‘ประธานทีดีอาร์ไอ’ ชี้หากปล่อยให้ ‘TRUE-DTAC’ ควบรวมธุรกิจกัน จะทำให้เกิดการผูกขาดระดับ ‘อันตราย’ ห่วงรัฐบาลใกล้ชิด ‘กลุ่มทุน’ ขณะที่ ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค-มพบ.’ เตรียมทำหนังสือถึง ครม.-กสทช.-กขค.-ก.ล.ต.’ คัดค้านควบรวมฯ
............................
เมื่อวันที่ 23 พ.ย. นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยกรณีการประกาศควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคม ระหว่าง บริษัท ระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ว่า หากปล่อยให้มีการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC จะทำให้ธุรกิจโทรศัพท์มือถือและโทรคมนาคมมีการผูกขาดในระดับอันตราย
“ตลาดโทรศัพท์มือถือของไทยที่มีลักษณะกึ่งผูกขาดอยู่แล้ว จะยิ่งมีการผูกขาดมากขึ้นจนถึงระดับอันตรายและน่าเป็นห่วงมาก หากมีการควบรวมกันจริง โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านบวก คือ ผู้ถือหุ้นของบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย ไม่ใช่เฉพาะ TRUE และ DTAC เท่านั้น แต่ AIS จะได้รับอานิสงส์ด้านบวกไปด้วย
ส่วนผู้ที่จะได้รับผลกระทบด้านลบจะมีหลายฝ่าย ได้แก่ ผู้บริโภค ประชาชนทั่วไป ธุรกิจต่างๆที่ต้องโมบายและอินเตอร์เน็ตทั้งสิ้น คู่ค้าของบริษัทธุรกิจโทรคมนาคม เช่น ช้อปต่างๆที่ติดต่อขายโทรศัพท์มือถือให้ค่ายมือถือ ที่จะมีอำนาจต่อรองลดลง และสตาร์สอัพที่หวังจะได้เงินจาก venture capital แต่เดิมที่มีทั้งค่าย TRUE ค่าย AIS และ DTAC ถ้าเกิดควบรวมกันก็แปลว่าคนที่สนับสนุนสตาร์สอัพจะหายไป 1 ราย
ขณะที่รัฐบาลจะได้รับผลกระทบด้านลบ ที่เป็นรูปธรรม คือ ในการประมูลคลื่นความถี่ครั้งใหม่ เช่น การประมูลคลื่น 6G ในอนาคต คนที่จะเข้ามาแข่งขันในอนาคตจะลดลง ทำให้มีรายได้ลดลง เมื่อรัฐมีรายได้ลดลง แปลว่า ผู้เสียภาษีมีโอกาสถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อไปโป๊ะการขาดดุลงบประมาณภาครัฐ และเพื่อชะลอระดับหนี้สาธารณะที่กำลังขึ้นสูงอยู่
สุดท้ายระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม ซึ่งจะเป็นระบบเศรษฐกิจสารสนเทศ เศรษฐกิจดิจิทัล ถ้าเกิดมีการควบรวมในธุรกิจโทรศัพท์มือถือและโทรคมนาคมแล้ว ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่มีการผูกขาดมากขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจไทย เวลาจะมีการ transform หรือเวลาเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล จะมีต้นทุนสูงขึ้น และอาจทำให้ประเทศไทยตกขบวนในการก้าวกระโดดไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล” นายสมเกียรติ กล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีหน้าที่ต้องเพิ่มการแข่งขันในตลาดและลดการผูกขาด ดังนั้น กรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ที่จะลดการแข่งขันลงอย่างมาก กสทช. จะปฏิเสธหน้าที่ไม่ได้ ขณะเดียวกัน คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีหน้าที่ตามกฎหมายในการกลั่นกรองการควบรวมกิจการครั้งนี้อย่างเข้มงวด
@ชี้การควบรวม TRUE-DTAC ทำผูกขาดเชิงโครงสร้าง
นายสมเกียรติ อธิบายต่อว่า ผลกระทบในทางเศรษฐศาสตร์จากควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC นั้น จะทำให้เหลือผู้ประกอบการในธุรกิจมือถือเพียง 2 ราย โดย TRUE ซึ่งควบรวมธุรกิจ DTAC จะมีส่วนแบ่งตลาดในเชิงรายได้อยู่ที่ 52% กลายเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ส่วน AIS จะมีส่วนแบ่งตลาด 47-48% เท่าเดิม แต่ผลกระทบที่ตามมา คือ จะทำให้เกิดการผูกขาดในเชิงโครงสร้างของธุรกิจโทรศัพท์มือถือ และเกิดการผูกขาดในเชิงพฤติกรรมตามมา
“เมื่อมีการควบรวมกันจะเหลือ 2 รายใหญ่ คือ AIS ที่มีส่วนแบ่งตลาด 47.5% และ TRUE กับ DTAC ที่รวมกันแล้ว จะมีส่วนแบ่งตลาดที่ 52.5% พบว่าจะทำให้ดัชนีชี้วัดการผูกขาด หรือ HHI หลังควบรวมเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 จากก่อนควบรวมที่ค่า HHI อยู่ที่ 3,700 ซึ่งหมายความว่า จะเกิดการกระจุกตัวในระดับที่อันตราย และการที่ผู้เล่นเหลือเพียง 2 ราย จะมีความจำเป็นในการแข่งขันตัดราคากัน หรือให้โปรโมชั่นดีๆ หรือให้บริการใหม่น้อยลง เมื่อเทียบกับกรณีที่มี 3 ราย ดังนั้น AIS จะได้ประโยชน์ไปด้วย แม้ไม่ใช่คนที่เข้าไปควบรวมโดยตรง” นายสมเกียรติระบุ
นายสมเกียรติ กล่าวว่า หากการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE กับ DTAC สำเร็จ จะทำให้ธุรกิจมือถือถอยหลังกลับไปก่อนปี 2547 หรือเมื่อ 15 ปีก่อน ก่อนที่จะมีผู้ประกอบการรายที่ 3 ซึ่งปัจจุบัน คือ TRUE ขณะที่การที่เหลือผู้ประกอบการในตลาดเพียง 2 ราย จะทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ เช่น หากพิจารณาประสบการณ์ในอดีตพบว่า จะมีการให้บริการที่ไม่เป็นมิตรกับผู้บริโภค เช่น การล็อก IMEI (International Mobile Equipment Identity) เป็นต้น
“ถ้าจำกันได้จะมีเรื่องการล็อก IMEI คือ ตอนนั้นการให้เลือกใช้โทรศัพท์มือถือมีเพียง 2 ราย ถ้าไม่ใช้ของ AIS ก็ใช้ของ DTAC และถ้าอยากจะใช้ AIS ก็ต้องซื้อเครื่องโทรศัพท์ของ AIS ด้วย ถ้าไม่ซื้อก็ใช้ไม่ได้ เพราะ AIS ไปล็อก IMEI ไว้ ซึ่งถ้าตลาดมีการผูกขาด นอกจากค่าบริการจะสูงแล้ว จะมีการบังคับขายพ่วงติดมาด้วย ดังนั้น ถ้าตลาดกลับไปเหมือนก่อนปี 2547 ราคาค่าบริการ คุณภาพการให้บริการ และการขายพ่วงต่างๆ จะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค” นายสมเกียรติ กล่าว
นายสมเกียรติ เรียกร้องให้ กสทช.และ กขค. พิจารณาการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE กับ DTAC ให้ดี โดยเฉพาะการควบรวมธุรกิจที่จะทำให้เกิดการผูกขาดในระดับอันตราย ลดการแข่งขันในตลาด และผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาไม่ได้ ที่สำคัญหากการควบรวมธุรกิจทำให้โครงสร้างตลาดมีการผูกขาดแล้ว การที่หน่วยงานที่กำกับดูแล เข้าไปกำกับดูแลเรื่องราคาค่าบริการจะเป็นไปได้ยาก
เช่น กรณีที่ กสทช.เคยสั่งให้ค่ายมือถือลดค่าบริการ 3G ลง 15% แต่ค่ายมือถือไม่ดำเนิน และแม้ว่าต่อมาจะค่ายมือถือจะไปลดค่าบริการ 5G โดยรวมลงมา 15% ให้ แต่พบว่าเป็นการลดค่าบริการในแพ็กเกจที่คนทั่วไปไม่ใช้
“กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า กสทช.สามารถกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการถือครองกิจการประเภทเดียวกันได้ แต่ กสทช.กลับบอกว่า คงต้องปล่อยให้ควบรวมกัน ผมจึงแปลกใจว่า เหตุใด กสทช.จึงปฏิเสธหน้าที่ตั้งแต่แรก
และถ้า กสทช. ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็นแล้ว ยังมีกฎหมายแข่งขันทางการค้า ซึ่งมีอำนาจบังคับกับเรื่องพฤติกรรมการใช้อำนาจเหนือตลาด การควบรวมกิจการต่างๆ แต่กฎหมายฉบับนี้มีประเด็นให้ต้องไปตีความในมาตรา 4 (4) ว่า ไม่ใช้บังคับแก่ธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแล ซึ่งผมเห็นว่าแม้ว่าธุรกิจนั้นๆจะมีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลอยู่แล้ว แต่หากกฎหมายทำมาไม่ได้มาตรฐาน และสุดท้ายบอกว่าไม่มีมาตรการ ผมเห็นว่า กขค.มีอำนาจตามกฎหมายนี้ โดยสามารถเข้าไปกลั่นกรองการควบรวมได้” นายสมเกียรติ กล่าว
(สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์)
@เตือน‘รัฐบาล’อย่าใกล้ชิดกลุ่มทุนมากเกินไป
นายสมเกียรติ กล่าวถึงบทบาทของรัฐบาลต่อประเด็นการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE กับ DTAC ว่า เมื่อมีการแก้ไขกฎหมาย กสทช.ใหม่ พบว่าอำนาจในการกำหนดนโยบายจะไปอยู่ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ส่วนการกำกับดูแลมาอยู่ที่ กสทช. ดังนั้น หากรัฐบาลเห็นว่าตลาดโทรคมนาคมมีการแข่งขันไม่เพียงพอ รัฐบาลต้องแก้กฎหมายโดยปลดล็อกสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติลง และต้องมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่
“รัฐบาลต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง อย่าไปไปใกล้ชิดกับกลุ่มทุนโทรคมนาคม หรือทุนอะไรก็ตาม ที่ต้องมาขออนุมัติ อนุญาต มากจนเกินไป รวมทั้งต้องติดตามกรณีที่บรรดานายทุนของธุรกิจโทรศัพท์มือถือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง เพราะการได้ใบอนุญาต การได้เงื่อนไขที่ดีต่างๆ การเอาคลื่นใหม่ๆออกมาประมูล หรือไม่นำออกมาประมูล มันมีได้มีเสียต่อการแข่งขัน ต่อการทำกำไรทั้งสิ้น ดังนั้น จึงต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้น เช่น ดูเรื่องการบริจาคเงินของพรรคการเมืองว่ามีบริษัทที่เกี่ยวข้องหรือไม่
หรือ หลักสูตรต่างๆที่มีหน่วยงานรัฐเป็นคนจัด ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรบริหารยุติธรรมระดับสูงของศาลยุติธรรม ซึ่งหน่วยงานด้านโทรคมนาคมที่ใช้บริการทั้งศาลยุติธรรม และศาลปกครองเป็นประจำ ก็ต้องระมัดระวัง ไม่ใช่ปล่อยให้บรรดาพนักงานหรือผู้บริหารที่ได้รับอนุญาต ได้รับสัมปทานต่างๆ เข้าไปฝึกกันทุกรุ่น จนทำให้ศาลยุติธรรมและศาลปกครองถูกตั้งคำถามได้ว่า ในเมื่อผู้พิพากษามาคลุกคลีตีโมงกับผู้ร่วมหลักสูตรต่างๆอย่างสนิทสนมกัน ไปดูงานร่วมกัน เรียกพี่เรียกน้องกัน พอเกิดคดีความขึ้นมา ความยุติธรรมจะยังมีอยู่หรือไม่” นายสมเกียรติ กล่าว
@‘สภาองค์กรผู้บริโภค’ชี้หลังควบรวมฯค่าบริการมือถือแพงขึ้น
วันเดียวกัน สภาองค์กรของผู้บริโภค แถลงคัดค้านกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า สอบ. ขอเรียกร้องให้ กสทช.และสำนักงาน กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจโทรคมนามคมต้องหาแนวทางในการกำกับดูแลกรณีดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดอำนาจเหนือตลาดและการผูกขาดทางการค้า ซึ่งส่งผลกระทบและถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค
“สอบ.เห็นว่า จำนวนผู้ให้บริการ หรือค่ายมือถือ ไม่ควรลดน้อยลงจากเดิมที่มีรายใหญ่ 3 ราย ดังนั้น กสทช. ควรมีมาตรการที่ส่งเสริมให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่” น.ส.สารี กล่าว
น.ส.สารี ระบุว่า สอบ.จะทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) กสทช. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพรรคการเมือง เพื่อคัดค้านการพิจารณาการควบรวมดังกล่าว
น.ส.ชลดา บุญเกษม อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สอบ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีค่ายมือถือ 3 ค่ายหลักที่แข่งขันกันอยู่ ทั้งด้านการพัฒนาบริการใหม่ๆ การขยายพื้นที่การบริการ รวมไปถึงการแข่งขันด้านราคา แต่หากมีการควบรวมกิจการกัน ผู้ประกอบการที่เคยมี 3 เจ้า จะเหลือเพียง 2 เจ้า ซึ่งจะกระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมากอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการที่อาจจะถูกเปิดเผยมากขึ้น
น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธาน สอบ. กล่าวว่าว หากข้อตกลงระหว่างเทเลนอร์กับซีพีได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล และสามารถตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ได้ กิจการภายใต้บริษัทดังกล่าวจะมีส่วนแบ่งตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทยถึง 52% ของธุรกิจโทรศัพท์มือถือ จึงอยากสอบถามไปยัง ครม. และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ว่ากรณีดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากมีส่วนแบ่งเกินครึ่งหนึ่งของตลาด
ขณะที่ น.ส.พวงทอง ว่องไว อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สอบ. ระบุว่า แม้ว่าขณะนี้ เทเลนอร์และซีพี อยู่ระหว่างเจรจาเกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไป คือ จะไม่มีการแข่งขันระหว่าง TRUE และ DTAC ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง และหากมีการควบรวมกันในระดับบริษัทฯ นอกจากจะทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่น้อยลงแล้ว ยังจะส่งผลต่อราคาค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายด้วย
@‘มพบ.’จี้‘กสทช.-กขค.’สั่งทบทวนควบรวม-ชี้ทำตลาดแข่งขันลดลง
ด้าน นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า หากมีการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกและมีอำนาจการต่อรองน้อยลง เนื่องจากมีเจ้าใหญ่แข่งขันกันแค่ 2 เจ้า จึงเหมือนเป็นเชิงบังคับให้ผู้บริโภคใช้บริการว่า หากต้องการเปลี่ยนค่ายโทรศัพท์จะมีให้เลือกเพียง 2 ค่ายใหญ่ ซ้ายหรือขวาเท่านั้น ส่วนค่ายเล็กจะเกิดขึ้นน้อยลงไปด้วย เพราะแข่งขันกับรายใหญ่ไม่ได้
“ในการควบรวมธุรกิจต่างๆ ยังไม่เห็นประโยชน์ของผู้บริโภคเลย เห็นแต่ประโยชน์ของผู้ประกอบการที่ต้องการลดต้นทุน แต่ผู้บริโภคกลับมีทางเลือกน้อยลง อำนาจการต่อรองน้อยลง การพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตหรือการดูแลผู้บริโภคนั้นเป็นหน้าที่ของค่ายโทรศัพท์อยู่แล้ว ผู้บริโภคจึงรู้สึกว่าการควบรวมในครั้งนี้เป็นเพียงการสร้างประโยชน์ให้กับกลุ่มบุคคล ทางผู้ประกอบการนั้นมีความชัดเจนในการดูแลและให้บริการที่ดีกับผู้บริโภคอย่างไร” นางนฤมล กล่าว
นางนฤมล กล่าวอีกว่า ในเรื่องของอำนาจการต่อรอง ค่ายโทรศัพท์มือถือจะมีอำนาจมากขึ้น จน กสทช. อาจจะต่อรองยาก ล่าสุดปัญหาเรื่องบล็อก SMS หรือ ผู้จัดให้มีเนื้อหา (content provider) ยังแก้ไขปัญหาได้ล่าช้าและพบปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีประกาศกำหนดอย่างชัดเจน ต่อไปเมื่อควบรวมกันแล้วไม่ยิ่งทำให้แก้ไขปัญหาแย่กว่าเดิมอีกหรือ
อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการมีอำนาจการต่อรองมากจนส่งผลกระทบกับผู้บริโภค มูลนิธิฯ คาดหวังให้รัฐควรเป็นผู้จัดการดูแลคุ้มครองผู้บริโภคในการตรวจสอบกระบวนการปัญหาของบริษัท และจัดการปัญหาแทนผู้บริโภค ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลาง เนื่องจากการแข่งขันทางการตลาดน้อยลง การผูกขาดตลาดหรือใช้ข้อมูลในการควบรวมธุรกิจจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐก่อน
นางนฤมล ระบุว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอเรียกร้องให้ กสทช. ทบทวนการควบรวมธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจทั้ง 2 ราย ว่ามีการดูแลผู้บริโภคให้ได้รับประโยชน์อย่างไร เพราะระบบอินเทอร์เน็ต การจัดการโปรโมชั่น หรือการดูแลลูกค้าในพื้นที่ ผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่จัดการปัญหาอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องควบรวมธุรกิจ และการควบรวมธุรกิจไม่ควรให้บริษัทได้ประโยชน์เพียงอย่างเดียว ควรให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้ให้ประโยชน์กับบริษัทได้รับประโยชน์ด้วย
พร้อมทั้งอยากฝากถึงคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ให้เร่งแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดการควบรวมธุรกิจ เพราะเป็นการผูกขาดและทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์ การรวมธุรกิจในรูปแบบเดียวกันจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันมากที่สุด ทำให้คู่แข่งในตลาดลดลงอย่างน้อย 1 ราย มักมีวัตถุประสงค์เพื่อลดจำนวนคู่แข่งในตลาด ทำให้ระดับการแข่งขันในตลาดลดลง
“ตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มาตรา 51 การรวมธุรกิจที่อาจลดการแข่งขันต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจต่อ กขค. ภายใน 7 วันนับแต่วันที่รวมธุรกิจ และการรวมธุรกิจที่อาจเกิดการผูกขาด หรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด คือ มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% จะต้องได้รับอนุญาตจาก กขค. ก่อนดำเนินการรวมธุรกิจ” นางนฤมล กล่าว
อ่านประกอบ :
'ชัยวุฒิ'เชื่อควบรวม'ทรู-ดีแทค'เรื่องปกติทางธุรกิจ-ผูกขาดยาก
‘เครือซีพี-เทเลนอร์’สวอปหุ้น‘TRUE-DTAC’ ตั้ง‘บริษัทใหม่’ปรับองค์กรเป็น Tech Company
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage