หมอมิ้ง เผย รัฐบาลเดินหน้าพ.ร.บ.กู้เงินใช้ในดิจิทัลวอลเลต 500,000 ล้านบาท ยกการวิเคราะห์ ‘สศค.’ เปิด 5 ปัจจัยเศรษฐกิจวิกฤติแล้ว ส่วนข้อกังวลการคืนเงินกู้ ชี้ใน 3 ปีคืนได้ครบ ก่อนระบุพร้อมชี้แจงเหตุผลกับ ป.ป.ช.-แบงก์ชาติ ก่อนอัด ป.ป.ช.มีหน้าที่ตรวจสอบ ไม่ใช่มาบริหารประเทศ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า โครงการดิจิทัลวอลเลตของรัฐบาลยังเป็นนโยบายที่รัฐบาลยังคงเดินหน้าต่อไปและยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงการจากที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เผยแถลงข่าวไป
โดยรัฐบาลจะยังคงเดินหน้าออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อมาใช้ในการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้เตรียมคำชี้แจงและคำอธิบายข้อมูล และเหตุผลที่มีความจำเป็นที่จะออก พ.ร.บ.กู้เงินฯเพื่อใช้ในโครงการนี้ โดยพร้อมที่จะนัดหมายการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ส่งความเห็นเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมายังรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะตอบคำถามทุกข้อโดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจว่าวิกฤติอย่างไร พร้อมจะผลักดันให้สามารถแจกเงินดิจิทัลโดยเร็วที่สุด
@ยก สศค. วิเคราะห์เศรษฐกิจวิกฤติ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่เริ่มออกมาจากหน่วยงานเศรษฐกิจจะตอกย้ำภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่วิกฤติ ซึ่งตอนนี้เห็นข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่บอกว่าจีดีพีไทยปี 2568 ขยายตัวได้แค่ 1.8% เท่านั้น ทั้งนี้ข้อมูลเศรษฐกิจที่ตอกย้ำว่าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจแล้วได้แก่
1.เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณเติบโตลดลงเรื่อยๆ โดยอัตราเฉลี่ยการขยายตัวของเศรษฐกิจลดลงต่อเนื่อง จากในช่วงปี 2537-2539 ที่เศรษฐกิจขยายตัวได้เฉลี่ย 7.3% ลดลงเหลือเฉลี่ย 5.2% ในช่วงปี 2542 – 2550 และในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เฉลี่ยเพียง 3.6% ในช่วงปี 2553-2562
2.เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ามาก โดยหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่หลายประเทศนั้นเศรษฐกิจฟื้นตัวได้มากแล้ว โดยในปี 2563 นั้นเศรษฐกิจไทยเคยติดลบถึง 6.1% ซึ่งหลังจากปี 2563 แม้ว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแต่เติบโตต่ำ เมื่อรวมกันแล้วหากเศรษฐกิจปีที่ผ่านมาโตได้แค่ 1.8% เท่ากับว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่กลับไปได้ในระดับเดิม
3.การลงทุนของไทยอยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน และต่ำกว่าหลายประเทศ ทั้งนี้เมื่อดูข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2553 – 2562 สัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ 23.6% เท่านั้น ต่ำกว่าหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อินโดนิเซียที่อยู่ที่ 32.5% เวียดนาม 30% เกาหลีใต้ 29.9% มาเลเซีย 24.9% และฟิลิปปินส์อยู่ที่ 24.7% ซึ่งการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำยาวนานสะท้อนปัญหาการใช้จ่ายในประเทศ ที่กำลังซื้อลดต่ำ ทำให้การผลิตสินค้าน้อย และตัวเลขการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมต่ำลง
4.อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจนเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อติดลบในช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งภาวะแบบนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากหนี้สินครัวเรือนอยู่ในระดับที่สูง โดยในช่วง10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มจาก 70% ต่อจีดีพีมาอยู่ที่ 91.6% ต่อจีดีพีทำให้ประชาชนขาดกำลังซื้อและมีแรงกดดันเรื่องหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องมีการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
และ 5.วิกฤติในเรื่องของการขาดสภาพคล่อง (liquidity Crisis) ในตลาดเงิน และตลาดทุน เห็นได้จากการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินลดลงต่อเนื่อง จากการที่สถาบันการเงินปฏิเสธการปล่อยกู้เนื่องจากกลัวการผิดชัดชำระหนี้ รวมทั้งการระดมทุนผ่านตลาดทุนก็ลดลงอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ซึ่งสถานการณ์แบบนี้บ่งบอกได้ถึงสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจที่รัฐบาลต้องเข้าไปแก้ไข
“ทั้งหมดนั้นอธิบายได้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจนั้นวิกฤติแล้ว ดิจิทัลวอลเล็ตจึงมีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ คนที่ไม่เข้าใจว่าเกิดวิกฤติคือคนที่นั่งอยู่บนหอคอยสูง มีรายได้สูงมองไม่เห็นความลำบากของคนข้างล่าง เป็นคนที่อยู่รอดอยู่แล้ว”นพ.พรหมินทร์ กล่าว
@ยก 4 เหตุผล ออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า จากปัจจัยบ่งบอกว่าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในขณะนี้มีความชัดเจน และรัฐบาลสามารถอธิบาย 4 เรื่องสำคัญ ที่เป็นประเด็นทางข้อกฎหมายในการออกพ.ร.บ.เงินกู้ฯ 5 แสนล้านบาท ซึ่งตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 ได้แก่
1.มีความจำเป็นต่อเนื่องที่จะต้องกู้เงินเพื่อรองรับวิกฤติที่เกิดขึ้น ซึ่งเห็นได้จากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลงต่อเนื่อง
2.มีความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่เติบโตต่ำมานาน กระทบกับกำลังการผลิตสินค้า และการส่งออกที่ติดลบ
3.มีความจำเป็นที่จะต้องกู้เงิน เพื่อแก้ไขภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศ
และ 4.การตั้งงบประมาณปกติ ไม่สามารถตั้งได้ทันจึงต้องมีการกู้เงินเพิ่มเติม
“คำว่าวิกฤติไม่วิกฤตินั้นรัฐบาลจะเป็นคนตัดสินใจซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการทำนโยบายเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน และรัฐบาลยึดสภาพความเป็นจริงจึงต้องมุ่งแก้ไขด้วยมาตรการดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งเป็นการปั๊มหัวใจให้ประชาชนที่ยากลำบากสามารถดำเนินชีวิตต่อได้ และเกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงิน ทำให้ภาคส่วนอื่นๆของเศรษฐกิจดีขึ้นต่อเนื่อง เพราะหากไม่ทำอะไรเศรษฐกิจไทยก็เหมือนกับกบต้มที่รอวันตาย” นพ.พรหมินทร์ กล่าวอีก
@5 แสนล้าน คืนได้ใน 3 ปี
ส่วนข้อกังวลเรื่องวินัยการเงินการคลังว่า นโยบายนี้อาจทำให้การคลังของประเทศมีความเสี่ยงเนื่องจากพื้นที่ทางการคลังของประเทศเหลือน้อยและหนี้สาธารณะใกล้แตะระดับ 70% ของจีดีพีแล้ว นพ.พรหมินทร์ อธิบายว่ารัฐบาลทำนโยบายนี้โดยมีการวางแผนการใช้หนี้คืนครบเต็มจำนวนภายใน 3 ปี โดยการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทนั้นจะตั้งงบประมาณปีละ 1.7 – 1.8 แสนล้านบาทใช้คืนหนี้ ทำให้ไม่กระทบกับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี และเมื่อมีมาตรการนี้ก็จะทำให้จีดีพีขยายตัวด้วยจึงไม่น่ากังวลว่าจะทำให้หนี้สาธารณะพุ่งขึ้นเพราะปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 62% ต่อจีดีพี แต่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 64% ต่อจีดีพีเท่านั้น
@อัด ป.ป.ช. มีหน้าที่ตรวจสอบ ไม่ใช่บริหารประเทศ
เมื่อถามว่าข้อเสนอแนะโครงการดิจิทัลวอลเลต จาก ป.ป.ช.ที่มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องกฎหมายว่าหากรัฐบาลเดินหน้าจะสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายนั้น เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าอำนาจในการบริหารประเทศ และการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจนั้นเป็นอำนาจของรัฐบาล ก็ต้องถามกลับว่า ป.ป.ช.นั้นมีหน้าในการตรวจสอบ ไม่ใช่หน้าที่ในการบริหาร ซึ่ง ป.ป.ช.นั้นสามารถที่จะเสนอแนะความเห็นมาได้เราก็จะรับฟัง เช่นเดียวกับที่รับฟังความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่การเดินหน้านโยบายนี้เป็นอำนาจของรัฐบาล และตอนนี้รัฐบาลใช้วิธีการออก พ.ร.บ.ซึ่งมีขั้นตอนในการที่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาฯ หากไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาฯร่างกฎหมายก็จะตกไป ไม่มีใครที่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองอะไร แต่ตนเองก็ไม่ได้คิดว่ากฎหมายฉบับนี้จะไม่ผ่านสภาฯ โดยรัฐบาลจะพยายามเดินหน้านโยบายนี้เต็มที่เพื่อให้สามารถแจกเงินดิจิทัลได้โดยเร็วที่สุด
ที่มา: ไทยโพสต์
อ่านประกอบ
- ‘เศรษฐา’ เตรียมคุย ‘จุลพันธ์’ ปมดิจิทัลวอลเลต ส่อไม่รอ ป.ป.ช.พิจารณา
- เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(จบ) ธปท.ย้ำ‘ดิจิทัลวอลเลต’ต้องไม่สร้าง‘เงินใหม่’-เตือนเสี่ยงทุจริต
- เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(2) สศช.ห่วง‘ดิจิทัลวอลเลต’ดันหนี้สูง ฉุดเครดิตปท.-ชี้ศก.ไม่วิกฤติ
- เปิดความเห็น 4 หน่วยงาน(1) ‘คลัง’เตือน‘ดิจิทัลวอลเลต’กระตุ้นศก.ระยะสั้น-หนี้ปท.พุ่ง 66.65%
- เปิด 9 ข้อเสนอแนะฯป้องกันทุจริต‘ดิจิทัลวอลเลต’ ชง‘บอร์ด ป.ป.ช.’เคาะอีกครั้งใน 2 สัปดาห์
- ‘จุลพันธ์’ รับ ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ส่อหลุด พ.ค. 67 ยืนยันเศรษฐกิจตอนนี้วิกฤติ
- ‘เลขากฤษฎีกา’ แนะรัฐบาลควรรับฟังความเห็น ป.ป.ช. ก่อนทำดิจิทัลวอลเลต
- ‘ภูมิธรรม’ เลื่อนถกบอร์ดดิจิทัลวอลเลต เหตุรอความเห็น ป.ป.ช. 1-2 สัปดาห์นี้
- 'เศรษฐา'ขอถก'บอร์ดนโยบายฯ'ก่อนกู้แจก'หมื่นดิจิทัล'-เผย'กฤษฎีกา'ไม่บอก'ทำได้หรือไม่ได้'
- เปิดคำสั่ง‘ผู้ว่าฯสตง.’ ตั้ง‘คณะทำงานฯ’ศึกษา‘ความเสี่ยง-ผลกระทบ’แจก‘เงินหมื่นดิจิทัล’
- ‘รมช.คลัง’เผย‘กฤษฎีกา’ชี้รัฐบาลออก‘พ.ร.บ.กู้เงินฯ’ 5 แสนล.ได้-ยันแจก‘หมื่นดิจิทัล’พ.ค.67
- อธิบายแค่ข้อกม.! ‘กฤษฎีกา’ตอบ‘คลัง’ ไม่ฟันธงออกพ.ร.บ.กู้ 5 แสนล.แจก 1 หมื่น ทำได้หรือไม่
- ย้อนดู‘กม.กู้เงิน’ 9 ฉบับ ก่อน'รบ.เศรษฐา'จ่อชง'พ.ร.บ.กู้ฯ’5 แสนล.แจก‘เงินหมื่นดิจิทัล’
- เป็นกลาง-รอบด้าน-ไม่ก้าวล่วงฝ่ายบริหาร! ป.ป.ช.เผยชื่อบอร์ดศึกษาฯ 'ดิจิทัลวอลเลต'
- เบื้องหลัง! ‘ป.ป.ช.’ตั้งบอร์ดศึกษาฯ‘ดิจิทัลวอลเลต’-ขีดเส้น 60 วันชงข้อเสนอสกัดทุจริต
- ‘สุภา’นั่งประธาน! ‘ป.ป.ช.’มีมติตั้งบอร์ดศึกษาฯ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ชงข้อเสนอป้องกันทุจริต
- นโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทในมุมมองการเมือง
- ย้อนดู‘หนี้ประเทศ-ภาระผูกพัน’ ก่อน‘รบ.เศรษฐา’เร่งหาแหล่งเงิน 5.6 แสนล.โปะ‘ดิจิทัลวอลเลต’