘สภาสูง’ เกิดความเปลี่ยนแปลงชนิดกลับตาลปัตร หลังจาก ‘สว.ชุดลายพราง’ หมดวาระ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 เกิดเป็น ‘ดุลอำนาจใหม่’
จากที่มาของ สว.250 คน ‘เลือกตรง’ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนมีข้อกังขา ว่า เป็น ‘สภาตรายาง-ฝักถั่ว’ สามารถสั่งซ้ายหัน-ขวาหันได้ สู่ สว.200 คน ที่มาจากการ ‘เลือกกันเอง’ จนมีคำครหา-คำฟ้อง ว่า ‘ฮั้ว-บล็อกโหวต’ และโดน ‘แปะป้าย-ประทับตรา’ ว่าเป็น ‘สว.สีน้ำเงิน’
วีรกรรมที่ทำให้ถูกมองว่าเป็น ‘สว.สีน้ำเงิน’ เช่น การงัดข้อกับ สส.ในการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประชามติ จาก ‘ประชามติเสียงข้างมากชั้นเดียว’ กลับไปเป็น ‘ประชามติเสียงข้างมากสองชั้น’ จนทำให้ ‘สภาล่าง’ ต้องถอยหลังกลับไป 180 วัน จึงจะเสนอ ‘กฎหมายประชามติ’ กลับเข้าสภาอีกครั้งได้
และการจับตาการแสดง ‘อิทธิฤทธิ์’ ด้วยการ ‘รับรอง-ไม่รับรอง’ ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งใน ‘องค์กรอิสระ’ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างกระบวนการของคณะกรรมาธิการคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม เช่น ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
จนมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า ‘สภาสูง’ เกินกว่าครึ่ง ถูก ‘สว.สีน้ำเงิน’ ยึดไว้ทั้งหมด โดยมี ‘ครูใหญ่’ เป็น ‘ผู้บัญชาการเกมต่อรอง’
@ ไม่รับคำร้องยุบ ‘เพื่อไทย’ - ยุติเรื่องยุบ ‘ภูมิใจไทย’
เก็บตกกันที่สะเก็ดการเมือง ใน ‘ดุลอำนาจที่ 4’ อย่าง ‘องค์กรอิสระ’ ที่จะเป็นผู้ชี้เป็น-ชี้ตาย พรรคการเมือง-นักการเมืองในปี 2567 ที่ผ่านมา
คดีแรก-คดียุบพรรคเพื่อไทย กรณีที่ ‘ธีรยุทธ สุวรรณเกษร’ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัย ว่า นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 กับพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ โดยขอให้ศาลรัฐธรรมวินิจฉัยใน 6 ประเด็น
- ประเด็นที่ 1 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 ให้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ในระหว่างรับโทษจำคุก เพื่อให้ไม่ต้องรับโทษในเรือนจำ ทั้งที่ไม่พบว่ามีอาการป่วยขั้นวิกฤต
- ประเด็นที่ 2 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์แก่อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชาให้มีการเจรจาพื้นที่ทับช้อนทางทะเลเพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของประเทศไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา
- ประเด็นที่ 3 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชนซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมืองของพรรคก้าวไกลเติมที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธธรรมนูญว่ามีพฤติการณ์ล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- ประเด็นที่ 4 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการแทนผู้ถูกร้องที่ 2 โดยเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่น
ที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1 - ประเด็นที่ 5 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล
- ประเด็นที่ 6 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 นำนโยบายของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา
ผลคำวินิจฉัย วันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ‘เอกฉันท์’ 9 ต่อ 0 ‘ไม่รับไว้พิจารณวินิจฉัย’ ประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 3 ถึงประเด็นที่ 6 เนื่องจากยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอ
และศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ‘เสียงข้างมาก’ 7 ต่อ 2 ‘ไม่รับคำร้อง’ ประเด็นที่ 2 โดยตุลาการเสียงข้างมาก 7 เสียง เห็นว่า เนื่องจากเห็นว่า ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอ
คดีที่สอง-คดียุบพรรคภูมิใจไทย กรณีที่ ‘ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์’ นายภัทรพงศ์ ศุภักษร-นายศรีสุวรรณ จรรยา - นายธีรยุทธ ยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าการกระทำของพรรคภูมิใจไทยที่รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด จากนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อาจจะเป็นการรับบริจาคโดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบ ด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 72 อันเป็นเหตุแห่งการ ยุบพรรคการเมือง ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรรมนูญญฉบับเดียวกัน
วันที่ 27 ธันวาคม 2567 สำนักงาน กกต. โดย ‘แสวง บุญมี’ เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง มีมติ ‘ยุติเรื่อง-ยกคำร้อง’ คดียุบพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากเห็นว่า กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น บริจาคเงินให้แก่พรรคภูมิใจไทย โดยเงินบริจาคซึ่งได้มาจากการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐและการขัดกันแห่งประโยชน์นั้น
ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฎพยานหลักฐานว่า พรรคภูมิใจไทยได้รับบริจาคโดยรู้ หรือควรรู้ว่าเงินบริจาคได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 72 ในชั้นนี้จึงให้ยุติเรื่อง
ทั้งนี้ หากปรากฎพยานหลักฐานใหม่ในภายหลังตามคำพิพากษาของศาลว่าผู้บริจาคกระทำผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ นายทะเบียนพรรคการเมืองจะยกขึ้นพิจารณาใหม่
ส่วนกรณีนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ เป็นการบริจาคงานวิจัย และบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (จำกัด) เป็นการบริจารบริจาคเงิน โดยทั้งสองกรณีไม่ปรากฎหลักฐานว่าพรรคภูมิใจไทยรับบริจาคโดยรู้หรือควรรู้ว่าเงินหรือทรัพย์สินที่นำมาบริจาคได้มาโดยไม่ชอบกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 72 จึงให้ยกคำร้อง
เป็น 10 เหตุการณ์ทางการเมือง ในรอบปี 2567 ที่จะมี ‘ผลข้างเคียง’ ต่อไปถึงสถานการณ์การเมืองในปี 2568