เปิดกรอบวงเงินงบปี 67 ใหม่ 3.48 ล้านล้าน ‘รัฐบาล’ ตั้งงบลงทุน 7.19 แสนล้าน คิดเป็นสัดส่วน 20.63% ของงบประมาณ ลดลงจากปีก่อนที่มีสัดส่วน 21.65% มองเศรษฐกิจปี 67 โต 3.2% แต่มีความเสี่ยงจากการชะลอตัวรุนแรงของ ‘เศรษฐกิจโลก’
.....................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการทบทวนกรอบวงเงินวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบฯ 2567 ใหม่เป็นวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิมที่กำหนดไว้ที่ 3.35 ล้านล้านบาท นั้น (อ่านประกอบ : ขาดดุลฯ 6.93 แสนล.! ครม.ไฟเขียวเพิ่ม'กรอบวงเงิน'งบประมาณรายจ่ายปี 67 เป็น 3.48 ล้านล้าน)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เผยแพร่รายละเอียด เรื่อง การทบทวนวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่ ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 ก.ย.2566 โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
สมมติฐานทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ภายในประเทศ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และการกลับมาขยายตัวของการส่งออกสินค้าตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของปริมาณการค้าโลก
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ ความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการเงินการคลังและภาคเศรษฐกิจจริง
สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2567 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 1.8 และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลประมาณร้อยละ 1.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
ประมาณการรายได้รัฐบาล
ปีงบประมาณ พ.ศ.2567 คาดว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้รวมจำนวน 3,337,400 ล้านบาท เมื่อหักการคืนภาษีของกรมสรรพากร อากรถอนคืนกรมศุลกากร การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด การกันเงินเพื่อชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก
และการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คงเหลือรายได้สุทธิ จำนวน 2,787,000 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการรายได้สุทธิปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ตามเอกสารงบประมาณที่กำหนดไว้ จำนวน 2,490,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 297,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.93
นโยบายงบประมาณ วงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567
จากสมมติฐานทางเศรษฐกิจและประมาณการรายได้รัฐบาลดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้การจัดการรายจ่ายภาครัฐสามารถขับเคลื่อนภารกิจตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และนโยบายสำคัญของรัฐบาลได้ตามเป้าหมาย สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินภารกิจของหน่วยงานตามกฎหมาย
จึงได้กำหนดนโยบายงบประมาณขาดดุล สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 693,000 ล้านบาท ทำให้มีวงเงินงบประมาณรายจ่ายจำนวน 3,480,0000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่กำหนดไว้ 3,185,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 295,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.26 โดยมีสาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 3,480,000 ล้านบาท ดังนี้
1.โครงสร้างงบประมาณรายจ่าย ประกอบด้วยประมาณการรายจ่าย ดังต่อไปนี้
(1) รายจ่ายประจำ จำนวน 2,619,790.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 217,250.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.04 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.28 ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 75.43
(2) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 33,759.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งไม่มีการเสนอตั้งงบประมาณ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 100 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.97 ของวงเงินงบประมาณรวม
(3) รายจ่ายลงทุน จำนวน 719,199.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 27,719.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.02 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.63 ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 21.65
(4) รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 118,320 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 18,320 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.32 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.40 ของวงเงินงบประมาณรวม เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 3.14
2.รายได้สุทธิ จำนวน 2,783,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปิงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 297,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.93 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.61 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 13.70
3.งบประมาณขาดดุล จำนวน 693,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 2,000 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 0.29 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.63 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 3.83
ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,480,000 ล้านบาท ดังกล่าวเท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) ฉบับทบทวน ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2566 สำหรับงบประมาณรายจ่ายลงทุนและงบประมาณรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ มีสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนดตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561
อ่านประกอบ :
ขาดดุลฯ 6.93 แสนล.! ครม.ไฟเขียวเพิ่ม'กรอบวงเงิน'งบประมาณรายจ่ายปี 67 เป็น 3.48 ล้านล้าน
เปิดยุทธศาสตร์งบ 67 รบ.'เศรษฐา'ดัน 28 เรื่องด่วน-คาดทูลเกล้าฯ'ร่างพ.ร.บ.งบฯ'เม.ย.ปีหน้า
ขาดดุลเพิ่มแสนล.! รบ.เคาะกรอบงบปี 67 เป็น 3.48 ล้านล้าน-‘เศรษฐา’ย้ำแจก‘หมื่นบาท’ไม่กู้