ภายใต้กฎหมาย FCPA นั้น ไม่ได้มีผลกระทบเกี่ยวกับคนกลางผู้ที่นำสินค้าไปขายแต่อย่างใด หรือก็คือว่าบริษัทผู้ผลิตนั้นยังต้องเป็นผู้รับผิดชอบนั่นเอง ซึ่งมันไม่สำคัญเลยว่าคุณจะเรียกตัวแทนจำหน่ายผู้ที่นำสินค้าไปขายว่าเป็นอะไร ไม่ว่าจะเป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าหรือว่าตัวแทน ถ้าหากผมขายผลิตภัณฑ์ของซีเมนส์ นี่ก็หมายความง่ายๆว่าซีเมนส์นั้นจะต้องรับผิดชอบ 100 เปอร์เซ็นต์ถ้าหากมีกรณีการให้สินบนเกิดขึ้น
ส่องคดีทุจริตโลกสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ขอเสนอประเด็นการทุจริตเกี่ยวกับการขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส อันเกี่ยวข้องกับบริษัทใหญ่ระดับโลกหลายแห่ง อาทิบริษัทซีเมนส์ และบริษัทฟิลิปส์ ที่ถูกเปิดโปงโดยองค์กร 100Reporters ซึ่งเป็นองค์กรสื่อมวลชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตันดีซี
โดยสำนักข่าว The Independent ของประเทศอังกฤษได้รายงานว่าในช่วงปีที่ผ่านมานั้นพบว่ามีโรงพยาบาลในประเทศจีนหลายแห่งที่ได้ซื้ออุปกรณ์แสกนแบบเอ็มอาร์ไอ,เครื่องซีทีสแกน และอุปกรณ์อันสำเป็นอื่นๆเพื่อจะใช้วิจัยสำหรับไวรัสโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อในบางกรณีนั้นพบว่ามีการจัดซื้อผ่านตัวคนกลาง,ตัวแทนจำหน่าย คิดเป็นมูลค่าการจัดซื้อสูงกว่าราคาตลาดหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าราคาที่สูงเกินจริงดังกล่าวนั้นอาจจะรวมไปถึงมูลค่าที่ใช้ในการให้สินบนกับเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ด้วยเช่นกัน
ซึ่งตัวอย่างของการจัดซื้อที่แพงเกินจริง ก็ได้แก่กรณีที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในประเทศจีนได้มีการจัดซื้อเครื่องสแกนเอ็มอาร์ไอ รุ่น GE Signa Pioneer คิดเป็นมูลค่า 5.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (169,908,480 บาท) ขณะที่โรงพยาบาลจีนอีกแห่งจัดซื้อเครื่องสแกนเอ็มอาร์ไอรุ่นเดียวกันคิดเป็นราคา 2.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (84,295,680 บาท) และยังมีรายงานการขายเครื่องซีทีสแกนของบริษัทซีเมนส์คิดเป็นมูลค่า 3.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (106,686,720 บาท) ให้กับโรงพยาบาลจีนอีกแห่งหนึ่งด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม ปรากฏข้อมูลว่าเครื่องซีทีสแกนรุ่นล่าสุดของบริษัทซีเมนส์นั้นกลับมีราคาตลาดอยู่ที่ 1.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (64,209,600 บาท) เท่านั้น
@ตัวแทนจำหน่ายที่อันตราย
ทั้งนี้จากการตรวจสอบการประกวดราคาสาธารณะทั่วประเทศจีนจากเว็บไซต์ของประเทศจีนที่ชื่อว่า chinabidding.com ผลการค้นหาก็พบข้อตกลงการจัดซื้ออันน่าสงสัยหลายกรณีเช่นกัน อาทิ ในเดือน พ.ค. 2563 โรงพยาบาล Fifth People’s ในเมืองจิงโจว จ.หูเป่ย ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองอู่ฮั่น ได้มีการจ่ายเงินคิดเป็นจำนวน 340,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (11,195,520) สำหรับเครื่องอัลตร้าซาวน์รุ่น GE Logiq S8 แต่อย่างไรก็ตาม เครื่องมือนี้มีราคาขายปลีกอยู่ที่ 70,000-150,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (2,304,960- 4,939,200 บาท) เท่านั้น ถ้าหากอ้างอิงราคาจากผู้จัดส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์
ส่วนทางด้านของบริษัทจีอี ที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ก็ยังไม่ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อตกลงที่ว่านี้แต่อย่างใด แต่ทั้งนี้โฆษกของบริษัทจีอีก็ได้ระบุในแถลงการณ์ของบริษัทว่าตัวแทนจำหน่าย ผู้เป็นบุคคลที่สามที่นำสินค้าไปจำหน่ายให้กับโรงพยาบาลเหล่านี้นั้นไม่ใช่เป็นตัวแทนของบริษัทอย่างเป็นทางการหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบอำนาจให้นำผลิตภัณฑ์ของบริษัทไปขายต่อแต่อย่างใด โดยตัวแทนจำหน่ายดังกล่าวนั้นแท้จริงแล้วคือลูกค้าของบริษัทจีอีนั่นเอง ดังนั้นบริษัทจีอีจึงไม่มีอำนาจไปควบคุมว่าตัวแทนจำหน่ายดังกล่าวนี้จะไปคิดราคาผลิตภัณฑ์กับทางโรงพยาบาลเป็นมูลค่าเท่าไรกันแน่ อีกทั้งบริษัทจีอียังไม่ได้รับอนุญาตให้รับรู้ด้วยซ้ำว่าตัวแทนจำหน่ายที่ว่านั้นจะนำผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ของบริษัทไปขายเท่าไรกันแน่ ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นไปตามหลักการของกฎหมายการต่อต้านการผูกขาด
อย่างไรก็ตามทางด้านของนักกฎหมายด้านกฎหมายการต่อต้านการผูกขาดก็ได้แสดงความเห็นแย้งกับแถลงการณ์ของบริษัทจีอีโดยกล่าวว่ากฎหมายต่อต้านการผูกขาดนั้นไม่ได้ป้องกันไม่ให้ผู้ที่ผลิตสินค้าจะไม่ทราบราคาขายของตัวแทนจำหน่ายที่นำผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตไปจำหน่ายหรือว่าป้องกันไม่ให้ลูกจ้างของบริษัทผู้ผลิตดำเนินการสนับสนุนตัวแทนจำหน่ายในการเข้าสู่กระบวนการประกวดราคาโครงการสาธารณะแต่อย่างใด
โดยในการประกวดราคาครั้งหนึ่งในช่วงเดือน พ.ย.2562 พบว่าตัวแทนจำหน่ายชาวจีนได้มีการจำหน่ายเครื่องช่วยหายใจของบริษัทสัญชาติสหรัฐอเมริกา-ไอริช ที่ชื่อว่าบริษัทเมดโทรนิค (Medtronic) คิดเป็นมูลค่า 42,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1,382,976 บาท) ให้กับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยการแพทย์ภาคใต้ของการแพทย์แผนจีนและการแพทย์ตะวันตกแบบบูรณาการ (Southern Medical University Hospital of Integrated Traditional Chinese and Western Medicine)
อย่างไรก็ตาม พบข้อมูลว่าเครื่องช่วยหายใจรุ่นดังกล่าวที่มีชื่อว่า Covidien e360 กลับถูกขายในตลาดในประเทศสหรัฐฯด้วยราคาที่ถูกกว่ากันถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งราคาที่ถูกกว่ากันดังกล่าวนั้นถูกอ้างถึงบนเว็บไซต์ค้าปลีกด้านอุปกรณ์เทคโนโลยีทางการแพทย์ในประเทศสหรัฐฯ ซึ่งทางบริษัทเมดโทรนิคก็ได้ออกแถลงการณ์ว่าบริษัทนั้นไม่ได้ควบคุมการแจกจำหน่าย ไม่ได้ควบคุมราคา และปัจจัยอีกหลายประการที่จะส่งผลกระทบต่อราคาของสินค้า
เครื่องช่วยหายใจรุ่น Covidien e360 ของบริษัทเมดโทรนิค
“การกำหนดราคาของตัวแทนจำหน่ายนั้นอาจจะมีอยู่หลายราคาด้วยกันในประเทศจีน ขึ้นอยู่กับลักษณะของการให้บริการที่เกี่ยวข้อง ควบคู่ไปกันการขนส่งผลิตภัณฑ์,การศึกษาและการฝึกฝนพนักงานส่งของ การให้บริการผลิตภัณฑ์และปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย” แถลงการณ์ระบุ
แต่ทว่าผู้ที่อยู่ในแวดวงตลาดผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ในประเทศจีนกล่าวว่าการชี้แจงถึงปัจจัยดังกล่าวนั้นไม่ได้อธิบายถึงประเด็นทำไมถึงมีความแตกต่างของราคาเลย
“ถ้าหากคุณดูในเอกสารการเสนอราคาและเทียบราคากับในตลาดโลก คุณจะเห็นว่ามีช่องว่างความแตกต่างของราคาอยู่มาก”นางเหม่งหลินหลิว (Meng-Lin Liu) อดีตผู้ดูแลการปฏิบัติงานด้านหลักทรัพย์ของบริษัทซีเมนส์ในประเทศจีนกล่าว
โดยที่ผ่านมานั้นนางหลิวได้เคยวิเคราะห็ข้อมูลการโอนเงินลักษณะดังกล่าวนับหลายสิบครั้งแล้ว ซึ่งลักษณะการทำธุรกรรม ทางโรงพยาบาลจะจ่ายเงินในราคาที่สูงจากกระบวนการประกวดราคาให้กับผู้ที่เป็นตัวแทนจำหน่าย แต่ทว่าผู้ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายนั้นจ่ายเงินในราคาตลาดให้กับทางบริษัทข้ามชาติเท่านั้น
อนึ่งการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐบาล รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลต่างๆในระบบสาธารณสุขถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดต่อกฎหมายต่อต้านการทุจริตในต่างประเทศของสหรัฐฯ (FCPA) ดังนั้นจึงมีความต้องการใช้งานพ่อค้าคนกลาง เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ตัวบริษัทผู้ผลิตนั้นต้องรับผลทางกฎหมายไปด้วย
อย่างไรก็ตามทางด้านของนายทอม ฟอกซ์ นักกฎหมายผู้มีประสบการณ์ในด้านกฎหมาย FCPA และที่ปรึกษากฎหมายอิสระกล่าวว่า “ภายใต้กฎหมาย FCPA นั้น ไม่ได้มีผลกระทบเกี่ยวกับคนกลางผู้ที่นำสินค้าไปขายแต่อย่างใด หรือก็คือว่าบริษัทผู้ผลิตนั้นยังต้องเป็นผู้รับผิดชอบนั่นเอง ซึ่งมันไม่สำคัญเลยว่าคุณจะเรียกตัวแทนจำหน่ายผู้ที่นำสินค้าไปขายว่าเป็นอะไร ไม่ว่าจะเป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าหรือว่าตัวแทน ถ้าหากผมขายผลิตภัณฑ์ของซีเมนส์ นี่ก็หมายความง่ายๆว่าซีเมนส์นั้นจะต้องรับผิดชอบ 100 เปอร์เซ็นต์ถ้าหากมีกรณีการให้สินบนเกิดขึ้น”
โดย ณ เวลานี้นั้นสำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของสหรัฐอเมริกาได้มีการดำเนินการสอบสวนเชิงลึกในหลายกรณี ซึ่งการสอบสวนนั้นได้ครอบคลุมไปถึงว่าจะมีการเข้าร่วมการประกวดราคาอย่างไม่ถูกต้องของบริษัทซีเมนส์,บริษัทฟิลิปส์และบริษัทจีอีในหลายภูมิภาคด้วยกัน และแม้ว่าทาง ก.ล.ต.จะยังไม่ได้ออกมาให้รายละเอียดอะไรเกี่ยวกับการสอบสวนที่ดำเนินการอยู่นี้นั้น แต่เมื่อเดือน ก.พ. 2564 บริษัทฟิลิปส์ก็ได้มีการส่งแบบฟอร์มซึ่งระบุว่าบริษัทฟิลิปส์นั้นรับทราบและมีการร่วมมือกับ ก.ล.ต.และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯในการสอบสวนถึงการประกวดราคาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์อันผิดปกติในต่างประเทศ รวมไปถึงที่ประเทศบัลแกเรียและประเทศจีน
อย่างไรก็ตามบริษัทฟิลิปส์ได้ปฏิเสธที่ระให้รายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นที่ว่ามานี้ แต่ทางด้านของโฆษกของบริษัทกล่าวว่า “ทุกคนในบริษัทฟิลิปส์และและคู่ค้าทางธุรกิจของบริษัทนั้นได้ยึดถือการปฏิบัติตามหลักการว่าด้วยความโปร่งใส และยึดถือหลักการนี้อย่างเข้มงวดตลอดช่วงเวลาที่ได้ดำเนินงาน”
ขณะที่บริษัทเมดโทรนิค บริษัทจีอี และบริษัทซีเมนส์ก็ปฏิเสธที่จะพูดถึงข้อตกลงการขายผลิตภัณฑ์เช่นกัน
@การทุจริตระหว่างเหตุระบาดครั้งใหญ่
ทั้งนี้จากการตรวจสอบการจัดซื้อรายการหนึ่งที่มีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563 พบว่าโรงพยาบาล Fourth Affiliated ของมหาวิทยาลัยการแพทย์ฮาร์บินเองก็ได้มีการประกวดราคาเพื่อที่จะจัดซื้อเครื่องซีทีสแกนของบริษัทซีเมนส์ เพื่อจะใช้รักษาอาการปอดบวมที่มาจากไวรัสโควิด-19 เช่นกัน ซึ่งในเอกสารของทางราชการนั้นแม้จะไม่ได้ระบุว่าโรงพยาบาลแห่งนี้ได้จัดซื้อเครื่องซีทีสแกนรุ่นอะไร แต่ก็พบว่าโรงพยาบาลได้มีการจ่ายเงินไปทั้งสิ้น 3.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (106,686,720 บาท) ซึ่งราคาดังกล่าวนั้นถือว่าแพงกว่าราคาทั่วไปของเครื่องซีทีสแกนที่แพงของบริษัทซีเมนส์รุ่นที่แพงที่สุดซึ่งก็คือรุ่น SOMATOM Force หรือรุ่น SOMATOM Drive ถึงประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (32,928,000 บาท)
โดยถ้าอ้างอิงข้อมูลจากสํานักงานบริการจัดซื้อจัดจ้างทั่วไปแห่งรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ จะพบว่าเครื่องซีทีสแกนรุ่น SOMATOM Force นั้นจะมีราคาขายอยู่ที่ 1.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (64,209,600 บาท) ขณะที่เครื่องรุ่น SOMATOM Drive มีราคาขายปลีกอยู่ที่ 1.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (55,319,040 บาท)
ซึ่งในแถลงการณ์ของทางบริษัท ทางบริษัทซีเมนส์ได้เน้นย้ำว่าผู้ค้าปลีกนั้นมีสิทธิและอิสระอย่างสมบูรณ์ในการกำหนดราคาของพวกเขา ส่วนในประเด็นเรื่องความแตกต่างของราคาระหว่างบริษัทผู้ผลิตกับราคาขายของตัวแทนจำหน่ายนั้นก็อาจจะเป็นไปได้ว่ามีประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายและเงื่อนไขอื่นๆเพิ่มขึ้นมาที่ส่ผลต่อราคาขาย
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกโรงพยาบาลในประเทศจีนนนั้นจะต้องจ่ายเงินสูงเกินจริงเพื่อที่จะจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์เสมอไป เพราะการประกวดราคาในช่วงเดือน พ.ค. 2562 พบว่าโรงพยาบาลในเครือของวิทยาลัยการแพทย์เฉิงเด (Affiliated Hospital of Chengde Medical College) ได้มีการจัดซื้อเครื่องซีทีสแกนรุ่น GE Signa Pioneer โดยตรงคิดเป็นราคาทั้งสิ้น 2.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (84,295,680 บาท) ซึ่งราคานี้นั้นถือว่าถูกกว่าที่โรงพยาบาลอีกแห่งในเมืองหยางชุนได้จัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ในรุ่นเดียวกันคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (65,856,000 บาท) โดยจัดซื้อในช่วงเดือน ม.ค. 2563
เครื่องซีทีสแกนรุ่น GE Signa Pioneer (อ้างอิงวิดีโอจาก GE Healthcare)
ส่วนทางด้านโรงพยาบาลจีนและบริษัทต่างๆที่ถูกกล่าวถึงในบทความนี้นั้นต่างก็ปฏิเสธที่จะตอบคำถามใดๆที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ผู้จัดการอาวุโสซึ่งไม่ระบุนามที่บริษัท Shenzhen Gaokaiyue Trading Co ก็ได้กล่าวว่าราคาขายปลีกสุดท้ายแล้วอาจจะมีความแตกต่างได้ในประเทศจีน โดยขึ้นอยู่กับคุณสมบัติและการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ แต่ว่ามันก็ไม่ควรจะมีราคาที่แพงเกินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์หรือว่าแพงกว่า 2 เท่าของราคาที่ขายในประเทศสหรัฐฯ
ผู้จัดการคนนี้ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งแย้งกับคำชี้ของของบริษัทจีอีและบริษัทซีเมนส์ก่อนหน้านี้ โดยระบุว่าตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตสินค้านั้นมักจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกวดราคาของกลุ่มพ่อค้าคนกลางหรือตัวแทนจำหน่ายอยู่บ่อยๆ
“ทุกบริษัทนั้นจะมีพนักงานขายที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของบริษัท โดยจะทำหน้าที่อธิบายคุณสมบัติของอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับลูกค้าในระหว่างการประชุมพบปะกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนกระบวนการเสนอราคา และในบางครั้งผู้จัดการของพนักงานขายคนนั้นก็จะเข้าร่วมการประชุมด้วย”พนักงานอาวุโสระบุ
@เหตุการณ์การทุจริตในอดีต
อนึ่งในปีที่ผ่านมานั้นมีรายงานของฝ่ายพยานหลายคนในคดีที่อยู่ในชั้นศาลของประเทศจีนปรากฏออกมา โดยพยานเหล่านี้เคยให้ข้อมุลว่าลูกจ้างของบริษัทจีอีและบริษัทซีเมนส์นั้นมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกวดราคาอันไม่โปร่งใสหลายกรณี
โดยในกรณีหนึ่งที่ปรากฎในคำตัดสินที่ถูกเผยแพร่นั้นพบว่ามีประธานโรงพยาบาลแห่งหนึ่งได้รับเงินสินบนมาเป็นระยะเวลายาวนานตั้งแต่ปี 2547-2560 ซึ่งผู้ที่เสนอเงินสินบนก็คือผู้จัดการฝ่ายธุรกิจของบริษัทซีเมนส์นั่นเอง โดยเสนอเงินคิดเป็นมูลค่า 3 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (9,878,400 บาท) ในปี 2554 เพื่อจะสร้างความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทซีเมนส์จะชนะการประกวดราคา
และก็มีอีกกรณีที่ประธานโรงพยาบาลนั้นมีพฤติกรรมการทุจริต โดยบริษัทที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายได้ให้การซักทอดในชั้นศาลว่าผู้จัดการประจำภูมิภาคของบริษัทจีอีไม่เพียงแต่จะสมรู้ร่วมคิดในกระบวนการประกวดราคาโดยมิชอบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการให้จดหมายมอบอำนาจของบริษัทจีอีและการให้ความยินยอมของบริษัทในการเข้ายื่นประมูลด้วยเช่นกัน
เรียบเรียงจาก:https://www.independent.co.uk/news/pandemic-penalties-aside-bribes-go-on-at-china-hospitals-siemens-china-chinese-philips-hospitals-b1886957.html,https://100r.org/2021/07/china/
อ่านประกอบ :
ส่องคดีทุจริตโลก: 'บราซิล'จัดซื้อวัคซีนโควาซิน หมื่นล.ส่อโยง บ.คนกลางปริศนาที่ดูไบ
ส่องคดีทุจริตโลก:'ออสเตรเลีย'อ้างความมั่นคงเครือจักรภพ ปิดข้อมูลสัญญาแอสตร้าฯหมื่น ล.
ส่องคดีทุจริตโลก:ข้อพิรุธ'บราซิล'สั่งระงับสัญญาวัคซีนโควาซินหมื่น ล.หลังถูกรัฐสภาสอบสวน
ส่องคดีทุจริตโลก:ย้อนรอย ขรก.ญี่ปุ่นฆ่าตัวตายโยงปมเมีย'ชินโซ อาเบะ'ซื้อที่ราคาถูก
ส่องคดีทุจริตโลก: 2 บ.เทคโนฯแคนาดาเอี่ยวจัดหาระบบล้วงข้อมูลมือถือให้เผด็จการเมียนมา
ส่องคดีทุจริตโลก: รบ.รัฐปัญจาบจัดซื้อชุดโควิดแพงกว่าตลาด-สธ.ขอให้ข้อมูลในชั้นศาล
ส่องคดีทุจริตโลก : สธ.เยอรมนี เจอข้อครหา 'ศูนย์ทดสอบทิพย์' ยักยอกเงินค่าตรวจเชื้อโควิด
ส่องคดีทุจริตโลก:รบ.ฮังการีทำสัญญาซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม 5.7พัน ล.ผ่าน บ.ทุนจดทะเบียน 3 แสน
ส่องคดีทุจริตโลก: บ.มาเลเซียเสนอตัวแจกวัคซีนซิโนแวค พัวพันข้อครหา 'บริจาคทิพย์'
ส่องคดีทุจริตโลก:กองทุนนิวซีแลนด์ถือหุ้น 2 พัน ล. 24 เอกชนเอี่ยวเผด็จการทหารเมียนมา
ส่องคดีทุจริตโลก: ภรรยาคนสนิท 'ฮุน เซน' เข้าถือครอง บ.อังกฤษ เอี่ยวธุรกรรมต้องสงสัย
ส่องคดีทุจริตโลก: รบ.อังกฤษยืนยันไม่เปิดเผยสัญญาวีไอพีโควิด มูลค่า 7.3 หมื่น ล.
ส่องคดีทุจริตโลก: ส.ส.สหรัฐฯสอบเอกชนใช้คอนเนคชั่น 'ทีมทรัมป์' แลกสัญญาผลิตวัคซีนหมื่น ล.
ส่องคดีทุจริตโลก:'ออสเตรเลีย'จ้างเอกชนทำโครงการแจกวัคซีนโควิด ไม่เปิดรายละเอียด
ส่องคดีทุจริตโลก: บ.ราฟาลจ้างคนกลางอินเดียทำโมเดล 30 ล.หลังเซ็นสัญญาเครื่องบินรบ
ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดปมเอกชนอินเดียจ่ายเงินทหารเมียนมาแลกสัญญาหมื่น ล.ท่าเรือย่างกุ้ง
ส่องคดีทุจริตโลก : ย้อนรอยสินบนแอร์บัส ก่อนสายการบินศรีลังกาฟ้องค่าเสียหาย 3.1 หมื่นล.
ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดเส้นทางค้าไม้จาก'เมียนมา'ไป 'ยุโรป' สู่ท่อน้ำเลี้ยง รบ.ทหาร
ส่องคดีทุจริตโลก: บ.ไฟเซอร์ถูกกล่าวหาทำสัญญาขูดรีด ปท.ยากจนแลกส่งวัคซีนโควิด
ส่องคดีทุจริตโลก: เพนตากอนเสียค่าโง่เครื่องบินลำเลียง 1.6 หมื่น ล.ใช้งานไม่ได้
ส่องคดีทุจริตโลก: อดีตเพื่อนบ้าน รมต.สธ.อังกฤษได้สัญญาหลอดแก้วโควิด 1.2 พัน ล.
ส่องคดีทุจริตโลก:อัยการอิตาลีสอบคนกลางจัดซื้อชุด PPE จีน รับคอมมิสชันนับ พัน ล.
ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดปมกองทัพเมียนมาใช้เครื่องสายการบินทำภารกิจหลัง รปห.
ส่องคดีทุจริตโลก: บริษัทลอนดอนเอี่ยวออกพาสปอร์ตไซปรัสให้ผู้ต้องหา 1MDB
ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดปมเอกชนจ่ายสินบนหลายล้านแลกสัญญา ทบ.สหรัฐฯฟื้นฟูประเทศอิรัก
ส่องคดีทุจริตโลก:เมื่อวัคซีนต้านโควิดผิด กม.ระบาดในตลาดมืดประเทศฟิลิปปินส์
ส่องคดีทุจริตโลก:เมื่อผู้บริจาคพรรค รบ.อังกฤษ เอี่ยวปมยักยอกรัฐวิสาหกิจน้ำมันรัสเซีย
ส่องคดีทุจริตโลก:ผู้บริหาร บ.ซิโนแวคเคยพัวพันคดีสินบน ก่อนพัฒนาวัคซีนโควิด
ส่องคดีทุจริตโลก: 'ณาอีร์ โบลโซนารู' ปธน.บราซิล บุคคลทุจริตแห่งปี 63
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/